คุยกับผู้เขียนหนังสือ ‘THAILAND STATIONERY ร้านเครื่องเขียนไทยใกล้ฉัน’ ที่รวบรวมร้านเครื่องเขียนในประเทศไทยผ่านสายตาของชาวเกาหลี
TEXT: PIYAPONG BHUMICHITRA
PHOTO CREDIT AS NOTED
(For English, press here)
ชื่อของ อี ฮยอนกยอง อาจไม่คุ้นหูนักอ่านและผู้คนในวิชาชีพออกแบบและสร้างสรรค์ แต่ถ้าบอกว่า นี่คือชื่อนามสกุลจริงของ ฮั่น ผู้เขียนหนังสือ ‘THAILAND STATIONERY’ ฉบับภาษาเกาหลี หรือฉบับภาษาไทยในชื่อ ‘ร้านเครื่องเขียนไทยใกล้ฉัน’ โดย Salmon Books ล่ะ?
‘THAILAND STATIONERY’ เป็นหนังสือที่รวบรวมร้านเครื่องเขียนในประเทศไทยที่ อี ฮยอนกยอง ไปเยือน และบันทึกไว้ออกมาเป็นหนังสือที่มี format เรียบง่าย แบ่งตามที่ตั้งในโซนต่างๆ ของประเทศไทย เนื้อหาและภาพถ่าย รวมไปถึงเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่แทรกอยู่ในเล่มทุกหน้าคือผลงานของเธอ ฉบับออริจินัลตีพิมพ์เป็นภาษาเกาหลีทั้งเล่มวางขายครั้งแรกในงาน Bangkok Art Book Fair เมื่อปี 2022 วิธีอ่านที่พอทำได้ก็คือใช้แอพแปลภาษาในโทรศัพท์ค่อยๆ ส่องให้แปลทีละย่อหน้า ด้วยความยากลำบากเลยทำให้ล้มเลิกการอ่านวิธีนั้นไป และในปีนี้เองที่หนังสือฉบับนี้ก็ถูกจัดทำขึ้นมาเป็นฉบับภาษาไทย สำนวนแปลโดย วณิชชา จินศิริวานิชย์ พิมพ์และจัดจำหน่ายโดย Salmon Books เมื่อตุลาคมที่ผ่านมา และนี่คือบทสนทนากับ ฮั่น หรือ อี ฮยอนกยอง หลังจากอ่านฉบับภาษาไทยจบในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
art4d: ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าทำไมสำนักพิมพ์โซจังกัก ถึงพิมพ์หนังสือ ‘THAILAND STATIONERY’ ของคุณ? เป็นความหลงใหลของสำนักพิมพ์นี้ที่พวกเขาสนใจเรื่องราวของ South East Asia เป็นพิเศษ?
Lee Hyunkyung: ฉันได้ย้ายมาอยู่ที่ไทยในเดือนมกราคม ปี 2019 หลังจากนั้น ฉันก็ได้เริ่มเดินทางไปทั่วไทยเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องเขียนของไทย ฉันได้นำข้อมูลนี้มาโพสต์ลงใน IG และได้รับความสนใจจากคนเกาหลีจำนวนมาก เพราะก่อนหน้านี้ยังไม่มีคอนเทนต์ที่พูดถึงเรื่องเครื่องเขียนของไทยเลย
แล้วในเดือนมีนาคม ปี 2021 ฉันได้รับการติดต่อจากสำนักพิมพ์ Sojanggak พวกเขาบอกว่าคอนเทนต์เกี่ยวกับเครื่องเขียนของไทยนั้นมีความน่าสนใจ และ unique พวกเขาจึงเสนอให้เราทำหนังสือเรื่อง ‘เครื่องเขียนของไทย’ ร่วมกัน ฉันคิดว่าความคิดของเราคล้ายกัน เพราะสำนักพิมพ์ ที่ Sojanggak ก็สนใจที่จะเล่าเรื่องราวต่างๆ ใน South East Asia เช่นกัน
ในเดือนกรกฎาคม ปี 2022 หนังสือ ‘태국 문방구 (THAILAND STATIONERY)’ ฉบับภาษาเกาหลีก็ได้ตีพิมพ์ที่เกาหลี แม้ว่าจะผ่านมา 2 ปีแล้ว แต่หนังสือเล่มนี้ก็ยังคงได้รับความสนใจจากผู้อ่านชาวเกาหลีจำนวนมาก
art4d: คุณเป็นกราฟิกดีไซเนอร์และครีเอทีฟไดเร็คเตอร์ คุณมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหนในการออกแบบและจัดทำหนังสือเล่มนี้ (Korean edition) นอกจากเนื้อหาและภาพถ่าย
LH: เนื้อหา และภาพถ่ายในหนังสือล้วนมาจากต้นฉบับที่ฉันมีเอง ทำให้ฉันสามารถเสนอไอเดียเกี่ยวกับภาพที่จะใส่ในหนังสือได้ ส่วนการออกแบบหนังสือ ‘태국 문방구 (THAILAND STATIONERY)’ ฉบับภาษาเกาหลีนั้น สำนักพิมพ์ Sojanggak เป็นผู้ดูแล ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบปกหนังสือ และการจัดวางเนื้อหาในหนังสือ
ฉันรู้สึกดีที่เราในฐานะนักออกแบบสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกแบบจัดหน้าได้อย่างอิสระ ฉันคิดว่าพวกเขาได้ถ่ายทอดสีสันสดใสที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยลงบนปกหนังสือได้อย่างดี ซึ่งฉันเชื่อว่านี่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ปกหนังสือเล่มนี้น่าสนใจและโดดเด่นเมื่อเทียบกับปกหนังสืออื่นๆ
เพราะหน้าปกหนังสือเล่มนี้ออกแบบให้มีหลายสี เช่น สีฟ้า สีน้ำเงิน สีเหลือง สีส้ม และ สีชมพู และในแต่ละร้านที่วางขายก็จะมีปกที่สีแตกต่างกันไป ฉันคิดว่าสิ่งนี้ทำให้ผู้อ่านรู้สึกสนุก และสนใจว่านี่คือหนังสืออะไร การได้ร่วมงานกับสำนักพิมพ์ Sojanggak ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นงานออกแบบหนังสือที่ดี
art4d: หลังจากหนังสือเล่มแรกที่เป็นภาษาเกาหลีพิมพ์และจัดจำหน่าย ชีวิตในประเทศไทยของคุณเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน
LH: หนังสือ ‘태국 문방구 (THAILAND STATIONERY)’ ได้รับความสนใจอย่างมากในไทยหลังจากที่ตีพิมพ์ในเกาหลีเมื่อ 2 ปีที่แล้วค่ะ ขอบคุณมากที่ทำให้ฉันมีโอกาสที่จะแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องเขียนไทย ร้านเครื่องเขียน เรื่องราวการใช้ชีวิตในไทย และชีวิตในฐานะนักออกแบบชาวไทย ผ่านสื่อหลายช่องทาง หลังจากที่หนังสือ ‘태국 문방구 (THAILAND STATIONERY)’ ได้รับความสนใจ ฉันยังได้พบกับเพื่อนชาวไทยที่ดีๆ มากมาย ขอบคุณทุกท่านอีกครั้งจริงๆ ค่ะ
art4d: แล้วฉบับพิมพ์ภาษาไทยล่ะ? เกิดขึ้นได้ยังไง? อยากให้เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของการพิมพ์หนังสือเล่มนี้เป็นฉบับภาษาไทย
LH: ในเดือนกรกฎาคม ปี 2022 หลังจากที่ฉบับภาษาเกาหลีของหนังสือ ‘태국 문방구 (THAILAND STATIONERY)’ ได้ถูกตีพิมพ์ ฉันได้มีโอกาสไปร่วมงาน art book fair ในหลายเมือง เช่น กรุงเทพฯ, กัวลาลัมเปอร์, เซบู, สิงคโปร์ และโซล สำหรับฉบับภาษาเกาหลีของ ‘태국 문방구 (THAILAND STATIONERY)’ นั้นมีลักษณะเป็นอาร์ตบุ๊กด้วย ฉันจึงได้มีโอกาสสังเกตปฏิกิริยาของผู้อ่านจากประเทศต่างๆ โดยมีผู้คนจำนวนมาก รวมถึงผู้อ่านชาวไทยที่ให้ความสนใจเนื้อหาที่เกี่ยวกับ ‘เครื่องเขียนของไทย’ และยังมีผู้อ่านจากหลากหลายประเทศที่ซื้อหนังสือติดมือไปจากงานด้วย แต่เพราะเป็นหนังสือภาษาเกาหลี หลายคนจึงอ่านเนื้อหาไม่เข้าใจ ฉันรู้สึกทั้งดีใจและ เกรงใจ (ขอโทษ) เมื่อเห็นหลายคนพยายามอ่านผ่าน Google translate
ฉันจึงตัดสินใจร่วมกับสำนักพิมพ์ Sojanggak แปลและตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ แต่ก่อนหน้านั้นมีสิ่งที่ต้องทำก่อน ฉันคิดว่าควรตีพิมพ์เป็นภาษาไทยก่อน เพราะมีผู้อ่านชาวไทยจำนวนมากให้ความสนใจกับ ‘태국 문방구 (THAILAND STATIONERY)’ ถึงแม้ว่าจะเป็นภาษาเกาหลีก็มีผู้อ่านชาวไทยจำนวนมากที่ซื้อหนังสือเล่มนี้
ในเวลานั้น ร้านหนังสือ Vacilando ในกรุงเทพฯ และ Note a book ในเชียงใหม่ ก็ได้ช่วยสั่งหนังสือเข้ามาจำนวนมาก ทำให้ผู้อ่านชาวไทยสามารถซื้อหนังสือเล่มนี้ในไทยได้ ฉันรู้สึกขอบคุณมาก นอกจากนี้เพื่อนชาวไทยยังซื้อหนังสือเล่มนี้โดยตรงจากร้านหนังสือในกรุงโซลเมื่อพวกเขาเดินทางไปเกาหลี พอดีกับที่ในเดือนมิถุนายน ปี 2023 สำนักพิมพ์ Salmon Books ได้ติดต่อมาขอตีพิมพ์ฉบับภาษาไทย ฉันรู้สึกขอบคุณมากจริงๆ หลังจากใช้เวลาเตรียมตัวราว 1 ปี ‘THAILAND STATIONERY ร้านเครื่องเขียนไทยใกล้ฉัน’ ก็ได้ตีพิมพ์ในประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 กันยายน ปี 2024
art4d: งานแปลจากภาษาเกาหลีเป็นภาษาไทยมีปัญหามากน้อยแค่ไหน ต้องคุยกับคนแปลบ่อยแค่ไหนและใครเป็นคนตัดสินใจคนสุดท้ายที่จะเลือกใช้คำภาษาไทยที่เหมาะกับคำภาษาเกาหลีที่คุณต้องการสื่อสาร
LH: การแปลหนังสือจากภาษาเกาหลี ‘태국 문방구 (THAILAND STATIONERY)’ เป็นภาษาไทย ‘THAILAND STATIONERY ร้านเครื่องเขียนไทยใกล้ฉัน’ คุณวณิชชา จินศิริวานิชย์ เป็นผู้แปลทั้งเล่มค่ะ คุณวณิชชามีประสบการณ์การแปลภาษาเกาหลีเป็นภาษาไทยในหลากหลายสาขา ในการแปลครั้งนี้คุณวณิชชาได้ทำงานร่วมกับสำนักพิมพ์ Salmon Books เพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุดค่ะ
art4d: พอได้อ่านฉบับภาษาไทยแล้ว ถึงเพิ่งรู้ว่าคุณเป็นคนเขียนหนังสือได้สนุก ลื่นไหล เป็นธรรมชาติมาก ไม่ทราบว่าปกติคุณมี skill ด้านงานเขียนอยู่แล้วหรือมี skill ด้าน storytelling จากการเคยทำอะไรมาก่อน?
LH: ฉันชอบวาดรูป และเขียนตั้งแต่เด็กค่ะ และยังชอบอ่านหนังสือและวาดการ์ตูนด้วย เวลาผ่านไป ฉันได้กลายเป็นนักออกแบบกราฟิก และแบรนดิ้ง ซึ่งฉันทำงานนี้มานานถึง 13 ปีแล้วค่ะ ในวันธรรมดาหลังเลิกงานก็จะอ่านหนังสือและเขียน ส่วนในวันหยุดสุดสัปดาห์ จะออกไปทำกิจกรรมที่น่าสนใจ และได้แรงบันดาลใจมาเขียนหนังสือ ฉันใช้ชีวิตแบบนี้มาเกือบ 10 ปีแล้วค่ะ การวาดภาพ และการเขียนนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ทำให้งานของนักออกแบบควบคู่กับนักเขียนเป็นอาชีพที่มีเสน่ห์มากสำหรับฉัน
ฉันเป็นคนที่มีความอยากรู้อยากเห็นมาก จึงมีสิ่งที่สงสัยและอยากรู้มากมาย นั่นทำให้ฉันจดบันทึกสิ่งต่างๆ เป็นประจำ และบันทึกเหล่านี้ก็สามารถรวบรวมเป็นหนังสือได้ค่ะ ในปี 2023 ฉันได้เขียนหนังสือเพิ่มอีกสองเล่ม เล่มหนึ่งชื่อว่า ‘우리에겐 더 많은 돈이 필요하다: เรียงความสำหรับคุณที่ฝันอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น’ ซึ่งฉันได้เขียนเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในไทย และการหาเงินที่นี่ ร่วมกับนักเขียนอีก 10 คน ส่วนอีกเล่มชื่อว่า ‘기록하는 수집가의 단짝: เรื่องราวของชีวิตกับเครื่องเขียน’ ซึ่งเขียนร่วมกับนักเขียน 5 คนที่ชื่นชอบเครื่องเขียน โดยฉันได้เขียนเรื่องราวที่มี ‘ดินสอ’ เป็นหัวข้อค่ะ การเขียนหนังสือเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของฉัน และฉันหวังว่าจะได้วาดรูป และเขียนหนังสือไปเรื่อยๆ จนเป็นคุณยายที่มีความสุขกับงานที่ทำค่ะ
art4d: ในฉบับภาษาไทย คุณมีความพอใจมากน้อยแค่ไหน ทั้งสำนวนการแปลและการออกแบบปกและรูปเล่ม และถ้าให้คุณออกแบบหน้าปกฉบับ reprint edition คุณจะทำออกมาเป็นยังไง?
LH: ฉันคิดว่าการแปลภาษาไทยของ ‘THAILAND STATIONERY ร้านเครื่องเขียนไทยใกล้ฉัน’ เล่มนี้ทำได้ยอดเยี่ยมมากค่ะ ผู้อ่านชาวไทยหลายคนบอกว่าพวกเขารู้สึกเห็นใจและซาบซึ้งในเรื่องราวของฉันหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้ ฉันเองก็ได้อ่านหนังสือฉบับแปลเป็นภาษาไทย และพบว่ามีหลายจุดที่แสดงออกมาได้ดีมากในภาษาไทย ซึ่งไม่มีในภาษาเกาหลี การแปลภาษาไทยทำได้อย่างละเอียดมาก ฉันขอขอบคุณนักแปลและสำนักพิมพ์จริงๆ ค่ะ
สำหรับรูปภาพในหนังสือฉบับภาษาไทยเราใช้ภาพถ่ายจากฉบับภาษาเกาหลีทั้งหมดค่ะ รูปทั้งหมดเป็นภาพที่ฉันถ่ายเองค่ะ เนื่องจากหนังสือเล่มนี้จัดทำขึ้นเมื่อสองปีก่อน จึงมีบางจุดที่เปลี่ยนไปเล็กน้อย แต่เราเลือกที่จะใช้ภาพที่เหมือนกับต้นฉบับเพื่อคงบันทึกในช่วงเวลานั้นเอาไว้
สำหรับฉบับภาษาไทย คุณพันธชา ละอองจันทร์ เป็นผู้ออกแบบค่ะ คุณพันธชาได้ออกแบบหนังสือหลายเล่มของสำนักพิมพ์ Salmon Books และยังมีประสบการณ์ด้านการออกแบบในหลากหลายสาขา ฉันรู้สึกชอบการออกแบบฉบับภาษาไทยมากค่ะ ฉันคิดว่าการออกแบบปกที่ชวนให้นึกถึงผลิตภัณฑ์เครื่องเขียนนั้นเป็นไอเดียที่ดีมาก โดยเฉพาะเมื่อตั้งหนังสือเล่มนี้ไว้กับเล่มอื่นๆ เพราะการออกแบบ สีสัน และ layout ของหนังสือเล่มนี้มีเอกลักษณ์ จึงทำให้สะดุดตาค่ะ ส่วนคำถามว่าถ้าฉันต้องออกแบบปกนั้นฉันไม่เคยคิดถึงการออกแบบอื่นเลย แต่ก็สงสัยเหมือนกันว่าหากใช้สีอื่นๆ ในการออกแบบจะเป็นอย่างไรค่ะ ขอบคุณอีกครั้งที่ทำให้หนังสือออกมาสวยงามค่ะ
art4d: นอกจาก stationery แล้ว ถ้าจะเขียนหนังสือเล่มถัดไปที่ว่าด้วยสิ่งที่คุณพบเจอในชีวิตประจำวัน คุณจะเขียนถึงอะไรบ้าง?
LH: ฉันมีโอกาสพบกับหัวข้อหลากหลายที่สามารถนำมาเขียนเป็นหนังสือได้ค่ะ ในฐานะชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทย ฉันได้พบกับประสบการณ์ที่หลากหลายมากมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ฉันบันทึกไว้อย่างละเอียดที่สุด นอกจากนี้ฉันยังสามารถเล่าประสบการณ์การใช้ชีวิตในเกาหลี ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ได้อีกด้วย รวมถึงเรื่องราวที่ฉันเคยไปเรียนด้านการออกแบบที่ประเทศอิตาลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉันมีความสนใจในเรื่องราวที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม การออกแบบ และภาษาของประเทศต่างๆ ค่ะ
art4d: นอกจากรู้จักคุณจากการอ่านตัวหนังสือและภาพถ่ายของคุณแล้ว ช่วยบอกประวัติคร่าวๆ ที่คุณทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์และครีเอทีฟไดเร็คเตอร์ให้ผู้อ่านรู้จักตัวตนอีกด้านของคุณบ้าง
LH: นอกจากเครื่องเขียนของไทยแล้ว ฉันยังสนใจเกี่ยวกับประเทศไทยในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมและภูมิภาคต่างๆ ของไทย ฉันยังมีความสนใจในงานออกแบบและศิลปะของไทยด้วย นอกจากนี้ฉันชอบฟังเรื่องราวของคนไทย และค้นพบข้อมูลใหม่ๆ ฉันจึงได้ทำการสัมภาษณ์หลายครั้งจนถึงตอนนี้
ฉันอยู่ที่ไทยมาแล้ว 6 ปี แต่ก็ยังคงมีหลายสิ่งที่อยากรู้ และเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศไทย ทุกครั้งที่ได้เจอไอเดียหรือข้อมูลใหม่ๆ ฉันก็บันทึกเก็บไว้อย่างละเอียดทำให้มีหัวข้อที่อยากเขียนเป็นหนังสืออีกมากมาย ปัจจุบันฉันกำลังทุ่มเทเขียนหนังสือเล่มใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘อีสาน’ ของไทย เนื่องจากยังมีคนเกาหลีจำนวนมากที่ไม่รู้จักภูมิภาคอีสาน ฉันจึงอยากแนะนำให้พวกเขาได้รู้จัก และฉันอยากแชร์เรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ‘อีสาน’ ในมุมมองของคนเกาหลีให้คนไทยได้ฟังด้วย ฉันจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้หนังสือเล่มนี้ได้พบกับผู้คนมากมายในเร็วๆ นี้ ขอบคุณค่ะ
นอกจากสำนวนแปลที่ลื่นไหล เป็นกันเองและทำภาษาเขียนให้อ่านแล้วเหมือนกับได้ฟังผู้เขียนค่อยๆ เล่าสิ่งที่บันทึกไว้ออกมาได้อย่างหมดจดและเพลิดเพลิน ส่วนที่สนุกและน่าสนใจที่สุดของเนื้อหาในหนังสือ ร้านเครื่องเขียนไทยใกล้ฉัน กลับไม่ใช่เรื่องของร้านเครื่องเขียนที่ อี ฮยอนกยอง เขียนถึง แต่กลายเป็นมุมมองที่มีต่อสังคมไทยและความไทยๆ ที่ผู้เขียนสอดแทรกเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ ทำให้หลายครั้งที่เราต้องหยุดคิดตามหรือกระทั่งต้องไปหาข้อมูลต่อว่ามันมีต้นสายปลายเหตุมาจากอะไร ยกตัวอย่างพอเป็นน้ำจิ้มให้เห็นว่าหนังสือร้านเครื่องเขียนไทยจากมุมมองคนเกาหลีที่มาอาศัยและใช้ชีชีวิตใน ประเทศไทยมาแล้ว 6 ปี ก็เช่น คนไทยใช้ปากกาสีน้ำเงินเป็นหลัก ต่างจากประเทศอื่นที่ใช้ปากกาหมึกสีดำ คนไทยชอบติดสติ๊กเกอร์มาก เลยหาซื้อสติ๊กเกอร์ได้แทบจะทุกร้านเครื่องเขียน วัฒนธรรม ‘สบายๆ’ ของไทยที่ทำให้ผู้เขียนไม่ค่อยได้ยินคำพูดว่า ‘เร็วๆ’ หรือ ‘รีบๆ’ และคำว่า ‘เกรงใจ’ ที่ผู้เขียนอธิบายออกมาในแบบที่ไม่ค่อยได้ยินการอธิบายแบบนี้มาก่อน ทั้งหมดที่ว่ามาก็พอจะบอกได้ว่า ลองอ่านหนังสือ ‘ร้านเครื่องเขียนไทยใกล้ฉัน’ แล้วจะเห็นอะไรหลายๆ อย่างในชีวิตแบบที่เราไม่เคยนึก หรือคิดถึงมาก่อน และอย่าลืมว่าต้องอ่านแบบสบายๆ นะ