A BRIEF HISTORY OF NATURAL LIGHT IN ARCHITECTURE

สำรวจเรื่องราวของแสงธรรมชาติในสถาปัตยกรรมที่ผูกพันธ์กับความคิด คติความเชื่อและประวัติศาสตร์ของมนุษย์ผ่านมุมมองของ อติวิชญ์ กุลงามเนตร จาก ativich design studio 

TEXT: ATIVICH KULNGAMNETR
PHOTO CREDIT AS NOTED

(For English, press here)

ความพยายามท้าทายในศักยภาพทางความคิดของมนุษย์ จากแสงธรรมชาติ สู่การเกิดของนวัตกรรม

Basilica di Santa Maria Maggiore, Rome สถาปัตยกรรมที่ยังเน้นโครงสร้างและผนังหนาทึบ ช่องเปิดรับแสงได้น้อย I Photo courtesy of revealedrome

ย้อนเวลาไปในอดีตของงานออกแบบสถาปัตยกรรม เราจะพบว่าการแบ่งช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์มีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของรูปแบบทางสถาปัตยกรรม งานก่อสร้าง ความคิด และการปกครอง ที่นักประวัติศาสตร์นำมาร้อยเรียงให้เห็นถึงพัฒนาการ และ เทคนิควิธีการ ที่มีการประยุกต์ และมีความซับซ้อนทางความคิดของมนุษย์มากขึ้น งานออกแบบสถาปัตยกรรม ที่เสื่อมสภาพได้ช้า ยังมีความมั่นคงและยังคงยืดหยัดอยู่ จึงเปรียบเสมือนตัวแทนที่แสดงออกถึงความเจริญทั้งทางความคิดและทางวัตถุของมนุษย์ในแต่ละยุคสมัย หากเรามองเรื่องราวนั้นในอีกมุมมองหนึ่ง เราจะค่อยๆพบการเปลี่ยนแปลงของแสงธรรมชาติจากภายนอก ที่เข้าสู่ภายในงานสถาปัตยกรรม เพิ่มมากขึ้นอย่างช้าๆ และแฝงด้วยเรื่องราวคติ ความคิด และความเชื่อของแต่ละกาลเวลา

Kalm Clinic ออกแบบโดย ativich design studio โดยควบคุมการเข้าถึงของแสงธรรมชาติและการมองเห็นด้วยผนังโค้ง I Photo: Suebsai Songprasert

Kalm Clinic ออกแบบโดย ativich design studio โดยควบคุมการเข้าถึงของแสงธรรมชาติและการมองเห็นด้วยผนังโค้ง I Photo: Suebsai Songprasert

จากป้อมปราการหินอันทึบตัน มนุษย์ค่อยๆ เปิดชิ้นส่วนของงานสถาปัตยกรรม ให้กว้างมากขึ้นทีละน้อย ด้วยเทคนิควิธีการก่อสร้าง และการพัฒนาเชิงวิศวกรรม เราจึงได้เห็นซุ้มโค้ง ที่แปรเปลี่ยนจากช่องเปิดเหลี่ยมให้ใหญ่ขึ้น  รูปร่างภายนอกของสถาปัตยกรรมที่เปลี่ยนไปเป็นการนำโครงสร้างมาไว้ภายนอกของโบสถ์ในยุคโกธิค ช่องหน้าต่างบานใหญ่กว้างของบ้านสมัยโมเดิร์น จนในบางครั้ง สถาปัตยกรรมที่เราสัมผัสได้ในโลกยุดปัจจุบัน กลับถูกแทนที่ด้วยแสงของธรรมชาติ และวัสดุอันเบาบาง ที่เพียงเพื่อปิดล้อมอากาศจากภายในไม่ให้เคลื่อนที่สู่ภายนอก

Glass Pyramid Louvre Museum,Paris โดย I.M.Pei ปรากฎอยู่กลางจตุรัสของอาคารพระราชวังลูฟ ความโปร่งใสที่มีเพียงกระจกและโครงยึดกระจก เพื่อให้บดบังอาคารที่ทรงคุณค่าน้อยที่สุด I Photo courtesy of Forbes

Glass Pyramid Louvre Museum,Paris โดย I.M.Pei ปรากฎอยู่กลางจตุรัสของอาคารพระราชวังลูฟ ความโปร่งใสที่มีเพียงกระจกและโครงยึดกระจก เพื่อให้บดบังอาคารที่ทรงคุณค่าน้อยที่สุด I Photo courtesy of Forbes

ความโหยหาแสงจากธรรมชาติของมนุษย์ เป็นแรงขับเคลือนสำคัญต่อพัฒนาการทางความรู้ ความคิดและนวัตกรรม จากการเปรียบแสงธรรมชาติที่เป็นของปรากฏได้ยากในงานสถาปัตยกรรม ให้เป็นความเชื่อและแรงศรัทธา สู่การเรียนรู้ที่จะควบคุมและเรียงร้อยสีของแสง ให้กลายเป็นเครื่องมือบอกเล่าเรื่องราวผ่านกระจกสี (Stained Glass)  จากการพยายามปิดกั้นอากาศภายนอกอันหนาวเหน็บ ให้เหลือเพียงแสงที่เข้ามาให้ความอบอุ่นภายในห้อง หรือแม้กระทั่งความพยายามในการสร้างตัวแทนของดวงอาทิตย์เพื่อให้มีแสงของตนเอง ผ่านการประดิษฐ์หลอดไฟ และผลิตไฟฟ้า ที่เป็นการพัฒนาต่อยอดมากจากความรู้และความคิดแบบปัจเจก (Individualism) ที่มนุษย์ได้เข้าถึงความรู้ทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และศิลปะมากขึ้น ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นจากความต้องการและความพยายามในการเอาชนะพลังธรรมชาติของมนุษย์

วัสดุโปร่งใส ที่ถูกขึ้นรูปอิสระได้ด้วยความร้อน จากเมล็ดทราย สู่ แก้ว ที่สามารถแปรเปลี่ยนรูปร่างของตนเองและคงรูปได้ มนุษย์ได้คิดต่อยอดให้ แก้ว ไม่เป็นเพียงแค่เครื่องเรือน  สีใส แต่ยังปรับเปลี่ยนเทคนิคและวิธีการ และเรียนรู้ที่จะควบคุมการเกิดขึ้นของแก้วในรูปแบบต่างๆ สำหรับงานออกแบบสถาปัตยกรรม แก้วในรูปแบบแผ่น ถูกพัฒนามาอย่างยาวนาน เราทำให้เกิดกระจก ที่มีคุณสมบัติต่างๆมากมาย กระจกใส กระจกที่ใสกว่า กระจกเงา กระจกนิรภัย หรืออื่นๆ ที่ผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรม ให้สอดคล้องกับความต้องการในการสร้างสรรค์ความงาม หรือการแก้ปัญหาของมนุษย์

Apple 5th ave. store, New York ออกแบบโดย Foster+Partners ในปี 2006 และปรับปรุงด้วยชุดกระจกแผ่นใหญ่เต็มแผ่นและมีความใสมากกว่าเดิมที่เปิดตัวในปี 2019 I Photo courtesy of hongkiat

Apple 5th ave. store, New York ออกแบบโดย Foster+Partners ในปี 2006 และปรับปรุงด้วยชุดกระจกแผ่นใหญ่เต็มแผ่นและมีความใสมากกว่าเดิมที่เปิดตัวในปี 2019 I Photo courtesy of appleinside

กระจกไม่เพียงถูกใช้ในงานสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่ปัจจุบันกระจก หรือ แก้ว ที่ได้รับการผสานเทคโนโลยีด้านอื่นๆ และการออกแบบด้วยกระบวนการคิด และวิธีใช้ที่แตกต่างออกไป เกิดเป็นนวัตกรรมมากมายที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน เราสามารถเปลี่ยนภาพ ที่ปรากฏสู่ด้วยดวงตา ด้วยเลนส์ของแว่นตา เราเปลี่ยนให้กระจกสั่งการและพกพาไปไหนได้ด้วยสมาร์ทโฟน เรายังผสานอนุภาคทางเคมี เพื่อให้กระจกทนต่อรอยขีดข่วยและซ่อมแซมตัวเองได้ เราสร้างเสียงและสื่อสารผ่านสายใยแก้วที่ส่งข้อมูลระหว่างข้ามมหาสมุทรได้ในชั่ววินาที  และเรากำลังยังสามารถทำให้วัตถุสีใส สามารถผลิตกระแสไฟฟ้า วัสดุที่ดูธรรมดาและคุ้นชินนี้ กำลังจะเปลี่ยนโลกของงานออกแบบ และนวัตกรรมไปพร้อมๆกัน

กรอบทางความคิดของมนุษย์ เป็นสิ่งที่สามารถขยายและปรับเปลี่ยนได้ เราเรียนรู้จากการทดลอง และเรียนรู้ที่จดจำและพัฒนาได้อย่างดีเยี่ยม ในขณะเดียวกัน เราไม่ได้เพียงพัฒนาสิ่งเดิมให้ดีขึ้น แต่ยังคงต้องคิดสิ่งใหม่ ให้เกิดขึ้นปรากฏต่อโลกอย่างคู่ขนานกัน เพราะจะมีใครคิดว่า ความพยายามท้าทายในพลังของธรรมชาติ จากคำถามเริ่มต้นที่ดูเรียบง่าย จะสามารถนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *