saran,co รีโนเวทโปรเจกต์นี้ด้วยการใช้วัสดุในท้องถิ่นมาปรับใช้กับโครงสร้างเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อคงกลิ่นอายเดิมและความกลมกลืนกับคนในพื้นที่ ให้ที่นี่เปรียบเสมือนเป็น ‘บ้านของเรา’
TEXT: SURAWIT BOONJOO
PHOTO COURTESY OF SARAN,CO
(For English, press here)
“รูปแบบทางสถาปัตยกรรมจึงเข้ามามีบทบาท เพื่อเชื่อมโยงตัวตน (อื่น) กับบริบทพื้นที่แห่งนี้ให้กลมกลืนกันมากที่สุด แต่ในอีกทางหนึ่งก็ยังคงมีความร่วมสมัยจากจริตที่หลีกหนีจากตัวตนไม่ได้ เปรียบเหมือนกับการพรางตัว เพื่อให้รู้สึกเป็นพวกเดียวกับเขา เป็น ‘บ้านของเรา’ อะหวู่ฮี/avoohe ในภาษาลีซู”
อาคารเปิดโล่งรูปแบบโมเดิร์นชั้นเดียวทอดยาวเหนือเนินเขา ซึ่งโดดเด่นด้วยโครงสร้างเสา คานเหล็กสีเขียวมน และหลังคาเมทัลชีท รวมไปถึงการออกแบบพื้นที่ส่วนในสุดบางส่วนให้ยื่นเลยออกต่อไปจากผังรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ระเบียงที่ทอดยาวประหนึ่งสะพาน ทั้งหมดนี้ได้เข้ามาเสริมสร้างประสบการณ์การดื่มด่ำไปกับธรรมชาติ นี่คือคาเฟ่ของ Avoohe โดยขนาบข้างด้วยสำนักงานดูแลห้องพักโฮมสเตย์ ที่ห้องพักและพื้นที่ใช้สอยอื่นๆ เรียงรายไปกระจายตัวตามความลาดชันของพื้นที่ไหล่เขาภายในอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ รอยต่อระหว่างภาคกลางและเหนือของประเทศไทย ตลอดทั้งอาณาบริเวณโครงการได้เน้นย้ำถึงภาพภูมิทัศน์การเชื่อมร้อยสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกับบรรยากาศ และแทรกซ่อนท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันเขียวขจีจากทั้งสีสันและกายาของวัตถุไว้ให้ได้คิดพิจารณา
โฮมสเตย์และคาเฟ่แห่งนี้ เป็นผลงานออกแบบของ saran,co สตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรมและตกแต่งภายในรุ่นใหม่ ก่อตั้งจากการรวมตัวของ ศรัณย์ จำรูญกุล และ ทมาศ มุทธาพงศ์ สองพี่น้องต่างรุ่นจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ด้วยความสนใจร่วมกันของทั้งสองต่อการพิจารณาพื้นที่ว่าง เพื่อสำรวจและขับเน้นบริบทความเป็นพื้นที่ เรื่องราว และความสัมพันธ์ให้เด่นชัด ตอบสนองต่อความต้องการของเจ้าของโครงการด้วยความประนีประนอมและนอบน้อมต่อบริบทรายล้อม อีกทั้งยังมีเป้าหมายที่จะเรียบเรียงสร้างสรรค์เสน่ห์และกลวิธีการสื่อสารด้วยวัสดุอันเรียบง่ายจากภาษาการออกแบบที่ซึมซับเข้าใจต่อความเป็นวัตถุโครงสร้างนั้นๆ อย่างตรงไปตรงมาและไม่แปลกแยกจากบริบทโดยรอบ
ด้วยความหลงใหลของเจ้าของโครงการที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในเมืองหลวงต่อความงามของพื้นที่ บริบทแวดล้อม โดยเฉพาะกับผู้คนในชุมชนชาติพันธุ์ลีซูซึ่งอาศัยอยู่แต่เดิมภายในพื้นที่ ประกอบกับความสนิทสนมคุ้นเคยจากการเดินทางเข้าพักอยู่บ่อยครั้ง เมื่อเจ้าของโฮมสเตย์เดิมตัดสินใจขายโครงการ เจ้าของใหม่คนเมืองที่มีความผูกพันกับธรรมชาติและผู้คนที่นี่จึงรับช่วงดูแลต่อ ก่อนเริ่มต้นพัฒนาโปรเจกต์ Avoohe รีโนเวทและปรับปรุงพื้นที่โฮมสเตย์ อีกทั้งงานออกแบบสร้างคาเฟ่ อาคารหลังใหม่ในพื้นที่ลานจอดรถเดิม เพื่อเป็นพื้นที่เปิดรับผู้คนที่ผ่านไปมาจากถนนทางผ่านบริเวณชั้นสองอาคาร หรือโถงรองรับ สถานที่พักผ่อนอเนกประสงค์ของแขกผู้เข้าพักในชั้นที่ต่ำลงเสมอแนวลาดของไหล่เขาที่เชื่อมต่อกับพื้นที่ห้องพัก ลานกางเต็นท์ และห้องน้ำที่ทอดวางอยู่ถัดไป
“จากบริบทที่ตั้งซึ่งอาจจะดูปกติทั่วไปกับพื้นที่โดยรอบของทิวทัศน์ป่าเขา อำเภอเขาค้อ แต่ที่นี่กลับมีความพิเศษทางจิตใจสำหรับเจ้าของโครงการด้วยความผูกพันกับผู้คนและวัฒนธรรม อันนำมาสู่การออกแบบปรับปรุงพื้นที่โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างเดิมเนื่องด้วยกรอบเวลาที่จำกัด เราจึงเพียงแปลงกายปกคลุมอาคารโฮมสเตย์เดิมด้วยวัสดุที่กลมกลืนไปกับบริบทธรรมชาติโดยรอบมากที่สุด อีกทั้งพยายามเลือกใช้วัสดุที่หาได้ง่ายและเป็นที่คุ้นเคยของช่างภายในท้องที่ โดยการออกแบบโปรเจกต์นี้จะแบ่งแยกย่อยเป็นสองส่วนหลักๆ คือการปรับปรุงอาคารห้องพักเดิมด้วยวัสดุใหม่ ผสานการปรับแพทเทิร์นให้มีความร่วมสมัย ขณะที่อีกส่วนคือส่วนสร้างใหม่ คาเฟ่ที่ตั้งเสมอระดับผิวถนนซึ่งเสนอสร้างความเป็นกันเองและเปิดให้เห็นทิวทัศน์ให้ได้มากที่สุด ผ่านการเว้นช่วงระยะห่างของช่วงเสาที่กว้าง” ศรัณย์อธิบายเสริมถึงแนวคิดในการออกแบบปรับปรุงพื้นที่เดิมและสร้างสรรค์อาคารโครงสร้างใหม่
อาคารที่พักเดิมได้รับการห่อคลุมผิวกายด้วยวัสดุใหม่ผสมผสานสลับกับแนวผนังไม้ไผ่สับฟาก และคาเฟ่หลังใหม่ นักออกแบบก็เลือกใช้เหล็กหีบ วัตถุโครงสร้างซึ่งนอกจากจะตอบรับไปกับระยะเวลาในการปรับปรุงที่จำกัด ยังคงช่วยให้แฝงกายให้กลมกลืนไปกับกลุ่มอาคารที่พักเดิม อีกทั้งสร้างการสนทนาต่อ ด้วยประโยคใหม่ในรูปแบบสถาปัตยกรรมตามยุคสมัย หากสังเกตกลวิธีเลือกใช้วัสดุตลอดทั้งโปรเจกต์จะเห็นได้ว่า ศรัณย์พยายามเลือกใช้วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างธรรมดาสามัญและหาได้ง่ายโดยทั่วไปภายในพื้นที่ อาทิ เหล็กหีบ แผ่นสมาร์ทบอร์ด หรือแม้แต่เหล็กเมทัลชีท อย่างไรก็ตาม เขากลับประกอบเรียงวัตถุเหล่านี้ ร้อยต่อเข้ากับหัตถกรรมพื้นถิ่น – ผนังไม้ไผ่สับฟาก – ที่ใช้ดั้งเดิมตามบ้านเรือน ถ่ายทอดโดยขับเน้นเนื้อแท้ของวัตถุและความหมายร่วมสมัยที่ก่อร่างเรียงตัวขึ้นใหม่ได้อย่างน่าสนใจ
ในขณะที่อาคารหลังใหม่ได้เข้ามากระทำการเสมือนพื้นที่ผสานระหว่างนอก-ใน/สาธารณะ-ส่วนบุคคล ก็ชวนให้นึกตรองถึงพื้นที่รองรับหรือโถงอเนกประสงค์ของบ้านที่เปิดตอนรับแขกที่มาเยี่ยมเยือน และประกอบกิจกรรมร่วมกันของผู้อยู่อาศัยภายในครัวเรือน นี่จึงเป็นไปตามความคิดของสถาปนิกที่พิจารณาทั้งอาณาบริเวณของโปรเจกต์ราวกับบ้านหลังหนึ่ง ที่มีพื้นที่ห้องนั่งเล่นในรูปลักษณ์คาเฟ่ และห้องนอนแยกย่อยเป็นห้องพักที่แต่ละหลัง หรือเมื่อพิจารณาต่อเนื่องเหนือไปกว่านั้น โครงสร้างในพื้นที่ครัวเรือนของ Avoohe ยังคงยอกย้อนกลับขับเน้นถึงความผูกพันระหว่างเจ้าของโครงการ และพื้นที่ที่ถูกประกอบสร้างใหม่ ซึ่งสัมพันธ์ไปกับความพยายามร่วมเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวเดียวกันชาติพันธุ์ลีซู ด้วยการสนับสนุนสร้างอาชีพให้คนท้องถิ่นกับเยาวชนในชุมชน รวมไปถึงเร้นกายแฝงบนผืนทัศนียภาพเดียวกันกับธรรมชาติและอาคารอื่นๆ ที่ห้อมล้อม ด้วยสีสันและความเรียบง่าย ด้วยท่าทีที่เคารพต่อบริบทพื้นที่อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งก็ล้วนแต่เป็น ‘บ้านเดียวกัน’