เปิดบทสนทนากับ ธฤต ไทยานนท์ จาก About Home ถึงการใช้งานวัสดุที่ผูกพันมาโดยตลอดตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยทำงานอย่างไม้ และการชุบชีวิตเศษไม้ American Hardwood ที่ยังคงคุณค่าและความงามในตัวมาเป็นเฟอร์นิเจอร์
TEXT: NATHANICH CHAIDEE
PHOTO COURTESY OF ABOUT HOME
(For English, press here)
วงการเฟอร์นิเจอร์ไม้ต่างรู้จัก About Home เป็นอย่างดีในฐานะแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไม้โดย เจษฎา และ อรทัย ไทยานนท์ สองดีไซเนอร์และผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์มาเป็นเวลากว่า 15 ปี
เวลาเดียวกันกับการเริ่มต้นโรงงาน ธฤต ไทยานนท์ เป็นเด็กชายอายุเก้าขวบที่วิ่งเล่นอยู่ในโรงงานของครอบครัว ซึมซับความรักและความรู้ในงานดีไซน์ผ่านสายตา สัมผัส และความรับรู้ในความงามของเฟอร์นิเจอร์มาตลอด โดยมีคุณพ่อเป็นแรงบันดาลใจและผู้สนับสนุนการเรียนรู้คนสำคัญด้วยการเปิดโอกาสให้เขาได้ทดลองทำ และเก็บเกี่ยวความรู้จากช่างฝีมือด้วยตัวของเขาเอง
ความรู้และความรักในงานดีไซน์ค่อยๆ ก่อตัวมาเรื่อยๆ จากการได้ลองผิดลองถูก ได้พัฒนาเทคนิค และเรียนรู้แบบตัวต่อตัวจากประสบการณ์จริงในโรงงาน ยิ่งเป็นแรงขับเคลื่อนให้ธฤตอยากออกค้นหาแง่มุมที่กว้างขวางกว่าของงานดีไซน์ นั่นนำไปสู่การศึกษาต่อในสาขาการออกแบบภายใน มหาวิทยาลัยรังสิต เวลานั้นเองที่ความรู้ในภาคทฤษฎีจากในห้องเรียนได้หลอมรวมกับการปฏิบัติจริงที่เคยผูกพันมาโดยตลอด
“คุณพ่อไม่เคยสอนเลยว่าจะต้องทำอะไรแบบไหน แต่เป็นผู้สนับสนุนให้ลงมือทำเลย ให้ลองเจอปัญหาด้วยตัวเอง” ธฤตเล่าจนมาถึงเส้นทางการเรียนในห้องเรียน ที่ความรู้ที่สะสมมามีส่วนช่วยอย่างมากในการเปิดจินตนาการใหม่ๆ ในงานออกแบบ “การเรียนรู้จากการลงมือทำดีกว่าแค่เรียนรู้ทฤษฎี ผมเรียนออกแบบเพื่อให้มีความรู้ในทางทฤษฎี และประยุกต์เข้ากับธุรกิจครอบครัว”
ไม้เป็นวัสดุหลักสำหรับงานออกแบบของ About Home และเป็นวัสดุที่ธฤตผูกพันด้วยมาโดยตลอด “ไม้เป็นวัสดุที่สร้างความรู้สึกจากความไม่สมบูรณ์แบบของธรรมชาติ ให้ยังเห็นริ้วรอยที่สะท้อนความจริง และย้ำเตือนเราเสมอว่าเรายังเป็นมนุษย์ในธรรมชาติแห่งนี้อยู่” แรงบันดาลใจจากวัสดุสร้างสรรค์เป็นงานดีไซน์จากฝีมือของธฤตเองหลังจากร่วมงานกับครอบครัวเมื่อ 4 ปีก่อน โดยเฉพาะกับวัสดุไม้ American Hardwood
“American Hardwood ให้ทั้งคุณภาพที่ดี พื้นผิว และเกรนลายเนื้อไม้ที่เป็นความงดงามอมตะ” คุณค่าเหล่านี้ทำให้ธฤตมองเห็นคุณค่าของเนื้อไม้แม้เพียงชิ้นเล็กชิ้นน้อย หรือแม้กระทั่งเศษที่เหลือจากการผลิตที่นำกลับมาใช้งานอีกครั้งหนึ่ง จนเกิดเป็นการเริ่มต้นพาโรงงานเข้าสู่ความยั่งยืน โดยใช้งานออกแบบเป็นเครื่องมือในการใช้งานไม้ทุกชิ้นอย่างคุ้มค่ามากที่สุด
จากเศษไม้เหลือที่ยังคงคุณค่าและความงามในตัว ธฤตชุบชีวิตใหม่ผ่านกลวิธีของดีไซน์ อย่างโคมไฟแบบแขวนที่ทำมาจากเศษไม้ American Walnut หรือขาโต๊ะที่ประกอบขึ้นจากไม้ American White Oak นี่เป็นตัวอย่างที่ดีของการทำงานร่วมกันระหว่างความคิดสร้างสรรค์ ถ่ายทอดออกมาเป็นงานดีไซน์ และมอบความงามที่ใช้งานได้จริงในพื้นที่จัดวาง
“นี่คือการเป็นนักออกแบบที่มีความรับผิดชอบ” ธฤตทิ้งท้าย “เราพยายามผลักดันงานดีไซน์ให้เข้าสู่ระดับสากลที่ความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญ งานออกแบบและผลิตแบบหมุนเวียนหรือ Circular Loop Design จึงเป็นหนึ่งในแนวคิดที่นำมาใช้ เพื่อให้ความสำคัญกับไม้ทุกชิ้นตลอดกระบวนการ เพราะเราไม่ได้ทำแค่เฟอร์นิเจอร์ แต่เรื่องรอบตัวเฟอร์นิเจอร์ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน”
คุณค่าและความงามจากวัสดุไม้ American Hardwood และความยั่งยืนที่ทำงานร่วมกัน เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ About Home เลือก American Hardwood เป็นวัสดุหลักของแบรนด์ ที่แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์และความชำนาญของช่างฝีมือไทยในเรื่องงานไม้ พร้อมกับบอกเล่าคาแร็กเตอร์ของงานดีไซน์ให้โลดแล่นได้ในระดับสากล เหล่านี้เป็นเป้าหมายที่ธฤตตั้งใจให้ About Home เติบโตต่อไปอย่างงดงาม