IGNITE THE RIGHTS

เราอยากเห็นภาพอนาคตของสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเป็นอย่างไร? นิทรรศการ ‘Ignite the Rights’ จากแอมแนสตี้ ไทยแลนด์ พาเราสำรวจความฝันอันหลากหลายถึงเสรีภาพจาก 13 ศิลปินไทยที่วาดภาพประกอบลงบนปฏิทินปี 2022 ของแอมแนสตี้ ทั้งยังสะท้อนบทบาทของงานศิลปะร่วมสมัยที่ปรากฏตัวขึ้นเพื่อต่อสู้และเรียกร้องสิทธิมนุษยชน

TEXT: KITA THAPANAPHANNITIKUL
PHOTO COURTESY OF AMNESTY INTERNATIONAL THAILAND

(For English, press here)

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ที่ The Jam Factory แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดงานเปิดนิทรรศการศิลปะ Ignite the Rights: Art Exhibition นิทรรศการศิลปะที่ว่าด้วยการสำรวจความฝันในสิทธิเสรีภาพของผู้คนในสังคม และจุดไฟความหวังขึ้นอีกครั้งผ่านผลงานของ 13 ศิลปินที่ร่วมสร้างสรรค์ภาพประกอบปฏิทินแอมเนสตี้ “ศิลปะกับเสรีภาพ” พร้อม 20 ผลงานจากโลกออนไลน์ ที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมใจในจุดยืนของศิลปินที่ยืดหยัดเคียงข้างสิทธิมนุษยชน

โดยภายในงานนิทรรศการมีจัดแสดงผลงานศิลปะที่พูดถึงประเด็นทางสังคมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น นักวาดภาพประกอบอย่าง Miminii ที่พูดถึงสิทธิในการเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่ดี ผลงานกราฟิกจากกลุ่มประชาธิปไทป์ (PrachathipaType) ที่ว่าด้วยเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก ผลงานของ thisismjtp ที่สะท้อนการต่อสู้กับสังคมปิตาธิปไตย รวมทั้งศิลปินคอลลาจระดับแนวหน้าอย่าง นักรบ มูลมานัส ก็ได้ร่วมจัดแสดงผลงานบนประเด็นเรื่องความชอบธรรมในการเรียกร้องสังคมที่ดีกว่าของปวงชน

โดยศิลปินที่จัดแสดงงานทั้งหมดนั้น เป็นศิลปินชุดเดียวกับที่วาดภาพประกอบให้กับปฏิทินแอมเนสตี้ในปี 2022 โดยความพิเศษของปฏิทินแอมเนสตี้นั้นอยู่ที่การใส่วันที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนที่ไม่ปรากฏให้เห็นในปฏิทินปกติ เช่น วันหยุดกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ วันผู้สูญหายสากล วันคนพิการสากล อีกทั้งภาพประกอบของแต่ละเดือนนั้นยังตรงกับวันสำคัญในเดือนนั้นๆ เช่น Thai Political Tarot ที่วาดภาพประกอบในเดือนมิถุนายน ผ่านการนำเสนอไพ่ทาโร่ต์แบบใหม่บนประเด็นของสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ อันเป็นเดือน Pride Month และมีเหตุการณ์สำคัญคือวันที่ 26 มิถุนายน อันเป็นวันที่ทั่วโลกร่วมรำลึงถึงเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ ในนิวยอร์คที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในการกดขี่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ

อีกทั้งในนิทรรศการยังมีจัดวงสนทนาในหัวข้อ “ศิลปะกับการสร้างความมีส่วนร่วมทางสังคม” ที่ดำเนินรายการโดยตัวแทนกลุ่มประชาธิปไทป์ ศิลปินนักวาดภาพประกอบ Miminii และภัณฑารักษ์ของนิทรรศการนี้อย่างปนัดดา เต็มไพบูลย์กุล ที่ได้ร่วมแชร์ถึงมุมมองที่มีต่อสิทธิและเสรีภาพบนการทำงานด้านศิลปะ ที่ทำให้เราเห็นว่าศิลปะทำงานอย่างไรในการผลักดันสังคม ทั้งการที่ศิลปินในปัจจุบันผลิตผลงานออกมาบนสื่อสังคมออนไลน์ที่ทำให้สามารถต่อสู้กับสื่อขนาดใหญ่และผู้ถืออำนาจได้ การตื่นตัวเด็กรุ่นใหม่ที่มองว่าสิทธิและเสรีภาพเป็นเรื่องใหญ่ที่ใกล้ตัว พร้อมกับบทบาทของงานศิลปะในปัจจุบันที่ไม่เป็นเพียงแค่การสร้างความสุนทรีย์ หากแต่เป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่ใช้ต่อสู้เพื่อให้สังคมสามารถเดินหน้าไปได้ต่อไป

ปิดท้ายกิจกรรมในวันเปิดนิทรรศการนี้ด้วยการหยิบจับความรู้สึกของผู้พิการในประเทศไทยมาบอกเล่าผ่าน Performance Art ชุด “My Karma, My Choice” โดยโสภณ ทับกลอง นักแสดงละครเวทีและผู้พิการทางสายตา โดยถ่ายทอดเรื่องราวผ่านท่วงท่าการเคลื่อนไหวและพูดถึงเรื่องราวที่ความพิการมักถูกมองเป็น ‘กรรม’ ที่ก่อให้เกิดการกดทับจากคนรอบตัวและคนพิการที่มักจะกลายเป็นบุญให้ใครสักคนเสมอ พร้อมกันนั้นผู้ชมที่นั่งอยู่จะได้รับกระดาษที่มีข้อความต่างๆ เช่น “น่าสงสาร” “ทำบุญเยอะๆ นะ” “อยู่เฉยๆ ดีกว่า” ฯลฯ ที่สามารถพูดขึ้นตอนไหนก็ได้ในระหว่างที่ผู้แสดงทำการแสดงอยู่ที่สะท้อนถึงถ้อยคำเชิงลดทอนคุณค่าที่ผู้พิการต้องเจออยู่เสมอ หลังจากการแสดงจบลง โสภณทิ้งคำถามส่งท้ายว่า หากกรรมคือการกระทำ แล้วผู้พิการมีสิทธิที่จะออกแบบกรรมให้ตัวเองหรือเปล่า

ถึงแม้ว่างานนิทรรศการจะจบลงไปตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมาแล้ว แต่ความหวังนั้นจะยังไม่จบตามไม่ว่าบนพื้นที่ศิลปะหรือพื้นที่ใดๆ หากแต่จะโชดช่วงตราบจนวันที่ความฝันในสิทธิและเสรีภาพนั้นจะกลายเป็นความจริง

fb.com/AmnestyThailand

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *