KID CABIN

Imaginary Objects (IO) ออกแบบสถาปัตยกรรมที่ไม่แค่ให้เด็ก ‘อยู่’ แต่เปิดโอกาสให้พวกเขา ‘เล่น’ และ ‘สร้าง’ โลกของตัวเอง

TEXT: KARN PONKIRD
PHOTO: JINNAWAT BORIHANKIJANAN

(For English, press  here)

ท่ามกลางทุ่งหญ้าและพื้นที่ทางการเกษตรนอกตัวเมืองชลบุรี มีกระท่อมหลังเล็กๆ ทอดตัวอยู่ในที่ดินส่วนตัวขนาดประมาณครึ่งไร่ กระท่อมขนาดเล็กที่พื้นที่ใช้สอยไม่เกิน 50 ตารางเมตรนี่เองที่บรรจุ function การใช้งานตามความต้องการของผู้ว่าจ้างไว้เต็มเปี่ยม และที่มากกว่านั้น ขอบเขตการใช้สอยของมันก็ต้องขยับขยายเติบโตได้ตาม ‘กิจกรรม’ ของผู้ใช้สอยได้อีกด้วย เป็นอีกครั้งที่ ญารินดา บุนนาค และ Roberto Requejo Belette แห่ง Imaginary Objects (IO) ต้องตีความ ศึกษา และเรียนรู้กระบวนการสำหรับออกแบบสถาปัตยกรรมที่มีผู้ใช้งานหลักคือ ‘เด็ก’ และกิจกรรมหลักของพวกเขาคือการ ‘เล่น’

เดิมที่ในพื้นที่ตั้งโครงการ ประกอบไปด้วยรถบ้าน 2 โมดูล ห้องน้ำอย่างง่ายและพื้นที่นั่งเล่น ด้วยโจทย์จากผู้ว่าจ้าง ซึ่งต้องการให้ลูกๆ ทั้ง 4 คนของพวกเขาได้เห็นถึงคุณค่า ความงาม และเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้สัมผัสธรรมชาติผ่านผัสสะของตนเอง ในวัยที่การเล่นคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด สถาปัตยกรรมที่ต้องการจึงควรเป็นได้ทั้ง space สำหรับพักผ่อน, สำหรับเรียนรู้ และ space สำหรับการละเล่น โดยรูปลักษณ์ของงานสถาปัตยกรรมยังพึงไว้ซึ่งความเรียบง่าย โดยปล่อยให้ ‘สิ่งที่น่าสนใจมากกว่า’ อย่างธรรมชาติ สายลม หรือแสงแดดได้โอบล้อมตัวมันหรือแม้แต่ผู้ใช้งาน อีกทั้งยังต้องก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว ผู้ออกแบบจึงเลือกใช้วัสดุที่ไม่ซับซ้อน และเลือกที่จะออกแบบให้สามารถผลิตชิ้นส่วนต่างๆ มาจากโรงงาน โดยขนมาประกอบที่ site ในภายหลัง

function การใช้งานหลักๆ ถูกจับแยกออกเป็นก้อนต่างๆ เช่นก้อนของห้องนอนทั้ง 2 ห้อง หรือก้อนของห้องน้ำ เพื่อที่จะจัดระเบียบในขั้นตอนการก่อสร้าง เช่นห้องน้ำที่จำเป็นต้องมีท่องานระบบ ก็ถูกจัดวางให้อยู่ในระดับที่ชิดกับพื้นดิน และด้วยความชอบของผู้ว่าจ้างเองที่ชื่นชมรูปทรงของสถาปัตยกรรมของบ้านไทยพื้นถิ่นซึ่งเปิดโล่งต่อธรรมชาติและตอบรับกับเหตุผลทางด้านภูมิอากาศ โดยที่ส่วนอื่นๆ ของกระท่อมเองก็ถูกยกสูงขึ้นจากพื้น เพื่อช่วยในการระบายอากาศด้วยเช่นกัน

ในขั้นตอนนี้เอง ที่ประสบการณ์การทำงานสถาปัตยกรรมประเภท ‘play architecture’ ของ IO เข้ามาเสริมให้ space ของกระท่อมหลังเล็กนี้สนุกสนานมากยิ่งขึ้น Roberto ให้ความเห็นว่า การออกแบบสถาปัตยกรรมที่ผู้ใช้งานเป็นเด็กนั้น ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดการออกแบบพื้นที่ต่างๆ ไม่ให้มองความเป็นไปได้แบบเดียว (หรือไม่กี่แบบ) ตามวิธีออกแบบสถาปัตยกรรมทั่วไป แต่ต้องคิดถึงการใช้งานประเภทวิ่ง คลาน ห้อย โหน ปีน ของเด็กไปพร้อมๆ กัน การออกแบบ space จึงต้องลื่นไหลและต่อเนื่องเป็นเนื้อเดียวกันมากที่สุด เพื่อรักษาไว้ทั้ง flow ของการเรียนรู้ แต่ก็ไม่ทิ้งปัจจัยของความปลอดภัยพื้นฐาน

ซึ่งเส้นแบ่งของความปลอดภัยนี้เองที่ทำให้สถาปัตยกรรมประเภทนี้สดใหม่อยู่เสมอ ญารินดาอธิบายว่าการออกแบบ ‘play architecture’ ทั้งตัวกระท่อมหลังนี้ก็ดี หรืองานสถาปัตยกรรมสนามเด็กเล่นชิ้นอื่นๆ ของ IO ก็ดี คือการรักษาสมดุลของ ‘ประสบการณ์’ ที่เด็กจะได้รับ การที่เป็นทั้งผู้ออกแบบ รวมทั้งยังเป็นทั้งพ่อ-แม่คน ทำให้ญารินดาและ Roberto เข้าใจคาแรกเตอร์ของกิจกรรมเด็กมากขึ้น อีกทั้งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ออกแบบ และผู้ว่าจ้างก็เป็นเรื่องสำคัญ ว่าผลลัพท์ที่ต้องการเอียงไปทางฝั่ง protective หรือ playful มากกว่า และในหลายๆครั้ง IO ก็เลือกที่จะออกแบบ element ต่างให้มีความ ‘ท้าทาย’ (ซึ่งเป็นคนละอย่างกับความเสี่ยง) ที่ช่วยผลักดันกระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆ ให้กล้าที่จะลองอะไรนอก comfort zone เช่นการออกแบบบันไดของกระท่อม ที่ลักษณะการใช้งานไม่ได้เพื่อให้แค่ ‘เดิน’ ขึ้นลง แต่เอื้อให้เกิดการไต่ การปีน หรือแม้แต่การเรียนรู้ที่จะระมัดระวังด้วยตนเอง ซึ่งการได้ใช้ทุกส่วนของร่างกายทำให้เด็กๆ คุ้นเคยและพร้อมสำหรับการทำกิจกรรมอื่นๆ เมื่อพวกเขาโตยิ่งขึ้น

ก้อนของ function ที่ดูไม่ซับซ้อนอะไรอย่างห้องนอนทั้ง 2 ห้อง ก็ถูกนำไปจัดวางใหม่ให้มีการเล่นระดับสูง-ต่ำที่แตกต่างกัน อีกทั้งโจทย์ซึ่งต้องการให้เด็กๆ ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากที่สุด จึงนำมาซึ่งหน้าต่างบานเลื่อนขนาดใหญ่ ที่เมื่อเลื่อนเปิดเต็มบาน space ภายในห้องก็พร้อมเชื่อมต่อกับสภาพแวดล้อมภายนอกได้โดยทันที

ความแตกต่างของระดับ mass ทั้ง 3 ก้อนนี้ (ห้องนอน 2 ห้องและห้องน้ำ 1 ห้อง) ทำให้เกิดพื้นที่ใหม่ๆ การยกหลังคาขึ้นสูงเพื่อให้อากาศถ่ายเท ทำให้เหลือช่องว่างระหว่างพื้นที่ใต้ฝ้า ที่เด็กๆ สามารถปีนขึ้นไปทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างสนุกสนาน การเกิดพื้นที่เหล่านี้เองที่ IO นิยามว่าเป็น space แบบ ‘Open-End’ หรือพื้นที่แบบปลายเปิด คือเด็กสามารถกำหนดการใช้งานขึ้นมาได้เองตามแต่จินตนาการของพวกเขา และบางการใช้งานนั้นแม้แต่ผู้ออกแบบเองก็นึกไม่ถึงในแต่แรก การใช้สอยที่ไม่ยึดตายตัวนี้เองที่ทำให้ ‘play architecture’ มีชีวิตชีวาตลอดเวลา โดยผู้ออกแบบพึงมีหน้าที่หลักคือการคอยเฝ้าสังเกตและตระเตรียม space เหล่านั้นไว้ให้พร้อมรองรับกิจกรรมได้อย่างไม่มีสะดุด

เช่นการเลือกจัดวาง sink ล้างมือไว้นอกห้องน้ำและอยู่ใกล้ชานพักผ่อน เพราะเมื่อเด็กๆ เล่นสนุก หรือทำกิจกรรมที่ต้องเปื้อน ก็สามารถเดินมาล้างมือได้โดยไม่ต้องเข้า-ออกห้องน้ำให้ซับซ้อน ส่วน space ชานของตัวกระท่อมนั้นทำหน้าที่หลักเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ และพื้นที่นั่งเล่น โดยได้ทำการออกแบบโต๊ะไม้ขนาดยาวยึดไว้บริเวณขอบชาน เพื่อรองกับกิจกรรมการทำงานศิลปะที่เด็กๆ ชื่นชอบ หรือใช้นั่งห้อยขาพักผ่อน โดยโต๊ะก็จะกลายเป็นเสมือนราวกันตกไปในตัว

Kid cabin จึงเป็นส่วนต่อขยายพื้นที่ใช้สอย ทั้งของผู้ว่าจ้าง และกระทั่งของผู้ออกแบบเอง เพราะนี่คือการนำประสบการณ์ออกแบบสถาปัตยกรรมสนามเด็กเล่นที่ IO เคยออกแบบมาประยุกต์ให้เข้ากับสถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัย กระท่อมหลังเล็กนี้ถึงแม้ความตั้งใจจะทำเพื่อแค่เด็กๆ แต่ทั้งคุณพ่อและคุณแม่เองก็สามารเข้ามาร่วมใช้งานได้ด้วย เป็นเสมือนสถาปัตยกรรมแบบปลายเปิดที่สามารถปรับเปลี่ยนตามผู้อยู่อาศัยได้ตลอดเวลา สุดท้ายแล้วแม้การออกแบบสถาปัตยกรรมสำหรับเด็กนั้นจะเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ทั้งญารินดาและ Roberto ก็ยืนยันว่าเป็นงานที่สนุก และกระตุ้นให้เกิดจินตนาการในการทำงานออกแบบเสมอมา

imaginaryobjects.co
facebook.com/imaginaryobjects

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *