Out & About Architect นำเสนอ Flow House บ้านที่ผสมผสานความเป็นธรรมชาติและความสะดวกสบาย สำหรับชีวิตวัยเกษียณ
TEXT: MONTHON PAOAROON
PHOTO: DOF SKY|GROUND
(For English, press here)
โปรเจกต์บ้านหลังเล็กกระทัดรัดที่ตั้งใจออกแบบเพื่อเป็นบ้านเกษียณสำหรับคุณพ่อคุณแม่เจ้าของบ้านที่ย้ายจากกรุงเทพฯ มาอยู่ที่เชียงใหม่ โดยทางสถาปนิก Out & About Architects ได้เสนอแนวทางการออกแบบบ้านที่ไม่เหมือนกับอยู่ที่กรุงเทพฯ โดยให้บ้านหลังนี้เป็นตัวเชื่อมจากวิถีชีวิตเมืองมาอยู่ที่เชียงใหม่ด้วยบริบทสภาพอากาศที่ผสมผสานการใช้ชีวิตแบบ outdoor และตั้งใจออกแบบเป็นบ้านชั้นเดียวที่ดูแลรักษาง่ายด้วยคนเพียงไม่กี่คน โดยเราได้นัดพบกับ กิจสุพพัต ณ ลำปาง หนึ่งในสองคนผู้ก่อตั้ง Out & About Architects คู่กับยุสุมา พรสมิทธิ์ ที่บ้าน Flow House หลังนี้ที่พึ่งเสร็จได้ไม่นานและพบกับคุณพ่อเจ้าของบ้านที่พึ่งย้ายเข้าอยู่ไม่ถึงเดือนที่จะพาเราเดินชมบ้านและพูดคุยถึงที่มาที่ไปของการออกแบบกันแบบสบายๆ
ถ้าเรายืนมองจากถนนแล้วมองไปที่ด้านหน้าบ้านเราจะเห็นบ้านถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนอย่างชัดเจน ฝั่งขวาเป็นโซน public ฝั่งซ้ายเป็นโซน private และมี corridor อยู่ตรงกลาง โซน public เมื่อเปิดประตูบ้านเข้ามาจะเจอกับที่จอดรถ ทางเข้าบ้าน ห้องนั่งเล่น และสวนหลังบ้านโดยออกแบบให้พื้นที่ส่วนห้องนั่งเล่นอยู่ตรงกลางเพื่อให้เกิด cross ventilation ให้มากที่สุด ในโซนฝั่ง private ด้านหน้าสุดจะเป็นส่วน service ของบ้าน ห้องครัว และห้องนอนสองห้องอยู่ถัดมาด้านใน เพราะบ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในหมู่บ้านด้านหน้าจะมีเสียงรบกวนเยอะที่สุดในขณะที่ด้านหลังเงียบที่สุดทางสถาปนิกจึงเลือกเอาห้องนอนไว้ด้านหลัง
ส่วน corridor ที่ตั้งใจให้เป็น design หลักของบ้านทำหน้าที่แบ่งสองพื้นที่ไม่ให้รบกวนกันเวลาใช้งานและแจกเข้าแต่ละฟังก์ชัน เลือกใช้บล็อกช่องลมมากั้นพื้นที่ทำให้รู้สึกถึงความ ‘เปิด’ และ ‘ปิด’ ไปพร้อมกัน คือการเปิดรับแสงและลมระบายอากาศทำให้เวลาเดินใน corridor เราจะรู้สึกว่าเป็นพื้นที่ทั้งกึ่งภายนอกและภายใน และการปิดสร้างพื้นที่ระหว่างสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับพื้นที่ห้องนอน โดยเฉพาะสำหรับบ้านหลังนี้ที่พื้นที่ไม่ใหญ่แค่ 78 ตารางวา ด้านหลังบ้านก็เป็นพื้นที่ที่เพื่อนบ้านมองเข้ามาได้ บล็อกช่องลมจึงช่วยสร้างความเป็นส่วนตัวไม่ให้ภายนอกมองเข้าไปในส่วนห้องนอนเยอะเกินไป “การที่เปิดจากพื้นที่ห้องนอนออกมาเป็นสวนเลยผมว่ามันกระชั้นเกินไป บล็อคช่องลมนี้ยังช่วยกรองแสงและมุมมองให้กับส่วนห้องนอนด้วย” กิจสุพพัตเล่าเสริม
เนื่องจากบ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในหมู่บ้าน ตอนออกแบบทางสถาปนิกอยากให้ภายนอกบ้านดูกลมกลืนกับเพื่อนบ้านจึงออกแบบให้ปลายหลังคาด้านหน้าบ้านให้ต่ำพอๆ กับชั้น 1 ของข้างบ้านและยกจั่วด้านในให้สูงขึ้นในส่วนที่เป็นห้องนั่งเล่นเพื่อให้บ้านสูงโปร่งระบายอากาศได้ดี วัสดุที่ใช้กับบ้านหลังนี้เป็นวัสดุที่หาซื้อได้ทั่วไป เช่น เหล็ก กระเบื้องแกรนิตโต้ ประตูหน้าต่างอลูมิเนียม ฯลฯ โดยกิจสุพพัตอธิบายกับเราว่า ได้มีการปรับลดวัสดุธรรมชาติเช่นไม้ออกไปบ้างระหว่างการก่อสร้างเพื่อควบคุมงบประมาณไม่ให้สูงเกินไป และในการออกแบบจริงๆ ไม่ได้ปฏิเสธการใช้วัสดุธรรมชาติแต่ความยั่งยืนในอีกมุมมองนึงเราก็ต้องคำนึงถึงราคาที่เข้าถึงได้ การใช้งาน และการดูแลรักษาระยะยาวด้วย การที่ต้องใช้เงินในการดูแลรักษาในแต่ละปีที่สูงอาจจะไม่เรียกได้ว่า ‘ยั่งยืน’ และบ้านหลังนี้คนอยู่หลักเป็นคุณพ่อคุณแม่เจ้าของบ้านซึ่งเกษียณแล้วยิ่งควรจะดูแลรักษาง่าย
ก่อนมาเจอกันเราได้ลองค้นงานของ Out & About Architects ที่เคยทำมาก่อนหน้า ส่วนใหญ่เป็นงานรีโนเวทเราจึงถามว่าทางสตูดิโอมีแนวการรับงานอย่างไร? กิจสุพพัตบอกว่าจริงๆ แล้วทางสตูดิโอมีความชอบที่หลากหลาย การที่มีงานรีโนเวทเยอะเป็นเรื่องของจังหวะเวลามากกว่าที่ได้งานแนวนี้มาเยอะ สตูดิโอเพิ่งเริ่มมาแค่ 5 ปี ตั้งแต่ประมาณช่วงโควิดซึ่งเป็นช่วงที่เรียนต่อไปๆ มาๆ ระหว่างไทยกับต่างประเทศ พอบ้านหลังนี้เริ่มก่อสร้างก็คุมงานแบบออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ซึ่งเป็นประสบการณ์ใหม่ของทีมเหมือนกันแต่เพราะทางเจ้าของบ้านมาช่วยคุมเองทุกอย่างก็เสร็จออกมาเรียบร้อยดี
กิจสุพพัตบอกว่าส่วนตัวเชื่อว่างานสถาปัตยกรรมควรมี optimized ที่ดี ซึ่งในมุมมองของเค้าคำว่า optimized ครอบคลุมถึงการให้ความสำคัญกับ passive cooling การพยายามใช้ natural ventillation เยอะที่สุดเท่าที่ทำได้ และ low maintenance อย่างบ้านหลังนี้ก็ตั้งใจออกแบบให้เปิดรับลมธรรมชาติให้มากที่สุดพยายามให้คนที่อยู่ใช้เครื่องปรับอากาศให้น้อยที่สุดตั้งแต่แรก “ด้วยความโตที่เชียงใหม่ คนที่ไม่ใช่คนเชียงใหม่จะนึกไม่ออกว่าเชียงใหม่เป็นเมืองที่เคยอากาศดีมาก ตอนหน้าหนาวนั้นในเมืองเคยหนาวจริงๆ ต้องใส่เสื้อสองชั้นและผมเองก็ยังติดภาพนั้น แต่ในตอนนี้ที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไปเยอะเมืองมีช่วงที่มีหมอกควันเข้ามาก็จะต้องปรับตามอาคารสามารถเปิด-ปิดได้ และใช้เครื่องปรับอากาศเท่าที่จำเป็นจริงๆ เพราะในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวก็ยังเป็นช่วงที่เชียงใหม่อากาศดีมากๆ” กิจสุพพัตขยายที่มาของวิธีคิดให้เราฟัง
ตลอดการพูดคุยพวกเรานั่งบนพื้นระเบียงหลังบ้านที่เปิดไปสู่สวนที่มีลมพัดเอื่อยๆ ตลอด มีคุณพ่อเจ้าของบ้านที่ย้ายเข้ามาอยู่เรียบร้อยแล้วได้หนึ่งเดือนนั่งเล่นอยู่ภายในบ้าน เราเลยถามคุณพ่อที่เป็นคนที่อยู่บ้านเยอะที่สุดตอนนี้ “คุณพ่อเปิดแอร์บ้างไหมครับ?” “ไม่ค่อยเปิดเลยนะ ยิ่งช่วงนี้หน้าหนาวอากาศสบายไม่ได้เปิดแอร์เลย นั่งตรงโถงรับแขกนี้ประจำลมเย็นสบายดี แต่ก็มีเครื่องฟอกอากาศไว้ตอนปิดด้วยไม่มีไม่ได้” คำตอบของคุณพ่ออธิบายภาพไอเดียของผู้ออกแบบจนกลายมาเป็นภาพที่ user ใช้งานจริงได้ดี และน่าติดตามต่อว่า Out & About Architects จะเติบโตพัฒนาไอเดียนี้เป็นยังไงต่อไป