art4d นั่งคุยกับ Nicolas Medrano, Design Principal จาก Skidmore, Owings & Merrill ถึงการออกแบบอาคารสูงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ความยั่งยืน และวิสัยทัศน์ของ SOM ในอนาคต
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO CREDIT AS NOTED
(For English, press here)
ผู้ออกแบบ Burj Khalifa ตึกที่สูงที่สุดในโลกที่ดูไบ
ผู้ก่อร่าง Lever House ในนิวยอร์ค อาคารที่บุกเบิกตึกระฟ้าสไตล์ International ที่กลายเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม
ผู้สร้างอนุสรณ์ของชาติที่ยังเป็นอาคารที่สูงที่สุดในซีกโลกตะวันตกอย่าง One World Trade Center ในนิวยอร์ค
นับตั้งแต่การก่อตั้งในปี 1936 ที่ชิคาโก้ SOM หรือ Skidmore, Owings & Merrill เป็นบริษัทออกแบบสถาปัตยกรรม วิศวกรรม และการวางผังเมืองที่ฝากโครงการทางสถาปัตยกรรมระดับตำนานมากมาย SOM เปี่ยมด้วยความเชี่ยวชาญในการออกแบบโครงการพาณิชย์ชั้นนำและอาคารสูง และเคยได้รับรางวัล Architecture Firm Award ที่นับว่าเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดจาก American Institute of Architects มาแล้วถึงสองครั้งคือในปี 1962 และ 1996 ปัจจุบัน SOM ขยับขยายการทำงานสู่ระดับโลกกับออฟฟิศสาขาในหลากหลายทวีป ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง ดูไบ ลอนดอน นิวยอร์ค และเมลเบิร์น โดยที่ยังคงสถานะของหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลแห่งแวดวงการออกแบบสถาปัตยกรรม
เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2024 ที่ผ่านมา Nicolas Medrano ผู้ดำรงตำแหน่ง Design Principal ของ SOM เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับหัวข้อ ‘Climate Action: Designing in the Tropics’ การออกแบบตึกสูงในภูมิภาคเอเชียและภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ในการบรรยายที่ถูกจัดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของงาน Designer’s Saturday โดย art4d เขาได้เปิดเผยถึงกลยุทธ์อันแยบยลในการออกแบบอาคารสูงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมไปถึงวิสัยทัศน์ของ SOM ต่ออนาคตที่กำลังจะมาถึง
แม้ความสำเร็จในอดีตจะมากมายจนแทบนับไม่ถ้วน SOM ยังคงเดินหน้าพัฒนาค้นหานวัตกรรมและทางเลือกในการออกแบบใหม่ๆ สำหรับอนาคต แต่ก้าวต่อไปของ SOM จะเดินไปในทิศทางใด? อะไรคือความท้าทายอันเร่งด่วนที่พวกเขาตั้งเป้าจะแก้ไข? art4d จะมาหาคำตอบจากการพูดคุยกับ Nicolas Medrano
art4d: อะไรคือความท้าทายที่ SOM ตั้งเป้าไว้ว่าจะจัดการ?
Nicolas Medrano: สิ่งที่เรามองว่าเป็นความท้าทายในอนาคตของเรานั้นชัดเจน ความพร้อมในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสมอภาคทางสังคม และการเติบโตอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากร ในฐานะของบริษัท หนึ่งในสิ่งที่เราให้ความสำคัญคือการทำให้อาคารและเมืองลดปริมาณการผลิตคาร์บอน สร้างพื้นที่ที่เอื้อต่อสุขภาพที่ดี สิ่งที่ร้อยเรียงการทำงานทั้งหมดของเราเข้าไว้ด้วยกันคือการพัฒนาทางสังคม สุขภาพ และความเป็นอยู่
แนวทางการทำงานของเรานั้นเน้นความเป็นไปได้จริง ทางออกที่อิงอยู่กับธรรมชาติ อาคาร และเมืองที่ถูกบูรณาการเข้ากับสิ่งแวดล้อมอย่างไร้รอยต่อ เชื่อมโยงเข้ากับวิถีท้องถิ่นในหลากหลายมิติอย่างซับซ้อน คำตอบและทางออกที่เหมาะสมและมีความสำคัญเชิงวัฒนธรรมคือสิ่งผลักดันวิธีการทำงานของเรา ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆกับการใช้วัสดุอย่างชาญฉลาด เราทำงานโดยใช้ทรัพยากรที่ฟื้นฟูตัวเองได้ หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น ไม้เนื้อแข็งและคอนกรีตชีวภาพที่ก็เป็นวัสดุที่ฟื้นฟูตัวเองได้ เรามองไปยังการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพในอาคารและเมือง และระบบพลังงานที่สามารถนำเอาพลังงานกลับมาใช้ใหม่หรือสร้างพลังงานขึ้นมาเองได้ นี่คือทิศทางของเรา มันเป็นความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทายแห่งยุคสมัย
art4d: เราอยากจะให้คุณพูดถึงภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างเฉพาะเจาะจงสักหน่อยจะได้ไหม เพราะคุณเองก็เคยทำโปรเจ็กต์มากมายในหลายประเทศในภูมิภาคนี้ คุณคิดว่าอะไรคือชุดความท้าทายที่เฉพาะตัวของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก?
NM: การเติบโตขยับขยายอย่างรวดเร็วคือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ และเห็นได้ชัดเจนในเมืองอย่างกรุงเทพฯ ความท้าทายที่ว่าอยู่ที่การทำให้ความหนาแน่นและทิศทางการเติบโตของเมืองเป็นไปอย่างชาญฉลาด มีความพร้อมที่จะการรับมือการเปลี่ยนแปลง และมีความรับผิดชอบ
เมืองในภูมิภาคนี้มีลักษณะที่โดดเด่นคือสถาปัตยกรรมแนวตั้งที่มีการใช้งานที่ผสมผสานระหว่างการอยู่อาศัย การทำงาน การเล่น การเรียนรู้ ที่ถูกเชื่อมโยงเข้ากับระบบขนส่งสาธารณะ การออกแบบอย่างนี้ช่วยส่งเสริมให้ทุกคนสามารถเข้าถึงทุกๆ แง่มุมมิติของชีวิต การลดเวลาเดินทางที่ไม่จำเป็นจะช่วยส่งเสริมความสะดวกสบาย และช่วยให้คนมีเวลาไปทำสิ่งที่จะช่วยให้พวกเขามีสุขภาพกายและใจที่ดีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การทดลองทำอาหาร หรือการใช้เวลากับครอบครัว แนวทางการแก้ปัญหานี้โดยเฉพาะกับเมืองในเอเชียที่กำลังหนาแน่นขึ้น เป็นสิ่งที่แสดงถึงวิธีคิดที่เปลี่ยนไป เป็นทางออกอันโดดเด่นที่คิดถึงความท้าทายต่างๆ ที่มาพร้อมการพัฒนาเมือง
art4d: ถ้าอย่างนั้นทางออกก็อาจจะเป็นสิ่งที่ไปไกลกว่าแค่การออกแบบอาคาร แต่ยังรวมไปถึงโปรแกรมการใช้งานของอาคาร และเมืองในภาพรวม
NM: ถูกต้องครับ ยกตัวอย่างเช่นสิงคโปร์ เราเคยออกแบบโปรเจ็กต์หนึ่งที่พิเศษมาก เรียกว่า city room ซึ่งทำหน้าเป็นพื้นที่สาธารณะที่เปิดใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง พื้นที่แบบนี้มีความสำคัญต่อชุมชน พอมันตั้งอยู่ด้านล่างของอาคารสูงที่มีฟังก์ชันแบบ mixed use พื้นที่นี้ก็เลยทำหน้าที่เป็นเหมือนสวนสาธารณะอันกว้างขวางที่วางตัวอยู่ใต้ชายคาขนาดใหญ่ที่ยื่นยาวออกมาด้วย การมีอยู่ของมันช่วยรักษาและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในชุมชน การออกแบบพื้นที่นี้ยังช่วยให้ผู้คนจากหลากหลายภูมิหลังสามารถมาพบปะกันได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ไม่ว่าจะผ่านการทานอาหาร ออกกำลังกาย หรือมีปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบอื่นๆ ช่วยสร้างภาพลักษณ์ของชุมชนที่มีชีวิตชีวาและกลมเกลียวให้เกิดขึ้นภายในโครงการพัฒนาพื้นที่เอกชน ซึ่งเราก็ต้องการสร้างพื้นที่ลักษณะนี้ให้มากขึ้น
เวลาที่เราออกแบบอะไรเพื่ออนาคต เราต้องคิดถึงทุกคน คิดให้ไกลกว่าขอบเขตพื้นที่ที่ตั้งของอาคารที่เราออกแบบ ไปไกลกว่าแค่การคิดถึงพื้นที่ที่คุ้มทุน เพื่อที่มันจะได้ครอบคลุมความต้องการของคนทุกกลุ่มจริงๆ
art4d: ทำไมการสร้างพื้นที่เพื่อคนทุกกลุ่มถึงเป็นเรื่องสำคัญ?
NM: การออกแบบพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะที่มีองค์ประกอบของน้ำ ร่มเงา และการระบายอากาศธรรมชาตินั้น ไม่ได้มีแค่แง่มุมเชิงสุนทรียะอย่างเดียว มันคล้ายๆ กับแนวคิดเรื่องเวชศาสตร์ป้องกัน (preventive medicine) แต่เป็นแนวทางสำหรับทั้งชุมชน องค์ประกอบเหล่านี้ช่วยลดอุณหภูมิและเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้เราในระยะยาว นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่จะช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยของเหล่าคนที่อาศัยอยู่ในเมือง ให้ลองสมมุติว่าอาชีพของเรามีบทบาทในการคิดค้นยาป้องกันโรค หรือลดความเสี่ยงของโรคที่กำลังจะเกิด แล้วคิดเสียว่าพืชพรรณ สรรพสัตว์ ความชื้น แสงแดด สายลม และวัสดุก่อสร้างต่างๆ ที่เราเลือกใช้ทั้งหลายนั้นคือสูตรของยารักษาโรค
สิ่งที่ได้รับการจัดลำดับให้มีความสำคัญที่สุด อาจจะเป็นความเจริญทางเศรษฐกิจหรือสุขภาพที่แข็งแรง ซึ่งผมว่ามันจะเอนไปอย่างหลังมากกว่า ความเป็นอยู่และสุขภาวะที่ดีของมนุษย์และธรรมชาติคือทรัพยากรที่ดีที่สุดของโลกนี้ ในภาพรวมแล้ว การลงทุนกับสุขภาพคือการลงทุนให้ความเจริญของเราเอง ในฐานะของสิ่งมีชีวิตสปีชีส์หนึ่ง
art4d: ‘ความยั่งยืน’ ได้กลายมาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักที่การออกแบบสถาปัตยกรรมให้ความสำคัญ คำนี้มีความหมายอย่างไรสำหรับคุณ?
NM: สำหรับผม ความยั่งยืนเป็นเรื่องของการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมช่วงชีวิตที่ยืนยาว ทั้งของโลกใบนี้และของเหล่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในดาวเคราะห์ดวงนี้ มันเกี่ยวข้องไปถึงพื้นที่และอาคารที่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลง สามารถปรับตัวได้โดยไม่ต้องมีการทำลายล้างใดๆ เกิดขึ้น การปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดคล้องกับพลวัตรของโลกที่วิวัฒน์ไปอย่างไม่หยุดยั้ง ความยั่งยืนยังเชื่อมโยงไปถึงการสร้างความสมดุลกับธรรมชาติ การบูรณาการเอาระบบทางธรรมชาติต่างๆ กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราอีกครั้ง และการดูแลส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ แทนที่การใช้หรือทำลายมันลงจนหมด
อาคารสูงที่เราออกแบบในสิงคโปร์ (และที่อื่นๆ) มีพื้นที่ที่เราสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของนก ผีเสื้อ ต้นไม้พืชพันธุ์ และสัตว์ชนิดอื่นๆ ซึ่งเป็นความพยายามของเราที่ตั้งใจจะบำรุงดูและระบบธรรมชาติต่างๆ ภายในสิ่งแวดล้อมของเรา
ยิ่งไปกว่านั้น ความยั่งยืนยังครอบคลุมไปถึงการมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล สิ่งปลูกสร้างสามารถส่งผลให้คุณภาพของอาหารที่ผลิตในท้องถิ่นมีคุณภาพดีขึ้น ให้คนสามารถเข้าถึงน้ำสะอาดและความเป็นอยู่ที่ดีได้ แล้วทำไมเราจะไม่อยากออกแบบอาคารที่สามารถผลิตอาหารที่มีประโยชน์ให้กับชุมชนได้ล่ะ? ฟาร์มในเมือง (urban farm) ที่ถูกบูรณาการให้เข้าไปอยู่ในพื้นที่บนอาคารสูงเกื้อกูลเมืองได้เป็นอย่างดี แนวคิดนี้นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนตั้งแต่รากฐานของคนเมืองที่เคยเป็นแค่ผู้บริโภค ให้มีความสามารถที่จะผลิตและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยตัวเอง ซึ่งการทำให้ความเปลี่ยนแปลงนี้สำเร็จได้ เราจะต้องสร้างสมดุลระหว่างเทคโนโลยีและกลยุทธ์เชิงรับ (passive strategy) ให้เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นไปค่อยไป
art4d: ความละเอียดอ่อนทางวัฒนธรรมมีบทบาทอย่างไรในงานออกแบบอย่างยั่งยืน?
NM: การมีความเข้าใจต่อโครงข่ายทางวัฒนธรรมนั้นมีความสำคัญมากต่อการได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่เราพูดถึงกันเมื่อกี้ครับ มันเกี่ยวพันต่อเนื่องไปถึงในเชิงอุตสาหกรรมและสภาพภูมิศาสตร์ต่างๆ เราทุกคนต้องมีความละเอียดอ่อนต่อมัน ให้ความเคารพ และมีความตระหนักรู้ให้มากกว่านี้ เรายังต้องมีความอ่อนไหวและเปิดกว้างมากพอที่จะเรียนรู้และหาความรู้ให้ตัวเองอย่างต่อเนื่องเมื่อพบเจอวัฒนธรรมที่แตกต่างด้วย
เวลาเรามาทำโปรเจ็กต์ในประเทศอย่างประเทศไทย เราจะพาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรายละเอียดยิบย่อยในวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น วิถีชีวิตและแนวทางการปฏิบัติเดิมที่พิสูจน์แล้วว่าประสบผลสำเร็จ แทนที่เราจะไปยัดเยียดสิ่งที่เราคิดไปแล้วล่วงหน้า เราเลือกที่จะทำงานร่วมกับคนในพื้นที่เพื่อสังเคราะห์เอามุมมองต่างๆ ให้เกิดเป็นงานออกแบบที่สดใหม่และปรับใช้ได้กับทุกพื้นที่ทั่วโลกดีกว่า
ในประเทศไทย สิ่งที่ถูกให้ความสำคัญคือการยกโครงสร้างของสิ่งก่อสร้างให้สูงขึ้น แล้วใช้พื้นที่สีเขียวในการสร้างสเปซที่มีความเย็นสบายโดยธรรมชาติ ซึ่งสิ่งนี้ต้องเกิดจากการใช้องค์ประกอบทางการออกแบบร่วมด้วย เช่นการสร้างชายคาที่ยื่นยาวออกมามากพอ และการออกแบบพื้นที่ส่วนกลางใต้นั้น เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมสำหรับการอยู่อาศัยที่น่าสบาย เรายังต้องทำความเข้าใจ ‘วัฒนธรรมในอนาคต’ และความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วว่ามันจะมีผลต่ออาคารหรือเมืองอย่างไร แนวทางปฏิบัติของเรานั้นหยั่งรากอยู่ในบริบททางวัฒนธรรมเช่นนี้ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
art4d: ในภูมิภาคอย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความยั่งยืนมักถูกมองว่าราคาแพง ซึ่งทำให้เป็นเรื่องยากในการนำเอาการออกแบบอย่างยั่งยืนมาใช้ได้จริง คุณจะผลักดันแนวคิดนี้อย่างไรในภูมิภาคนี้?
NM: ในระยะสั้นการลงทุนอาจจะมีมูลค่าสูง ค่าใช้จ่ายแรกเริ่มสำหรับการสร้างระบบอาคารบางประเภทก็อาจมีราคาสูงกว่าปกติเช่นกัน แต่การลงทุนแบบนี้ ในแง่กลยุทธ์ก็มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การสร้างโมเดลทางเศรษฐกิจที่ให้ประโยชน์ในระยะยาวและมีค่าใช้จ่ายที่ลดลงในที่สุด การให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่ที่มีคุณภาพดี สุดท้ายจะเป็นประโยชน์กว่าค่าใช้จ่ายเริ่มต้นมากมายนัก และจะช่วยทำให้เศรษฐกิจของเรามีความมั่นคงขึ้นด้วย
ที่ SOM ความพยายามของเรายังรวมไปถึงการเปิดรับการใช้พลังงานสะอาดและนวัตกรรมต่างๆ เช่น เมือง 15 นาที และการกระชับพื้นที่เมืองเพื่อลดเวลาการเดินทาง จุดยืนของเรายังเกี่ยวเนื่องไปถึงความเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นฐาน ไปสู่การใช้วัสดุที่นำมาใช้ใหม่ได้ เช่น ไม้ ไปจนถึงการนำเอาธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้าง และการสนับสนุนการสร้างอาคารที่สามารถสร้างพลังงานได้ การพูดถึงแง่มุมเหล่านี้ในองค์รวมและในทุกๆ ระดับเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมาก แต่มันก็ไม่มีทางที่เพียงโซลูชันเดียวจะนำเราไปสู่การพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนได้หรอก อย่างน้อยก็ในตอนนี้นะครับ
art4d: ที่คุณบอกว่าการผลักดันในทุกระดับ คุณหมายความว่าอย่างไร?
NM: สิ่งสำคัญคือแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงหลังเกิดโปรเจ็กต์ นอกเหนือไปจากสถาปนิกและนักออกแบบ แวดวงการทำงานของเรามีผู้ร่วมทางที่สำคัญอย่างลูกค้า ผู้รับเหมา และบุคคลอื่นๆ อีกมากมาย ที่ร่วมกันสร้างเมืองขึ้นมา มันเป็นความรับผิดชอบของทุกคนที่จะทำความเข้าใจผลกระทบอันยิ่งใหญ่ของอาคารและเมือง ที่ถูกออกแบบให้มีความยั่งยืนเพื่อการดูแลรักษาไว้ซึ่งชีวิตที่ดีและมีคุณภาพ ไปจนถึงสุขภาพของผู้คน การส่งเสริมเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง และกระตุ้นให้ทุกคนเกิดการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ช่วยกันเสริมสร้างความทุ่มเทที่เราทุกคนร่วมมือกันเพื่อความพยายามที่ว่านี้จะได้ประสบผล
art4d: SOM ส่งเสริมความคิดพวกนี้อย่างไร?
NM: ผมคิดว่ามันขึ้นอยู่กับกลุ่มคนรับสารด้วย ถ้าเป็นในชุมชนรอบตัวเราก็อาจอยู่ในรูปแบบของการแบ่งปันเรื่องราวที่ทรงพลัง และร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนในบทสนทนาที่ชวนให้เราขบคิด แต่ในระดับสาธารณะจะเป็นการพูดในเชิงความเจริญของเมือง สุขภาพและคุณภาพชีวิต ครอบครัว และอาหารการกินมากกว่า หรือเวลาที่เราพูดถึงเหล่า developer ความสนใจของเราก็มักจะอยู่ที่บทบาทของความยั่งยืนในแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ที่จะช่วยรับประกันว่าความเจริญจะเกิดขึ้น ว่าโครงสร้างที่มีประสิทธิภาพ วัสดุจากนวัตกรรมใหม่ๆ และพื้นที่ที่ส่งเสริมให้คนมีสุขภาพแข็งแรงจะช่วยขับเคลื่อนบริษัทไปสู่ความสำเร็จได้อย่างไร?
การเล่าเรื่องที่ทรงพลังที่สุดนั้นอยู่ภายในตัวสถาปัตยกรรมเอง เวลาที่เราเข้าไปสัมผัสอาคารอันน่าทึ่งทั้งหลายด้วยตัวเอง เราจะได้เห็นมันบอกเล่าเรื่องราวของชีวิต สุขภาพ ความสุข และคุณประโยชน์ที่มันได้สร้างให้กับชีวิตของผู้คน นี่คือหลักฐานรูปธรรมที่ไม่ว่าใครก็ปฏิเสธไม่ได้ การได้เห็น ได้สัมผัส ท้ายที่สุดแล้วจะกลายเป็นความเชื่อ นั่นคือสิ่งที่เราสนับสนุนมาตลอด
การลงมือทำอย่างเด็ดขาดแน่วแน่มีความสำคัญมากในยุคสมัยนี้ เราต้องตัดสินใจเลือกหนทางที่จะช่วยรับประกันถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและความเจริญรุ่งเรื่องของคนรุ่นหลัง วงจรที่ไม่มีวันจบสิ้นของการทำลายและการสร้างขึ้นมาใหม่นั้นไม่ใช่ความยั่งยืน ความสนใจของเราจึงอยู่ที่การสร้างอาคารที่มีความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ที่จะสามารถยืนหยัดและสร้างคุณประโยชน์ให้กับคนรุ่นหลังในอนาคตจากนี้ไปอีกยาวนาน
art4d: การสร้างขึ้นไม่ใช่เพื่อถูกทำลายลง?
NM: ถูกต้องที่สุดครับ การสร้างสรรค์เป็นศาสตร์ของการสร้างเรื่องราวที่จะคงอยู่ต่อไป บางทีก็ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย บางทีก็โคจรรอบเหล่ามรดกตกทอดที่เป็นอมตะเหนือกาลเวลา ซึ่งสุดท้ายมันจะหยิบยื่นประโยชน์มหาศาลให้เราในระยะยาว ที่ครอบคลุมไปถึงแง่มุมของสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และมิติทางเศรษฐกิจ มันคือความตั้งใจที่จะเดินออกมาจากคำตอบที่เริ่มไม่ตอบโจทย์มากขึ้นเรื่อยๆ และเบนความสนใจไปยังการควบคุมผลกระทบและการสร้างคุณประโยชน์ที่จะคงอยู่