PDM บันทึกการเดินทางที่ทำให้เติบโตทั้งในด้านการเป็นดีไซน์เนอร์และในฐานะผู้ประกอบการผ่าน PDM BRAND BOOK
TEXT: NATHANICH CHAIDEE
PHOTO COURTESY OF PDM
(For English, press here)
PDM BRAND BOOK
PDM Team and Anasit Sangsawang
PDM Brand Co.,Ltd, 2024
25 x 34 x 2 cm
244 pages
ISBN 978-616-945-310-9
‘ไร้กระบวนท่า’ คือนิยามที่ PDM แทนการทำงานของทั้งสตูดิโอแบบ Ideation Based หรือการครีเอทงานโดยใช้ไอเดียเป็นตัวตั้งต้น รวมทั้งกับการทำหนังสือเล่มนี้ด้วย
ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาของ PDM พอจะพิสูจน์ได้ว่า การทำงานแบบไร้กระบวนท่าเช่นนี้เป็นหนึ่งในซิกเนเจอร์ของแบรนด์ที่คนคิดถึงเป็นอันดับแรกๆ คนแทบจะเดาไม่ได้เลยว่าโปรดักต์ชิ้นถัดไปของ PDM จะเป็นอะไร แต่มั่นใจได้ว่างานดีแน่นอน
“เราเริ่มจากมีไอเดียก่อน แล้วค่อยดูว่าอะไรเหมาะสมกับเรา มันเลยแตกเป็นงานออกแบบผลิตภัณฑ์จากวัสดุที่หลากหลาย กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่เราชอบ เป็นของแต่งบ้านที่เราชอบ แล้วสุดท้ายก็เป็นแฟชั่นแบรนด์ในแบบที่เราชอบ” เป็นคำพูดของ ดิว-ดุลยพล ศรีจันทร์ เขาบอกว่า 10 ปีเป็นเวลาที่พอดิบพอดีสำหรับการทำหนังสือเพื่อรวบรวมผลงานที่ผ่านมา และเป็นเหมือนกับการสร้างพลังให้กับตัวเองและทีมทำงานว่า ‘เราไปกันต่ออีกดีกว่า’
“ผมว่าหนึ่งในนิสัยของดีไซเนอร์ คือเป็นคนชอบทำ archive เรารู้สึกว่าตลอดทางที่ทำงานกันมา มันมี footprint ระหว่างทางมากมายเลย” หนังสือ PDM เล่มนี้จึงเกิดขึ้นโดยทีมออกแบบ in-house ของ PDM เอง การเปลี่ยนจากปกติที่ทำงานออกแบบผลิตภัณฑ์มาสู่การทำงานหนังสือจึงเป็นเหมือนเรื่องใหม่สำหรับทีม
หน้าปกรูปผลมะม่วงแพทเทิร์นที่ทุกคนคุ้นเคยบอกเล่า DNA ในแบบ PDM ที่รักสนุกในงานดีไซน์ และความฝันที่อยากเป็นแบรนด์แห่งชาติเมื่อพูดถึงแบรนด์ออริจินัลดีไซน์ของเมืองไทย โดยได้รับความช่วยเหลืองาน CGI จาก Pexxstudio
“PDM มันเป็นบริษัทที่ผ่านการช่วยเหลือจากคนรอบตัวมาเยอะ เราอยากให้หนังสือเล่มนี้แทนคำขอบคุณพี่น้องดีไซเนอร์ที่เคยช่วยกันมา เป็นการแชร์ความภูมิใจร่วมกัน และเป็นร่องรอยที่เล่าเรื่องระหว่างทางของแบรนด์”
กระบวนท่าแบบไร้กระบวนท่าในการจัดวางหนังสือคือลื่นไหลไปตามจังหวะที่เหมาะสมของภาพและโปรเจกต์ โดยตั้งกฎไว้สองข้อคือ ต้องไม่ใช่แคตตาล็อกเด็ดขาด เพราะไม่ได้หวังผลทางงานขาย และต้องเป็นหนังสือที่ยกระดับภาพลักษณ์ของแบรนด์ขึ้นไปในจุดที่แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ในเมืองไทยยังไม่เคยทำ หนังสือเล่มใหญ่ความหนา 244 หน้า จึงใช้เวลาในเกือบสองปีตลอดกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นเก็บสะสมและคัดเลือกชิ้นงาน เลือกกระดาษ จนเสร็จสิ้นงานพิมพ์
เรามองเห็นความตั้งใจในการเก็บสะสมเรื่องราวตลอด 10 ปีที่ผ่านมาของแบรนด์ผ่านหนังสือเล่มนี้ ครั้งแรกที่เปิดอ่านอาจจะเต็มไปด้วยความสงสัยว่าหนังสือเล่มนี้จะพาเราเดินทางไปที่ไหนกันแน่ จังหวะที่คาดเดาไม่ได้จากการพลิกหน้ากระดาษถัดไปว่าเราจะพบกับอะไรต่อจากรูปตรงหน้าที่บอกเล่าเรื่อง จากเสื่อมาเจอโต๊ะแล้วเป็นเสื้อโค้ท จนคิดไม่ถึงว่าหนึ่งแบรนด์จะสามารถทำข้าวของได้หลากหลายหมวดหมู่ขนาดนี้ ไปจนถึงการสุ่มจัดวางผลลัพธ์ของโปรดักต์สลับกับงาน typography ที่บอกเล่าปรัชญาของ PDM ในแบบตัวอักษรพักสายตาจากรูปภาพเป็นระยะ
แต่พอกลับมาคิดต่อก็เข้าใจได้ว่า นี่แหละคือความไร้กระบวนท่าแบบที่ PDM ทำงานกับงานออกแบบผลิตภัณฑ์มาตลอด เซนส์ของความเป็นคนไทยแบบโลคอลที่ชอบหยอกล้อ เล่นสนุก กล้าคิดกล้าทำ มีความคิดสร้างสรรค์ แต่ยกระดับรูปลักษณ์ของงานให้เป็นสากลผ่านเครื่องมือที่เรียกว่าดีไซน์ ยิ่งทำให้เห็นภาพที่ PDM อยากไปต่อในการเป็นแบรนด์แห่งชาติชัดขึ้น อย่างที่ดุลยพลพูดถึงหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า เขาอยากจะเป็นแบรนด์ที่พอคนพูดถึงดีไซน์เมืองไทย ก็ต้องคิดถึง PDM เป็นหนึ่งในนั้นด้วย อยากให้หนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกการเดินทางที่ทำให้เติบโตภายใน เติบโตในฐานะผู้ประกอบการด้วย นอกเหนือจากการเป็นดีไซเนอร์