ชวนเหล่าคนนอกมาพูดคุยถึงภาพยนตร์ที่พยายามนำเสนอมุมมองของ ‘คนนอก’ ใน The Brutalist
TEXT: TIWAT KLEAWPATINON
PHOTO COURTESY OF A24
(For English, press here)
กระแสยังคงแรงอย่างต่อเนื่องสำหรับ The Brutalist (2024) หนังจากสตูดิโอมาแรงอย่าง A24 ที่กวาดรางวัลไปอย่างท้วมท้น เข้าชิง 10 รางวัลออสการ์ และคว้ารางวัลไปกว่า 3 รางวัล ได้แก่ แสดงนำชายยอดเยี่ยม, กำกับภาพยอดเยี่ยม และเพลงประกอบยอดเยี่ยม ถึงแม้ว่าตัวหนังจะมีความยาวกว่า 3 ชั่วโมง 35 นาที (ยาวจนต้องมีพักครึ่ง (intermission) 15 นาทีระหว่างการฉาย) แต่ประสบการณ์ระหว่างการรับชมนี้ ถือได้ว่าเป็นความรู้สึกที่งดงามมาก เหมือนเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างหนังอาร์ต ที่แฝงไปด้วยสัญญะที่มีเอกลักษณ์ชวนให้คิดต่อ กับหนังฟอร์มยักษ์อลังการ มุมกล้องสวยๆ และสกอร์ที่ทรงพลัง
The Brutalist พาเราไปตามติดชีวิตสถาปนิกหนุ่ม ลาสโล ทอธ (นำแสดงโดย Adrien Brody) ชาวยิวฮังการี ผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกัน Buchenwald และอพยพย้ายถิ่นฐานจากบ้านเกิดหวังมาแสวงโชคและสร้างชีวิตใหม่ที่สหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยทอธต้องพลัดพรากจากครอบครัวและภรรยาอย่าง เอเชอร์เบธ (นำแสดงโดย Felicity Jones) โดยที่ไม่รู้ชะตากรรมเป็นตายร้ายดีอย่างไร
ภาพรวมของหนังพยายามนำเสนอมุมมองของ ‘คนนอก’ ที่กระเสือกกระสนเข้ามาในอเมริกา เพราะเชื่อใน ‘อเมริกันดรีม’ เชื่อในโอกาสในโลกเสรี และหวังว่าจะได้รับการต้อนรับขับสู้จากชาวอเมริกัน แต่เรื่องราวคงไม่ง่ายดายขนาดนั้น เพราะอเมริกาในช่วงปี 1950 ยังอยู่ในยุคที่มีการกีดกันและเหยียดเชื้อชาติค่อนข้างรุนแรง ถึงแม้ ลาสโล ทอธ จะเป็นสถาปนิกผู้ผลงานเป็นที่ยอมรับมากแค่ไหนเมื่อครั้งเขาอยู่ยุโรป เมื่อมาถึงอเมริกา เขาก็ยังต้องดิ้นรนเพื่อที่จะเป็นมากกว่า ‘สถาปนิกยิว’ ที่ถูกต่อต้านจากสังคมเพียงเพื่อที่จะพิสูจน์ตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า
สำหรับเรา สิ่งพิเศษที่ทำให้ทอธเป็นมากกว่าผู้อพยพธรรมดาๆ คือการที่ทอธไม่เคยสูญเสียตัวตนไปในการพยายามดิ้นรนเอาชีวิตรอดในอเมริกา เขายังคงยึดมั่นในหลักการและความเชื่อของเขาอยู่ตลอด โดยความเชื่อเหล่านี้ถูกแสดงออกอย่างชัดเจนทั้งในคำพูด การกระทำ และผลงานออกแบบของทอธ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากแนวคิด Brutalism
เกร็ดเล็กๆ สำหรับสถาปัตยกรรม Brutalist คือ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เมืองต่างๆ ได้รับความเสียหายอย่างมาก อาคารดั้งเดิมราบเป็นหน้ากลอง การฟื้นฟูเมืองจึงต้องถูกทำโดยวิธีที่เร็วและมีประสิทธิภาพที่สุด สถาปัตยกรรม Brutalist เกิดขึ้นจากแนวคิดของสถาปนิกที่พยายามจะลดสิ่งที่ไม่จำเป็น ให้เหลือเพียงแค่ ‘แก่น’ ของอาคารเท่านั้น หน้าตาของสถาปัตยกรรม Brutalist จึงมีความแข็งกระด้าง นิ่งๆ ปราศจากซึ่งการตกแต่งใดๆ ก็ตาม และมักใช้คอนกรีต ซึ่งเป็นวัสดุที่มีราคาถูกและก่อสร้างได้ง่ายที่สุดเป็นวัสดุหลักไปเลย อาคารที่ได้รับแนวอิทธิพลของ Brutalism ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เสียงแตกในวงกว้าง บ้างก็ยอมรับว่าเป็นความทันสมัยล้ำยุค และบ้างก็ถูกมองว่าเป็น ‘ตัวประหลาด’ ที่หน้าตาอัปลักษณ์และทำให้เมืองน่าเกลียด
ความแน่วแน่ในแนวคิดของทอธทำให้เขาต้องเผชิญกับปัญหาหลายครั้ง ทั้งจากการวิพากษ์วิจารณ์จากชุมชนหรือผู้ร่วมงาน แต่ทอธยังคงมั่นคงในหลักการเสมอ ต่างจากญาติของเขา อะติลา ที่พร้อมจะโอนอ่อนให้กับแนวทางของสังคม เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนศาสนา เพื่อที่จะเข้าพวกกับคนอื่นๆ
สำหรับเรา สิ่งนี้คือประเด็นที่น่าสนใจที่สุดของภาพยนตร์เรื่องนี้ ความพยายามในการต่อสู้ทั้งกับสังคมภายนอก วัฒนธรรมรอบตัว และต่อสู้กับตัวเองภายในเพื่อที่จะรักษาไว้ซึ่ง ‘แก่น’ ของตัวเอง คล้ายกับสถาปัตยกรรมที่เขาเป็นคนออกแบบ ถึงแม้จะได้รับการสนับสนุนจากผู้อุปถัมภ์อย่าง แฮริสัน ฟาน บิวเรน (นำแสดงโดย Guy Pearce) ทอธก็ยังคงต้องเผชิญสงครามภายในอยู่เสมอ จุดไหนที่เราจะประนีประนอม เส้นบางๆ ระหว่างคำว่า ‘ดื้อด้าน’ กับคำว่า ‘เป็นตัวของตัวเอง’ คงไม่ชัดเจนเสมอไปตลอดการเส้นทางการสร้างสรรค์
นอกเหนือจากด้านเนื้อเรื่องที่ชวนคิดแล้ว การแสดงของ เอเดรียน โบรดี้ ครั้งนี้ถือว่าเป็นอีกหนึ่งมาสเตอร์พีซที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง งาน production สวยๆ ที่ทำเอาคนรักงานออกแบบตาลุกวาวไปกับอาคาร Brutalist สุดยอดมุมกล้องและเพลงประกอบที่ดีมากๆ การันตีด้วยรางวัลออสการ์
สุดท้ายเราอยากยกประโยคที่ Brady Corbet ผู้กำกับหนังเรื่องนี้พูดตอนรับรางวัลลูกโลกทองคำ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในหมวด Drama ว่า “มีคนบอกผมว่า หนังเรื่องนี้ขายไม่ได้หรอก ไม่มีใครอยากดูมันแน่…” – “…แต่สุดท้ายมันก็เวิร์คจนได้” อาจจะฟังดูน้ำเน่า แต่เราว่าก็คงเหมือน ทอธ สถาปนิกเอกของเราที่มั่นคงในงานของตัวเอง และรอให้มันพิสูจน์ตัวมันเองอย่างที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำ