SAWADEESIGN

ไปทำความรู้จักกับสตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรม Sawadeesign จากเวียดนาม ที่มีเอกลักษณ์คืองานออกแบบอันขี้เล่น การผสมผสานความชอบหลากหลาย เช่น ดนตรี กราฟิกดีไซน์ และบทบาทการทำงานที่เป็นมากกว่าสถาปนิก

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO COURTESY OF SAWADEESIGN

(For English, press here

ครั้งแรกที่เราได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของ Sawadeesign เราประหลาดใจพอสมควรที่ได้รู้ว่าบริษัทออกแบบหน้าใหม่มาแรงนี้มีบ้านเกิดอยู่ที่ไซง่อน เวียดนาม แม้ชื่อ Sawadeesign จะทำให้หลายๆ คนคิดไปว่าสตูดิโอนี้มีสัญชาติไทย (เพราะคำว่า ‘สวัสดี’ ในชื่อ ที่เป็นคำทักทายในภาษาไทย) แต่ชื่อไม่ได้เป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เราสนใจในตัวพวกเขา หากแต่เป็นงานออกแบบที่กล้าบ้าบิ่น มุ่งมั่น และขี้เล่น เช่นผลงานร้านอาหาร YAM หรือบ้าน 303 รวมไปถึงบทบาทต่างๆ ของพวกเขาในอุตสาหกรรมออกแบบด้วยเช่นกัน

เราจึงไม่ลังเลที่จะติดต่อไปหา Sawadeesign พร้อมสนทนาออนไลน์กับสองนักออกแบบของสตูดิโอ Võ Thành Phát และ Đoàn Sĩ Nguyên เพื่อเรียนรู้เส้นทางการออกแบบ วิสัยทัศน์ และบทบาทของพวกเขาในแวดวงการออกแบบ

Võ Thành Phát (Left) l Đoàn Sĩ Nguyên (Right)

art4d: ทำไมคุณถึงตั้งชื่อสตูดิโอว่า Sawadeesign

Võ Thành Phát: เราถูกถามหลายครั้งมากว่าทำไมถึงตั้งชื่อบริษัทว่า Sawadeesign บางคนคิดว่าเราเป็นคนไทย หรือเรามีสมาชิกในทีมเป็นคนไทย หรืออะไรแบบนั้น แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเพราะว่าประเทศไทยมีอะไรบางอย่างที่เราชอบมากที่สุดแม้เราจะเดินทางไปมาหลายประเทศแล้วก็ตาม

ครั้งแรกที่เราไปกรุงเทพฯ เราประทับใจสุดๆ กับความคิดสร้างสรรค์ในงานสถาปัตยกรรม ออกแบบภายใน ไปจนถึงงานกราฟฟิค ภาพยนตร์ ดนตรี และทุกอย่างเลยของคนไทย ผมคิดว่าคนไทยกล้าที่จะก้าวออกจากขอบเขตเดิมๆ และทำอะไรที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน เรารู้สึกได้ถึงพลังงานที่มีชีวิตชีวาและเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยที่เป็นแรงบันดาลใจให้เราอย่างมาก มันเป็นเหมือนแรงผลักดันให้เราเปิดบริษัท เราเลยเรียกบริษัทของเราว่า Sawadee ซึ่งเป็นคำทักทายในภาษาไทย แล้วเราก็ผสมมันเข้ากับคำว่า design ออกมาเป็นชื่อของเราคือ Sawadeesign

หนึ่งในศิลปินไทยที่เราชื่นชมมาก และได้มีโอกาสร่วมงานกันเมื่อเร็วๆ นี้ด้วยคือ ศรันย์ เย็นปัญญา เรายังชอบ IDIN Architects เราไปร้านกาแฟในกรุงเทพฯ ของพวกเขามาด้วย เราชอบวิธีการคิดเชิงออกแบบและการทดลองกับวัสดุต่างๆ ของพวกเขา

ตอนนี้ เราเชื่อว่าถึงสตูดิโอของเราจะชื่อเหมือนคำไทย เราก็ยังมีลายเซ็นความเป็นเวียดนามอยู่ และเราก็ภูมิใจในผลงานที่ผ่านมาของเรา

YAM Project

art4d: คุณคิดว่าอะไรเอกลักษณ์โดดเด่นของสตูดิโอของคุณ

Võ Thành Phát: เราเป็นทีมที่ประกอบไปด้วยสถาปนิกรุ่นใหม่ สมาชิกในทีมของเราเกิดอยู่ในช่วงปี 1994 และ 1999 เราก็เลยมีความกล้าที่จะก้าวออกมานอกกรอบ และคิดอะไรในมิติมุมมองที่กว้างขึ้น เรานิยามตัวเองว่าเราเป็นคนที่เล่นกับงานสถาปัตยกรรมเพราะเรามักจะเล่นกับรูปทรง และพื้นที่ งานแต่ละโปรเจคท์ของเราจะมีองค์ประกอบที่โดดเด่นต่างกันไป อันเป็นสิ่งทำให้คนจดจำได้เสมอ ความขี้เล่นก็เลยเป็นหนึ่งในคำที่เอามาใช้บนความเป็นเราได้

อย่างไรก็ตาม งานออกแบบของเราถูกขับเคลื่อนด้วยความต้องการของเจ้าของโครงการและพฤติกรรมของมนุษย์ เราคิดว่าเราเป็นเหมือนแค่เครื่องมือที่ช่วยให้พวกเขาแสดงออกถึงความเป็นตัวเอง หรือสิ่งที่พวกเขาต้องการจะสื่อสาร และด้วยความที่ลูกค้าแต่ละคนก็มีเรื่องราว ความต้องการเป็นของตัวเอง รวมไปถึงสไตล์ หรือสุนทรียะที่พวกเขาชื่นชอบ งานแต่ละชิ้นของเรามันเลยมีความแตกต่างกัน แต่ในอนาคต ถ้าเราเจอภาษาหรือปรัชญาทางการออกแบบที่เราคิดว่ามันเหมาะกับเรา เราก็คงจะเดินไปในแนวทางนั้น

TAP Project

อีกเรื่องหนึ่งคือ เราไม่ได้โฟกัสที่สถาปัตยกรรมเพียงอย่างเดียว เรายังรักดนตรี กราฟิกดีไซน์ อาหาร และเรารวบรวมเอาสิ่งเหล่านี้ไปใช้เวลาเราทำงานแต่ละโปรเจ็คต์

TAP Project

art4d: มาพูดถึงเรื่องราวของสตูดิโอของคุณกันหน่อย สตูดิโอมีที่มาที่ไปอย่างไร?

Võ Thành Phát: ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นในปี 2017 ตอนนั้นผมกับ Nguyen เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยปีท้ายๆ กันแล้ว ซึ่งผมเป็นรุ่นน้อง Nguyen อยู่หนึ่งปี ก่อนที่เราจะเรียนจบ เราก็ได้ทำงานด้วยกันมาบ้าง เป็นงานที่เราทำให้ญาติบ้าง ให้เพื่อนที่มหาวิทยาลัยบ้าง ตอนนั้นเราเริ่มที่จะเรียกตัวเองว่า ‘Sawadeesign’ กันแล้ว แต่เรายังไม่ได้ตั้งออฟฟิศกันขึ้นมาเป็นกิจลักษณะ  หลังจากนั้นเราก็ทำงานโปรเจ็คต์เล็กๆ ด้วยกันมาเรื่อย เช่นงานออกแบบบ้าน หรือร้านกาแฟ จนกระทั่งเราเรียนจบ เราก็ตั้งบริษัทขึ้นมาด้วยกัน

Võ Thành Phát (Left)

Đoàn Sĩ Nguyên

art4d: คุณยังจำงานชิ้นแรกๆ ที่ทำกันได้ไหม?

Võ Thành Phát: งานแรกที่เราทำหลังจากเรียนจบเป็นงานรีโนเวทบ้านในไซ่ง่อน โดยชื่อโครงการคือ บ้าน Chiulinh เนื่องจากว่าบ้านหลังนี้เป็นบ้านญาติของเราเอง เราก็เลยได้งานมาง่ายและทุกอย่างก็ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

หลังจากบ้านหลังนี้เราก็ทำงานออกแบบบ้านขนาดเล็กมาเรื่อยๆ จนกระทั้งเราได้มาทำร้านอาหาร YAM เรารู้สึกว่าในที่สุดเราก็ได้ทำอะไรที่มันเป็นชิ้นเป็นอันสักที เราภูมิใจกับงานชิ้นนี้กันมาก

art4d: ทำไมงานชิ้นนี้ถึงมีความหมายกับพวกคุณ?

Võ Thành Phát: YAM เป็นเหมือนจุดเปลี่ยนสำหรับเราเลย มันทำให้เราก้าวไปอีกขึ้นหนึ่งในเส้นทางอาชีพนี้และผลักดันให้เราเดินตามแนวทางออกแบบที่เราเลือกใช้ และบอกให้เราทำงานด้วยความรู้สึกของการลองทำอะไรใหม่ๆ และสร้างงานที่สนุกออกมา

YAM Project

ผมต้องบอกว่าเราโชคดีมากที่ได้ทำงานกับเจ้าของร้าน YAM เขาเป็นเพื่อนกับเราบน facebook มาห้าปี แต่เราไม่เคยคุยกันมาก่อน เขาติดตามงานของพวกเรามาตลอด แล้ววันหนึ่งเขาก็มาบอกว่าเขาอยากทำงานร่วมกับเรา ซึ่งนั่นก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ YAM 

กับงานนี้ สิ่งที่เราคิดถึงคือประสบการณ์ของลูกค้า ร้านอาหารนี้ตั้งอยู่ในย่านอันจอแจ เราก็เลยสร้างกำแพงไม้สีดำขึ้นมาเพื่อแยกพื้นที่ภายในกับภายนอกออกจากกัน เมื่อลูกค้าเดินเข้ามาด้านในของร้าน พวกเขาจะต้องผ่านคอร์ทยาร์ดภายใน มันเป็นพื้นที่ๆ คนสามารถนั่งเล่น ผ่อนคลาย และใช้เวลาในแบบที่พวกเขาต้องการ และนั่นก็เป็นเหตุผลของการสร้างขอบเขตทางกายภาพขึ้นมา

YAM Project

ประเด็นต่อมาที่เราคำนึงถึงคือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างตัวสวนและร้านอาหาร ลูกค้าจะต้องเดินข้ามสะพานเหล็กที่เชื่อมพวกเขาจากด้านล่าง เข้าสู่ส่วนของร้านอาหารด้านบนผ่านการใช้ทางลาด ลูกค้าจะได้สัมผัสการเปลี่ยนผ่านของพื้นที่ที่เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปซึ่งต่างจากการเดินขึ้นบันไดทีละขั้น สะพานเหล็กและกำแพงดำเป็นองค์ประกอบที่คนจะจำได้เสมอเมื่อพูดถึง YAM

Yam Project

art4d: มีงานชิ้นไหนอีกบ้างที่คุณภูมิใจกับมันมากๆ?

Võ Thành Phát: บ้าน 303 ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่เราภูมิใจ คุณจะเรียกมันว่าเป็นอีกหมุดหมายสำคัญของเราก็ได้เพราะคุณจะเห็นถึงความแตกต่างของงานชิ้นนี้กับชิ้นอื่นๆ ได้เลย ตัวเจ้าของบ้านที่ทำอาชีพเป็นนักบินก็เป็นลูกค้าในดวงใจของผมเลยเพราะเขาปล่อยให้เราทำบ้านออกมาในแบบที่เราต้องการ และก็สร้างทุกอย่างออกมาตามแบบทุกอย่าง ถึงเราจะใช้เวลาเกือบๆ ปีไปกับกระบวนการออกแบบที่แบ่งออกเป็นสามช่วง แต่ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นก็เป็นที่น่าพอใจมาก

303 House

303 House

art4d: หนึ่งในสิ่งที่เราคิดว่าน่าสนใจมากเกี่ยวกับสตูดิโอของพวกคุณก็คือมิวสิควีดีโอที่พวกคุณแร็ปถึงงานแต่ละชิ้นที่พวกคุณทำ จริงๆ แล้ววิดีโอพวกนั้นคืออะไร อะไรคือความคิดอยู่เบื้องหลังมัน?

Đoàn Sĩ Nguyên: เราคิดว่าดนตรีเป็นหนึ่งในสื่อกลางที่จะใช้อธิบายสถาปัตยกรรมได้ ด้วยความที่เราชอบเพลงแร็ปมาก เราก็เลยตัดสินใจที่จะแร็ปเกี่ยวกับงานของเรา เราทำเพลงชื่อ ‘MIA OI’ ที่เล่าถึงโครงการ ‘Mía Ơi’ ที่เป็นร้านขายน้ำผลไม้ในไซ่ง่อน

Võ Thành Phát: ในภาษาเวียดนาม Mía หมายถึงอ้อย ส่วน ‘Mía Ơi’ แปลว่าสวัสดี อ้อย”  เพลงนี้อธิบายความคิดเบื้องหลังโปรเจ็คต์ที่มีม้านั่งรูปทรงโค้งในสวน โดยม้านั่งนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแม่น้ำโขง และเพลงนี้ก็เป็นเพลงเกี่ยวกับความงดงามและอุดมสมบูรณ์ของสามเหลี่ยมแม่น้ำโขง เราเลือกสามเหลี่ยมแม่น้ำโขงเพราะสำหรับคนในแถบเวียดนามตอนใต้ พื้นที่นี้เป็นเหมือนศูนย์กลางของผู้คนที่ผลิตและส่งออกข้าวออกไปยังที่ต่างๆ ทั่วโลก

MÍA ƠI Project

MÍA ƠI Project

Đoàn Sĩ Nguyên: เราถ่ายมิวสิควิดีโอนั้นกันเอง แล้วก็ให้โปรดิวเซอร์คนไทยเป็นคนแต่งทำนองให้

Behind the scene Mia Oi

art4d: เหมือนกับว่าคุณมีทีมสื่อของตัวเองเลย

Võ Thành Phát: ใช่ครับ นอกเหนือไปจากทีมออกแบบ เรายังมีทีมสื่อที่รับผิดชอบเกี่ยวกับวิดีโอ และภาพถ่ายงานก่อสร้างต่างๆ ตอนที่เราเริ่มถ่ายวิดีโอ มันให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังทำไดอารี่ท่องเที่ยวของเรา นับตั้งแต่มีโรคระบาด เราก็ได้ดูวิดีโอบน Youtube เยอะมาก แล้วก็เริ่มคิดกันว่าทำไมเราไม่เริ่มทำ vlog เกี่ยวกับงานของเราดูบ้างเพื่อที่คนทั่วไปจะได้เข้าใจกระบวนการและคุณค่าของงานออกแบบมากขึ้น เราอยากที่จะสื่อสารกับคนถึงความสำคัญของงานออกแบบ และประโยชน์ที่พวกเขาจะได้จากการมีสถาปนิกออกแบบบ้านให้ และถึงแม้ว่าจะมีสื่อที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับงานออกแบบอยู่แล้วในเวียดนาม แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเนื้อหาที่โฟกัสไปที่มุมมองทางการออกแบบ เราพยายามจะไม่ไปโฟกัสในมุมนั้นมาก แต่เน้นไปที่กระบวนการ เราทำสิ่งต่างๆ อย่างไร และเราจะอยู่ร่วมกับสถาปัตยกรรมอย่างไร

art4d: นอกเหนือจากการทำงานออกแบบ เหมือนพวกคุณก็เคยผ่านการทำโปรเจ็คต์อื่นๆ ด้วย 

Võ Thành Phát: เราเคยจัดนิทรรศการชื่อว่า Borderless ในปี 2020 ความต้องการของเราคือการเชิญสถาปนิกจากทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มารวมตัวกันที่ไซ่ง่อน แม้ว่าปี 2020 จะเป็นปีที่โรคระบาดเกิดขึ้นแล้วในเวียดนาม และเราก็ไม่สามารถเชิญให้พวกเขามาที่นี่และเจอกันตัวต่อตัวได้ เราก็ได้ขอให้พวกเขาส่งโครงการและโมเดล รวมไปถึงวิดีโอแนะนำตัวที่เราจะนำไปจัดแสดงที่พื้นที่นิทรรศการ

ความตั้งใจของการจัดงานนี้ก็คือ การผลักดันให้นักเรียนสถาปัตยกรรมและคนรักงานออกแบบได้เดินเข้าไปสู่เขตแดนใหม่ๆ และได้เห็นว่าประเทศอื่นๆ และสตูดิโออื่นๆ ในภูมิภาคได้ทำอะไร และกำลังทำอะไรกันอยู่บ้าง

สิ่งที่เราได้กลับมาจากงานนิทรรศการนี้คือเครือข่ายของสถาปนิกจากทั่วเอเชีย บางคนเราเองก็ไม่เคยเจอมาก่อน แต่พวกเขาก็ตอบรับมิตรภาพของเราอย่างอบอุ่น แล้วเราก็ยังติดต่อกับหลายๆ คนอยู่ อีกผลตอบรับนั้นมาจากผู้เข้าชม นิทรรศการนี้เป็นโอกาสอันดีให้เราได้แลกเปลี่ยนความคิดกับพวกเขา

Borderless Exhibition

art4d: แผนในอนาคตของคุณคืออะไร

Võ Thành Phát: ในอนาคตเราก็อยากจะลองทำงานที่ไม่ใช่แค่สถาปัตยกรรมอย่างเดียว แต่เป็นการร่วมงานกับศิลปินและนักออกแบบจากสาขาอาชีพอื่นๆ มากขึ้น

Đoàn Sĩ Nguyên: ถ้าทุกอย่างกลับไปสู่ภาวะปกติแล้ว ผมคิดว่าเราก็จะพยายามทำมิวสิควีดีโอ และจัดกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับงานของเราให้มากกว่านี้ เราอยากจะเดินทางไปต่างประเทศเพื่อทำวีดีโอรีวิวงานสถาปัตยกรรม เพื่อที่เราจะได้เล่าเรื่องของงานสถาปัตยกรรม และบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรมจากประสบการณ์จริงว่ามันต่างจากภาพที่เราเห็นในอินเตอร์เน็ตขนาดไหน ผมหวังว่ามันจะช่วยเป็นแรงผลักดันให้นักศึกษาสถาปัตยกรรมรุ่นใหม่ในเวียดนามได้ออกเดินทาง และออกไปดูสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ด้วยตัวเอง

MÍA ƠI Project

fb.com/sawadeesign

sawadeesign.vn

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *