THE LETTER TO THE MASTER OF CRAFT

ON THE OCCASION OF SUWAN KONGKHUNTHIAN’S 30 YEARS IN DESIGN WHICH WAS PRESENTED IN THROUGH THE EXHIBITION ‘SURVIVAL OF CRAFT, 1989 TO 2020’ BY THE BANGKOK-BASED CONTENT DESIGN STUDIO, ISSARAPHAP, DOONYAPOL SRICHAN OF PDM WROTE AN OPEN LETTER TO HIS MASTER

TEXT: DOONYAPOL SRICHAN
PHOTO COURTESY OF ISSARAPHAP

(For English, press here)

แดดแรงช่วงสายของโรงงานโยธกาที่อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี หลังการนั่งรถเมล์จากกลางเมืองมา 5 ต่อ ยังคงชัดเจนในความทรงจำ ความหลงใหลงานเฟอร์นิเจอร์บวกไฟแห่งความดันทุรัง ทำให้ผมดั้นด้นมาเรียนรู้วิชาออกแบบจากสำนักนี้ตามคำเล่าลือของรุ่นพี่ 

อาจารย์สุวรรณ คงขุนเทียน รับผมเข้าฝึกงานในปี พ.ศ. 2548 และช่วยเปิดโลกนักเรียนออกแบบที่ติดอยู่กับกระบวนการคิดแบบอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ต้น ให้เห็นคุณค่าใหม่ในงานออกแบบด้วยการนั่งมองช่างถักและพันเชือกบนดีไซน์ที่ซับซ้อนในจังหวะน้ำหนักที่เท่ากันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ปิดคอมพิวเตอร์แล้วทำทุกอย่างด้วยมือ เรียนการเลือกใช้สัดส่วนของสีในแบบที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อน สิ่งเหล่านี้บอกเป็นนัยว่าในตอนนั้นเองเป็นโชคดีของผมที่ได้หัดว่ายน้ำอีกครั้งในบ่อความรู้แห่งใหม่

งานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ของอาจารย์สุวรรณ ภายใต้แบรนด์โยธกา สร้างจากภูมิปัญญา แต่ก็ถูกพัฒนาจนมีเอกลักษณ์เฉพาะเป็นสากล หลายๆ รายละเอียดไม่สามารถเขียนแบบผลิตในระบบอุตสาหกรรมได้ โยธกาจึงใช้วิธีการผลิตแบบกึ่งอุตสาหกรรม นั่นคือการใช้เวลานับแรมปี ในการฝึกฝนให้ช่างธรรมดากลายเป็นช่างฝีมือชั้นครู

งานออกแบบของโยธกาได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยไปปรากฏอยู่ในรีสอร์ทแถวหน้าของโลก หลายชิ้นถูกคัดเลือกเข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำในเอเชีย ผมได้เรียนรู้เรื่องศิลปะแห่งการออกแบบ แนวทางศึกษาอดีตเชิงดีไซน์ ความงามและสุนทรียศาสตร์ จังหวะสัดส่วนของเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่มีในตำราฝรั่ง ไปจนถึงจำนวนส่วนต่างในสัดส่วนมิลลิเมตรที่อาจส่งผลตั้งแต่ท่านั่งไปจนถึงยอดขาย เรียนรู้ว่ามูลค่าของวัตถุดิบสามารถเพิ่มขึ้นหลายร้อยเท่าเมื่อผ่านดีไซน์จากโยธกา

เมื่อเติบโตขึ้น สถานที่เรียนรู้การทำธุรกิจสร้างสรรค์ของผมก็เปลี่ยนจากโรงงานมาเป็นออฟฟิศ เป็นบ้าน ร้านอาหาร ไปจนถึงงานแฟร์ ทั้งในและต่างประเทศ ระหว่างทศวรรษแห่งการเติบโตนั้น ผมมองเห็นมรสุมที่โยธกาต้องเผชิญเพื่อพางานออกแบบจากประเทศไทยให้ได้มีโอกาสยืนในเวทีโลก หากมองไปถึงแก่น ปฏิเสธไม่ได้ว่าโยธกาคือหนึ่งใน Country Brand ของไทย ที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ และในด้านการนำเสนออัตลักษ์ของภูมิปัญญาไทยให้โลกรับรู้

และหากเรามองว่าเฟอร์นิเจอร์จากโยธกาเป็นสินค้าวัฒนธรรม นิทรรศการ Survival of Craft (1989-2020) ใน Bangkok Design Week 2020 ก็น่าจะสามารถอธิบายวิธีการส่งต่อมูลค่านั้นผ่านงานออกแบบร่วมสมัยได้อย่างครบถ้วน

นิทรรศการถูกออกแบบโดยกลุ่มอิสรภาพ นักออกแบบรุ่นใหม่ผู้ตามติดชีวิต สัมภาษณ์กลั่นกรองวิธีคิดของอาจารย์ตลอดระยะเวลา 1 ปีเต็มออกมาเป็นหนังสือและงานแสดง ทุกมิติบรรยายออกมาได้อย่างละเมียด มีจังหวะ พร้อมรสนิยม Survival of Craft (1989-2020) เกิดขึ้นบนพื้นที่ชั้นสองของ ATT 19 ย่านเจริญกรุง นิทรรศการเริ่มเล่าเรื่องด้วยเฟอร์นิเจอร์วัสุดุธรรมชาติในยุคที่ผักตบชวาเบ่งบาน สิ่งที่ในตอนนั้นถูกมองว่าเป็นขยะได้ถูกวิจัยและพัฒนาให้มีมูลค่าผ่านงานออกแบบ

จนเกิดวลี ‘ขยะกลายเป็นทอง’ แม้จะไม่ประสบความสำเร็จมากนักกับตลาดในประเทศ แต่ต่างชาติตรึงใจกับกลิ่นอายของการเล่นแร่แปรธาตุจนเกิดเป็นออร์เดอร์ส่งออกมหาศาล ในสมัยที่กฎหมายลิขสิทธิ์ทางปัญญาไม่แข็งแรง ต้องยอมรับว่ามีผู้ผลิตหลายเจ้าทำเงินเป็นกอบเป็นกำจากสิ่งที่โยธกาเป็นผู้เริ่มต้น

พื้นที่จัดแสดงพาเราเข้าไปเห็นการผันเปลี่ยนของงานดีไซน์ทรงคุณค่า การทดลองนำเสนอวัสดุรูปแบบใหม่ ในยุคที่ผักตบชวาถึงจุดสูงสุดของตลาด นั่นคือการพลิกวิถี สร้างวิธีใหม่ของการถ่ายทอดกระบวนการไปสู่วัสดุที่แตกต่างกันได้แบบเหนือชั้น ไม่ว่าจะเป็นลิเภา กระดาษ หรือเส้นพลาสติกหลากชนิด ณ ขณะที่ความต้องการของตลาดพุ่งขึ้นสูง โยธกา ยังคงรักษาบริบทของงานดีไซน์หัตถกรรมขั้นสูงไม่ให้หาย หลากผลงานที่ถูกออกแบบเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วได้กลายเป็น classic item ที่ยังสามารถทำรายได้จนถึงปัจจุบัน

Survival of Craft (1989-2020) ทำให้เห็นว่าการปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงของตลาดนั้นสร้างความเข้มข้นให้กับแบรนด์ในระดับที่คาดไม่ถึงอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร จนหลายครั้งผมเองมองไม่เห็นว่าอาจารย์สุวรรณ นำต้นเหตุใดมาริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานได้มากมายและต่อเนื่องขนาดนี้ จนกระทั่งพบข้อความนึงบนผนังทำให้เข้าใจว่าทุกอย่างมาจากการเลือกมุมมองที่จะดำเนินชีวิต

‘For me, taste is about how you want to live. As a designer, you should learn to live well. Once you understand how to enjoy life, you can use that experience to make your work more dynamic. Your knowledge of enjoyment will empower you to create new designs again and again.’

สุดทางเดินของนิทรรศการปิดท้ายด้วยโครงไม้เก้าอี้โบราณที่มีความเป็นเอเชียในสัดส่วนพิเศษงดงาม รายละเอียดแบบช่างฝีมืออนุรักษ์นิยม โครงเก้าอี้ถูกวางไว้ใกล้กำแพงสีขาว บนผนังแจ้งว่าเป็นเก้าอี้ที่อาจารย์สุวรรณออกแบบไว้ตั้งแต่สมัยเรียนปี 4 (พ.ศ. 2518) คล้ายตั้งใจมอบเป็นหลักฐานให้เห็นว่ารากของความเป็นคนตะวันออกผ่านดีไซน์ของโยธกาไม่ได้แวะผ่านการเสแสร้งบนยุคที่ทุกคนเฝ้าเฟ้นหาอัตลักษณ์ในตลาดสากล หากความหลงรักในรากเหง้าของตนที่ถูกแสดงออกผ่านผลงานออกแบบมากมายนั้นอยู่ในเนื้อแท้เสมอมา

อาจารย์สุวรรณในวัย 70 ปียังคงทำงานทุกลมหายใจ งานออกแบบกลายเป็นส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับทุกบริบทของการดำเนินชีวิต สิ่งที่น่าสนใจคืองานจัดแสดงนิทรรศการในครั้งนี้เป็นผลต่อเนื่องจากความต้องการในการทำหนังสือถ่ายทอดงานเฟอร์นิเจอร์ชุดพิเศษของอาจารย์สุวรรณ ผลงานกว่า 240 หน้า ในรูปแบบที่ไม่เคยมีใครในเมืองไทยทำมาก่อนได้แสดงให้เห็นถึงดีไซเนอร์มากประสบการณ์ ผู้แสดงความรักประเทศบ้านเกิดด้วยการให้โอกาสคนรุ่นใหม่ ต้องการทิ้งภูมิปัญญาด้านการออกแบบไว้ให้กับคนรุ่นหลังผ่านการทำงานตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา 

Survival of Craft (1989 to 2020) เปิดให้เข้าชมถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ ที่ ATT 19 เจริญกรุง 30

issaraphap.com
fb.com/Issaraphap.design
yothaka.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *