หมวดหมู่: PICKS

THIS IS MY VOICE ONE DAY IN THAILAND

TEXT & IMAGE: PIRUTCH MOMEEPHET

(For English, press here

งานชุดนี้เกิดจากแนวคิดที่ว่า ทำไมเวลาที่เราไปต่างประเทศ ต่างจังหวัด หรือแค่ต่างสถานที่ เรามักจะมีมวลความรู้สึกที่ตื่นเต้นในการไปสถานที่เหล่านั้น มันมักจะเป็นความรู้สึกที่ไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าสิ่งใดกันแน่ที่ทำให้เราเกิดความประทับใจ มันก็คงจะเป็นทุกสิ่งอย่างที่เพิ่งได้มาเจอนี้ที่ประกอบกันให้เกิดความรู้สึก ถ้าจะต้องให้อธิบายก็คงจะเป็นคำว่า ‘mood’ หรือ ‘vibe’ จริงๆ แล้วเราไม่ได้สงสัยด้วยซ้ำว่าเราตื่นเต้นเพราะมันเป็นสิ่งที่แปลกใหม่จริงๆ หรือเป็นเพียงแค่สิ่งเดิมที่ใหม่เพราะมุมมองของเรา

ถ้าหากเราสามารถมองในมุมนั้นได้ ในบางทีสิ่งที่ทำให้เราเกิดความประทับใจ มันอาจจะไม่ได้เป็นสถานที่ที่มีเรื่องราวสำคัญ เป็น iconic places หรือการแนะนำจากบุคคลอื่นด้วยซ้ำไป บางทีมันอาจจะเป็นสถานที่ข้างทางที่เราต้องผ่านตอนไปทำงานทุกเช้า หรือเป็นเพียงตึกข้างทางที่เราเห็นในเวลารถติด

งานชุดนี้จึงเป็นเหมือนการจำลองภาพผ่านมุมมองเป็นบุคคลที่พึ่งเคยมายังประเทศไทย หากเราสามารถมองด้วยมุมมองนั้นได้เหมือนกัน แล้วสิ่งใดล่ะที่จะทำให้เรารู้สึกแบบนั้นได้

_____________

พิรัชย์ โมมีเพชร : BBep.o (เบพ – โป้) กราฟิกดีไซน์เนอร์จากกรุงเทพมหานคร ผู้หลงใหลในศิลปะสไตล์ Retro, Citypop และ สถาปัตยกรรมร่วมสมัย

instagram.com/bbep.o

THE ALPHABETICAL ROOM

TEXT: LIAD SHADMI
PHOTO: LIAD SHADMI & MICHAEL KOHLS

(For English, press here

โปรเจ็กต์ ‘The Alphabetical Room’ สำรวจขอบเขตและข้อจำกัดของการเขียนบนกริดสามมิติในพื้นที่ดิจิตัลอันราบเรียบ การเข้าไปทดลองกับตารางสามมิติบนหน้าจอดิจิตัลที่เป็นระนาบสองมิตินั้นเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับนักออกแบบกราฟิก โปรแกรมเมอร์ นักเขียนโค้ดเชิงสร้างสรรค์ และศิลปินแนวทัศนศิลป์เสมอมา

 

โปรเจ็กต์เริ่มต้นจากแนวคิดการสร้างกริดสำหรับการออกแบบภายในที่เสนอโดย Josef-Müller Brockmann ในปี 1961 มุมมองของผู้ชมจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปตลอดการเปิดแผ่นหน้าแต่ละหน้าของแผ่นพับโปรเจ็กต์ เช่นเดียวกับความละเอียดของกริดสามมิติที่ใช้สร้างชุดตัวอักษร 

ผมอยากจะถือโอกาสนี้ขอบคุณศาสตราจารย์ Pierre Pané-Farré สำหรับคำแนะนำที่ช่วยนำทางโปรเจ็กต์นี้มาจนสำเร็จ

_____________

Liad Shadmi เป็นนักออกแบบกราฟิกอิสระและผู้กำกับศิลป์ที่ทำงานและพำนักอยู่ใน Hamburg  เขาเรียนจบพร้อมเกียรตินิยมจาก Shenkar College of Engineering & Design หนึ่งในโรงเรียนออกแบบชั้นนำของอิสราเอล โดยความเชียวชาญของ Liad ครอบคลุมการออกแบบกราฟิก อัตลักษณ์แบรนด์ การกำกับงานศิลป์ การออกแบบตัวอักษร การพิมพ์และการวางเลย์เอาท์ ไปจนถึงการออกแบบเว็บ โดยการออกแบบและจัดวางตัวอักษรเป็นสิ่งที่เขาให้ความสนใจและนำไปใช้ในงานอยู่เสมอ เขายังมีความสนใจแรงกล้าต่อการทำงานออกแบบเชิงวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับงานออกแบบพื้นถิ่น เขาเชื่อว่างานออกแบบควรมีรากมาจากการค้นคว้าวิจัยเชิงลึกที่มีทั้งสาระและความหมาย ความมุ่งมั่นของ Liad คือการผสมผสานกลิ่นอายประเพณี และคุณสมบัติแบบคลาสสิค เข้ากับคุณลักษณะความร่วมสมัย

liadshadmi.com

RESONANCES OF THE CONCEALED

TEXT & IMAGE: NAPASRAPHEE APAIWONG

(For English, press here

Resonances of the Concealed เป็นชุดผลงานที่สร้างขึ้นโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือในการสร้างภาพจากจินตนาการและจิตญาณของตัวศิลปิน

ตัวภาพมีที่มาและแรงบันดาลใจมาจากเรื่องต่างๆ ตั้งแต่สิ่งเล็กน้อยรอบๆ ตัวที่ดูไม่ได้มีความสลักสำคัญ เหตุการณ์ต่างๆ ที่ตัวศิลปินพบเจอ ไปจนถึงประเด็นปัญหาในสังคม นำเสนอในลักษณะที่เปิดกว้างให้ผู้ที่รับชมได้ตีความด้วยตัวเอง ผ่านมุมมองและประสบการณ์ของตัวเองได้อย่างอิสระ ไม่ถูกผูกมัดและจำกัดโดยประเด็นหรือหัวข้อที่ศิลปินได้กำหนดเอาไว้

ชื่อของชุดผลงาน มาจากความรู้สึกของตัวศิลปินที่รู้สึกว่าภาพที่สร้างขึ้นจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์ สามารถเปิดเผยโลกภายใน ความคิดและความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ของตัวผู้ที่ใช้งานได้อย่างน่าประหลาดใจ เปรียบเสมือนเสียงสะท้อนมาจากส่วนที่ถูกปิดบังเอาไว้ในจิตใจ

ผลงานชุดนี้มีความมุ่งหมายที่จะผลักดันขอบเขตของการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายโดยการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการสร้างภาพ ตั้งคำถามต่อความสำคัญของกล้องถ่ายรูปและการถ่ายภาพแบบดั้งเดิมในยุคที่ความหมายของรูปถ่ายกลายเป็นเรื่องที่มีความกำกวมและหาเส้นแบ่งที่ชัดเจนได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ

ศิลปินหวังว่าผลงานชุดนี้จะช่วยริเริ่มบทสนทนาที่มีความหมายจากผู้รับชมเกี่ยวกับการตีความของตัวภาพ ไปจนถึงธรรมชาติของศิลปะภาพถ่ายที่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา

_____________

pale flare (นภัสรพี อภัยวงศ์) ช่างภาพและศิลปินทัศนศิลป์ จากกรุงเทพฯ โดยผลงานมักสำรวจถึงประเด็นด้านสุขภาพจิต วัฒจักรชีวิต และความงามในสิ่งที่มักถูกมองข้ามในชีวิต ตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวคิดในเรื่องของความสุข ความเศร้า และจุดสิ้นสุดของสรรพสิ่ง และมีความเชื่อว่าภาพถ่าย สามารถเป็นได้มากกว่าแค่เพียงการจับโมเมนต์หรือบันทึกวัตถุที่อยู่ตรงหน้า แต่เป็นสื่อที่สามารถแสดงออกถึงสิ่งที่ไม่สามารถจับต้องได้ และเชื่อมโยงมนุษย์เข้าหากันผ่านทางการสำรวจประสบการณ์ร่วมของผู้คน

instagram.com/pale_flare

ZILLUSTATION

TEXT & PHOTO: ZILLUSTATION

(For English, press here

จุดเริ่มต้นของผลงานมาจากความหลงใหลความงามของสิ่งปลูกสร้างและสถาปัตยกรรมในวัยเด็ก การออกเดินทางสำรวจเมืองต่างๆ ทำให้พบเสน่ห์น่าค้นหาของแต่ละที่ที่แตกต่างกันไป จึงถ่ายทอดความทรงจำที่สะสมออกมาเป็นภาพวาดลายเส้น เชิงจิตรกรรม สถาปัตยกรรม+แผนที่ โดยเลือกใช้รูปแบบมุมมองที่ไม่ธรรมดา ซึ่งสามารถเห็นเมืองได้กว้างขวาง และลงรายละเอียดได้มากที่สุด 

แนวคิดของงานเริ่มจากการเรียนรู้การสร้างเมือง แสวงหาประวัติศาสตร์ของเมืองที่ฝังรากลึก ผ่านกาลเวลา หล่อหลอมกลมกลืนเป็นเมือง และสำรวจสถาปัตยกรรมในเมืองซึ่งเป็นสิ่งที่บันทึกกาลเวลาเอาไว้ได้ดี แต่ละเมืองมีอัตลักษณ์ต่างกันออกไป ไม่ต่างจากหน้าตามมนุษย์ ที่มีความงามหลากหลาย หัวใจหลักของกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานคือสร้างมุมมองที่เห็นภาพรวมของสถานที่ให้มากที่สุด โดยใช้ลายเส้นจากปากกาสร้างสรรค์เมืองขึ้นมา ทีละเส้น ทีละเส้น การได้ใช้เวลาสร้างเมืองผ่านปลายปากกา เสมือนได้ย้อนดูเส้นกาลเวลาของเมืองที่ยาวนาน 

_____________

การุญ เจียมวิริยะเสถียร ศิลปินอิสระเจ้าของสตูดิโอ ZilluStation ที่ถ่ายทอดความหลงใหลในเมืองผ่านลายเส้นปากกา 

facebook.com/Karooncity
instagram.com/zillustation

INSTANT SCULPTURE


TEXT & PHOTO: CAN SUN

(For English, press here

ผลงานชุด Instant Sculpture โดย Can Sun มุ่งความสนใจไปที่การแปลงรูปและผสมผสานวัตถุในชีวิตประจำวันและสำเร็จรูปขึ้นมาใหม่ ก่อนจะสร้างขึ้นเป็นประติมากรรมหน้าตาขี้เล่นที่ล้อเลียนตัวเอง วัตถุหลากชนิดกลายเป็นเป็นอุปมาอุปมัยของแต่ละงาน ละม้ายคล้ายคลึงกับการเขียนบทกวี หากแต่ผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้จากการสร้างงานประติมากรรมเหล่านี้ได้รับการบันทึกเอาไว้ในรูปแบบของภาพถ่าย ศิลปินควบรวมเอาสัญลักษณ์และวัตถุหลายชนิดเพื่อสร้างภาพจำและการเชื่อมโยงที่ท้าทายความคิดแบบเดิมๆ เกี่ยวกับศิลปะประติมากรรมและการถ่ายภาพ

ภาพถ่ายในผลงานชุดนี้แสดงมุมมองอันเป็นเอกลักษณ์ของ Can Sun ต่อโลกใบนี้ ผ่านการสร้างบริบทให้วัตถุในชีวิตประจำวันด้วยวิธีการที่แปลกใหม่และคาดไม่ถึง เขาชวนเชิญผู้ชมให้มองโลกด้วยสายตาที่สดใหม่ และเห็นถึงความไร้สาระไม่สมเหตุสมผลที่อยู่รอบๆ ตัวเราทุกคน

อารมณ์ขันคือองค์ประกอบหลักของผลงานชุดนี้ โดยที่ Can Sun ใช้มันเพื่อเป็นทั้งการยอมรับและต่อต้านความไร้สาระในโลกใบนี้ในคราวเดียวกัน ประติมากรรมล้อเลียนตัวเองเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นผ่านการผสมผสานสัญลักษณ์และวัตถุต่างๆ ที่กระตุ้นความขี้เล่น เพ้อฝัน แปลกประหลาด ในขณะที่ก็ยังทำหน้าที่วิพากษ์สังคมรอบๆ ตัวเรา

_____________

Can Sun เกิดในปี 1992 ที่จีนแผ่นดินใหญ่ จบปริญญาศิลปะบัณฑิตและปริญญาโทด้านรัฐศาสตร์จากประเทศจีนก่อนจะไปเรียนต่อด้านการถ่ายภาพในระดับปริญญาโทจาก Royal College of Art ในปี 2022 ปัจจุบันทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในลอนดอน ผลงานของเขาให้ความสำคัญหลักๆ อยู่ที่ความไร้สาระในโลกและความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน และการนำพาเอาข้าวของในชีวิตประจำวันที่มักถูกลืมมาเป็นโจทย์ในการสร้างสรรค์ผลงาน

instagram.com/suncannot

 

CALL ME NABET

TEXT & PHOTO: THANABET CHANPREECHAYA

(For English, press here

ระหว่างที่ศึกษาอยู่ต่างประเทศก็เกิดความคิดถึงประเทศไทย จึงมีไอเดียสร้างฉากรวบรวมเสน่ห์ของบ้านเกิด แต่สิ่งที่สร้างไม่อยากให้เป็นสถาปัตยกรรมหรือวัดไทยทั่วไป แต่เป็นสิ่งที่คนไทยผูกพันและคุ้นเคยในทุกๆ วัน 

จากกระบวนการลองผิดลองถูก ผลงานชิ้นแรกที่ออกมาคือตู้โทรศัพท์สาธารณะจำลองที่เล่าเรื่องราวผ่านคราบความเก่า พื้นฟุตบาทที่ขรุขระ และความยุ่งเหยิงของสายไฟบนเสาไฟฟ้า 

นอกจากนั้นยังมีผลงาน ‘ห้างทองฮั่วเซ่งเฮง’ ห้างทองที่อยู่คู่คนไทยมาช้านานใจกลางเยาวราช ผลงานนี้ใช้หลากหลายวิธีการริเริ่มสร้างสรรค์ ตั้งแต่การถ่ายภาพ การบินโดรน ไปจนถึงการสแกนแบบ 3 มิติ ทั้งภายในและภายนอกเพื่อเก็บข้อมูล หวังว่าผลงานทั้งหมดนี้พาผู้ชมเคลื่อนย้ายไปยังสถานที่ ความทรงจำ และจินตนาการไปว่าตัวเองกำลังสำรวจภายในผลงานสร้างสรรค์นี้อยู่

_____________

ธนเบศร์ ชาญปรีชญา คือศิลปินผู้ชื่นชอบการสร้างสรรค์โมเดลจิ๋ว ธนเบศร์ จบการศึกษาปริญญาตรีด้านแอนิเมชัน จากประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นเจ้าของเพจ ‘CALL ME NABET’

facebook.com/callmenabet
instagram.com/callmenabet

 

THE ART OF TRAVEL POSTERS

TEXT & PHOTO: ARTHUR VERGNE

(For English, press here

โปสเตอร์โปรโมตการท่องเที่ยวนั้นถือกำเนิดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ในฐานะของสื่อโฆษณาชนิดหนึ่งที่มีพลังในการจูงใจผู้คนให้ออกเดินทางไปยังที่ต่างๆ ด้วยสีสันสดใสและพลังในการสร้างความรู้สึกของการผจญภัยและการออกสำรวจค้นหาอะไรใหม่ๆ ผมจึงอยากนำเสนอความสวยงามของประเทศไทยในฐานะประเทศที่ผมได้เลือกลงหลักปักฐานผ่านคอลเลคชั่นโปสเตอร์ที่ผมได้สร้างขึ้น ในมุมมองของสถาปนิก ผลงานชุดนี้ก็เป็นเหมือนการสำรวจและถ่ายทอดความงามและความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของวัดวาอารามต่างๆ ด้วยแรงบันดาลใจจากการ์ตูนแอนิเมชั่นญี่ปุ่นที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา อาร์ทเวิร์คเหล่านี้มุ่งหมายที่จะแสดงออกถึงความหลากหลายของประเทศไทยด้วยมุมมองที่มีความโรแมนติค จากทั้งเจดีย์ที่ดูลึกลับน่าค้นหาภายใต้แสงจันทร์ ทุ่งข้าวสีเหลืองทองพริ้วไหวสายลม หรือถนนหนทางอันวุ่นวายภายใต้ท้องฟ้าสีสดใส…

_____________

Arthur Vergne เป็นสถาปนิกและนักวาดภาพประกอบที่ทำงานและใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงใหม่มาเกือบสิบปีแล้ว นอกเหนือไปจากการทำงานสถาปัตยกรรม เขายังกำลังออกแบบคอลเลคชั่นโปสเตอร์ที่ฉายภาพความสวยงามของประเทศไทยอีกด้วย

instagram.com/arthur.illustration

NEW KHMER ARCHITECTURE

TEXT & ILLUSTRATION: POUM MEASBANDOL

(For English, press here

ด้วยพื้นฐานทางการศึกษาด้านสถาปัตยกรรม ผมได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานของสถาปนิกกัมพูชาและต่างชาติหลายท่านที่สร้างขึ้นในยุคสังคมราษฎร์นิยม ที่รุ่งโรจน์อยู่ในช่วงระหว่างทศวรรษ 1960 และ 1970 ในกัมพูชา ผมเริ่มทำการศึกษาวิจัยและสะสมภาพถ่ายเก่าของอาคารแนวโมเดิร์นนิสต์ในกัมพูชา และแชร์สิ่งที่ผมพบเจอบนโซเชียลมีเดีย ผมยังพบว่ามีคนรุ่นใหม่จำนวนน้อยที่รู้จักเหล่าสถาปนิกจากช่วงยุค 1960 ยิ่งไปกว่านั้น งานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแนวคิดปรัชญาสมัยใหม่ในกัมพูชายังปรากฏให้เห็นไม่มากนักในขณะที่มรดกทางสถาปัตยกรรมเหล่านี้กำลังถูกทำลายลงไปเรื่อยๆ การได้เห็นความเสื่อมถอยนี้ด้วยตาตัวเองเป็นแรงผลักดันให้ผมเข้าไปมีส่วนร่วมในประเด็นปัญหาดังกล่าวมากขึ้นและเริ่มทำการบันทึกมันเอาไว้ในรูปแบบของ illustration

ในซีรีย์ภาพกราฟิก New Khmer Architecture นี้ ผมให้ความสำคัญกับองค์ประกอบของอาคารที่ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกระดับชาติของกัมพูชาอย่าง Vann Molyvann, Lu Ban Hap, Mam Sophana, Ung Krapum Phkar ไปจนถึงผลงานของสถาปนิกต่างชาติอย่าง Henri Chatel, Leroy & Mondet, Georg Lippsmeier และอื่นๆ

การสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้มีจุดมุ่งหมายคือการระลึกถึงความสำเร็จรุ่งเรืองในอดีตและเพื่อให้มันเป็นตัวแทนสถาปัตยกรรมกัมพูชาสมัยใหม่ในภาพที่แปลกใหม่และน่าจดจำ ภาพเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบอันเป็นเอกลักษณ์ของอาคารแต่ละหลัง ผลลัพธิ์ที่ได้คือผลงานที่แสดงความคารวะต่อเหล่าผู้บุกเบิกงานสถาปัตยกรรมกัมพูชาสมัยใหม่ ผู้สร้างสิ่งอันเป็นมรดกตกทอดที่กำลังสุ่มเสี่ยงต่อการจางหาย ที่แม้จะเป็นไปอย่างช้าๆ หากแต่ว่าแน่นอน

_____________

Poum Measbandol ทำงานเป็นสถาปนิกอยู่ในกรุงพนมเปญ เขาจบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบแห่งมหาวิทยาลัย Pannasatra University of Cambodia

ASA EXPERIMENTAL DESIGN COMPETITION 2020: THE EVERYDAY HERITAGE

ไขข้อข้องใจอะไรคือ Everyday Heritage : ทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ ชวนสถาปนิก-ดีไซเนอร์ร่วมส่งไอเดียประกวดแบบสถาปัตยกรรมเชิงทดลอง ณ งานสถาปนิก’63 ในหัวข้อ The Everyday Heritage

จับเข่าคุยกับ ทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ ศิลปินดีเด่นรางวัลศิลปาธร 2561 สาขาสถาปัตยกรรม และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทสถาปนิก Department of ARCHITECTURE ถึงการประกวดแบบระดับชาติ ASA Experimental Design Competition 20 ในหัวข้อ ‘The Everyday Heritage’ ที่เธอเป็นโต้โผดูแล

หลายคนบอกว่าโจทย์ปีนี้กำกวมทีเดียว ในฐานะผู้ดูแลการประกวดคุณช่วยไขข้อข้องใจตรงนี้หน่อยได้ไหม

ทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ: “Everyday Heritage มันเป็นสิ่งที่กำกวมถูกต้องแล้วค่ะ (หัวเราะ) ดังนั้นใครที่รู้สึกไม่มั่นใจ หรือตั้งคำถามว่ามันคืออะไรกันแน่ นั่นคือคุณมาถูกทางแล้ว เพราะโดยทั่วไปสิ่งที่เรามั่นใจแน่ว่ามันเป็น heritage ของชาติ เช่นวัด เช่นวัง หรือของที่ขึ้นทะเบียนอนุรักษ์แล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยเป็นปัญหา ส่วนใหญ่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่ในโลกปัจจุบันเรายังมีของอีกกลุ่มหนึ่งที่อาจจะมีคุณค่าในฐานะมรดกสถาปัตยกรรม แต่เป็นสิ่งที่พวกเราลืมมอง หรือมองแล้วก็ผ่านไป ทั้งที่มันก็อาจมีคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ หรือทางจิตใจ หรือทางใดทางหนึ่งที่เราไม่เคยนึกถึงมาก่อน นี่คือสิ่งที่การประกวดปีนี้ต้องการชวนคุณออกตามหา อยากให้มาช่วยกันมอง และช่วยกันคิดว่าเราสามารถจะตีความ สร้างคุณค่า หรือสร้างความหมายใหม่ให้กับ everyday heritage เหล่านี้อย่างไรผ่านการทำงานออกแบบสถาปัตยกรรม”

หมายความว่า Everyday Heritage ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่เก่าเป็นร้อยๆ ปีก็ได้รึเปล่า

ทวิตีย์: นี่ล่ะคือสิ่งที่การประกวดปีนี้อยากให้คุณตั้งคำถาม เป็นคำถามสำคัญเลยนะคะ อะไรที่ทำให้สถาปัตยกรรมหนึ่งๆ มีคุณค่าพอที่เราจะเรียกว่า everyday heritage หรือที่ทำให้มันควรค่าแก่การอนุรักษ์ หรือเก็บรักษาไว้ในทางใดทางหนึ่ง บางทีมันอาจจะเป็นสถาปัตยกรรมที่ไม่ได้เก่าเป็นร้อยปีก็ได้รึเปล่า แต่ถ้ามันมีองค์ประกอบบางอย่างที่ทำให้มันมีคุณค่าในความรู้สึกของคุณล่ะ นั่นคือสิ่งที่คุณต้องหาคำตอบมาให้กรรมการ โจทย์ปีนี้แม้จะเป็นเรื่อง heritage แต่เราไม่ได้ตีกรอบมันด้วยอายุนะคะ ถ้าสถาปัตยกรรมหนึ่งมีอายุ 30 ปี หรือ 40 ปี แต่คุณเห็นนัยสำคัญบางอย่างที่มันสื่อถึงพลวัติทางวัฒนธรรม ทางรสนิยม หรือทางเทคโนโลยีในยุคสมัยนั้นๆ  มันก็อาจจะมีคุณค่าพอที่จะเป็นมรดกก็ได้ อันนี้เราเชื่อว่าแต่ละคนจะมีมุมมองไม่เหมือนกัน”

“ของบางอย่างบางคนก็ให้คุณค่า บางคนก็ไม่ให้คุณค่า
ปัญหาเรื่องมรดกสถาปัตยกรรมมันมักจะอยู่ในพื้นที่ก้ำกึ่งแบบนี้”

ฟังดูท่าทางคณะกรรมการจะตัดสินยาก

ทวิตีย์: “ก็ท้าทายล่ะค่ะ (หัวเราะ) เพราะมันไม่มีเงื่อนไขเป็นข้อๆ ที่เราจะบอกว่านี่คือถูกหรือนี่คือผิด เราถึงได้เรียกมันว่า Experimental Design Competition ไงคะ เพราะมันคือการก้าวเข้าไปในโลกที่เรายังไม่รู้ กรรมการก็ยังไม่รู้ คนตั้งโจทย์ก็ยังไม่รู้ ไอเดียสำคัญอยู่ที่การตั้งคำถามที่ดี และจะไม่มีคำตอบไหนที่ถูกหรือผิด ทั้งหมดขึ้นอยู่กับคุณจะตีความโจทย์ที่คุณเลือกมาอย่างไร และจะใช้การออกแบบเข้าไปทำงานกับสถาปัตยกรรมนั้นให้มันมีพลังขึ้นมาได้แค่ไหน

“กรรมการไม่ได้ตามหาการบูรณะสถาปัตยกรรมเก่าคืนสู่สภาพเดิม (restoration) แต่เราตามหาการออกแบบที่จะเปลี่ยนแปลงมรดกสถาปัตยกรรมนั้นอย่างสร้างสรรค์มากกว่า (architectural intervention)”

ถ้าผลงานใดสามารถจะไขประตูความคิดหรือสร้างมุมมองใหม่ๆ ให้คณะกรรมการรู้สึกทึ่งได้ นั่นคือคำตอบที่ใช่ และเราเชื่อมั่นว่าด้วยความหลากหลายของคนที่เข้าประกวด เราน่าจะได้เห็นไอเดียที่เปิดกว้างมาก และจะได้เห็นโซลูชั่นแปลกใหม่ที่เราคาดไม่ถึงแน่นอน”

_____________

สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอเชิญสถาปนิก นักออกแบบ นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวด ASA Experimental Design Competition 20 ในหัวข้อ “THE EVERYDAY HERITAGE” ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 285,000 บาท โดยสามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 23 มีนาคม 2563  ข้อมูลเพิ่มเติมที่: https://www.asacompetition.com

WOMANIFESTO 2019

GENDER IN SOUTHEAST ASIAN ART HISTORIES AND VISUAL CULTURES: ART, DESIGN AND CANON-MAKING?
20TH – 27TH APRIL 2019 

นิทรรศการศิลปินหญิงนานาชาติ (Womanifesto) เป็นงานกิจกรรมศิลปะที่จัดขึ้นทุกๆ 2 ปี โดยเกิดขึ้นจากการริเริ่มของกลุ่มศิลปิน ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมงานศิลปะของศิลปินหญิงจากที่ต่างๆ ทั่วโลก เพื่อสนับสนุนให้เครือข่ายของศิลปินหญิงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมั่นคง แม้ว่าจะเป็นการติดต่อระหว่างกันแบบส่วนตัวฉันท์เพื่อนเป็นหลัก การรวมตัวครั้งแรกเริ่มขึ้นในงานนิทรรศการ “ประเวณี-ประเพณี” (Tradisexion) เมื่อปี พ.ศ. 2538 ต่อมาโครงการก็ได้เงียบหายไป ภายหลังการจัด Residency Program ที่จังหวัดศรีสะเกษเมื่อปี 2551 กระทั่งการกลับมาจัดนิทรรศการอีกครั้งในปีนี้ ที่เราได้ยินมาว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะปรากฏการณ์ของเทศกาลแบบ biennale จำนวนมากที่เกิดขึ้นในบ้านเราเมื่อปีที่ผ่าน Womanifesto จึงกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้งหนึ่ง พร้อมไปกับการทบทวนถึงบทบาทและพันธกิจของเทศกาลเอง ในการขยับขยายกรอบความคิดเรื่อง ‘gender’ ในวงการศิลปะ นิทรรศการจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 27 เมษายน 2562 ที่ Design Center อาคารโวฒยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ภายในงานมีกิจกรรมการบรรยายในหัวข้อ Gender in Southeast Asian Art Histories and Visual Cultures: Art, Design and Canon-making? และกิจกรรมสาธารณะ ในวันที่ 19 – 20 เมษายน ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง bit.ly/wmnft2019

The   biannual art activity   is initially conceived from an artist initiative whose aim is to promote the works of female artists from around the world. It also set off to consistently expand and sustain the female artist network although most of the interactions are something along the line of the kind of discussion one can expect from a group of friends of mutual interests and passion. The first exhibition, Tradisexion, took place in 1995. The project then went into a long hiatus after the Residency Program in Srisaket province of Thailand in 2008 before finally resuming its activity this year. We’ve heard that one of the main reasons behind Womanifesto’s return to the art scene is the rise of the biennale  festivals that Thailand had hosted last year. This return is also an opportunity for Womanifesto to rethink their role and missions revolving the broadening of the art community’s mindset about ‘gender’. The exhibition will be held on 20th – 27th April 2019 at Design Center, Votayakorn building, Chulalongkorn University. The exhibition will also feature the lecture, ‘Gender in Southeast Asian Art Histories and Visual Cultures: Art, Design and Canon-making?’ and   public event, scheduled to take place on 19th – 20th April 2019. For more information, visit   bit.ly/wmnft2019

PHOTO COURTESY OF WOMANIFESTO