TNOP HOUSE

TNOP House

TNOP House

บ้านพักตากอากาศโดย IS Architects ร่วมกับ Dipdee Design Studio ที่เลือกใช้วัสดุและรูปทรงอาคารอันเรียบง่ายผสานกับการจัดการพื้นที่ สู่การเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนโดยรอบได้อย่างกลมกลืน

TEXT: SURAWIT BOONJOO
PHOTO: RUNGKIT CHAROENWAT

(For English, press here)

“ก่อนเริ่มต้นโครงการเราได้ทำการสำรวจตั้งแต่ทิศทางลม แสงแดด รวมไปถึงวิถีชีวิตของผู้อยู่อาศัยแต่เดิมภายในพื้นที่ชุมชนซึ่งล้วนเป็นคนท้องถิ่นทั้งหมด โดยยังมีการก่อไฟหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อการดำรงชีพ สิ่งเหล่านี้ส่งผลและนำไปสู่การแก้ปัญหาผ่านการออกแบบเพื่อให้เกิดการตอบรับปฏิสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้เข้ามาอยู่อาศัยใหม่กับวิถีการดำรงชีพดั้งเดิม”

TNOP House

บ้านพักอาศัยรูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นร่วมสมัยหลังนี้ ออกแบบโดยใช้วัสดุและรูปทรงอาคารอันเรียบง่าย รวมไปถึงการจัดการพื้นที่ซึ่งผสานเรียงร้อยทั้งสามองค์ประกอบไว้อย่างผสมกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ ขณะเดียวกันยังคงชี้เน้นถึงความนอบน้อมต่อธรรมชาติอย่างชวนให้ขบคิด บ้านพักตากอากาศขนาดย่อม TNOP House ตั้งอยู่บนเนินเขาลาดเอียงจากสูงไปต่ำท่ามกลางทัศนียภาพท้องทุ่งนาในจังหวัดเชียงราย ทางตอนเหนือของประเทศไทย ออกแบบโดย ปวิณ ทารัตน์ใจ แห่งสำนักงานออกแบบสถาปัตยกรรม IS Architects ร่วมกับภูมิสถาปนิกจาก Dipdee Design Studio นอกจากจะเป็นพื้นที่เพื่อพักผ่อนหย่อนใจแล้ว บ้านหลังนี้ยังได้รับการออกแบบเพื่อช่วยเสริมสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ให้กับ ธีรนพ หวังศิลปคุณ เจ้าของบ้านซึ่งเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ชื่อดังอีกด้วย

TNOP House

บ้านขนาด 250 ตารางเมตรหลังนี้ เริ่มต้นจากความต้องการบ้านสักหลังสำหรับการพักผ่อนบนพื้นที่เชิงเขาอันเงียบสงบและความชื่นชอบในพันธุ์ไม้เมืองหนาว รวมไปถึงพืชสมุนไพรของเจ้าของโครงการ การจัดผังพื้นที่โดยรวมเริ่มต้นด้วยการเชื่อมพื้นที่ทางเข้ากับถนนด้วยลานโล่งบนระยะห่างประมาณ 1 เท่าของความสูงอาคาร ก่อนถึงแนวอาคารทอดยาวขวางเกือบเต็มพื้นที่ซึ่งคั่นด้วยสวนขนาดเล็กก่อนเข้าสู่พื้นภายในอาคาร ส่วนหลังถัดไปเป็นสวนโล่งขั้นบันไดสำหรับการเพาะปลูก อาจกล่าวได้ว่า นี่คือการออกแบบที่ตอบรับตรงตามฟังก์ชันการใช้งานซึ่งคาดหวังได้อย่างพอดิบพอดี เช่นเดียวกันกับการแบ่งพื้นที่การใช้สอยภายในบนลานโล่งข้างห้องนอนหลักชั้นสองซึ่งเว้นเพื่อรองรับการปลูกพืชผักสวนครัวในอนาคต

ปวิณอธิบายถึงการจัดการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่และมลภาวะเพื่อให้สามารตอบรับไปกับการร่วมอาศัยเป็นส่วนหนึ่งในชุมชนที่สงบปราศจากความวุ่นวายว่า “เราจึงพยายามบีบพื้นที่ให้เป็นส่วนตัวมากที่สุด นำไปสู่การเลือกใช้ผนังแนวดิ่งเข้ามาช่วยบังคับมุมมองจุดนำสายตา รวมไปถึงทิศทางการไหลเวียนของอากาศที่จะพัดกลิ่นควันจากการเผาไหม้และปศุสัตว์ไปพร้อมกัน นอกจากนั้นแล้วยังปรับแก้ไขเพื่อรับมือกับมลพิษทางเสียงด้วยการเว้นระยะห่างจากถนน ประกอบไปกับการสร้างแนวกั้นจากต้นไม้ทั้งบริเวณลานหน้าบ้าน และคั่นด้วย transitional space ก่อนเข้าไปยังพื้นที่ใช้สอยซึ่งต่อเนื่องด้วยพื้นที่เซอร์วิส โดยลำดับจัดเรียงบนกรอบพื้นที่ตามแนวระนาบในส่วนต้นของผังอาคาร  ทั้งสองจึงเปรียบเสมือนแนวกันเสียงและแบ่งแยกความเป็นส่วนตัวจากผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา อีกทั้งเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่เราจะใช้เป็นพื้นที่ที่ปิดกั้นระหว่างที่ว่างภายนอกกับที่ว่างภายใน”

TNOP House

TNOP HouseTNOP HouseTNOP HouseTNOP House

แม้ว่าการออกแบบอาคารจะต้องคำนึงถึงการปรับแก้ปัญหาในเชิงพื้นที่ แต่รูปทรงของอาคารที่ปรากฏยังคงสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาและเรียบง่ายไปอย่างพอดีกับความต้องการใช้พื้นที่ผ่านรูปลักษณ์ความเป็นพื้นถิ่น ด้วยการเลือกใช้วัสดุสำหรับการก่อสร้างและตกแต่งที่สามารถจัดหาได้ภายในจังหวัดและถูกเลือกใช้โดยปกติภายในพื้นที่ แต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ความงามแบบเฉพาะจากคุณลักษณะองค์ประกอบเนื้อแท้ ซึ่งปราศจากการแต่งเติมของแต่ละวัสดุ อาทิ วัสดุมุงหลังคา งานไม้เก่า กระเบื้องดินเผาสีน้ำตาลเทา และกระเบื้องเคลือบสีเขียว พร้อมกันนั้นก็แทรกเสริมให้เกิดเป็นพลวัต จากความเรียบง่ายเหล่านี้ผ่านการใช้ซ้ำวัสดุประเภทเดียวกันแต่หลากชนิด อย่างการคัดสรรใช้ไม้สักในตำแหน่งที่ตั้งตระหง่านชั้นสองของบ้านและตะเคียนที่เป็นไม้เนื้อแข็งบริเวณชานอเนกประสงค์หลังบ้านเพื่อสามารถรองรับการใช้พื้นที่สำหรับการสันทนาการและทนทานต่อสภาพภูมิอากาศ 

TNOP House

ตลอดทั้งอาคาร สถาปนิกยังพยายามใช้การจัดการพื้นที่ การจงใจเว้นให้ว่างและเปิดช่องโล่งซึ่งประยุกต์และบูรณาการองค์ความรู้ผ่านความเข้าใจในกลวิธีของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอย่างการยอมให้แสงแดดพาดผ่านเข้ามายังพื้นที่ภายในได้โดยตรง และการพัดผ่านของลมเพื่อช่วยลดความชื้นและกำจัดเชื้อโรค อาคารหลังนี้ที่เปิดโล่งในทิศตะวันตกจึงได้รับแสงยามบ่ายเข้ามาอย่างเต็มที่และเปิดรับเชื่อมร้อยธรรมชาติเข้าสู่ภายในไปพร้อมกัน รวมไปถึงการจัดวางทางเดินทอดยาวภายในบ้าน โดยเฉพาะในส่วนหน้าของอาคารที่ทำงานเป็นแนวป้องกันเสียง ในขณะเดียวกันก็เอื้อให้เกิดการครุ่นคิด ปลดปล่อยให้เกิดการสรรค์สร้างทางความคิด ณ ห้วงเวลาระหว่างการเปลี่ยนผ่าน

TNOP HouseTNOP HouseTNOP HouseTNOP HouseTNOP House

ด้วยการไตร่ตรองและถ่ายทอดผ่านกระบวนการออกแบบร่วมกันของสถาปนิก ภูมิสถาปนิก และฝีมือการสร้างสรรค์ของช่างท้องถิ่นที่คุ้นเคยกับวัสดุ บ้านพักตากอากาศหลังนี้จึงน่าสนใจจากรูปด้านอันเฉพาะของอาคารที่แสดงรูปทรงและการซ้อนต่อกันของวัสดุที่ถูกเลือกใช้โดยปกติทั่วไป กล่าวคือบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้จากการที่ปรับเปลี่ยนตามการใช้งาน อย่างไรก็ตาม ภาษาการออกแบบของ TNOP House กลับแตกต่างโดยการสื่อสารผ่านชุดคำดั้งเดิมด้วยท่าทีร่วมสมัย ตอกย้ำถึงการประกอบรวมร้อยเรียงเป็นภาษาในการออกแบบอาคารสมัยใหม่ที่แตกต่าง แต่ไม่แตกแปลกแยกจากบริบทบ้านเรือนและธรรมชาติที่โอบล้อมอยู่

TNOP House

facebook.com/isarchitects.team

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *