POONTANY

PoontanyAnswer graph "What is love ?"

รู้จักกับ Poontany นักออกแบบสื่อสารข้อมูลที่ผสมผสานเทคโนโลยีและความคลาสสิก ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านกราฟิกที่เข้าใจง่ายและน่าสนใจ

TEXT: POONTANY
IMAGE COURTESY OF POONTANY

(For English, press here)

WHO

เป็น ‘Information Designer’ จากกรุงเทพฯ ชื่อ ปุณณ์ พจนาเกษม ครับ (หรือที่ทุกคนคุ้นเคยกันดีกับชื่อ Poontany)

WHAT

อาชีพ Information Designer หรือภาษาไทยเรียกว่า ‘นักออกแบบสื่อสารข้อมูล’ ทำงานเกี่ยวกับ data อธิบายสิ่งที่มีความซับซ้อนไม่ว่าจะเป็นตัวเลขหรือตัวหนังสือ โดยการใช้ data visualization อธิบายผ่านกราฟ, ชาร์ต, ไดอะแกรม, แผนที่ หรืออาจเป็นอินโฟกราฟิกให้เข้าใจง่ายมากขึ้น

Poontany

Pixar Encyclopedia

Poontany

BTS Songs in Diagram

นอกจากนี้ก็เคยเขียนคอลัมน์ให้กับ CONT. ครับ ชื่อว่า ‘Data Journalread’ เป็นคอลัมน์แนว data journalism แบบง่ายๆ อ่านสนุกๆ ทุกๆ เดือนจะหยิบ data เรื่องรอบตัวมาอธิบายเจียนเป็นบทความพร้อมทำ data visualization ประกอบ คอลัมน์ที่ทุกคนน่าจะเคยเห็นผ่านตา เช่น Pixar Encyclopedia in Data สารานุกรมพิกซาร์ ฉบับดาต้า , BTS songs in Diagram คู่มือการฟังเพลงของวง BTS ฉบับไดอะแกรม

WHEN

วันที่ 31 สิงหาคม ปี 2021 ครับ ปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว

WHERE

ตัวคนออกแบบอยู่กรุงเทพฯ เสมอ แต่บางครั้งงานก็ไปอเมริกากับอังกฤษบ้างครับ

WHY

เราชอบตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ใหม่ๆ ปกติมักจะเห็น design + data + technology กันบ่อยแล้ว แต่เราอยากลองอย่างอื่นบ้าง เลยเอางาน design + data + printing เอา data visualization ที่ปกติมักจะอยู่บนอินเทอร์เน็ตมาอยู่ในรูปแบบงานพิมพ์

Poontany

Children’s day motto data visualization

คุณนิยามสไตล์งานของตัวเองไว้อย่างไร

retro-futurism และ nostalgic reminiscences  ครับ งาน data visualization เป็นงานใหม่ที่เป็นตัวแทนของ future แต่เราชอบเล่าเรื่องผ่านสิ่งของเก่าๆ ซึ่งเป็นตัวแทนฝั่ง retro เช่น งานวิเคราะห์คำขวัญวันเด็ก ที่เป็นการวิเคราะห์ภาษาที่ใช้ในคำขวัญ แต่เล่าผ่านข้อสอบเก่าๆ เวลาทุกคนเข้ามาดูงานจะรู้สึกสดใหม่ ในขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกที่คุ้นเคยดี

Poontany

Riso Luggage tag

อะไรคือแรงบันดาลใจและหลักการในการทำงานแต่ละครั้ง

ชอบไปเดินเล่นในย่านพระนครครับ ไปเดินเล่นดูป้ายหน้าร้านเก่าแก่ ไปอ่านหนังสือในหอสมุดแห่งชาติ อ่านเอกสารที่หอจดหมายเหตุ ดูงานออกแบบแผ่นเสียงวินเทจ พวก data และ วิธีใช้กราฟ, ชาร์ต, ไดอะแกรมดูได้บนอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว แต่เอกสารบางอย่างหายากมาก เลยชอบไปดูของจริงครับ

หลักการทำงานจะอยู่ทั้งหมด 3 ข้อ จะเขียนออกมาทุกครั้งก่อนเริ่มงาน

1. งานที่ทำอยู่ คืองานอะไร
2. คนที่มาดู / มาอ่านงานชิ้นนี้จะได้รับอะไรกลับไปบ้าง
3. มีข้อมูลอะไรบ้างที่จำเป็นต้องใช้

  • Poontany
    Guang Hua
  1. 1
  2. 2
  3. 3

โปรเจกต์ไหนที่คุณภูมิใจมากที่สุด เพราะอะไร?

มีหลายโปรเจกต์ที่ภูมิใจ แต่ถ้าให้เลือก 1 อย่างในปีนี้จะเลือก ‘หนังสือพิมพ์กวงฮั้ว และ ดอว์น’ (Guanghua & Dawn) ครับ นอกจากตัวเองจะเป็น Information Designer ที่ทำงาน data visualization แล้ว ยังเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของ ‘กวงฮั้วป่อ’ หนังสือพิมพ์จีนที่โดนคำสั่งปิดกิจการไป ในปี พ.ศ. 2501 ช่วงของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เนื่องจากเข้าใจผิดว่าเป็นสื่อที่เผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในไทย

ปีนี้ก็เลยเอากลับมาอีกรอบ เป็นหนังสือพิมพ์เหมือนเดิม แต่เปลี่ยนวิธีการเล่าเรื่อง จากปกติที่เป็นหนังสือพิมพ์จีนทั่วไป ก็มาเป็นหนังสือพิมพ์ที่อธิบายเรื่องราวต่างๆ รอบโลกด้วย data visualization

ที่ภูมิใจในโปรเจกต์นี้เพราะว่าเป็นโปรเจกต์ที่เอาหนังสือพิมพ์ในยุคอากงที่ก่อตั้งในปี 2490 แต่ปิดกิจการไปแล้ว 66 ปี กลับมาอีกครั้งได้ และเล่าเรื่องให้มันร่วมสมัยมากขึ้น นอกจากนี้ก็ยังลงงานกราฟิกเก่าๆ ในหนังสือพิมพ์ เหมือนเป็นหอจดหมายเหตุออนไลน์ ให้ทุกคนได้ดูงานออกแบบสมัยก่อน

ตามต่อได้ที่ Guanghua & Dawn

Poontany

Graph for a little thing

  • Poontany
    Bangkok Print Society Survey
  1. 1
  2. 2

คุณชอบขั้นตอนไหนระหว่างทำงานมากที่สุด

ชอบ research ที่สุดครับ เพราะเป็น Information Designer เวลาจะเริ่มโปรเจกต์ใหม่จะหาข้อมูลที่จำเป็นให้ได้มากที่สุด เป็นคนชอบอ่าน ชอบสังเกต ชอบตั้งคำถาม ยิ่งหาข้อมูลเยอะเท่าไหร่ ก็มีโอกาสที่จะได้รับไอเดียใหม่ๆ เอามาพัฒนางานต่อได้เหมือนกัน

ถ้าคุณสามารถเชิญ ‘ครีเอทีฟ’ สักคนไปดื่มกาแฟด้วยกันได้ คุณจะเลือกใครและทำไม

ขอไปดื่มชากับ Giorgia Lupi ครับ เขาเป็น Information Designer ที่อเมริกา เป็นคนเล่าเรื่อง Data ยากๆ ออกมาได้สนุกมาก เป็นแรงบันดาลใจของตัวเองตอนเริ่มอาชีพนี้ อยากคุยเรื่องอะไรหลายอย่าง อยากรู้ว่าถ้าเขาจะทำโปรเจกต์ data visualization ในกรุงเทพ จะทำเรื่องอะไร

Poontany

Entertainment Report 2023

instagram.com/poontany
x.com/Poontany

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *