Jarrod Lim และ AHEC นำเสนอความร่วมมือล่าสุดของพวกเขาในโปรเจกต์ทดลองออกแบบกับ ChatGPT เพื่อสำรวจข้อดีและข้อจำกัดของ AI สำหรับวงการออกแบบในปัจจุบัน
TEXT: NATHATAI TANGCHADAKORN
PHOTO COURTESY OF AHEC
(For English, press here)
Jarrod Lim และ American Hardwood Export Council (AHEC) ได้นำเสนอโปรเจกต์ความร่วมมือล่าสุดของพวกเขาในชื่อ ‘Man x Machine x Material (มนุษย์ x เครื่องจักร x วัสดุ)’ ที่ Interzum SEA ณ งาน IFFINA Indonesia Meubel & Design Expo ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดย Lim ได้ทดลองใช้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ในการสร้างโต๊ะ Airstream และเก้าอี้สตูล Diffuse จาก American red oak ผ่านการทำงานกับ ChatGPT เพื่อสำรวจข้อดีและข้อจำกัดของ AI สำหรับนักออกแบบ
ในช่วงเริ่มต้นของการทำงานร่วมกันนี้ Lim ต้องเอาชนะความรู้สึกต่อต้านการทำงานกับคู่หูที่ไม่ใช่มนุษย์ อันเป็นความรู้สึกที่ย่อมเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะแม้ generative AI จะสามารถประมวลผลและส่งข้อมูลปริมาณมหาศาลได้ด้วยความเร็วที่เหนือกว่ามนุษย์ แต่มันก็ยังคงแตกต่างจากสติปัญญาของมนุษย์มาก คอมพิวเตอร์ไม่ได้วิวัฒนาการมาเพื่อทำความเข้าใจถึงสภาวะของมนุษย์และการตอบสนองทางอารมณ์ของเรา
“ผมใช้ AI ในขั้นตอนการวิจัยการใช้งานไม้ในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ โดยมีเป้าหมายที่จะบูรณาการองค์ประกอบของความเป็นอินโดนีเซียที่โดดเด่นเข้ามา นั่นคือจุดเริ่มต้นของกระบวนการทำงานร่วมกัน ซึ่ง AI มีส่วนร่วมในการคิดค้นไอเดีย ก่อนที่ผมจะขัดเกลามันด้วยความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง” Lim กล่าว
แม้ว่าแบบร่างชิ้นแรกๆ ของโปรเจกต์นี้จะดูสวยงาม แต่ก็ไม่น่าเป็นไปได้จากมุมมองการผลิต ทักษะเชิงปฏิบัติและความรู้เกี่ยวกับวัสดุที่นักออกแบบอย่าง Lim สั่งสมมาจากประสบการณ์การลองผิดลองถูกกลับกลายเป็นอุปสรรคในการสื่อสารกับแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์
แรกเริ่มนั้น AI ให้ข้อเสนอแนะเป็นชนิดไม้ทั่วๆ ไป แต่เมื่อได้รับคำขอให้พิจารณาถึงวัสดุที่ยั่งยืนและใช้งานได้ดี คำแนะนำของมันก็ชี้ไปที่ American red oak ซึ่งเป็นวัสดุที่ง่ายต่อการทำงานและมีความหลากหลาย หาไม่ยาก ยั่งยืน และสามารถนำไปอบไอน้ำและดัดเพื่อขึ้นรูปได้อย่างง่ายดาย ในแง่หนึ่ง ความสามารถในการเลือกวัสดุนี้ก็นับว่าชดเชยข้อจำกัดของ AI ในเรื่องของความเข้าใจวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรมไปได้
“โมเดลที่ AI จำลองขึ้นจะพบปัญหาตอนที่ได้รับคำสั่งให้พิจารณาถึงแง่มุมทางเทคนิคของการผลิต ซึ่งสำหรับช่างฝีมือแล้วเรื่องนี้แทบจะเป็นสิ่งที่อยู่ในสัญชาตญาณเลยครับ นี่ทำให้ผมเห็นข้อจำกัดของปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบัน ผมพบว่าการใช้ประสบการณ์ของตัวเองมาลงมือแก้ไขโดยตรงเลยจะง่ายกว่าการพยายามให้ป้อนคำแนะนำเพิ่มเติม ถึงปัญญาประดิษฐ์จะสามารถเรียนรู้ได้เมื่อเวลาผ่านไป แต่การพยายามสื่อสารสิ่งที่ผมรู้ให้มันเข้าใจในตอนนี้ต้องใช้เวลานานเกินไปครับ องค์ประกอบที่ต้องใช้สัญชาตญาณเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการอธิบายอย่างชัดเจนทั้งหมดเวลาทำงานกับ AI” Lim อธิบายถึงกระบวนการ
ทว่า Lim ก็ยังเดินหน้าต่อด้วยไอเดียที่ปัญญาประดิษฐ์คิดขึ้น เขาให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่เพื่อสร้างคอลเล็กชันโต๊ะ สตูล และฉากอันสวยงาม โต๊ะ Airstream และเก้าอี้สตูล Diffuse เป็นการผสมผสานระหว่างคอนเซ็ปต์จากปัญญาประดิษฐ์และภาษาการออกแบบของ Lim และยังเป็นการเชื่อมโยงความงดงามแบบร่วมสมัยกับอิทธิพลทางวัฒนธรรมของอินโดนีเซีย โดยได้รับแรงบันดาลใจจากฉากสานของอินโดนีเซียและสไตล์การตกแต่งภายในแบบบาหลี รวมถึงสะท้อนภูมิปัญญาการต่อเรือที่เป็นมรดกตกทอดของอินโดนีเซียผ่านโครงสร้างขาที่ทำจากไม้ดัด
“แม้เรายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการใช้งาน generative AI แต่ชัดเจนว่าเครื่องมือนี้จะกลายเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการออกแบบครับ คล้ายกับการออกแบบ 3 มิติเมื่อหลายปีก่อน มันไม่ใช่การเข้ามาแทนที่เซนส์ด้านการออกแบบของมนุษย์เรา แต่เป็นการทำงานเพื่อส่งเสริมและยกระดับความสามารถในการสร้างสรรค์ของเรามากกว่า แม้มันจะสามารถสร้างงานออกแบบที่ดึงดูดสายตาได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังขาดองค์ประกอบของการเล่าเรื่องที่อยู่เบื้องหลังแรงบันดาลใจของชิ้นงาน มันปราศจากสัญชาตญาณของนักออกแบบที่นำมาซึ่งสัดส่วนต่างๆ และการเลือกใช้วัสดุ ในที่สุดแล้ว ผมก็อดที่จะตั้งคำถามไมได้ว่า ปัญญาประดิษฐ์จะสามารถสร้างงานออกแบบที่ทำให้ผู้คนหลงรักได้ด้วยตัวเองจริงไหม” Lim สรุป
ด้วย AI ช่างฝีมือที่มีทักษะ และประสบการณ์การออกแบบของ Lim ที่มาบรรจบกัน โปรเจกต์นี้แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีสามารถถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ได้อย่างไร