FULLSTOP HOUSE

บ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยรูปแบบการจัดเรียงสเปซแบบ space within space ทำให้เจ้าของบ้านสามารถปรับตัวตามสถาปัตยกรรมได้อย่างอิสระ ผลงานออกแบบโดย mooof

TEXT: XAROJ PHRAWONG
PHOTO: KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

บนที่ดินแปลงหนึ่งย่านพุทธมณฑล สาย 2 สภาพแวดล้อมโดยรอบเป็นหมู่บ้านจัดสรรอายุหลายสิบปี เวลาเดินทางมาถึงในครั้งแรกจะไม่พบความพิเศษ จนเมื่อทางเจ้าของที่ดินมีความต้องการจะปลูกบ้านสักหลังบนที่ดินแปลงนี้ โดยมีจุดเริ่มต้นที่มอบหมายให้สถาปนิกออกแบบคือ ไม่มีสไตล์ ให้สถาปนิกออกแบบมา แล้วทางเจ้าของบ้านจะปรับตัวตามสถาปัตยกรรมเอง 

Photo: Spaceshift Studio

จากโจทย์ที่สถาปนิกได้รับเกิดการตีความออกมาเป็นบ้านที่มีความเฉพาะตัวมาก ราวกับเสื้อสั่งตัดพิเศษให้เจ้าของบ้านคนนี้คนเดียว mooof ได้เริ่มทำการสื่อสารกับเจ้าของบ้านถึงการวางส่วนใช้สอยต่างๆ จากหุ่นจำลองเป็นกล่องไม้ขนาดเท่ากับห้องต่างๆ แล้วทำการเรียงส่วนใช้สอยให้เกิดแปลน ทุกส่วนการใช้สอยถูกออกแบบบนกริดขนาด 1.20×1.20 เมตร โดยมีที่มาจากขนาดของแผ่นไม้อัดที่เป็นไม้แบบหล่อคอนกรีตขนาด 1.20×2.40 เมตร ซึ่งภาพการคุมทุกส่วนใช้สอยในกริดนี้ชัดเจนขึ้นเมื่อมาเยือนบ้านหลังนี้ พร้อมกับแหงนมองไปยังฝ้าคอนกรีตเปลือยที่เผยให้เห็นรอยไม้แบบที่ทิ้งไว้อย่างชัดเจน 

รูปแบบการจัดเรียงสเปซเป็นไปอย่างคลุมเครือของการรับรู้ การครอบครองสเปซของบ้านนี้เกิดจากการสร้างขอบเขตสเปซด้วยระนาบพื้นชั้นที่หนึ่ง และระนาบหลังคาที่มีกรอบพื้นที่เดียวกันโดยไม่มีเปลือกภายนอกมาห่อหุ้มแบบบ้านทั่วไปที่เคยเห็นได้ปรกติ ส่วนใช้สอยต่างๆ ทั้งห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ห้องครัว ห้องนอน ถูกวางกระจายเป็นกลุ่มที่ดูเหมือนวางสุ่ม แต่จริงๆ แล้วสถาปนิกได้วางทุกส่วนอยู่ในกริดขนาด 1.20×1.20 เมตร อย่างเป็นระบบ ขนาดของแต่ละส่วนใช้สอยเป็นกล่องขาวที่มีขนาดความสูงแตกต่างกันไปตามพื้นที่ใช้สอย ในส่วนของห้องครัวและรับประทานอาหาร เป็นห้องที่มีความสูง 1 ชั้น ในขณะที่ห้องนั่งเล่น และห้องนอนมีความสูงกว่า เพราะภายในมีชั้นลอยให้สามารถเข้าไปใช้สอย รอคอยการเพิ่มกิจกรรมในวันหน้า 

รูปแบบการก่อรูปของสเปซเป็นแบบ space within space มีลักษณะคือสเปซใหญ่ที่ถูกคลุมด้วยหลังคาคอนกรีตและมีสเปซย่อยซ้อนเข้าไปอีกครั้งด้วยแต่ละก้อนส่วนใช้สอย ส่วนใช้สอยทุกก้อนใช้ประตูที่สามารถเปิดออกได้กว้าง ทั้งแบบบานเลื่อน บานเฟี้ยม ก่อเกิดสภาพสเปซที่มีการรับรู้คลุมเครือระหว่างภายนอกและภายในทุกส่วน ทำให้เปิดรับความเป็นธรรมชาติของทั้งแสงแดด ลม ฝน ได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่เมื่อแต่ละหน่วยใช้สอยปิดประตู การรับรู้พื้นที่ภายในจะชัดเจนขึ้น แต่จะเกิดขึ้นเฉพาะในแต่ละหน่วย

ผลจากการใช้ส่วนใช้สอยที่กระจายตัวทำให้เกิดการไหลเวียนของอากาศได้เป็นอย่างดี ลมสามารถเข้ามายังพื้นที่กลางบ้านได้จากทุกทิศทาง รูปแบบการวางแปลนเป็นการวางให้ล้อมลานกลางบ้านแบบค่อยเป็นค่อยไป จนลานกลางบ้านมีความเป็นส่วนตัวไปเองด้วยการบังจากระนาบผนังที่มีความสูงในระดับต่างๆ ทุกส่วนใช้สอยถูกวางให้ผ่านลานกลางบ้าน ที่เจาะเป็นหลุมขนาด 1.20×3.60 เมตร ทำหน้าที่เป็นที่นั่งรับแขกไปอย่างอัตโนมัติ หลุมนี้ทำหน้าที่เชื้อเชิญให้ผู้มาเยือนหย่อนตัวนั่งลงกันอย่างเป็นธรรมชาติ 

ด้วยเจ้าของบ้านเป็นช่างภาพสถาปัตยกรรม สถาปนิกได้ตีความจากประเด็นนี้ เนื่องจากการถ่ายภาพคือการวาดภาพด้วยแสง สิ่งที่สถาปนิกออกแบบคือทุกระนาบคือฉากรับแสง การเลือกใช้สีขาวทำให้ระนาบตัวบ้านที่มีความลึกต่างกันกลายเป็นฉากรับปรากฏการณ์แสงธรรมชาติในช่วงเวลาต่างๆ 

ส่วนที่ดึงดูดสายตาของผู้มาเยือนบ้านหลังนี้คือผืนหลังคาคอนกรีตหนา 25 เซนติเมตร เมื่อดูในภาพรวมของตัวบ้าน ผืนหลังคาคอนกรีตมีลักษณะบางเหมือนลอยอยู่ในอากาศ จากการใช้เสาเหล็กเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 นิ้ว ในด้านการรับรู้ทางสายตา เสากลมจะสามารถลวงตาให้ดูบางกว่าเสาแบบเหลี่ยมในพื้นที่หน้าตัดขนาดเดียวกันได้ดีกว่า ช่วยให้เสาดูเลือนหายไปเมื่อถูกไล้ด้วยแสงแดด ผืนหลังคาวางบนเสาเหล็กสูง 6 เมตร เป็นเสาเหล็กแบบ CFT (concrete-filled tube columns) วัสดุแกนกลางในเสาเป็น non-shrink epoxy ชนิดกำลังอัดสูง สามารถรับแรงได้มากกว่า 600 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร โดยกรอก epoxy ลงไปตลอดความสูงเสา

การวางแนวเสาสถาปนิกและวิศวกรออกแบบให้มีการวางให้เสามีลักษณะเรียงไขว้กันไปมาคล้ายรูปแบบการวางสุ่ม ซึ่งผลจากวางเสาในรูปแบบนี้ สามารถรับแรงกระทำด้านข้างได้ดีกว่าแบบวางเรียงกันไปตามแนวกริดแบบตรงไปตรงมา ทำให้โครงสร้างเสาสามารถรับผืนหลังคาคอนกรีตได้ดียิ่งขึ้น โครงสร้างหลังคาเป็นแบบพื้นคอนกรีตไร้คานชนิดมีแป้นหัวเสา (flat slab with shearheads) ยึดกับหัวเสา CFT ด้วย steel base plate at support มีเหล็กตัว I ทำหน้าที่เป็น shearhead & flat slab reinforcement วางสอดแทรกในเหล็กเส้น โดยวางทุกตำแหน่งของหัวเสาเพื่อรับแรงเฉือน และแรงดัดของแผ่นพื้นหลังคาทั้งหมด ลักษณะการรับแรงเสาโครงสร้างวางอยู่บนโครงสร้างพื้นแบบเฟรมที่โครงสร้างชั้น 1 เฟรมเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นค้ำยัน (bracing) ในการรับน้ำหนักหลังคา

บ้านหลังนี้ชี้ให้เห็นว่า วิศวกรรมสามารถอยู่ได้โดยปราศจากสถาปัตยกรรม ในมุมกลับกันสถาปัตยกรรมไม่สามารถอยู่ได้โดยปราศจากวิศวกรรม

วันที่ไปเยือนบ้านหลังนี้คล้ายเป็นบ้านที่ยังไม่เสร็จดี ทุกส่วนการใช้สอยรอเจ้าของบ้านให้มาเติมการใช้สอยที่เจริญเติบโตไปพร้อมกัน ชั้นลอยยังรอเจ้าของบ้านเสริมบันไดให้ขึ้นไปเล่นกับระเบียง หลายพื้นที่รอเก้าอี้ออกแบบโดยนักออกแบบชื่อดังจากทุกมุมโลกที่เจ้าของบ้านนิยมสะสมไว้ทุกมุมของบ้าน ความเฉพาะตัวของบ้านหลังนี้ ทาง mooof สถาปนิกผู้ออกแบบได้บอกไว้ว่า “บ้านนี้ไม่เหมาะกับทุกคน แต่ลงตัวสำหรับเจ้าของบ้านของบ้านหลังนี้ เขาสนุกกับการรีดน้ำเวลาฝนตก สนุกกับการเห็นแสง สนุกกับการย้ายไปมา สนุกกับการเดินไปมาห้องนั้นห้องนี้”

facebook.com/mooof 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *