WITH SYS (SIAM YAMATO STEEL) STEELS BEING USED AT ITS CORE, THIS PROJECT DESIGNED BY WALLLASIA + KYAI&SURIYA ARCHITECTURE HAS CHANGED OUR PERCEPTION OF STEEL FOREVER
TEXT: NAPAT CHARITBUTRA
PHOTO: SPACESHIFT STUDIO
(For English, press here)
การเปิดโรงแรมในเมืองรอง หรือเมืองทางผ่านที่อยู่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ แต่ไม่ไกลพอจะให้นอนพักสักคืนหนึ่ง อาจเป็นเรื่องที่เสี่ยงพอตัวในแง่การทำธุรกิจ แต่พร้อมๆ กันนั้นมันก็ไม่เสี่ยงอะไรเลยเพราะแทบจะไม่มีคู่แข่งในพื้นที่ และเมื่อผู้ลงทุนนั้นเป็นคนในพื้นที่ที่มี DNA ของจังหวัดไหลเวียนอยู่ภายในร่างกาย ในปริมาณพอๆ กับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
Oui J’aime (อุ้ยแจม) เป็นโรงแรมที่ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่มี ปิยะพร ตันคงคารัตน์ ทายาทรุ่นที่สามแห่ง “ตั้ง เซ่ง จั้ว” แบรนด์ขนมเปี๊ยะ ของฝากขึ้นชื่อจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นผู้ก่อตั้ง และได้ สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ และ ขยาย นุ้ยจันทร์ สถาปนิกจาก Walllasia + Kyai&Suriya Architecture มาเป็นผู้ออกแบบอาคารสูง 4 ชั้น บนพล็อตที่ดินที่มีพื้นที่จำกัดริมถนนสิริโสธร (กว้าง 30 เมตร แต่แคบเพียง 7 เมตร และส่วนที่แคบที่สุดคือ 3 เมตร)
ในด้านรายละเอียดการก่อสร้างนั้น เหล็กรูปพรรณจาก SYS (Siam Yamato Steel) ถูกนำมาใช้กับโครงสร้างอาคารทั้งหมด และ กลายมาเป็น motif ของการออกแบบทั้งภายนอกและภายในอาคาร ไล่ไปตั้งแต่ façade เหล็กพับเจาะรูที่ช่วยสร้างความเป็นส่วนตัว ไปจนถึงงานออกแบบสเกลเล็กๆ อย่างเช่น กระถางต้นไม้ รางน้ำ เฟอร์นิเจอร์ที่ประยุกต์มาจากเหล็กรูปพรรณภายในห้องพัก ฯลฯ สุริยะบอกกับ art4d ว่า สิ่งที่เขาทดลองทำในครั้งนี้คือการทำให้ เหล็กดู “นุ่มนวล” มากขึ้นด้วยการทำให้มันเป็นสนิม “เมื่อนึกถึงจังหวัดฉะเชิงเทรา ผมนึกถึงบ้านไม้เก่าของคนจีนริมแม่น้ำบางปะกง ผมไม่ได้เอาไอเดียนี้มาใช้ตรงไปตรงมา แต่รู้สึกได้ว่าเหล็กที่เป็นสนิม เวลาดูรวมๆ แล้วมันเหมือนไม้เก่าๆ”
นอกเหนือไปจากการพับ ตัด เจาะ และขึ้นรูปเป็นลายจีนรูปแบบต่างๆ เพื่ออ้างอิงไปถึงรากเหง้าของบริบทของจังหวัดฉะเชิงเทรา “สุนทรียะของเหล็ก” ซึ่งเป็นคาแร็คเตอร์สำคัญของโครงการ ยังถูกนำเสนอผ่านกลิ่นอายดิบๆ ของพื้นที่กึ่งเปิดกึ่งปิดที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่โรงแรม (แม้กระทั่งในห้องพัก) รวมไปถึง การนำมาเข้าคู่กับของที่นุ่มนวลที่สุดอย่าง “น้ำ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพื้นผิวด้านบนของกันสาดชั้น 1 ที่ทำหน้าที่เป็น landscape บ่อน้ำของ multi-purpose space บริเวณชั้น 2 หรือกระทั่งการปลูกต้นไม้หน้าอาคาร ที่นอกจากจะทำหน้าที่เป็น buffer zone ช่วยลดทอนความวุ่นวายภายนอกที่จะเข้ามาสู่อาคาร ต้นไม้เหล่านั้นยังทำให้เกิดความต่อเนื่องของ “พื้นที่สีเขียว” จากริมถนนไปสู่พล็อตพื้นที่รกร้างด้านหลังโครงการ เป็นผลให้เมื่อมองจากริมถนน อาคารด้านทิศใต้ที่มีความลึกเพียงแค่ 3 เมตร นั้นแทบจะกลืนหายไปกับบริบทที่ตั้งอย่างนุ่มนวล
“จำได้ว่า ตอนนั้นพี่สุริยะเพิ่งกลับจากไปรับรางวัลที่ประเทศญี่ปุ่น พี่เขาบอกว่า ถึงแม้ที่นั่นพื้นที่จะเล็กแต่มันก็มีเสน่ห์บางอย่าง และโปรเจ็คต์นี้ก็มายืนยันคำพูดของพี่เขาจริงๆ ว่า คุณภาพของสถาปัตยกรรมนั้นไม่ได้วัดกันที่ขนาด” ปิยะพรทิ้งท้ายกับ art4d