#ARTOFFLINE

DIRECTED BY YOUNG COLOMBIAN VISUAL ARTIST AND FILMMAKER MANUEL CORREA, #ARTOFFLINE PREMIERED IN 2015. HOWEVER, NOT MUCH HAS CHANGED IN THE ART WORLD IN THE PAST FIVE YEARS AND WITH THE NEW CORONAVIRUS, THE ISSUES CORREA DISCUSSED THEN ARE WORTH OUR SERIOUS ATTENTION NOW

TEXT: NAPAT CHARITBUTRA
PHOTO COURTESY OF ATELIER BOLOMBOLO

(For English, press here)

#artoffline กำกับโดยศิลปินรุ่นใหม่อย่าง Manuel Correa มันถูกฉายครั้งแรกในปี 2015 และเริ่มตระเวนไปตามเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ นับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา และในปี 2020 ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า #artoffline นั้นไม่ใช่ภาพยนตร์ใหม่อีกต่อไปแล้ว อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่า 5 ปีที่ผ่านมา อะไรๆ ในโลกศิลปะนั้นไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมสักเท่าไหร่ อีกทั้งการมาถึงของไวรัส COVID-19 ยังยิ่งทำให้ประเด็นที่ Correa พูดไว้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว สดใหม่ขึ้นมาอีกรอบ

#artoffline เป็นภาพยนตร์สารคดีที่ว่าด้วยงานศิลปะในโลกยุคอินเตอร์เน็ต โดยจำแนกออกเป็น 5 ประเด็นคือ Experience / Digital Native / Market / Education / Homogenization / Future และเล่าเรื่องผ่านบทสัมภาษณ์ศิลปิน (หลายคน) คิวเรเตอร์ เจ้าของแกลเลอรี่ นักปรัชญา ไปจนถึงนักมานุษยวิทยา

คงเดากันได้ไม่ยากว่า “ประสบการณ์ตรง” เป็นสิ่งที่ศิลปินหลายๆ คนกำลังเกาะไว้แน่น เมื่อพื้นที่สมมติบนอินเตอร์เน็ตกำลังพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ศิลปินหลายคนพูดถึงจุดแข็งของพิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ และการมาเดินดูงานจริงว่าขนาดของภาพ และระยะการมองมีผลต่อการสื่อสารความหมายของผลงาน โควตหนึ่งที่น่าสนใจคือ “หลายคนคิดว่าการดูภาพ exhibition view เพียงแค่ 10 – 12 ภาพ นั้นเท่ากับว่า “เคยเห็น” ผลงานชิ้นนั้นๆ แล้ว ซึ่งมันเหลวไหลทั้งเพ” ในทิศทางเดียวกันกับฝั่งของคิวเรเตอร์ ที่นอกจากจะวิพากษ์สังคมปัจจุบันว่าชอบย่นย่อความหมายของคำว่า curator จนกระทั่งอะไรๆ ก็เป็นการ curate ไปหมด ยังตั้งคำถามอีกว่าในยุคอินเตอร์เน็ตที่ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้จากบ้าน “พวกเขาเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองเห็นแค่ไหนกัน” และนี่เป็นเหตุให้คิวเรเตอร์ยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ในฐานะผู้คัดเลือก ให้คำอธิบาย และร้อยเรียงเรื่องราวให้แก่คนดู

กลับกันกับในมุมมองของนักปรัชญา ที่ตั้งคำถามถึงการรับชมงานศิลปะ และความสำคัญของ “สัมผัส” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ คนเจเนอเรชั่นใหม่ๆ ที่เคยชินกับการมองภาพๆ เดียวกัน ในหลาย dimension (ทีวี – แท็บเลต – สมาร์ทโฟน) ซึ่งทำให้ “คุณภาพ” ที่พวกเขามองหานั้นเปลี่ยนไปจากเดิม คุุณภาพด้าน materiality นั้นกลายเป็นเรื่องที่ถูกให้ความสำคัญรองลงไป เพราะสิ่งที่เขามองหาคือ อะไรก็ตามที่สามารถดึงดูดความสนใจมากพอจนเขาไม่อาจสไลด์นิ้ว เลื่อนจอไปยังคอนเทนต์อื่น

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่เราขอหยิบออกมาเล่า (หรือพูดอีกอย่างคือสปอยล์) ไว้ตรงนี้ คุณูปการอย่างหนึ่งของ #artoffline คือการเอาความคิดสองแบบมาปะทะกัน เพื่อจะนำไปสู่วิธีคิดใหม่ๆ อย่างเช่น หาก virtual space นั้น แทนที่พื้นที่กายภาพไม่ได้จริงๆ แล้วล่ะก็ ทำไมถึงไม่นำเสนออย่างอื่นที่พื้นที่กายภาพทำไม่ได้ไปเลยล่ะ?

atelierbolombolo.com/artoffline
fb.com/ArtOffline
twitter.com/artoffline

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *