DUTCH DESIGN WEEK 2021

ไปสำรวจงาน Dutch Design Week 2021 เทศกาลแสดงงานออกแบบที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปเหนือ ที่มีเนื้อหาเน้นไปที่งานออกแบบเพื่ออนาคต และอนาคตของงานออกแบบ กับ มกร เชาว์วาณิชย์ แห่ง Cerebrum Design

TEXT: PRATARN TEERATADA / MAKORN CHAOVANICH
PHOTO: CEREBRUM DESIGN B.V. (AMSTERDAM)

(For English, press here

Dutch Design Week 2021 เพิ่งจัดแสดงไประหว่าง 16 – 24 ตุลาคม ที่ผ่านมานี้ เทศกาลออกแบบรายการนี้เป็นเทศกาลออกแบบที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปเหนือ เป็นงานรวบรวมผลงานและความคิดของนักออกแบบกว่า 2,000 ราย กระจายอยู่ทั่วเมือง Eindhoven ในรูปแบบของงานนิทรรศการ งานบรรยาย งานแจกรางวัล กิจกรรมสร้างเครือข่าย งานถกเถียงทางวิชาการ และงานเฉลิมฉลองต่างๆ เนื้อหาส่วนใหญ่ของ DDW2021 เน้นไปที่งานออกแบบเพื่ออนาคตและอนาคตของงานออกแบบ ไม่ว่าจะเป็น งานทดลอง นวัตกรรม และความร่วมมือในโครงการต่างๆ นับเป็นเทศกาลออกแบบที่มีความล้ำหน้า มากกว่าเทศกาลออกแบบทั่วไปในโลก มกร เชาว์วาณิชย์ แห่ง Cerebrum Design ได้ไปร่วมชม DDW 2021 และได้นำภาพพร้อมเรื่องราวน่าสนใจในเทศกาลปีนี้มาฝาก art4d

art4d: งาน DDW ปีนี้มีภาพรวมเป็นอย่างไรบ้าง คิดว่า ปัญหาการล็อคดาวน์เป็นเวลานาน ส่งผลกระทบต่องานบ้างไหม

Makorn Chaovanich: งานปีนี้เป็นหนึ่งงานที่หลายๆ คนที่นี่ตั้งหน้าตั้งตารอ เพราะงาน DDW ปีนี้เป็นงานแรกๆ ของประเทศที่ปลดล็อคหลังจากล็อคดาวน์นานกว่า 15 เดือน เพราะทุกคนก็ลุ้นว่าจะมีการจัดหรือไม่ จากมาตรการการควบคุมโรคที่เปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา คือลุ้นทั้งคนจัดงาน เจ้าของสถานที่ และคนที่ตั้งใจไปดู เพราะงานนี้เหมือนกับธรรมเนียมที่จัดกันมากว่า 20 ปีแล้ว จากที่สังเกตคนที่มาเที่ยวชมในงานส่วนใหญ่จะเป็นคนในตัวเมือง เป็นคนต่างถิ่นพอมีบ้าง แต่หลักๆ จะเป็นผู้ชมจากในภายในประเทศ หรือแม้แต่ในประเทศในโซนยุโรปก็คงมีไม่มาก ที่สำคัญงานนี้ไม่มีการบังคับใส่หน้ากาก ทำให้บรรยากาศโดยรวม เหมือนเหตุการณ์ปกติ

ขนาดของงานโดยรวมเล็กลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทใหญ่ๆ ที่ก่อนหน้านี้มีการลงทุนหาสร้างบูธที่ใหญ่โต แต่ปีนี้ด้วย มาตรการที่ไม่แน่นอน ทำให้บูธขนาดใหญ่ที่ออกแบบมาเพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับผู้เข้าชมหายไป แต่ก็ถือว่าสามารถแก้ปัญหาได้ดีด้วยการเลือกที่จะใช้วัสดุที่เรียบง่ายแต่สามารถสร้างความน่าสนใจและสามารถสื่อสารได้ดีพอสมควร อีกหนึ่งในไฮไลท์ของงานทุกๆ ปีคืองานแสดงผลงานจบของนักศึกษามหาวิทยาลัย ซึ่งในปีนี้ขนาดเล็กลงไปมากเพราะส่วนหนึ่งนักศึกษาที่มาเรียนจะมาจากต่างประเทศ ที่ผ่านมามีการล็อคดาวน์ไปนานกว่า 1 ปีทำให้นักศึกษาต่างชาติไม่สามารถมาแสดงผลงานได้ 

art4d: แนวโน้มหรือทิศทางในงานออกแบบที่สังเกตได้จากงานปีนี้น่าจะไปทางไหน

MC: ผมจะมองเป็น 2 ส่วนหลักๆ ส่วนแรกคือส่วนของด้านการศึกษา และส่วนของธุรกิจ

ส่วนของภาคการศึกษา นักศึกษาส่วนใหญ่ใช้เวลาการทำวิจัย และทำความเข้าใจบริบทของคนในปัจจุบัน แล้วตีความ ในความเข้าใจของตัวเอง ทำให้รูปแบบของงานของนักศึกษาส่วนใหญ่เป็นแนวคิดทางด้านศิลปะมากกว่าการแก้ปัญหา ทางด้านการออกแบบ เหมือนจะพยายามสื่อสารให้โลกเข้าใจมากกว่าที่จะเข้าไปแก้ปัญหา มีความเป็นศิลปินสูงมาก

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการล็อคดาวน์ต้องอยู่กับบ้าน ทำให้ขาดการลงมือทำ หรือปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในบริบทจริงๆ

ซึ่งผลงานของนักศึกษาต่างไปจากปีก่อนๆ มาก ปีก่อนหน้านี้นักศึกษาจะทำโครงการลักษณะเหมือน startup มีแนวคิดในเชิงธุรกิจค่อนข้างมาก มีความเป็นไปได้ในการผลิต และต่อยอด ซึ่งในปีนี้แทบจะไม่เห็นงานลักษณะนี้เลย ซึ่งก็เป็นที่ถกเถียงกับในกลุ่มดีไซเนอร์มืออาชีพที่ผมได้เจอและพูดคุย ทุกคนลงความเห็นเดียวกันว่าถ้าทำงานลักษณะนี้จบไปแล้วใครจะจ้าง เพราะห่างไกลกับความเป็นจริงมาก ส่วนหนึ่งเป็นจากการที่ต้องเรียนอยู่บ้านทำให้ขาดการเข้าถึงการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ เพราะฉะนั้นการ ออกแบบเชิงพัฒนาสินค้าและวัสดุ ทำให้เกิดมีข้อจำกัดของผลงานอย่างเห็นได้ชัด

ในส่วนของภาคธุรกิจ ดูเหมือนว่า 2 ปีที่ผ่านมา ไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวอะไรมาก เพราะการทำงานส่วนใหญ่ต้องทำงานที่บ้าน เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ในการพัฒนาและวิจัยก็สามารถใช้งานได้น้อยลง เหมือนกับภาคการศึกษา นี่เป็นจุดเด่นที่สังเกตได้ชัดเลยว่าประเทศที่มีการพัฒนาทางด้านการออกแบบแล้วการเข้าถึงอุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัยเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การออกแบบมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดตลอดเวลา

ส่วนงานของนักออกแบบรุ่นใหม่ งานส่วนใหญ่เป็นงานในสเกลเล็กไม่ใช่สเกลอุตสาหกรรม แต่จะเป็นการผสมผสานระหว่างเครื่องมือในปัจจุบันเช่นเครื่องพิมพ์ 3 มิติ กับเทคนิคหัตถกรรมโบราณมาผสมกัน เช่นการถัก ทอ เย็บ ปั้น แต่จะเน้นเรื่องของการเล่าเรื่องและการเชื่อมโยงของชุมชน เป็นงานทดลองมากว่างานที่จะต่อยอดทางธุรกิจได้จริง จะออกไปทาง new media artist ที่มีความเป็นดีไซน์มากกว่า

ถ้ามองในภาพรวมก็เหมือนกับนักออกแบบรุ่นใหม่พยายามจะสร้างความยั่งยืนในระดับชุมชนมากกว่าที่จะเข้าไปแก้ปัญหาใน สเกลใหญ่ จากที่จะเห็นในปีที่ผ่านๆ มา นี่อาจจะเป็นหนึ่งผลกระทบที่เห็นได้ชัดว่าการที่เราไม่สามารถเดินทางไปเข้าถึงในบริบทที่ใหญ่ได้ สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดก็คือการเข้าถึงชุมชน เข้าถึงสิ่งที่ตัวเองมี มากกว่าจะไปพึ่งพาอุตสาหกรรม ในประเทศหรือทวีปอื่น หรือประเทศจีนก็ตาม

ส่วนงานของนักออกแบบรุ่นใหญ่หรือสตูดิโอ สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ ทุกคนเน้นเรื่องของการออกแบบที่ยั่งยืน ตั้งแต่การคิดค้นใช้วัสดุใหม่มาทดแทนวัสดุเก่า การบริหารจัดการพลังงาน การบริหารของเสียและการนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน รวมไปถึงการเข้าถึงบริบทของคนในพื้นที่และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด แนวคิดเรื่องของ Self-sustain แรงมาก นี่ก็อีกหนึ่งแนวทางที่ชัดเจนของการลดการพึ่งพาภายนอกให้มากที่สุด จากการล็อคดาวน์เป็นเวลานาน

art4d: สถานการณ์ธุรกิจออกแบบในยุโรปขณะนี้เป็นอย่างไร

MC: งานออกแบบที่ต้องใช้ supply chain ใหญ่ ใช้คนจำนวนมากได้รับผลกระทบหนักมาก เพราะในภาคอุตสาหกรรมแรงงานส่วนใหญ่ต้องกลับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นงานก่อสร้าง งานผลิต การใช้แรงงานโดยใช้ฝีมือ หรืองานที่ต้องพึ่งโรงงานอุตสาหกรรมในทวีปอื่นหรือประเทศอื่น ก็จะมีปัญหาการขาดแคลน ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วน หรือวัสดุที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ถ้าพูดให้เห็นภาพง่ายๆ คือ คิดได้แต่ไม่มีคนทำให้ หรือทำได้ไม่ครบ ทำได้เท่าที่ทำได้ โดยพึ่งเคริ่องจักรขนาดเล็กหรือ 3D printer เป็นหลัก

ที่เห็นได้ชัดอีกอย่างคือ ทุกอย่างที่เกี่ยวกับการออกแบบในที่อยู่อาศัยโตมาก เพราะการ work from home และ new normal ของการทำงาน ตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในบ้าน หรือแม้กระทั่งเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ ในบ้าน

นี่ก็อาจจะเป็นหนึ่งเหตุผลที่งานออกแบบส่วนใหญ่จะออกไปแนวทางศิลปะมากขึ้น เพราะคนทำงานส่วนใหญ่ที่ออฟฟิศ ทำทุกอย่างเป็นระบบอุตสาหกรรม ทุกอย่างมีกฎระเบียบควบคุม แต่พออยู่บ้าน ก็จะอิสระ มีการบริหารเวลาของตัวเอง มีเรื่องของ emotional มากขึ้น อยู่กับตัวเอง ครอบครัว ธรรมชาติ และชุมชน มีเวลาที่จะเสพ มีเวลาที่จะใช้ชีวิตมากขึ้น เรียกได้ว่า Modern Humanized มาแทน Old Industrialized

ddw.nl

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *