หนังสือซึ่งนำเสนอภาพถ่ายและดรออิ้งของห้องน้ำ ผ่านมุมมองที่น่าสนใจว่าห้องน้ำสาธารณะสามารถยกระดับเป็นงานศิลปะที่ใช้งานได้ ในขณะที่ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงและสุขอนามัยของผู้คนได้อย่างไร
TEXT: NATHATAI TANGCHADAKORN
PHOTO COURTESY OF TOTO PUBLISHING
(For English, press here)
The Tokyo Toilet
TOTO Publishing, 2023
257 x 190mm
280 pages
Paperback
ISBN 978-488-70640-4-1
ลืมห้องน้ำที่น่าเบื่อ มืด และเหม็นไปได้เลย หนังสือเล่มนี้พาไปสำรวจโลกของห้องน้ำสาธารณะในย่านชิบูย่าของโตเกียวอย่างลึกซึ้ง ด้วยมุมมองที่น่าประหลาดใจ โดยนำเสนอห้องน้ำสาธารณะสิบเจ็ดแห่งให้กลายเป็นพื้นที่ที่สวยงามทางสถาปัตยกรรมและเป็นของทุกคน
โครงการ The Tokyo Toilet จัดขึ้นโดยThe Nippon Foundation มูลนิธิที่สนับสนุนการพัฒนาด้านสาธารณสุข สวัสดิการทางสังคม และการพัฒนาทางทะเล ร่วมกับสำนักงานเขตชิบูย่า (Shibuya City Government) และสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวชิบูย่า (Shibuya Tourism Association) โครงการนี้มีห้องน้ำที่ออกแบบโดยนักออกแบบญี่ปุ่นและนักออกแบบนานาชาติรวม 17 คน อาทิ Shigeru Ban, Sou Fujimoto, Kengo Kuma, UTokyo DLX Design Lab, Marc Newson โดยโปรเจ็กต์นี้มีช่วงเวลาการดำเนินการทับซ้อนกับมหกรรมโอลิมปิกครั้งที่แล้วที่โตเกียวเป็นเจ้าภาพ รวมทั้งยังคาบเกี่ยวกับสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ผลงานหลายๆ แห่งก็ตั้งอยู่ใกล้กับสนามเด็กเล่นเพื่อสนับสนุนให้เด็กๆ รักษาสุขอนามัย โดย The Tokyo Toilet ก็เพิ่งจะเปิดตัวห้องน้ำ 6 แห่งสุดท้ายไปเมื่อปีที่แล้ว (2023) นี้เอง
ภายในเล่ม The Tokyo Toilet ประกอบด้วยภาพถ่าย ดรออิ้ง และบทสัมภาษณ์เจาะลึกแนวคิดเบื้องหลังการออกแบบห้องน้ำแต่ละห้อง โดยมีผลงานจากสถาปนิกชื่อดังที่กล่าวไปข้างต้น มันเป็นการมองอย่างน่าสนใจว่าห้องน้ำสาธารณะสามารถยกระดับเป็นงานศิลปะที่ใช้งานได้ ในขณะที่ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงและสุขอนามัยของผู้คนอย่างไรได้บ้าง การตั้งต้นของนักออกแบบแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกันไปตามความถนัด บ้างก็เริ่มคิดจาก visual design ที่กลมกลืนกับย่านนั้นๆ บ้างก็เลือกดึงเอกลักษณ์ของ ‘ความเป็นญี่ปุ่น’ มานำเสนอ (ผ่านสายตานักออกแบบชาวต่างชาติ) บ้างก็นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้อย่างเต็มที่ จนออกมาเป็นเหล่าห้องน้ำสาธารณะที่มีเอกลักษณ์ชัดเจนบนพื้นฐานด้านฟังก์ชัน
The Tokyo Toilet จึงเป็นเหมือนกับโครงการทดลองให้สถาปนิกและนักออกแบบได้พลิกโฉมหนึ่งในพื้นที่สาธารณะที่ถูกใช้งานสมบุกสมบันมากที่สุด เห็นได้ว่าแม้จะเป็นญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อเรื่องความสะอาด ห้องน้ำสาธารณะก็ยังคงถูกแปะป้ายพื้นที่ไม่พึงประสงค์ หนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นไอเดียเรื่องความสะอาดและความเป็นมิตรได้อย่างสร้างสรรค์ ที่สถาปนิกและนักออกแบบมอบให้กับผู้ใช้งานทุกกลุ่ม รวมทั้งเมืองโตเกียวเองด้วย