ภาพฝูงปลาสีเงินเงาวาวแหวกว่ายท่ามกลางอากาศอย่างอิสระ แท้จริงแล้วเป็นผลงานศิลปะจัดวางซึ่งแทรกเสริมการดื่มด่ำประสบการณ์เชิงพื้นที่จินตนาการเสมือนจริงที่สร้างสรรค์โดย bit.studio
TEXT: SURAWIT BOONJOO
PHOTO COURTESY OF BIT.STUDIO
(For English, press here)
ฝูงปลาสีเงินเงาวาวแหวกว่ายท่ามกลางอากาศอย่างอิสระ ‘FLOCK OF’ ผลงานศิลปะจัดวางซึ่งแทรกเสริมการดื่มด่ำประสบการณ์เชิงพื้นที่จินตนาการเสมือนจริง ผลงานชิ้นนี้สร้างสรรค์โดย bit.studio สำนักงาน Creative Technologist ซึ่งมุ่งมั่นผสานศิลปะกับเทคโนโลยีด้วยทักษะกระบวนการจากองค์ความรู้ในหลากหลายสาขาวิชา ทั้งฟิสิกส์ วิศวกรรม และการออกแบบ ในครั้งนี้ art4d มีโอกาสได้สนทนากับ เกียรติยศ พานิชปรีชา ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าทีมผู้ออกแบบพัฒนาจากสำนักงานแห่งนี้ เขาเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการสรรค์สร้างครั้งนี้ว่า “เราต้องการสร้างผลงานที่กระตุ้นให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกร่วมเป็นส่วนหนึ่ง สามารถเข้าไปอยู่ภายในผลงาน และเกิดเป็นประสบการณ์อันแปลกใหม่ ซึ่งดำดิ่งหลุดเข้าไปยังอีกพื้นที่ที่ยังไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน”
บรรยากาศเหนือจริงถูกก่อร่างขึ้นจากเหล่าฝูงปลาสีเงิน ด้วยท่าทีผิดแปลกจากธรรมชาติที่ควรจะเป็น – ปลาถูกจำกัดให้แหวกว่ายในสายน้ำ – เกิดเป็นคำถามปลายเปิดภายให้ผู้ชมได้ถกถามกับตนเอง นี่คือความจงใจผสานรวมสภาวะแวดล้อมจริง/เสมือนเพื่อสร้างความกระอักกระอ่วนทางการรับรู้ในเชิงพื้นที่ อีกทั้งชี้แนะการท้าทายข้ามขีดจำกัดของความนึกคิดและส่องสะท้อนต่อถึงการเปลี่ยนแปลง ตามอย่างกลุ่มปลาเมคคาทรอนิกส์ที่ได้หล่อหลอมสร้างตัวตนใหม่บนบริบทพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย พร้อมหยิบยืนชุดคำถามให้ผู้ชมได้ไตร่ตรองซ้ำถึงความหมายของการดำรงอยู่และการก้าวข้ามขีดจำกัดของตนเอง ผ่านการแทรกกายเป็นส่วนระหว่างวิถีการเคลื่อนตัวของฝูงปลาที่เชื้อเชิญให้ผู้ชมได้สัมผัสและเพลิดเพลินไปกับภาพเหนือจริงตรงหน้า
“ด้วยความต้องการสร้างสรรค์ผลงานที่สามารถบินหรือลอย พร้อมทั้งเคลื่อนไหวโดยรอบผู้คน รวมไปถึงความสามารถในการควบคุมได้นั้น โดยมากเราก็มักจะนึกถึงโดรนเป็นสิ่งแรก แต่เนื่องด้วยความรุนแรงจากใบพัดและเครื่องยนต์ที่จะส่งเสียงดังจึงไม่เหมาะสมกับชิ้นงานของเราที่ให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึกในการออกแบบ ความรุนแรงที่กล่าวถึงจะปิดกั้นให้ผู้ชมไม่กล้าเข้าใกล้ผลงาน เราจึงมาคิดต่อไปว่า หุ่นยนต์ประเภทไหนที่สามารถตอบโจทย์กับชิ้นงานและสามารถเชื้อเชิญคนได้บ้าง ดังนั้นในงานนี้เราจึงเริ่มต้นจากวัสดุที่ดูไม่อันตรายอย่างลูกโป่ง ก่อนนำไปสู่การรีเสิร์ชต่อถึงวิธีการควบคุมการเคลื่อนไหวให้สามารถลอยตัวและเคลื่อนที่ไปในทิศทางที่กำหนด”
ความสามารถเคลื่อนไหวไปในอากาศตามวิถีทางที่กำหนดแม้ถูกแยกออกจากฝูง เกิดจากการทำงานร่วมมือระหว่างทีมผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ ตามจุดต่าง ๆ ทั่วทั้งพื้นที่จัดแสดงจะมีการติดตั้งเซนเซอร์ปล่อยคลื่นวิทยุที่จะทำการตอบสนองต่อแผงอิเล็กทรอนิกส์บริเวณตัวปลา ก่อนการออกแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อควบคุมระดับการลอยตัว รวมไปถึงรูปแบบทิศทางของการเคลื่อนไหวที่จะปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมของการจัดแสดงแต่ละครั้ง นอกจากนั้นแล้วความเร็วและฟอร์มของการบินของฝูงปลานับเป็นอีกส่วนที่ทางทีมผู้ออกแบบมุ่งให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยพวกเขาพยายามเลียนล้อท่าทางตามธรรมชาติและการรวมตัวอยู่กันเป็นฝูงภายใต้ท้องทะเล
ผลงานศิลปะจัดวางชิ้นนี้จัดแสดงเป็นครั้งแรกที่ True Digital Park ในนิทรรศการ ‘FLOCK OF… Discover the supernatural nature of floating fish’ เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ก่อนเดินทางไปจัดแสดงระดับนานาชาติในประเทศญี่ปุ่น ที่งาน ‘MEYA MEYA’ ณ พิพิธภัณฑ์การเดินเรือเมืองโกเบ ต่อด้วยอีเวนต์ที่ร้านอาหาร Kani Lab ประเทศเกาหลี ซึ่งผสมผสานศาสตร์การทำอาหารกับสื่อทางศิลปะ และล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ณ เทศกาลสื่อดิจิทัลสมัยใหม่แห่งอนาคต Ars Electronica Festival 2024 ภายใต้ธีม ‘HOPE – who will turn the tide’ ณ เมืองลินซ์ ประเทศออสเตรีย น่าสนใจว่าผลงานชิ้นนี้สามารถปรับเปลี่ยนการสื่อสารร่วมนำเสนอการตีความตามบริบทพื้นที่ไปได้อย่างผกผันและต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น การจัดแสดงในสถานะผลงานศิลปะจัดวางที่ล้ำสมัยไปกับแนวคิดในการสร้างสรรค์ที่ชวนติดตามกับการจัดแสดงในครั้งแรก และการเน้นย้ำถึงวัตถุศิลปะในสถานะนวัตกรรมอันก้าวล้ำทางเทคโนโลยีของบริบทเทศกาลซึ่งเข้าร่วมล่าสุด
แง่หนึ่งการปรับเปลี่ยนพื้นที่ซึ่งมักมาพร้อมกับการเติมแต่ง ดัดแปลงการสื่อสารของผลงานเพื่อให้สอดรับไปตามแต่ละบริบทอันหลากหลาย นอกจากจะยอกย้อนชี้เน้นถึงความลื่นไหลและตีความได้อย่างอิสระของผลงานด้วยการจงใจเว้นพื้นที่ว่างสำหรับรอรับบางสิ่งอย่างอยู่เสมอ ก็เอื้อให้ผลงานศิลปะจัดวาง ‘FLOCK OF’ สามารถพิจารณาและอ่านความได้อย่างหลากหลายทิศทางและเมื่อพิจารณาต่อก็น่าสนใจยิ่งขึ้นว่า นี่อาจเป็นเพียง ‘ฝูง’ ของสิ่ง (ไม่ใช่ปลา) ซึ่งร้องเรียกปฏิสัมพันธ์จากผู้ชมให้ร่วมขบคิด ต่อความและก่อขยายกรอบนิยามแก่ส่วนที่ถูกละอย่างมีนัยยะ แท้จริงแล้วด้วยสภาพบรรยากาศนี้ ผู้ชมได้จมดิ่งภายใต้น้ำร่วมกับปลา ปลาแหวกว่ายลอยตัว หรือปลาได้ชี้วัดย้ำถึงน้ำหนักของอากาศรอบตัวที่ไม่เคยสัมผัสได้เพียงเท่านั้น?