สำรวจโลกของหนังทดลองที่ไร้ขอบเขต ใน ‘เทศกาลหนังทดลองกรุงเทพฯ ครั้งที่ 7’ ภายในธีม ‘ไร้ที่ มีทาง’ (Nowhere Somewhere) อันว่าด้วยความก่ำกึ่งในมณทลต่างๆ
TEXT: SUTHASINEE SUTTHASO
PHOTO CREDIT AS NOTED
(For English, press here)
เรามีภาพจำกับภาพยนตร์หรือหนังอย่างไร และเราคิดยังไงกับคำว่า ‘หนังทดลอง?’ เป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจเมื่อได้ไปเทศกาลหนังทดลองกรุงเทพฯ ครั้งที่ 7 (The 7th Bangkok Experimental Film Festival) หรือ BEFF7 หลังจากที่เทศกาลนี้ห่างหายไปกว่า 12 ปี

Photo: Suthasinee Sutthaso

Photo: Ketsiree Wongwan
หากเป็นเราในวัยเด็กคงบอกว่า หนังเป็นการเล่าเรื่องด้วยภาพเคลื่อนไหวและเสียงประกอบที่มีการลำดับเรื่องอย่างเป็นขั้นตอน ตั้งแต่การพบเจอสถานการณ์บางอย่างจนเกิดจุดพลิกผันก่อนวิ่งไปสู่จุดไคลแมกซ์ แต่เมื่อโตขึ้นมุมมองนั้นก็เปลี่ยนไปเมื่อหันไปสนใจการชมหนังนอกกระแสและหนังทดลอง ซึ่งถ้าถามว่าเสน่ห์ของหนังทดลองคืออะไร มันเป็นการเล่าเรื่องที่ไม่เป็นเส้นตรง ซับซ้อน หรืออาจไม่เล่าเรื่องเลยแต่ให้อิสระกับผู้ชมได้ตีความเอง นี่ล่ะที่ให้ความรู้สึก ‘สดใหม่’ อยู่ตลอดเวลา เพราะผู้สร้างมักจะใส่เทคนิคการเล่าตามชอบ ปรุงแต่งจนออกมาเป็นภาษาของตัวเอง ซึ่งก็เห็นกันชัดๆ ในเทศกาลนี้ล่ะ
BEFF ปีนี้มาในธีม ‘ไร้ที่ มีทาง’ (Nowhere Somewhere) บอกเล่าสภาวะก้ำกึ่งระหว่าง ความเป็นกับความตาย จินตนาการกับความจริง หรือความก้ำกึ่งระหว่างงานศิลปะและภาพยนตร์ โดยใช้พื้นที่ระหว่างชั้น 2 และชั้น 3 ของตึก One Bangkok Form มาช่วยขยายมิติความหนังทดลอง สู่บริบทอื่นๆ ได้แก่ การแสดงสดเชิงทดลอง (experimental performances) การแสดงดนตรีสดเชิงทดลอง (experimental performances) งานศิลปะจัดวาง (installations) ซึ่งจัดเป็นครั้งแรก รวมถึงเวิร์กช็อป เสวนา โปรแกรมจัดฉายหนัง และเนื่องจากในงานมีโปรแกรมค่อนข้างเยอะ เลยจะขอเล่าเพียงบางส่วนในวันที่ได้ไปชม

Photo: Ketsiree Wongwan

Photo: Ketsiree Wongwan
เริ่มตั้งแต่การจัดวาง เครื่องฉายหนัง 16 มม. ในฐานะวัตถุ (installations) บนพื้นที่บริเวณชั้น 2 ผลงานของศิลปินชาวไทย นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ ร่วมกับหอภาพยนตร์ เชื้อเชิญให้ผู้ชมเดินสำรวจผลงานชุดนี้ ความน่าสนใจคือเมื่อเดินถอยออกมาดูภาพรวมจะพบว่า ศิลปินอาจใช้ความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้คน และ การเล่นกับพื้นที่ มาบอกเล่ามิติความเป็นภาพเคลื่อนไหว ที่ไม่จำเป็นจะต้องอยู่บนจอภาพเสมอไปก็ได้

Photo: Ketsiree Wongwan
ผลงานของ นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ ยังชวนเราย้อนนึกไปถึงประสบการณ์การดูหนังที่ผ่านมา ซึ่งดูจะคุ้นชินกับระบบดิจิทัลเป็นส่วนใหญ่ การได้เห็นเครื่องฉายหนัง 16 มม. ทำให้นึกถึง Cinema Paradiso (1988) ภาพยนตร์สัญชาติอิตาลีที่บอกเล่าชีวิตนักฉายหนังฟิล์มในโรงหนังสแตนด์อโลนแห่งเดียวในเมืองเล็กๆ ของอิตาลี ก่อนที่โรงหนังจะต้องปิดตัวลง เนื่องด้วยการมาถึงของยุคโทรทัศน์ที่ทำให้ผู้คนทยอยหันหลังให้โรงหนัง เมื่อทบทวนความทรงจำเหล่านั้น พบว่า ศิลปะจัดวางชุดนี้ทำงานกับเราในแง่ของการเดินทางย้อนเวลากลับไปมองประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ มองการมีอยู่ของชีวิตผู้คนเบื้องหลังเครื่องมืออนาล็อกเหล่านั้น ก่อนที่จะถูกยุคสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ด้วยคราบถลอกสีเทาที่ปรากฏบนเครื่องฉายหนังไปแล้วบางส่วน

Photo: Suthasinee Sutthaso
สำหรับโปรแกรมฉายหนังซึ่งเป็นหัวใจหลักของงาน เรามีโอกาสได้ดู Retrospective: Sasithorn Ariyavicha’s Films from 1991-2004 ซึ่งรวบรวมผลงานของ ศะศิธร อริยะวิชา นักทำหนังทดลองชาวไทยที่อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากยุคฟิล์มสู่ยุควิดีโอ ภาพยนตร์ชุดนี้ประกอบด้วย หนังสั้น 3 เรื่องถ่ายด้วยกล้องฟิล์ม 16 มม. (เคยฉายในเทศกาลนี้มาแล้วเมื่อ 20 ปีที่แล้ว) และ Birth of the Seanéma (2004) หนังทดลองเรื่องสุดท้ายของเธอ ถ่ายทำด้วยกล้อง dv ก่อนนำฟุตเทจมาร้อยเรียงกลายเป็นท้องทะเลภาพสีเบลอและมัว ไม่มีเนื้อเรื่อง ไม่มีเสียงบรรยาย พร้อมตัวอักษรที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อบอกเล่าความทรงจำ ความฝัน ความรู้สึก โดยมีทะเลเป็นสถานที่เก็บงำเรื่องราวเหล่านั้นไว้ราวกับบทกวี

Photo: Suthasinee Sutthaso
อีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจ Small Hours of the Night (2024) ผู้กำกับชาวสิงคโปร์ Daniel Hui ภาพยนตร์ที่นำเอาเหตุการณ์ทางการเมืองของสิงคโปร์มาเป็นแรงบันดาลใจต่อการเล่าถึงเสรีภาพ ผ่านตัวละครนักโทษหญิง โดยมีฉากหลังเป็นห้องขังเดี่ยว ซึ่งเพิ่งรู้ว่าหนังเรื่องนี้ถูกแบนไม่ได้เข้าฉายในประเทศสิงคโปร์ด้วย อย่างไรก็ตามขอนำเอาคำพูดช่วง Q&A ของ Daniel Hui มาเล่าสู่กันฟัง
“การถูกกดขี่จากโครงสร้างและอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน ในที่นี้ไม่ใช่แค่รัฐกดขี่เราเท่านั้น แต่การกระทำของเราเองก็มีส่วนร่วมต่อการมอบอำนาจให้แก่รัฐด้วยเช่นกัน ผมรู้สึกว่านักโทษที่ถูกขังมาเป็นเวลาหลายปีมีเสรีภาพมากกว่าเราทุกคนที่ผมเคยเจอเสียอีก ดังนั้น เสรีภาพเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวเราทุกคนและควรจะทำให้มันโตขึ้นในตัวของเราทุกคน”

Photo: Ketsiree Wongwan
สุดท้ายผลงานไฮไลต์สำคัญบริเวณ ชั้น 3 อย่าง ‘บทสนทนากับดวงอาทิตย์’ ในรูปแบบ VR (A Conversation with the Sun) ผลงานของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล สร้างสรรค์ร่วมกับ เรียวอิจิ ซากาโมโตะ และ คัตสึยะ ทานิกุจิ ที่เคยจัดแสดงมาแล้ว ใน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 น่าเสียดายที่จองบัตรไม่ทันรอบชม
แต่ไม่เป็นไรเพราะห้องข้างกันจัดแสดง COSMORAMA ผลงานของ 5 ศิลปิน ได้แก่ ฉันทนา ทิพย์ประชาติ, โดเมนิโก สิงห์ เปโดรลิ, จันทร์ เพ็ญจันทร์ ลาซูส, มิติ เรืองกฤตยา และ ปฐมพล เทศประทีป นำเสนอภาพเคลื่อนไหวบนจอภาพยนตร์ 3 จอขนาดใหญ่ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวจากความสนใจของศิลปินแต่ละคน ทว่าเมื่อฉายพร้อมกับเสียงสั่นสะเทือนและเสียงที่แววมาจากห้องจัดแสดง VR ‘บทสนทนากับดวงอาทิตย์’ โดยมีเตียงให้ผู้ชมได้นั่งหรือนอนซึมซับผลงานเหล่านั้น กลับให้ความรู้สึกว่าเรื่องราวที่รับชมมีความกลมกลืนราวกับศิลปินทั้ง 5 พร้อมใจเล่าในเรื่องเดียวกัน

Photo: Suthasinee Sutthaso
อย่างไรก็ตามแม้แต่ละชิ้นงานศิลปินจะใส่เรื่องราวส่วนตัวลงไป แต่ความสำคัญของ BEFF คือการเปิดพื้นที่อย่างอิสระให้ผู้ชมได้ตีความตามความรู้สึกและตามปัจเจกของตนอย่างไม่มีถูกผิด แม้จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจชิ้นงานนั้นเลยก็ตาม ซึ่งนั่นน่าจะเป็นหัวใจของการดูหนังทดลอง อีกทั้งการสร้างสรรค์งานที่พยายามหลุดออกจากกรอบขนบหนังทั่วไป เพื่อมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ก็นำมาซึ่งความหลากหลายที่จะงอกเงยขึ้นเรื่อยๆ บนประวัติศาสตร์โลกภาพยนตร์อีกด้วย นิยามความเป็นหนังทดลองจึงมีความลื่นไหลอยู่ตลอดเวลา น่าตื่นเต้นตรงที่ว่า ในปีหน้าหรือปีถัดๆ ไป เทศกาลหนังทดลองกรุงเทพฯ จะพาความเป็นไปได้ของหนังทดลองไปในทิศทางไหนอีก คงต้องรอติดตามกันต่อไป
เทศกาลหนังทดลองกรุงเทพ ครั้งที่ 7 (BEFF7) จัดขึ้นที่ One Bangkok Forum เมื่อช่วงวันที่ 25 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา