หมวดหมู่: MAGAZINE

BAAN TROK TUA NGORK

อาคารตึกแถวอายุ 90 ปีที่ได้ Stu/D/O Architects มาช่วยปรับเปลี่ยนพื้นที่และโครงสร้างให้เหมาะสมกับการใช้งาน ในฐานะพื้นที่อิสระสำหรับปล่อยเช่าทั้งยังรักษาจิตวิญญาณและร่องรอยของชีวิตภายในอย่างสมบูรณ์

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: STU/D/O ARCHITECTS AND KUKKONG THIRATHOMRONGKIAT

(For English, press here)

ช่วงอายุ 90 ปี ถ้านับในแง่ชีวิตคงต้องเรียกว่าเป็นวัยชรา แต่สำหรับ ‘บ้านตรอกถั่วงอก’ อาคารเก่าอายุกว่า 90 ปีในละแวก ตรอกถั่วงอกในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ ช่วงนี้คือช่วงที่ชีวิตกำลังก้าวเข้าสู่บันทึกบทใหม่ 

ตั้งแต่การเป็นบ้าน โรงงานผลิตน้ำพริก ออฟฟิศ ไปจนถึงอาคารที่พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกปิดร้างเอาไว้เปล่าๆ บ้านตรอกถั่วงอกเป็นอาคารที่ผ่านร้อนผ่านหนาว และผ่านการใช้งานโดยคนหลายชั่วอายุคน ตอนนี้บ้านตรอกถั่วงอกกำลังถูกชุบชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการเป็นพื้นที่ให้เช่าสำหรับจัดนิทรรศการ จัดกิจกรรม และอาจต่อยอดไปเป็นฟังก์ชันอื่นๆ ด้วยในอนาคต โดยได้ Stu/D/O Architects มาเป็นผู้ออกแบบปรับปรุงอาคาร

บ้านตรอกถั่วงอกเป็นอาคารตึกแถวยาว 5 คูหาติดกัน ด้านหลังอาคารมีคอร์ทรูปสี่เหลี่ยมคางหมูที่มีด้านกว้างที่สุดกว้างเพียง 5 เมตร หลังคอร์ทก็มีอาคารเล็กๆ อีกหลังหนึ่งที่เคยทำหน้าที่เป็นบ้านพักของคนงานมาก่อน เดิมทีอาคารด้านหน้ามีความสูง 4 ชั้น แต่ภายหลังมีการต่อเติมห้องดาดฟ้าของอาคารเพิ่มเติมขึ้นไปอีกชั้นเพื่อใช้เป็นห้องทำพิธีไหว้บรรพบุรุษ 

“เมื่อก่อนอาคารนี้เป็นบ้านของบรรพบุรุษครอบครัวเจ้าของตึกที่ย้ายมาตั้งรกรากจากเมืองจีน” อภิชาติ ศรีโรจนภิญโญ สถาปนิกจาก Stu/D/O Architects เท้าความที่มาของอาคารให้เราฟัง “อาคารนี้เคยรองรับคนในครอบครัวเขามากถึง 5 ครอบครัว และเมื่อก่อนตึกก็เคยเป็นทั้งร้านขายน้ำพริกเผา และเป็นออฟฟิศบริษัทประกันชีวิตซึ่งเป็นกิจการของครอบครัว พอเวลาผ่านไปเมื่อพื้นที่ไม่เพียงพอ แต่ละครอบครัวขยายจึงย้ายออกไปอยู่ข้างนอก ตึกเลยถูกทิ้งไว้เฉยๆ ยกเว้นเวลามีพิธีเคารพบรรพบุรุษตามประเพณีคนจีน สมาชิกครอบครัวก็จะแวะเวียนมาทีนึงที่ห้องบรรพบุรุษที่ชั้นบนสุดของตึกเพียงเท่านั้น”

ห้องไหว้บรรพบุรุษก่อนการปรับปรุง

ห้องไหว้บรรพบุรุษหลังปรับปรุง

หลังจากเห็นอาคารถูกปล่อยไว้ให้รกร้างเดียวดายมานาน สมาชิกครอบครัวรุ่นเหลนจึงเสาะหาไอเดียที่จะทำให้อาคารกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ไอเดียแรกเริ่มคือการทำร้านกาแฟ ร้านอาหาร และโรงแรมเล็กๆ แต่เมื่อขบคิดกันอีกที ไอเดียก็ลงเอยที่การทำพื้นที่ให้เช่า พร้อมการเตรียมงานระบบเผื่อไว้สำหรับการขยับขยายฟังก์ชันในอนาคต

ถึงการเปลี่ยนอาคารเป็นพื้นที่ให้เช่าจะดูไม่ได้ยากเย็นอะไร เพราะมันคือการเตรียมพื้นที่โล่งๆ เอาไว้ให้คนมาผลัดเปลี่ยนใช้สอย แต่กลายเป็นว่าสิ่งนี้คือโจทย์อันยิ่งใหญ่ของทีมออกแบบ เพราะการเป็นพื้นที่ให้เช่าจัดกิจกรรม หมายความว่าอาคารจะต้องรองรับน้ำหนักคนจำนวนมากเป็นหลักร้อยได้ และถ้าจะแทรกสอดฟังก์ชันเพิ่มเติมในอนาคต น้ำหนักก็จะมีมากขึ้นตามมาด้วย ปัญหาก็คือ อาคารเดิมมีข้อจำกัดเรื่องการรองรับน้ำหนัก Stu/D/O Architects และทีมวิศวกร เลยต้องระดมสมองกันว่าจะทำอย่างไรให้อาคารรับน้ำหนักคนเพิ่มได้

“ทางออกแรกที่เราคิดกันคือการใส่โครงเหล็กเสริมไปกับโครงสร้างอาคาร” ชนาสิต ชลศึกษ์ อีกหนึ่งสถาปนิกจาก Stu/D/O Architects เผย “เราทดลองดีไซน์โครงเหล็กหลายรูปแบบ ทั้งแบบพยายามให้มันดูกลืนหายไป และแบบโชว์ความแตกต่างชัดเจนระหว่างโครงสร้างเก่ากับโครงสร้างใหม่ ดีไซน์ที่ออกมามันก็ดูสวยดี แต่เราคิดว่าวิธีนี้มันจะทำให้สปิริตดั้งเดิมของตึกหายไปเลย” 

เมื่อการใช้โครงสร้างเหล็กประกับเสริมไปกับโครงสร้างเก่าไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่ใจคาด Stu/D/O Architects และทีมวิศวกรจึงสุมหัวกันอีกรอบว่าจะทำอย่างไร จนในที่สุดก็ได้วิธีการที่น่าพอใจ นั่นคือการรื้อโครงสร้างพื้นชั้นหนึ่งของอาคารเก่าออกเพื่อลดน้ำหนักที่ถ่ายลงฐานรากเดิม และสร้างพื้นชั้นหนึ่งบนฐานรากและเสาเข็มชุดใหม่เข้าไปแทนที่ “เราขุดโครงสร้างพื้นชั้นหนึ่งของอาคารเก่าออกหมด ทำให้อาคารส่วนที่เหลือรองรับน้ำหนักได้มากขึ้น เท่ากับน้ำหนักของพื้นชั้นหนึ่งที่หายไป” อภิชาติเล่า “แล้วเราก็ทำโครงสร้างใหม่สำหรับพื้นชั้นหนึ่งแทรกเข้าไปในตึกเดิม พร้อมกับการใส่โครงสร้างของลิฟต์และบันไดใหม่ข้างใน”

สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาแน่ๆ เมื่อโครงสร้างเก่าและใหม่มาอยู่ด้วยกันคือระยะการทรุดตัวที่ต่างกัน นอกจากการเว้นช่องว่างตามรอยต่อระหว่างโครงสร้างใหม่และเก่า อย่างเช่น ผนังกระจกบริเวณคอร์ตกลาง ที่สถาปนิกวางผนังที่ติดกับโครงสร้างเก่า ให้เหลื่อมมาข้างหน้าผนังที่ติดกับโครงสร้างใหม่ พวกเขาก็ออกแบบให้ผนังกระจกด้านหน้ามีรอยการไล่สี gradient สีแดงเหมือนสีกระเบื้องพื้นชั้นหนึ่ง ซึ่งหากในอนาคตพื้นชั้นหนึ่งทรุดตัวลง ส่วนสี gradient นี้ก็จะช่วยพรางระยะที่อาคารทรุดตัวไม่ให้เห็นจากภายนอกได้

ในส่วนรายละเอียดงานออกแบบอาคาร สถาปนิกเลือกเก็บหน้าตา façade อาคารเอาไว้ให้เหมือนเดิมมากที่สุด สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือการกรุกระจกใสที่ชั้นหนึ่ง เพื่อเชื่อมต่อชั้นแรกของอาคารเข้ากับโลกภายนอก สำหรับตัวอาคารข้างใน สถาปนิกตัดสินใจรื้อกำแพงที่กั้นห้องแถวแต่ละห้องออก เพื่อเชื่อมสเปซเข้าด้วยกัน แนวไม้ใหม่บนพื้นคือสิ่งที่บ่งบอกว่ากำแพงเหล่านั้นเคยอยู่ตรงไหนบ้าง บันไดและราวกันตกของห้องแถวแต่ละห้องถูกรื้อออกมา และนำขั้นบันไดแต่ละขั้นมาทำเป็นแผ่นพื้นประกอบใส่ในช่องบันไดเดิม ซึ่งเป็นอีกร่องรอยที่แสดงความทรงจำของอาคารเก่า ส่วนดีเทลอื่นๆ ของอาคารยังถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี อย่างเช่น เสาบากมุม คานปูน กระเบื้องพื้น ซึ่งเผยให้เราเห็นลีลาและฝีไม้ลายมือของช่างสมัยก่อน

คอร์ทภายในคือหัวใจของตึกเลยก็ว่าได้ ถึงคอร์ทจะไม่ได้มีขนาดใหญ่โตเท่าไหร่ (ด้านกว้างสุดกว้าง 5 เมตร ด้านแคบสุดกว้างแค่ 3 เมตร) แต่แสงสว่างที่ส่องผ่านลงมาและพร้อมด้วยกระจกเงาและกระจกใสที่กรุรอบห้องต่างๆ กลับทำให้คอร์ทดูโอ่โถงขึ้นถนัดตา ต่างกันอย่างลิบลับกับคอร์ทสมัยก่อนที่มืดทะมึน เหมือนเป็นแค่พื้นที่เศษเหลือหลังอาคาร

คอร์ทกลางก่อนการปรับปรุง

คอร์ทใหม่ยังสวมบทบาทเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่เราจะได้เห็นชีพจรความเป็นไปในอาคารผ่านการมองทะลุกระจกใสรอบห้องต่างๆ ตามแนวกระจกมีบานหน้าต่างและบานประตูเก่าหลากสีหลายรูปแบบที่ถูกติดตั้งตามตำแหน่งเดิมที่มันเคยอยู่ในสมัยก่อน กระจกใสเป็นกระจกเทมเปอร์ลามิเนตที่สามารถรองรับน้ำหนักได้ บานหน้าต่างและประตูจึงสามารถยึดตัวอยู่ได้บนบานกระจก จากบานหน้าต่างที่เคยทำหน้าที่เปิดรับแสงและลม ตอนนี้ บานหน้าต่างกลายเป็นองค์ประกอบที่นำพาผู้คนย้อนไปสู่ห้วงความทรงจำของอาคารในอดีต 

นอกจากการสื่อถึงอารมณ์และกลิ่นอายของอดีต Stu/D/O Architects ก็ยังใส่องค์ประกอบใหม่เข้าไป เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานใช้อาคารได้สะดวกสบายและปลอดภัยขึ้น อย่างเช่น ลิฟต์และบันไดหนีไฟใหม่ ที่ช่วยรองรับการสัญจรในอาคาร การติดตั้งหลังคาโปร่งแสงบนชั้น 4 ที่เปลี่ยนพื้นที่ดาดฟ้า ให้กลายเป็นระเบียงนั่งเล่นในร่มที่ผู้คนใช้งานได้โดยไม่ต้องเปียกฝน หรือการสร้างทางเดินเชื่อมอีกอันระหว่าง core ลิฟต์เก่าและ core ลิฟต์ใหม่ที่ชั้น 5 

ถึงบ้านตรอกถั่วงอกโฉมใหม่จะเพิ่งเปิดตัวไปได้ไม่นาน แต่อาคารก็ผ่านการจัดกิจกรรมมาแล้วหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น นิทรรศการศิลปะ Ghost 2565: อยู่ยังไงให้ไม่ตาย, Baan Soho พื้นที่ทดลองของ Soho House ก่อนที่คลับเฮ้าส์จริงจะเปิดตัว หรืองานดินเนอร์ส่วนตัวของแบรนด์ LOUIS VUITTON ในวันนี้ ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของบ้านตรอกถั่วงอกก็ได้เริ่มต้นขึ้น พร้อมเปิดให้ผู้คนที่แวะเวียนได้มาจารึกเรื่องราวและร่องรอยใหม่ๆ และทิ้งให้มันเป็นมรดกที่ตกทอดในกาลเวลา เช่นเดียวกับที่รอยขีดข่วนบนบานหน้าต่าง หรือคราบไคลจากการเผากระดาษกงเต็กบนพื้นกระเบื้อง ได้เคยฝากฝังไว้ 

facebook.com/Studio.Architects

THAI TAXI TALISMANS

สรรพสิ่งมหัศจรรย์บนรถแท็กซี่ไทย เป็นแรงบันดาลใจให้ Dale Konstanz ถ่ายภาพห้องโดยสารรถ ค้นคว้าข้อมูลเครื่องรางต่างๆ ข้างใน และรวบรวมข้อมูลจนกลายเป็นหนังสือที่สะท้อนความเชื่อแบบไท้ยไทยให้เราเห็น Read More

DESIGN ACTION HERO: 8 FINALISTS

สำรวจผลงานของ 8 ทีมสุดท้ายในโครงการ Design Action Hero: ดีไซน์ดีมีแต่ได้ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ art4d ซึ่งเป็นการประกวดไอเดียธุรกิจ start up ภายใต้โจทย์ทั้ง 4 คือ creative playground,  green business, technotopia และ soft power

Read More

YELLOW MINI

ส่วนต่อเติมของ Yellow Submarine Coffee Tank ที่นำเสนอที่ว่างระหว่างระนาบด้านบนและภูมิประเทศเดิมด้านล่างอันตั้งคำถามว่าพื้นที่ใต้หลังคาลักษณะต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นทำให้เกิดกิจกรรมร่วมกับการนั่งกินกาแฟอย่างไหนได้บ้าง

Read More

MARK ANDERSON

art4d พูดคุยกับ Mark Anderson คณบดีของ Domus Academy บนประเด็นสำคัญคือโรงเรียนดีไซน์ รวมถึงคนธรรมดาคนหนึ่ง จะช่วยกอบกู้เมืองในอนาคตที่เต็มไปด้วยปัญหาซับซ้อนหลากมิติได้อย่างไร

Read More

KHAO NIAO RESTAURANT + ONDA CAFE

ร้านอาหารอีสานและคาเฟ่ที่ ASWA ออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจจาก ‘คลื่น’ พร้อมตอบรับกับบริบทของย่าน ‘อารีย์’ ที่หนาแน่นและเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจคาดเดา

Read More

MOONLER

โชว์รูมของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไม้อย่าง Moonler ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ Sher Maker ออกแบบให้เป็นเหมือนกล่องที่เรียบง่ายเพื่อถ่ายทอดคุณค่าของไม้ ‘จามจุรี’

Read More

METRO ART : THE INSPIRING DISTRICT

art4d พูดคุยกับ วิทสุวัฒน์ อำคาเพท กรรมการผู้จัดการบริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด (BMN) ถึงที่มาที่ไปและเป้าหมายในอนาคตของ art space แห่งใหม่ ที่ตั้งใจเป็นสถานปล่อยของสำหรับศิลปินไทยรุ่นใหม่

Read More

WHAT DOES MATTER?

นิทรรศการที่พาเราสำรวจ 25 สิ่งสำคัญในการเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ และความเป็นไปฉบับย่อของอุตสาหกรรมกราฟิกไทยในรอบ 20 ที่ผ่านมา ผ่านสายตาของ Pink Blue Black & Orange (PBB&O)

Read More