PARIS 2024 PICTOGRAM

Photo courtesy of International Olympic Committee, 2023

ลองไปดูเบื้องหลังการออกแบบ pictogram ในโอลิมปิกปารีส 2024 ว่ามีแนวคิดการออกแบบอย่างไรบ้าง และมีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไรบ้างเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

TEXT: WEE VIRAPORN
PHOTO CREDIT AS NOTED

(For English, press here)

มนุษย์รู้จักใช้ภาษาภาพมาตั้งแต่ก่อนจะมีตัวอักษรและภาษาเขียน ดังที่ปรากฏหลักฐานเป็นภาพวาดตามผนังถ้ำยุคก่อนประวัติศาสตร์ แต่แม้ว่าเราจะมีการใช้ภาษาเขียนและตัวอักษรเป็นหลักแล้ว การใช้สัญลักษณ์ภาพก็ยังคงมีที่ทางของมันในระบบการสื่อสารปัจจุบัน เพราะ pictogram (สัญลักษณ์ภาพที่มีรูปลักษณ์คล้ายคลึงกับวัตถุ) ยังคงมีประสิทธิภาพในการสร้างความเข้าใจร่วมอันเป็นสากลระหว่างผู้สื่อสารที่ใช้ภาษาแตกต่างกัน จึงทำให้เกิดระบบชุดสัญลักษณ์มาตรฐานสำหรับกิจกรรมต่างๆ ออกมามากมาย เช่น สัญลักษณ์ด้านความปลอดภัยภายในอาคารสถานที่ สัญลักษณ์การซักรีดบนเสื้อผ้า สัญลักษณ์บนอุปกรณ์เครื่องจักรและรถยนต์ เป็นต้น

สำหรับกิจกรรมที่เกิดการรวมตัวของผู้คนจากทั่วโลกอย่างมหกรรมกีฬาโอลิมปิก การสร้าง pictogram ขึ้นมาแทนประเภทกีฬาต่างๆ เป็นสิ่งที่ผู้สนใจงาน graphic design เฝ้ารอชมเสมอ ไม่แพ้ตัวโลโก้ และ mascot ของงาน ซึ่งชุด pictogram กีฬาแบบที่เราคุ้นเคยกันนั้นเริ่มถูกออกแบบเป็นระบบในกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ในปี 1964 โดยหลังจากนั้นก็มีอีกหลายชุดที่น่าจดจำ เช่น Mexico City 1968 โดย Lance Wyman และ Munich 1972 เป็นต้น

pictogram ในงานกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน กรุงโตเกียว ปี 1964 | Photo courtesy of the Organizing Committee for the Games of the XVIII Olympiad

pictogram ในงานกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน Mexico City ปี 1968 | Photo courtesy of Organizing Committee of the Games of the XIX Olympiad, MEXICO 68

pictogram ในงานกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน Munich ปี 1972 | Photo courtesy of ERCO GmbH Lüdenscheid

ชุด pictogram มักจะถูกออกแบบโดยมีการใช้ระบบกริด และองค์ประกอบอื่นๆ ที่สร้างความต่อเนื่องของรูปฟอร์ม ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างเอกลักษณ์ให้สอดคล้องกับกราฟิกอื่นๆ รวมถึงบางครั้งก็ต้องสะท้อนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของประเทศเจ้าภาพด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น ชุด pictogram ของ Sydney 2000 ที่ใช้บูมเมอแรง ซึ่งเป็นอาวุธของชาวอะบอริจิน ชนพื้นเมืองออสเตรเลีย มาประกอบเป็นตัวคน และ Beijing 2008 ที่ใช้ลายเส้นเหมือนตัวอักษรจารึกบนเครื่องถ้วยชามจีนโบราณ

pictogram ในงานกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน Sydney ปี 2000 | Photo courtesy of SYDNEY 2000, ORGANISING COMMITTEE FOR THE GAMES

pictogram ในงานกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน Beijing ปี 2008 | Photo courtesy of the Beijing Olympic Organizing Committee

แน่นอนว่างานออกแบบกราฟิกสำหรับงานในสเกลนี้ย่อมยากที่จะทำออกมาให้ถูกใจทุกคนได้ โลโก้ของ London 2012 มีกระแสต่อต้านตั้งแต่เปิดตัว เพราะเลือกใช้ตัวอักษรที่สนุกสนานแหวกขนบมากๆ แต่ในส่วน pictogram กลับใช้ลายเส้นโครงร่างคนที่ค่อนข้างเหมือนจริง ส่วน Tokyo 2020 ก็ต้องเปลี่ยนโลโก้เพราะถูกหาว่าเป็นงานลอกแบบ  ในขณะที่คำวิจารณ์เกี่ยวกับชุด pictogram มักจะเป็นไปในทางว่า “ไม่มีอะไรใหม่” ซึ่งตอนแรกเราก็คิดอย่างนั้นกับชุด pictogram ของ Tokyo 2021 ที่จงใจนำแบบของ Tokyo 1964 มาขัดเกลา จนเห็นโชว์การแสดงในช่วงพิธีเปิดที่เอาคนจริงมาแสดงเป็นสัญลักษณ์ได้อย่างคาดไม่ถึง

pictogram ในงานกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน London ปี 2012 | Photo courtesy of The London Organising Committee of the Olympic Games and Paralympic Games Limited

pictogram ในงานกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน Tokyo ปี 2021 | Photo courtesy of Tokyo Olympic Organizing Committee

ตั้งแต่คลิปการเปิดตัว Paris 2024 ในพิธีปิดกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียว ผู้ชมได้ตื่นตาตื่นใจกับแนวคิดใหม่ๆ หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการจัดประเภทกีฬาที่ไม่เคยมีในโอลิมปิกมาก่อน เช่น สเก็ตบอร์ดและการเต้นเบรคแดนซ์ หรือการจัดการแข่งขันในสถานที่แลนด์มาร์คต่างๆ แน่นอนว่าในส่วนของงานออกแบบ visual identity ก็ทำได้น่าประทับใจ ตั้งแต่โลโก้ที่มาจากการรวมเปลวไฟ เหรียญทอง และใบหน้าของ Marianne หญิงที่เป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติฝรั่งเศส การสร้าง custom variable font ที่ได้แรงบันดาลใจจากศิลปะ art deco จนถึงการใช้ชุดสีสดใสที่สะท้อนความรุ่มรวยทางศิลปวัฒนธรรมของเมืองและประเทศเจ้าภาพ เหมาะกับ mood & tone โดยรวมของทุกสื่อที่ออกมาเป็นอย่างดี

Photo courtesy of International Olympic Committee, 2023

ล่าสุดได้มีการเปิดตัวชุด pictogram สำหรับ Paris 2024 ออกมา และมันเป็นงานออกแบบที่พลิกความคาดหมายจนเราไม่ค่อยแน่ใจว่าควรจะเรียกว่า pictogram ดีหรือไม่ เพราะในสัญลักษณ์ของทุกประเภทกีฬาไม่มีคนอยู่ในนั้นเลย แต่เป็นการนำเครื่องกีฬาและองค์ประกอบต่างๆ ของสนามหรือพื้นที่แข่งขัน มาจัดองค์ประกอบกันในพื้นที่สี่เหลี่ยมจตุรัสที่ถูกแบ่งครึ่งโดยเส้นทะแยง เป็นรูปแบบที่ชวนให้นึกถึงตราประจำตระกูล หรือตราประจำเมืองของยุโรป ที่ต้องมองความหมายในรายละเอียด มากกว่าสัญลักษณ์ภาพที่ทำให้เข้าใจได้อย่างรวดเร็ว

Photo courtesy of International Olympic Committee, 2023

ณ ตอนนี้เรายังไม่แน่ใจว่า pictogram (?) ชุดนี้จะทำงานได้เวิร์คหรือไม่ จุดอ่อนแรกที่เรากังวลคือมันจะใช้งานในขนาดเล็กได้ยากกว่าแบบเดิมที่คุ้นเคยกันมา เพราะลักษณะลายเส้นก็ไม่ได้ดูเป็นชุดเดียวกับโลโก้ Paris 2024 นัก แต่กลับดูเข้าชุดกับโลโก้ของ Paris 1924 มากกว่า เราเชื่อว่าทั้งหมดนี้เป็นความจงใจในการสื่อสารประเด็นความคิดสร้างสรรค์ที่สืบเนื่องจากอดีตมาจนปัจจุบัน และ pictogram ทุกชิ้นจะถูกออกแบบเป็น variable logo (โลโก้ที่เปลี่ยนรูปแบบตามขนาดพื้นที่) ที่อยู่ในสื่อเคลื่อนไหวได้อย่างสนุกสนานแน่นอน

Paris 1924 Olympic logo

Photo courtesy of International Olympic Committee, 2023

paris2024.org

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *