WITH OFFICES SPANNING ACROSS CONTINENTS INCLUDING SAN FRANCISCO, NEW YORK, LONDON, AND BANGKOK, THIS HOLISTIC DESIGN STUDIO BELIEVES IN AN APPROACH THEY CALL ‘HOSPITABLE THINKING’
TEXT: PAPHOP KERDSUP
PORTRAIT AND PHOTO COURTESY OF AVROKO
(For English, press here)
Greg Bradshaw และ Adam Farmerie แห่ง Avro Design ได้พบกับ William Harris และ Kristine O’Neal แห่ง KO Media แล้วเป็นเพื่อนซี้กันมาตั้งแต่ทั้งสี่เป็นนักศึกษาที่ Carnegie Mellon University เมืองพิตต์สเบิร์ก เช่นเดียวกับนักศึกษาด้านศิลปะและการออกแบบคนอื่นๆ ทั้งสี่แวะเวียนไปสตูดิโอของเพื่อนกันและกัน และช่วยออกความคิดเห็นเรื่องงานกันอยู่ตลอด “มันเหมือนเป็นรากฐานของสิ่งที่เป็นการทำงานร่วมกันของเราตลอดมา”
หลังเรียนจบ ทั้งสี่แยกกันทำงานในแนวทางของตัวเองอยู่หลายปี Harris กับ O’Neal ทำงานด้านการพัฒนาแบรนด์และการวางกลยุทธ ส่วน Bradshaw กับ Farmerie ทำงานสถาปัตยกรรม ก่อนจะได้กลับมารวมตัวทำโครงการเดียวกันอีกครั้งที่นิวยอร์กในช่วงวัย 20 ปลายๆ ในโปรเจ็คต์หนึ่งที่ลูกค้าต้องการให้พวกเขาดูแลการออกแบบทั้งหมด ตั้งแต่การออกแบบกราฟิก จนถึงประสบการณ์ด้านพื้นที่และดิจิตอล โครงการนี้จึงเป็นเหมือนงานในฝันที่ทั้งสี่จะได้ทำงานอย่างครบวงจร และได้ใช้ความสามารถและความสนใจเฉพาะด้านของแต่ละคนอย่างเต็มที่ ซึ่งจากจุดนี้เองที่นำไปสู่การก่อตั้ง AvroKO ขึ้นในปี 2001 และกำหนดที่ทางให้ตัวเองเป็นบริษัทที่ทำงานหลายด้าน ให้บริการทั้งการพัฒนาแบรนด์ การวางกลยุทธ์ การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ตกแต่งภายในและแสงสว่าง รวมไปถึงงานแฟชั่นและธุรกิจ
“ผมว่าเราเป็นนักออกแบบเชิงบูรณาการและครบวงจร มากกว่านักออกแบบสหสาขานะครับ เราคิดว่าเราทำงานกันแบบนี้” Harris เริ่มการสนทนาอย่างไม่เป็นทางการกับเราที่ The Champagne Bar บนชั้น 57 ของโรงแรม Waldorf Astoria Bangkok หนึ่งในผลงานที่ AvroKO ทำให้กับโรงแรมห้าดาวบนถนนราชดำาริแห่งนี้ AvroKO มีสำนักงานสี่แห่งทั่วโลก ทั้งที่ซานฟรานซิสโก นิวยอร์ก ลอนดอน และกรุงเทพฯ และเชี่ยวชาญเรื่องการออกแบบงานด้าน hospitality ทว่าสำหรับพวกเขาแล้ว hospitality ในที่นี้ไม่ได้จำกัดเพียงแค่โครงการ hospitality ทั่วไปอย่างบาร์ ร้านอาหาร หรือโรงแรมเท่านั้น แต่ทั้งสี่ยังได้ร่วมกันสร้างสรรค์แนวคิดที่เรียกว่า “hospitable thinking” และได้ประยุกต์ใช้กับการออกแบบประเภทอื่นๆ ทั้งพื้นที่ร้านค้าและสำนักงานด้วย
Rosewood Bangkok – Nan BeiAvroKO เชื่อว่า hospitable thinking ไม่ใช่เพียงวิธีการทำงาน แต่เป็นปรัชญาที่ใช้ได้ในการดำเนินชีวิตตลอดจนการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ด้วย Harris รู้สึกว่าเราเริ่มสงสัย เลยช่วยขยายความต่อว่าจริงๆ แล้ว hospitable thinking ก็คือ “ขั้นตอนที่เราใช้สร้างประสบการณ์หลายระดับ หรือประสบการณ์ที่เชื่อมต่อทางอารมณ์ ทำให้คนรู้สึกมีส่วนร่วมและปลอดภัย ซึ่งมันอาจจะเป็นสิ่งที่ปกติคุณไม่ได้สังเกตก็ได้ เพราะฉะนั้นเราพยายามนำความต้องการพื้นฐานต่างๆ ของมนุษย์มาปรับเข้าไปในพื้นที่ ผ่านการเดินทางที่เป็นประสบการณ์ อย่างเช่นว่า ลูกค้าจะนั่งตรงไหน พนักงานจะมีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขาอย่างไร แล้วประสบการณ์รวมทั้งหมดจะเป็นอย่างไร เป็นต้น”
นอกจาก The Champagne Bar แล้ว โครงการอื่นที่ออกแบบโดยสตูดิโอสาขากรุงเทพฯ ของ AvroKO นี้ มีทั้งบาร์ The Loft และห้องอาหาร Bull & Bear ที่โรงแรมเดียวกัน ภัตตาคารอาหารจีน Nan Bei และบาร์ Lennon’s ที่โรงแรม Rosewood Bangkok และโรงแรม The Standard ที่ภูเก็ต เป็นต้น และถึงแม้ว่า AvroKO จะมีประสบการณ์การทำงานมายาวนานในกว่า 30 เมืองในหลายทวีปทั่วโลก แต่ขั้นตอนการสร้างให้งานเกิดขึ้นก็ยังเป็นความท้าทายเสมอทุกครั้งเมื่อต้องทำงานในประเทศไทย Harris เล่าว่านอกจากการหาผู้ผลิตและผู้สร้างงานที่เหมาะสมในแต่ละโครงการแล้ว การทำงานตามกำหนดการที่กระชั้นชิดระหว่างที่ต้องประสานงานกับบริษัทพัฒนาโครงการบางบริษัทยังเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ไม่เหมือนที่ไหนด้วย “แต่เราก็ชอบความท้าทายนะครับ พอผ่านอุปสรรคปัญหาไปได้ด้วยความสำเร็จก็จะรู้สึกว่ามันน่าพอใจมากขึ้น บางทีหลายๆ อย่างก็เกิดขึ้นตามวิถีของมัน เราก็เลยต้องลงไปลุยเต็มที่ด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นการเป็นนักออกแบบ เราจึงต้องควรตามงานตลอดเวลา และช่วยบริหารจัดการงานก่อสร้างพื้นที่จริงด้วย”
Rosewood Bangkok – Lennon’s
สื่อหัวต่างๆ มักใช้คำว่า “luxury” หรือ “หรูหรา” ที่เป็นทั้งคำนามและคำคุณศัพท์อธิบายโครงการต่างๆ ของ AvroKO ซึ่งในประเด็นนี้ Harris ให้คำนิยามกับเราได้อย่างน่าสนใจ “เอาจริงว่าผมมีความสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งเกลียดกับคำนี้ เหมือนกับการแบ่งชั้นวรรณะของการออกแบบนะครับ หลายโครงการของเราไม่ได้หรูหรา แต่เปิดโอกาสให้หลายๆ คนมีส่วนร่วม มีความอะนาล็อก และบางครั้งก็ติดดินเลยด้วยซ้ำ ความคิดเรื่อง luxury มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตอนนี้ก็สมจริงมากขึ้น มีเอกลักษณ์ และออกจะแปลกๆ ด้วย ไม่จำเป็นต้องประณีตสละสลวย หรือไฮโซเสมอไป เราคิดว่า luxury กำลังเปลี่ยนเป็นเรื่องของประสบการณ์ เป็นการสร้างประสบการณ์สุดพิเศษที่สร้างใหม่ที่อื่นไม่ได้ มันทำได้ยากนะครับ แต่นั่นล่ะก็คือเป้าหมายของ luxury
เรื่องเล่าและศิลปะที่ AvroKO นำเสนอในพื้นที่ต่างๆ ช่วยสร้างประสบการณ์สุดพิเศษที่ไม่เหมือนใคร เพราะฉะนั้นเราเลยคิดว่าคำที่เหมาะสมกว่าในที่นี้น่าจะเป็น “luxurious experience” หรือ “ประสบการณ์อันหรูหรา” แทน “คุณอาจจะมีประสบการณ์ที่หรูหราสุด ทั้งๆ ที่กำลังพักผ่อนอยู่ในเต็นท์หรือจิบชาอยู่ขอบสันทรายในทะเลทรายซาฮาร่าก็ได้ และถึงแม้ว่าเนื้อตัวคุณจะเต็มไปด้วยทรายอยู่แต่นั่นอาจจะเป็นประสบการณ์มหัศจรรย์และหรูหราที่สุดในชีวิตคุณก็ได้”
อย่างไรก็ตาม ในยุคแห่ง extreme self อย่างทุกวันนี้ประสบการณ์ดีๆก็ดูเหมือนจะต้องมีโมเมนต์แบบ Instagrammable ตามมา โครงการด้าน hospitality จึงต้องทำหน้าที่เป็นฉากหลังที่น่าถ่ายภาพและน่าแชร์ต่อในโลกออนไลน์ด้วย ในช่วงท้ายการสนทนา เราถาม Harris ถึงความเห็นของเขาที่มีต่อเทรนด์ของการออกแบบแบบ Instagrammable ที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในตอนนี้ ซึ่งเขาหัวเราะลั่น “ตามความคิดผมนะ นักออกแบบเก่งๆ ได้สร้างสรรค์พื้นที่ที่เปิดให้คนทั่วไปได้เข้ามามีส่วนร่วมและสร้างโมเมนต์สวยๆ แบบที่เรียกว่า ‘Instagrammable’ ก่อนที่จะมีแอพฯ ‘Instagram’ เสียอีก นักออกแบบไม่เคยสร้างโมเมนต์ที่มัน ‘Instagrammable’ เราแค่ออกแบบโมเมนต์พิเศษซึ่งบังเอิญไปปรากฎใน Instagram ใครบ้างจะไม่ชอบประสบการณ์ดีๆ น่าประทับใจที่จะถ่ายรูปเก็บไว้ได้ล่ะ …แต่รับรองว่าคุณจะไม่เคยได้เห็นเราออกแบบจุดที่มีปีกห้อยอยู่ด้านหลังแล้วให้คนไปยืนถ่ายรูปกันแน่นอน”