คุยกับ วัชรนนท์ สินวราวัฒน์ ศิลปินที่เนื้อแท้ของงานไม่ได้กล่าวถึงภาพแลนด์สเคปในมุมมอง romantic แต่ตั้งคำถามถึงการ romanticize ภาพชนบท
TEXT: TUNYAPORN HONGTONG
PHOTO: KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
ในนิทรรศการ ‘The Boundary of Solitude’ ที่เพิ่งจบลงไปเมื่อเดือนมิถุนายนมี่ผ่านมา ที่ SAC Gallery วัชรนนท์ สินวราวัฒน์ จัดแสดงผลงานจิตรกรรม 15 ชิ้น ทั้งหมดเป็นรูปทิวทัศน์ของชนบทในประเทศไทยที่สวยแบบวังเวงและเงียบงัน
ประโยคข้างต้นนี้ไม่มีอะไรผิด แต่อาจทำให้เราเข้าใจไปว่าศิลปะของวัชรนนท์นั้นโรแมนติก ซึ่งเป็นนิยามที่ห่างไกลแนวคิดเบื้องหลังผลงานของเขามากไปหน่อย เว้นเสียแต่ว่าเราจะเปลี่ยนจากคำว่าโรแมนติกมาเป็น ‘romanticize’ อะไรๆ ก็น่าจะเริ่มเข้ามาใกล้ศิลปะของเขามากขึ้นอีกนิดหนึ่ง
“ผมสนใจภาพชนบท ไม่ใช่ชนบทในทางกายภาพ แต่สนใจว่า ‘ภาพชนบท’ มันทำงานกับเรายังไง ทำไมหลายคนที่เติบโตในเมือง หรืออาศัยอยู่ในตึกแถวตามต่างจังหวัด ไม่เคยไปวิ่งเล่นในทุ่งนา แต่กลับวาดภาพชนบทออกมาได้อย่างอัตโนมัติเลยว่าชนบทมีกระท่อมนะ มีภูเขา มีนกรูปตัว M พระอาทิตย์ตกดิน แล้วทำไมหลายคนที่ดูจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับชนบทเลย กลับฝันอยากมีบ้านอยู่ในชนบทกัน”
“มันเริ่มมาจากตรงนี้” วัชรนนท์หมายถึงที่มาของจิตรกรรมรูปทิวทัศน์ของเขา “ภาพแลนด์สเคปเสนอโลกภายนอกตัวเรา แต่ขณะเดียวกัน มันก็อาจทำให้เราเห็นแลนด์สเคปภายในจิตใจของเราด้วยว่าถูกสร้างขึ้นจากอะไรบ้าง”
จิตรกรรมรูปทิวทัศน์ของวัชรนนท์ไม่ได้อยู่ในรูปแบบ realistic นัก แต่มีลักษณะบางอย่างที่ให้ความรู้สึกของงานภาพประกอบแบบร่วมสมัยเข้ามาปะปน ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเขาเรียนจบมาทางด้านศิลปะสื่อผสม คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงน่าจะมองทิวทัศน์ด้วยสายตาของช่างภาพมากกว่า แล้วความที่ไม่ได้ถูกฝึกเขียนภาพมาอย่างเข้มข้นเหมือนคนที่เรียนสาขาจิตรกรรมโดยตรง ก็น่าจะทำให้ไม่ถูกกฎเกณฑ์ทางด้านโครงสร้าง การใช้สี และ perspective ตีกรอบตัวเองมากเกินไปนัก
“งานที่โชว์ใน ‘The Boundary of Solitude’ แบ่งเป็นสองห้อง ห้องแรกเป็นงานที่ผมทำในช่วงแรก ซึ่งผมยังเกร็งกับ subject ที่มันตึงเครียดอยู่ งานก็เลยออกมาไปในทาง realistic มากหน่อย แต่พอทำไปเรื่อยๆ ลงพื้นที่ซ้ำ สอง สาม สี่ครั้ง เราก็ relax มากขึ้น เพราะฉะนั้นภาพในห้องที่สองจึงจะมีลักษณะของการนำเสนอ mood and tone มากกว่าในเรื่องความหมาย”
“ผมยกตัวอย่างภาพในห้องที่สอง จะมีภาพภูเขาสองรูปที่ท้องฟ้าสีแดงกับสีน้ำเงิน ภูเขาในสองภาพนั้นจะมีความโค้งเกินจริงอยู่ ซึ่งมันเป็นความโค้งที่ได้จากประสบการณ์ที่ผมเผชิญหน้ากับภูเขาระหว่างที่นั่งอยู่บนรถ คือตอนที่ลงพื้นที่ ผมขับรถไปบนถนนที่ตัดเข้าไปในเทือกเขาภูพาน ภูพานมีภูเขาเต็มไปหมด เป็นภูเขาเตี้ยๆ ขนาดกลางๆ จำนวนนับไม่ถ้วน ผมขับอยู่สองชั่วโมงกว่าจะพ้นออกมาจากตรงนั้น แล้วผมก็พบว่าระหว่างที่รถแล่นไป ความโค้งเว้าของภูเขามันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ซึ่ง mood ตรงนั้น โมเมนต์ตรงนั้น มันทำงานกับผมมากกว่าตอนที่ลงจากรถไปดูภูเขาจากจุดชมวิวเสียอีก สองภาพนี้จึงถูกวาดขึ้นโดยไม่ได้อิงจากภาพถ่าย เพราะผมก็ไม่ได้ไว้ใจภววิสัยของภาพถ่ายขนาดนั้นด้วย เพราะโทรศัพท์คนละยี่ห้อ เหลี่ยมมุมก็ไม่เท่ากันแล้ว ความโค้งของเลนส์กล้องกับตาเราก็ไม่เท่ากันด้วย ผมก็เลยวาดสองภาพนั้นจาก mood ที่เราจำได้”
ส่วนหัวข้อตึงเครียดในการทำงานครั้งนี้ที่วัชรนนท์ว่าไว้นั้น มาจากประวัติศาสตร์ของเขตเทือกเขาภูพาน พื้นที่สีแดง (จัด) ที่ในอดีตเกิดการปะทะกันระหว่างฝ่ายรัฐไทยและฝ่ายคอมมิวนิสต์อย่างต่อเนื่อง สาเหตุที่วัชรนนท์เลือกพื้นที่ตรงนี้ในการทำงานจิตรกรรมทิวทัศน์ เพราะในกระบวนการหาคำตอบว่าภาพชนบททำงานกับตัวเขาอย่างไรนั้น เขาได้รีเสิร์ชย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีต แล้วพบว่า ชนบทของไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลังจากการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับสงครามเย็นที่รัฐบาลไทยในขณะนั้นได้รับการสนับสนุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณูปโภคจากฝั่งสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้น วัชรนนท์ยังพบว่าหลังการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง มีการนำเอาหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาพูดถึงกันมากและภาพของชนบทก็ถูกนำมาใช้ควบคู่กันไป
ภาพแลนด์สเคป พื้นที่สีแดง สงครามเย็น และการค้นหาคำตอบว่าภาพชนบทถูกใช้เพื่อทำงานกับเราอย่างไร ปรากฏให้เห็นในงานของวัชรนนท์ตั้งแต่ ‘Countryside before Memories’ หนึ่งในผลงานจากนิทรรศการกลุ่ม ‘Future Tense’ ที่จัดแสดงที่ Jim Thompson Art Center เมื่อ 2 ปีก่อนหน้า ในครั้งนั้น นอกจากวัชรนนท์จะมีจิตรกรรมภาพทิวทัศน์ที่อยู่ในบรรยากาศเดียวกับใน ‘The Boundary of Solitude’ แล้ว ก็ยังมีผลงานวิดีโอยาว 19 นาที ที่เล่าเรื่องของประเทศไทยในช่วงสงครามเย็นที่มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 คู่ขนานกันไปกับเศรษฐกิจพอเพียงในช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง
“คือผมไม่ได้สนใจเรื่องสงครามเย็นมาตั้งแต่แรก ผมก็สนใจเรื่องในยุคของเรานี่แหละ แต่มันเริ่มจากภาพแลนด์สเคปชนบทอย่างที่บอกไป ตอนที่รีเสิร์ชเพื่อทำ ‘Countryside before Memories’ เหมือนกับผมไปพบว่าภาพแลนด์สเคปมันถูกใช้เป็นโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองมาตลอด แล้วก็ใช้อย่างแนบเนียนด้วย เพราะไม่มีสัญลักษณ์อะไรให้เราจับผิดได้เลยว่า ภาพแลนด์สเคปนี้กำลังรับใช้อุดมการณ์แบบไหน ด้วยความที่มันแนบเนียน มันก็เลยน่าสนใจว่ามันกำลังทำอะไรกับเรา”
ความไม่เชื่ออะไรง่ายๆ (skeptical) เป็นตัวตนส่วนหนึ่งของวัชรนนท์อย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อบวกกับความที่เกิดในปีเดียวกับการเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง (พ.ศ. 2540) เรียนอยู่ในมัธยมปลายเมื่อเกิดม็อบกปปส. ต่อมาจนถึงรัฐประหารปี 2557 และใช้ชีวิตนักศึกษา ทั้ง 4 ปี อยู่ในช่วงรัฐบาลคสช. หรือพูดง่ายๆ ว่า ใช้ชีวิตในวัยเยาว์ที่อยู่ในช่วงขบถและค้นหา อยู่ร่วมกับยุคสมัยของสังคมการเมืองไทยที่บิดเบี้ยว และประจักษ์พยานข่าวสารจากโซเชียลมีเดียที่แตกต่างกันได้อย่างเหลือเชื่อในสองขั้ว ก็ยิ่งน่าจะทำให้เขาเต็มไปด้วยความเคลือบแคลงสงสัยในหลายสิ่งหลายอย่างในสังคม
“ผมสนใจเรื่องการเมืองอยู่แล้ว น่าจะตั้งแต่ ม.ต้น แต่ตอนนั้นก็อาจจะไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรนัก ผมจำได้ว่าตอนอยู่ ม.4-ม.5 ผมก็ดูรายการตอบโจทย์ฯ (ตอบโจทย์ประเทศไทย) ที่ อ.สุลักษณ์ (ส.ศิวรักษ์) กับ อ.สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) มาออกด้วยกัน ผมคิดว่าช่วงที่ผมกำลังรู้เรื่อง การเมืองไทยมันเข้มข้นอยู่แล้ว แต่มันออกหัวออกก้อยได้หมด เหมือนตอนนั้น ผมอาจจะคล้อยตาม อ.สุลักษณ์ มากกว่า แต่ตอนนี้ก็อาจจะไม่แล้ว”
“ความสนใจทางการเมืองและคำถามเรื่องภาพแลนด์สเคป มันน่าจะคู่ขนานกันมา จนมาบรรจบกันก็ตอนที่ทำ ‘Countryside before Memories’ ซึ่งตอนแรกผมก็คิดว่างานผมนี่มันจะเชยแล้วนะ” เขาหัวเราะ “เพราะเรื่องสงครามเย็น คอมมิวนิสต์นี่มันเสื่อมพลังไปเยอะแล้ว แต่สุดท้ายมันก็ยังอยู่ เหมือนผี ผีในหนังไทยที่ไม่รู้ตัวว่าตายไปแล้ว เพราะไม่กี่วันก่อนก็มีคนพูดกันเรื่องการตั้งฐานทัพสหรัฐฯ ในไทย หรือเมื่อคืนก็มีดราม่าเรื่องค้อนเคียวที่อยู่ในการ์ตูนพรรคก้าวไกล ก็ไม่นึกว่าคนยังจะคิดกันเป็นจริงเป็นจังขนาดนี้”
“อีกอย่างที่ผมเห็นความเชื่อมโยงระหว่างยุคสงครามเย็นกับการเมืองปัจจุบันก็คือ ความเปลี่ยนแปลงของไทยในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศมหาอำนาจ เพราะอย่างในช่วงสงครามเย็น ยุคสฤษดิ์-ถนอม ฝ่ายรัฐไทยมีแบ็คเป็นอเมริกา แต่ฝ่ายนักศึกษาที่ต่อต้านรัฐบาลมีแบ็คเป็นจีน แต่มามาตอนนี้มันกลับกันเลย รัฐบาลไทยตั้งแต่คสช. เป็นต้นมาจะสนิทกับจีน ส่วนผู้ชุมนุมมักจะได้รับการแถลงการณ์สนับสนุนจากประเทศตะวันตก”
ในการรีเสิร์ชเกี่ยวกับงานศิลปะที่ทำ วัชรนนท์อ่านหนังสือจากนักวิชาการ-นักเขียนหลายคน เช่น เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, ธงชัย วินิจจะกูล, ณัฐพล ใจจริง, Benedict Anderson, ประจักษ์ ก้องกีรติ, พวงทอง ภคัวรพันธุ์, เออิจิ มูราชิมา, ผาสุก พงษ์ไพจิตร และธิกานต์ ศรีนารา เป็นต้น ส่วนในหมวดหมู่วรรณกรรมร่วมสมัย เขาก็สนใจงานเขียนที่มีฉากหลังคาบเกี่ยวกับเรื่องสังคมการเมือง ไม่ว่าจะเป็น งานเขียนของ วัฒน์ วรรลยางกูร, ภู กระดาษ, แดนอรัญ แสงทอง, วีรพร นิติประภา, อุทิศ เหมะมูล และบางเล่มจากเสกสรรค์ ประเสริฐกุล
วัชรนนท์ไม่ได้บอกว่าเขาชอบเขียน แต่บอกว่าการเขียนเป็นอีกหนึ่งทักษะที่เขาพยายามพัฒนาควบคู่กันไป อย่างไรก็ดี ในผลงานล่าสุดของเขาที่นำไปจัดแสดงในนิทรรศการกลุ่ม ‘SUPHAN’S Echoes’ ที่ 1984+1 Gallery ในสุพรรณบุรี บ้านเกิดของวัชรนนท์ เราจะได้เห็นผลงานเขียนเรื่องสั้นครั้งแรกของเขาควบคู่ไปกับงานดรออิ้ง ชื่อ “ให้สิงโตเล่าเรื่องสั้นๆ” (Let the Lion Tell a Short Story) ที่เขาเอาเรื่องเล่าที่สมาชิกในครอบครัวเคยนำมาเล่าซ้ำๆ กัน เล่าเหมือนกันบ้าง ต่างกันบ้าง มาแต่งเป็นเรื่องสั้นและพิมพ์เป็นหนังสือเล่มเล็กแจกให้กับผู้ชมในงาน
“นิทรรศการนี้แสดงที่สุพรรณฯ ธีมสุพรรณฯ แล้วผมก็เป็นคนสุพรรณฯ ผมก็เลยย้อนกลับไปดูอะไรที่บ้านที่มันส่วนตัวหน่อย ก็ไปเจอสิงโตจีนแก้ฮวงจุ้ยในบ้านที่เหล่ากง (ทวด) เป็นคนปั้น ซึ่งผมก็รู้สึกว่าผมอาจจะได้ทักษะเชิงช่างมาจากเขาก็ได้นะ ตอนแรกผมจะเอาสิงโตตัวนี้มาจัดแสดง แต่คนที่บ้านไม่ยอม เพราะเขาเป็นผู้พิทักษ์ ตั้งไว้หันหน้าออกนอกบ้านที่เป็นโรงพยาบาล ผมก็เลยเอามาเป็นเรื่องเล่า เป็นความพยายามที่จะรวบรวมเรื่องเล่าในบ้านที่มันกระจัดกระจาย แล้วก็พยายามเทียบเคียงกับภูมิทัศน์ในเมืองที่เปลี่ยนไปด้วย”
ส่วนงานที่เกี่ยวกับแลนด์สเคปโดยตรงอย่างที่เขาทำมาต่อเนื่อง 2-3 งานนั้น วัชรนนท์บอกว่าเขาก็ยังมีโปรเจ็กต์ที่จะทำต่อไปอยู่ เพียงแต่ยังบอกอะไรไม่ได้มากในตอนนี้