Kader Attia นำเสนอความเจ็บปวดจากสงครามและกระบวนการซ่อมแซมของเขาผ่านงานศิลปะ ในนิทรรศการ ‘Urgency of Existence’
TEXT: TUNYAPORN HONGTONG
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
ศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ของ Kader Attia ใน ‘Urgency of Existence’ ให้ความรู้สึก ‘อิ่ม’ ทั้งในความรู้สึกและความคิด ยิ่งเมื่อบวกกับผลงานอีกสองชิ้นที่เหลือก็ทำให้เราคิดคำนึงไปถึงหลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น บาดแผล สงคราม การกักขัง ศรัทธา อิสรภาพ การสูญเสีย ฯลฯ
เติบโตในปารีสและแอลจีเรีย – หนึ่งในประเทศที่เคยตกอยู่ในอาณานิคมของฝรั่งเศส – ผ่านการเดินทางมาโชกโชน รวมถึงเวลาหลายปีในคองโกและอเมริกาใต้ ภูมิหลังเหล่านี้ทำให้ Attia มีประสบการณ์กับวัฒนธรรมที่หลากหลาย เขายังสนใจศึกษามุมมองที่แต่ละสังคมมีต่อประวัติศาสตร์ของตนเอง โดยเฉพาะในแง่ของประสบการณ์การสูญเสีย การถูกกดขี่ ความรุนแรง และการที่ประสบการณ์ทั้งหมดนี้พัฒนาเป็นความทรงจำร่วม ที่ร้อยเรียงปัจเจกแต่ละคนเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นชาติในที่สุด การศึกษาค้นคว้าเรื่องราวเหล่านี้จึงพาเขาไปสู่ความคิดหลักที่เขาใช้ในงานศิลปะมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา นั่นคือ แนวคิดเรื่องการซ่อมแซม
ใน ‘On Silence’ (2021/2024) อินสตอเลชันขนาดใหญ่ที่ Attia นำเอาอวัยวะเทียม เช่น แขน ขา เท้า มือ ฯลฯ จำนวนมากมาห้อยลงมาจากเพดาน โดยจัดให้อวัยวะแต่ละชิ้นกระจัดกระจายลอยคว้างอยู่กลางอากาศคล้ายถูกแรงระเบิด เป็นงานชิ้นแรกที่เราได้เห็นแนวคิดเรื่องการซ่อมแซมของเขา โดยแน่นอนว่าในความหมายแรกที่ตรงตัวมากที่สุด อวัยวะเทียมก็คือการซ่อมแซมร่างกายที่ถูกตัดขาดให้สามารถกลับมาใช้งานได้ใกล้เคียงเดิมมากที่สุด
แต่เพราะ Attia ไม่ต้องการให้แขนขาเทียมเหล่านี้ให้ความรู้สึกเหมือนชิ้นงานศิลปะ ดังนั้นตั้งแต่จัดแสดงงานชิ้นนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2021 เขาจึงเลือกใช้อวัยวะเทียมที่เคยถูกใช้งานมาแล้วจริงๆ โดยเฉพาะจากผู้อพยพชาวซีเรีย – เหยื่อความรุนแรงที่เกิดจากสงครามความขัดแย้งที่ซับซ้อนและรุนแรงที่สุดในโลกสมัยใหม่ – ทำให้อวัยวะเทียมทุกชิ้นที่ปรากฏอยู่ในอินสตอเลชันชิ้นนี้ปรากฏร่องรอยบางอย่างที่หลงเหลือมาจากผู้ที่เคยเป็นเจ้าของ และทำให้เราตระหนักได้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องการซ่อมแซมร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่ที่อาจหนักหนากว่านั้นจนไม่อาจซ่อมแซมได้ คือจิตใจของผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อของสงคราม
ในการจัดแสดงอินสตอเลชันชิ้นนี้อีกครั้งในอีก 3 ปีให้หลัง ดูเหมือนว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็ยังคงไม่มีอะไรต่างไปจากเดิม เพราะสงครามซีเรียที่เหมือนว่าจะจบ ก็ยังหลงเหลือความขัดแย้งที่ไม่ยอมจบง่ายๆ และเราก็ยังมีสงครามเกิดขึ้นใหม่ในพื้นที่อื่นอีก โดยเฉพาะว่าสงครามเหล่านั้นมีสภาพเป็นสงครามตัวแทน (proxy war) ที่ประเทศมหาอำนาจผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง นอกจากนั้น อีกหนึ่งสิ่งที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปและ Attia พยายามจะสื่อออกมาก็คือ แม้ทุกวันนี้บนโลกเราจะมีผู้คนล้มตายทุกวันเพราะสงคราม แต่พวกเราอีกหลายคนที่เหลือก็ยังเลือกตอบสนองต่อมันด้วยการเงียบเฉย
จากห้องแกลเลอรีที่จัดแสดง ‘On Silence’ เดินกลับออกมาทางเดิม เราจะพบกับพื้นที่เล็กๆ ที่จัดฉายภาพยนตร์เรื่องใหม่ล่าสุดของ Attia นั่นคือ ‘La Valise Oubliée’ (The Forgotten Suitcase), 2024 หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องที่ Attia เดินทางไปพบกับบุคคล 3 คน คือ Jean-Jacques Lebel ศิลปินชาวฝรั่งเศสที่สนับสนุนขบวนการเรียกร้องเอกราชในแอลจีเรีย, Françoise Vergès นักคิดแนวสตรีนิยมที่ต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยม และคนสุดท้ายคือ แม่ของ Attia โดยทั้งสามคนนี้ได้ครอบครองกระเป๋าเดินทางคนละใบที่บ้างมีคนมอบให้ บ้างเป็นของญาติ และบ้างเป็นของคู่ชีวิต และในการพบกันกับ Attia พวกเขาได้เปิดกระเป๋าเดินทางเหล่านั้นเพื่อสำรวจข้าวของที่อยู่ข้างใน เช่น อัลบัมรูปภาพ จดหมาย ฯลฯ โดยสิ่งของธรรมดาสามัญนี้ต่างปลุกเร้าความทรงจำเลวร้ายที่พวกเขามีต่อสงครามประกาศเอกราชของแอลจีเรีย ช่วงปี 1954-1962 ที่ชาวแอลจีเรียจำนวนมากได้เสียชีวิตลง
จริงๆ แล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้มีบทบาทสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงผลพวงที่เกิดจากการล่าอาณานิคม อันเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ Attia ต้องการนำเสนอผ่านศิลปะของเขา แต่น่าเสียดายที่ผู้ชมส่วนมาก (เท่าที่เราพบเจอ) ไม่ได้ใช้เวลากับหนังเรื่องนี้มากนัก ด้วยอาจเป็นเพราะหนังสารคดีความยาว 32:18 นาที ยากที่จะจับความสนใจของผู้ชมที่เดินเข้ามาดูนิทรรศการได้ และเป็นไปได้ว่าพื้นที่ฉายหนังที่ค่อนข้างเล็ก มีเก้าอี้วางติดๆ กันอยู่ไม่กี่ตัว ทำให้ผู้ชมกลุ่มหนึ่งเดินเข้ามาดูหนังอยู่ครู่หนึ่ง แล้วเดินกลับออกไป อย่างไรก็ดี เรื่องที่น่าเสียดายยิ่งกว่าคือมันทำให้หลายคนพลาดอินสตอเลชันอีกชิ้นหนึ่งของ Attia ที่มีทางเข้าเป็นช่องเปิดเล็กๆ อยู่หลังม่านสีดำของห้องฉายหนังไปด้วย
อินสตอเลชันชิ้นที่ว่าคือ ‘Ghost’ (2007/2024) ที่นิตยสาร Wallpaper* (UK Edition) เคยยกให้เป็นผลงานแจ้งเกิดของ Attia ซึ่งเมื่อได้เข้ามาเผชิญหน้ากับ ‘Ghost’ จริงๆ เราก็ได้เข้าใจว่าทำไม Wallpaper* ถึงว่าอย่างนั้น และทำไมในการจัดแสดงครั้งนี้ถึงต้องซ่อนทางเข้ามายัง ‘Ghost’ ให้เป็นทางเข้าเล็กๆ แบบนั้น
ภาพแรกที่เราเห็นเมื่อเข้ามายังพื้นที่จัดแสดง ‘Ghost’ คือหุ่นจำลองรูปคนจำนวนมากทำจากฟอยล์อลูมิเนียมสวมชุดคลุมศีรษะและกำลังอยู่ในท่านั่งคุกเข่าค้อมตัวไปข้างหน้า ซึ่งเพราะทางเข้าแกลเลอรีบังคับให้เราเข้ามายังมุมซ้ายของด้านหลังห้อง แวบแรกเราจึงเห็นแต่เพียงด้านหลังของหุ่นเหล่านั้น โดยทั้งปริมาณของหุ่น สีเงินแวววาว ท่วงท่า และการจัดวางชิ้นงานแต่ละชิ้นเรียงรายติดๆ กันอย่างแออัด เหลือพื้นที่ให้ผู้ชมเดินเข้าไปเพียงแค่ทางเดินแคบๆ ด้านข้าง ก็ทำให้เราเกิดความรู้สึกหลายอย่างปนเปกันไป ทั้งตื่นตะลึง อึดอัด เหมือนถูกคุกคาม ฯลฯ ที่สำคัญ เมื่อเดินไปจนถึงหน้าห้อง แล้วหันกลับมาดูหุ่นเหล่านั้นจากทางด้านหน้า เราจึงได้พบว่าฟอยล์อลูมิเนียมเหล่านั้นห่อหุ้มความว่างเปล่าเอาไว้ หุ่นจำลองรูปคนทั้งหมดไร้ซึ่งใบหน้า และนั่นก็ก่อให้เกิดอีกหนึ่งความรู้สึกที่ยากจะบรรยายตามมาอย่างทันทีจากการเผชิญหน้ากับอินสตอเลชันชิ้นนี้
ตอนที่เริ่มทำ ‘Ghost’ ครั้งแรก Attia ใช้แม่ของเขาเป็นแบบในการห่อหุ้มฟอลย์อลูมิเนียมขึ้นเป็นรูปคน โดยท่วงท่าคุกเข่า ค้อมตัวไปข้างหน้านั้น เป็นความทรงจำในวัยเด็กที่เขามักเห็นแม่และผู้หญิงมุสลิมคนอื่นๆ นั่งละหมาด ทำให้ ‘Ghost’ มักถูกตีความเชื่อมโยงไปถึงเรื่องจักรวรรดินิยมที่มักเข้ามาลดทอนวัฒนธรรมท้องถิ่น จนผู้หญิงในชุดคลุมศีรษะนั้นต่างสูญเสียตัวตนและใบหน้าไปหมด
อย่างไรก็ดี ในการรับชม ‘Ghost’ ครั้งนี้ ผู้เขียนกลับไม่ได้นึกถึงศาสนาอิสลาม แต่เป็นนักบวชในชุดคลุมศีรษะของคริสตศาสนาในบางนิกายเสียมากกว่า โดยสาเหตุที่เรามองภาพนี้ต่างไปอาจเป็นเพราะว่าการที่เราเป็นชาวเอเชีย คุ้นเคยกับวัฒนธรรมอิสลามมากกว่าผู้ชมในโลกตะวันตก จึงเชื่อมโยงความรู้สึกลึกลับที่ ‘Ghost’ ส่งออกมา เข้ากับศาสนาในวัฒนธรรมตะวันตกที่เราไม่คุ้นเคยและยังเต็มไปด้วยปริศนาสำหรับเรา (นี่เป็นครั้งแรกที่ Attia จัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวในเอเชีย และเมื่อศิลปะของเขาเกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรม การตีความจากผู้ชมจึงน่าจะต่างไปจากนิทรรศการก่อนหน้าของเขาบ้าง) ทีนี้เมื่อมองเป็นนักบวชในคริสตศาสนา ‘Ghost’ ที่ว่าจึงอาจถูกตีความขึ้นมาใหม่ว่า มันไม่ใช่ซากศพที่ถูกสูบวิญญาณออกจนไร้ใบหน้า ไร้ตัวตนอีกต่อไป แต่เป็น ‘ผี’ ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อรวมจักรวรรดิและข้ออ้างในการขยายอาณานิคมว่าเพื่อสร้างความศิวิไลซ์
สำหรับ Attia เขาไม่เชื่อในวิถีการซ่อมแซมที่ลบร่องรอยบาดแผลและความผิดพลาดทุกอย่างออกไป เพื่อทำให้วัตถุกลายเป็นเสมือนของใหม่ เหมือนอย่างที่ประเทศตะวันตกทำกับประเทศในอาณานิคม แต่เขามองว่าการซ่อมแซมที่แท้จริงน่าจะเป็นไปตามวิถีดั้งเดิมของโลกก่อนสมัยใหม่ที่ไม่ใช่ตะวันตก อย่าง ชนพื้นเมืองแอฟริกันที่รักษาและโอบรับบาดแผลเดิมไว้พร้อมกับการมอบชีวิตใหม่ให้แก่มัน เพราะนั่นคือการเชื่อมต่ออดีตและปัจจุบันเข้าไว้ด้วยกัน
Attia สรุปแนวความคิดดังกล่าวออกมาได้อย่างดีในผลงานอีกสองชิ้นที่เหลือ นั่นคือ ‘Untitled’ (Mirrors), 2024 และ ‘Repaired Broken Mirror’, 2023 ผลงานชิ้นแรกประกอบไปด้วยผืนผ้าไหมบนเฟรมผ้าใบ 3 ชิ้น 3 สีที่มักถูกใช้ในธงชาติ คือ แดง ขาว ดำ โดยผ้าแต่ละชิ้นปรากฏร่องรอยการเย็บเพื่อซ่อมแซมรอยขาด เช่นเดียวกับ ‘Repaired Broken Mirror’ ที่ Attia ใช้ลวดทองแดงยึดติดกระจกที่แตกเป็นสองส่วนเข้าไว้ด้วยกัน การกลับมารับชมผลงานสองชิ้นนี้อีกครั้งหลังจากเดินดูงานทั้งหมดของเขา ทำให้เรามองเห็นว่า แม้ร่องรอยการซ่อมแซมบนวัตถุสำหรับคนอื่นๆ ในโลกสมัยใหม่อาจเป็นตำหนิหรือรอยด่างที่ลดค่าของวัตถุลง แต่สำหรับในงานศิลปะสองชิ้นนี้ หากปราศจากการเย็บซ่อมแซม ผืนผ้าก็จะเป็นแค่ความว่างเปล่า ไม่มีเรื่องราวใดๆ เช่นเดียวกับกระจกที่ก็จะกลายเป็นแค่กระจก ไม่ใช่ศิลปะที่ศิลปินสร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งนี่เองก็คงเหมือนกับประวัติศาสตร์ชนชาติของเราทุกคน
Urgency of Existence นิทรรศการเดี่ยวโดย Kader Attia ภัณฑารักษ์โดย กฤติยา กาวีวงศ์ จัดแสดง ณ หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2567 – 16 มีนาคม 2568