นิทรรศการของ ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ ที่ถ่ายทอดภาพจิตรกรรมและประติมากรรมที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ผ่านการตั้งคำถามถึงพฤติกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อม
TEXT: TUNYAPORN HONGTONG
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
เป็นที่รู้โดยทั่วกันว่า ศิลปะของ ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ มักปรากฏอยู่ในสีสันสดใส ใช้ฝีแปรงอิสระ ดูสนุก เต็มไปการทดลองนำเอาข้าวของเหลือใช้และวัตถุแบบ ready-made มาใช้ หรือบางชิ้นก็สามารถนำไปใช้งานได้จนมีความก้ำกึ่งระหว่างศิลปะและงานออกแบบ (functional object)
แต่ในขณะที่เรารู้จักลายเซ็นเหล่านี้ของเขามาเนิ่นนานแล้ว น่าจะเป็นเมื่อสักช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้เองที่เราได้เห็นความสนใจของไทวิจิตเกี่ยวกับเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมชัดเจนขึ้น เริ่มจากนิทรรศการเดี่ยวของเขาที่ Gallery VER ชื่อ ‘The Leftover’ (2020) ที่เขานำเอาเศษวัสดุเหลือใช้มาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานมากมาย ตามมาด้วย ‘หนีเสือปะจระเข้’ ใน Bangkok Art Biennale 2020 ชื่องานที่ไทวิจิตนำสำนวนไทยมาเปรียบเปรยถึงการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เมื่อแก้ไขเรื่องหนึ่ง ก็กลับต้องเผชิญกับปัญหาอีกเรื่องหนึ่ง ต่อมาในปี 2021 เขายังนำเอา ‘หนีเสือปะจระเข้’ มาสานต่อเป็นประติมากรรมใน ART for AIR เทศกาลศิลปะที่จัดขึ้นที่เชียงใหม่เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้ทุกภาคส่วนหันมาช่วยกันแก้ปัญหา PM2.5 ที่เรื้อรังในภาคเหนือมายาวนานกว่าสิบปี และในปีเดียวกันนั้น ไทวิจิตยังมีนิทรรศการเดี่ยว ‘One Generation Plants the Trees, Another Gets the Shade’ ที่ WarinLab โดยแค่ชื่อนิทรรศการที่เขานำมาจากสุภาษิตจีนนี้ก็คงบอกได้ดีถึงเนื้อหาว่าเกี่ยวกับเรื่องอะไร
ย้อนกลับไปดูนิทรรศการเก่าๆ ของไทวิจิตขนาดนี้ก็ไม่ใช่อะไร เพราะมันทำให้เราดูนิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุดของเขาได้สนุกและเข้าใจมากขึ้น นิทรรศการที่ว่าคือ ‘Untamed Melody Part 1’ ที่จัดขึ้นที่ Four Season Hotel Bangkok Art Space by MOCA Bangkok โดยเป็นอีกครั้งที่ได้ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวณิช มาเป็นคิวเรเตอร์ หลังจากที่ทั้งสองเคยร่วมงานกันมาแล้วใน ‘The Leftover’
ใน ‘Untamed Melody Part 1’ มีจิตรกรรมภาพบุคคล 60 ภาพ และประติมากรรม 6 ชิ้น โดยเพ้นท์ติ้งที่ครอบครองพื้นที่ส่วนมากของห้องแกลเลอรีนั้น ดูเผินๆ ก็เหมือนเป็นภาพปัจเจกของกลุ่มคนอาชีพต่างๆ ที่ไทวิจิตรวบรวมวาดขึ้น เช่น artist (ศิลปิน), pianist (นักเปียโน) และ economist (นักเศรษฐศาสตร์) เป็นต้น แต่เมื่อพิจารณาชื่อของแต่ละภาพให้ถี่ถ้วนกว่านั้น จะเห็นว่าศิลปินไม่ได้ตั้งชื่อภาพแต่ละภาพด้วยคำจำกัดความด้านอาชีพเพียงอย่างเดียว แต่ชื่องานนอกจากนั้นดูจะเป็นคำนิยามถึงความเชื่อและสิ่งที่พวกเขากระทำมากกว่า ไม่ว่าจะเป็น Materialist (พวกวัตถุนิยม), Commercialist (พ่อค้า), Colonialist (นักล่าอาณานิคม), Consumerist (พวกบริโภคนิยม) และที่เป็นชื่อผลงานจิตรกรรมอีก 3 ชิ้น คือ Capitalist หรือ นายทุน/พวกทุนนิยม
เมื่อบวกกับการให้ความสำคัญกับเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมในนิทรรศการครั้งก่อนๆ หน้า เราจึงได้เห็นว่า แม้นิยามของบุคคลเหล่านี้จะฟังดูว่าเป็นผู้คนที่มีหน้าตาในสังคม แต่ความเชื่อและการกระทำของพวกเขาล้วนมีส่วนทำลายทรัพยากรธรรมชาติด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคอย่างไร้ขีดจำกัด การทำธุรกิจที่กระทบต่อธรรมชาติ และการบุกรุกเข้าไปยังประเทศต่างๆ เพื่อนำทรัพยากรธรรมชาติมาหาผลประโยชน์
นี่คือความตั้งใจของไทวิจิตที่จะสะท้อนให้เราเห็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติผ่านจิตรกรรมสีสันสดใสดูสนุกสนาน ไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกัน แต่เป็นในทางตรงกันข้าม คือมนุษย์ที่มีวิวัฒนาการในเกือบทุกด้านทั้งเทคโนโลยี องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ แต่การกระทำในทุกวันกลับทำลายธรรมชาติและโลกที่พวกเราอยู่อาศัยลงไปทีละนิดๆ
ทันใดนั้นเอง เมื่อตีความออกมาแบบนี้ จู่ๆ ภาพบุคคลในโทนสีสดใสดูสนุก สไตล์การวาดที่บ้างดูเป็น abstract บ้างอยู่ในเส้นสายรูปทรงเรขาคณิตแบบ cubic ก็กลับดูเป็นใบหน้าบูดเบี้ยวและมีแววตาที่น่ากลัวไม่เป็นมิตรขึ้นมาทันที
อย่างไรก็ตาม ศิลปินไม่น่าจะอยากโยนเรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อมนี้ให้เป็นความผิดของ ‘พวกเขา’ เพียงอย่างเดียว แต่น่าจะอยากให้ผู้ชมได้ฉุกคิดถึงการกระทำของตัวเราเองด้วย โดยในจิตรกรรมชุดที่ใช้ชื่อว่า ‘Consumerist’ หรือ นักบริโภคนิยม มีภาพบุคคลจำนวนมากติดอยู่บนผนังด้านหนึ่ง แต่ผนังด้านข้างสองด้านที่ขนาบอยู่ติดตั้งกระจกเงาขนาดเล็ก ซึ่งเมื่อผู้ชมไปยืนดูภาพเพ้นท์ติ้งชุด ‘Consumerist’ นี้ และหันมองด้านข้างซ้าย-ขวาก็จะเจอเข้ากับเงาของตัวเองในกระจกพอดี ทำให้คิดไปได้ว่าขณะที่เรากำลังยืนชมภาพเหล่านั้น บางทีใบหน้าที่เราเห็นอาจเป็นตัวเราเองก็เป็นได้
นอกจากจิตรกรรมแล้ว ในนิทรรศการยังมีประติมากรรมอีก 6 ชิ้น โดยอย่างที่บอกไปว่ามีถึง 3 ชิ้น ที่ใช้ชื่อเหมือนกันว่า ‘Capitalist’ (นายทุน, พวกทุนนิยม) ซึ่งก็คือกลุ่มคนที่มีอำนาจและบทบาทขับเคลื่อนสังคมส่วนมากในทุกวันนี้ ประติมากรรมทั้งสามชิ้นนำเอาวัสดุเหลือใช้และข้าวของแบบ ready-made มาใช้ ชิ้นแรกเป็นเหมือนรถเครนที่กำลังยกกระเป๋าถือผู้หญิงปักเลื่อมสีทองอร่ามขึ้น ชิ้นที่สองเป็นหน้ากาก และชิ้นที่สามเป็นรูปคนเต็มตัว ใส่แว่น (แอบดูเหมือนไทวิจิตเอง) และที่แขนมีริบบิ้นห้อยลงมาหลายเส้น บนริบบิ้นเป็นคำแบบอุดมคติเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น sustainable (ยั่งยืน), environmental friendly (เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม), 0 waste (ขยะเป็นศูนย์), pesticide free (ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง), plant-based (อาหาร/วัตถุดิบจากพืช) เป็นต้น ซึ่งพอดูประติมากรรมทั้งสามชิ้นนี้เรียงกันมาแล้ว ก็ตีตวามส่วนตัวได้ว่าศิลปินน่าจะต้องการแสดงให้เห็นถึงภาพลักษณ์ที่นายทุนสื่อสารออกมายังสังคม และการกระทำของพวกเขาจริงๆ เพราะบางทีคำสวยหรูที่ใช้เหล่านั้นก็อาจเป็นแค่เปลือกเพื่อการฟอกเขียว (green washing) ให้พวกเขามีภาพลักษณ์ที่ดูดีแค่นั้นก็เป็นได้
‘Untamed Melody’ ที่จัดแสดงที่ Four Seasons Bangkok Hotel Art Space by MOCA BANGKOK นี้ คือนิทรรศการ part 1 ที่จะจัดแสดงถึงวันที่ 5 มกราคม 2568 นอกจากนั้น ในเดือนนี้ ไทวิจิตก็ได้เปิดอีกนิทรรศการนึง คือ ‘Untamed Melody Part 2’ โดยเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 26 มกราคม 2568 ที่ MOCA Bangkok ใครอยากรู้ว่า part 2 จะมีอะไรเพิ่มเติมขึ้นมาอีกบ้าง ก็คงต้องตามไปดูกันที่อีกฟากมุมเมือง