SERPENTINE PAVILION 2021

Serpentine Pavilion 2021 designed by Counterspace, Exterior View © Counterspace Photo: Iwan Baan

SPEAKS WITH OUR SPECIAL REPORTERS THONGCHAI BUSARAPAN AND NUNE TAWEESRI WHO HAD THE SPECIAL OPPORTUNITY TO VISIT THIS YEAR ITERATION OF SERPENTINE PAVILION DESIGNED BY COUNTERSPACE UNDER THE CONCEPT OF ‘PAST AND PRESENT PLACES OF MEETING, ORGANIZING AND BELONGING ACROSS LONDON’


TEXT: PRATARN TEERATADA & THONGCHAI BUSRAPAN
PHOTO: THONGCHAI BUSRAPAN EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

หลังจากโปรเจ็คต์ถูกเลื่อนมาหนึ่งปีเพราะสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 Serpentine Pavilion เพิ่งเปิดแสดงได้เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีกำหนดจัดแสดงไปจนถึง 17 ตุลาคม 2021 บริเวณ Kensington Gardens ลอนดอน ดังเช่นทุกซัมเมอร์ที่ผ่านมา

Serpentine Pavilion ลำดับที่ 20 หลังนี้ ออกแบบโดยทีมสถาปนิก Counterspace จากโยฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ นำโดย Sumayya Vally ในวัยเพียง 30 ปี ซึ่งนับเป็นสถาปนิกที่อายุน้อยที่สุด ที่ได้รับมอบหมายให้ออกแบบงานสถาปัตยกรรมระดับนานาชาติโปรแกรมนี้ ตัวพาวิลเลี่ยนได้รับการออกแบบภายใต้แนวคิด past and present places of meeting, organizing and belonging across London ซึ่งครอบคลุมชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมทั่วทั้งลอนดอน Vally ตีความรูปร่างของลอนดอนออกมาเป็นงานสถาปัตยกรรมที่อ้างอิงถึงสถานที่ประกอบพิธีกรรม ตลาด ภัตตาคาร ร้านหนังสือ และสถาบันทางวัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งเชื่อมโยงกับชุมชนผู้อพยพที่กระจายอยู่ทั่วลอนดอน

ตัวพาวิลเลี่ยนมีโครงสร้างเป็นเหล็กห่อหุ้มด้วยไม้คอร์ก ไม้ และซีเมนต์ ความรู้สึกแรกที่สัมผัสได้คือภาพโครงสร้างที่มีความเรียบง่าย หลังคาทรงกลม มีเสารองรับ ตั้งอยู่ในสวนทำหน้าที่เป็นสถานที่นัดพบ ไม่มีกำแพงหรือรั้วกั้น ทำให้งานภายนอกกับภายในเชื่อมถึงกัน สามารถมองเห็นต้นไม้อยู่รอบด้านไม่ว่าจะมองเข้ามาหรือมองออกไป ให้ความรู้สึก สงบ ร่มรื่น มีสัมผัสที่เย็นสบาย เมื่อใช้เวลาอยู่ที่นี่สักพักจะค่อยๆ พบว่าพาวิลเลี่ยนนี้แฝงไว้ด้วยความซับซ้อน มีองค์ประกอบย่อยตามจุดต่างๆ ที่ Vally ตั้งใจสื่อความหมาย “place of meeting, organizing and belonging” หรือ สถานที่นัดพบ เชื่อมโยง และแสดงตัวตน ที่มีความสำคัญต่อเรื่องการพลัดถิ่นและชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม อาทิ Brixton, Hoxton, Tower Hamlets, Edgeware Road, Barking and Dagenham และ Peckham เป็นต้น

(left to right) Thongchai Busarapan, Nune Taweesri, and Sumayya Vally

art4d ได้รับเกียรติจาก reporter รับเชิญ คุณธงชัย บุศราพันธ์ และ คุณนุ่น ทวีศรี ซึ่งมีโอกาสไปเยี่ยมชม Serpentine Pavilion ในวันเปิดพอดีและยังได้ถ่ายรูปของพาวิลเลี่ยนพร้อมกับสถาปนิก Sumayya Vally มาฝากพวกเราด้วย

art4d: ลอนดอนเพิ่งจะฟื้นตัวจากสถานการณ์โรคระบาดซึ่งมีเรื่องของ lockdown และ social distancing มาได้ระยะหนึ่ง ไอเดียของพาวิลเลี่ยนนี้คือ Past and Present Places of Meeting ซึ่งจะเกี่ยวกับการรวมตัว การมีปฏิสัมพันธ์ และติดต่อสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน Serpentine pavilion ปีนี้ มีการตอบสนองจากคนลอนดอนอย่างไร คนอังกฤษพร้อมที่จะกลับมาใช้ชีวิตร่วมกันตามปกติหรือยัง

Thongchai Busrapan: ต้องบอกว่า ลอนดอนหลังโรคระบาดชีวิตมีความเปลี่ยนแปลงไปมากกว่าเดิมพอควร เราทั้งสองคนมีโอกาสได้มาในช่วงที่เพิ่งจะเริ่มคลาย lockdown ใหม่ๆ ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้คนที่อยู่ในลอนดอนช่วง lockdown ก็พบว่า ชีวิตเขาเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างเยอะ เขามีการเก็บตัวอยู่ในบ้าน ไม่ได้ไปที่ทำงาน แบบค่อนข้างจริงจังกว่าประเทศไทย หลายๆ คน เช่น ร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งร้านตัดผมบอกว่า ปีที่แล้วทั้งปีแทบไม่มีงานเลย แต่โชคดีที่สังคมเขามีระบบสวัสดิการช่วยเหลือที่ค่อนข้างดี ช่วยทำให้ทุกๆ คนพอใช้ชีวิตอยู่ไปได้ แต่เราก็ได้เห็นร้านค้า ร้านอาหารเจ้าประจำจำนวนมากที่ต้องปิดตัวไปอย่างถาวร อย่างไรก็ดี ช่วงที่มาถึงเป็นช่วงที่เพิ่งเริ่มมีการผ่อนคลายอย่างจริงจัง และประกอบกับเป็นช่วง summer ด้วย ก็ได้เห็นผู้คนออกมาใช้ชีวิตกันแบบค่อนข้างที่จะโหยหากับอิสรภาพที่หายไปเมื่อปีที่แล้วเกือบทั้งปี วันไหนอากาศดีก็จะมีคนออกมาเต็มปาร์ค ทั้งๆ ที่ในตอนนี้เองก็ยังไม่ถึงกับปราศจากโรคระบาดโดยทีเดียว แต่ผู้คนก็จะไม่ค่อยใส่หน้ากากกันตอนอยู่ outdoor แล้ว เราคิดว่า Serpentine Pavilion ของ Sumayya Vally ในปีนี้จริงๆ เหมือนกับว่าจะอ่านโจทย์เรื่องการที่คนลอนดอนคิดถึงชีวิตช่วงก่อนโครระบาดจึงตั้งใจทำให้เป็น place ที่ให้คนมีโอกาสมารวมตัว และใช้ชีวิตสังคมกันอีกครั้ง ซึ่งก็เห็นหลายๆ คนที่เข้ามาในพาวิลเลี่ยนก็ตั้งใจมานั่งพบปะกัน หรือไม่ก็มาใช้ café ในการผ่อนคลาย บรรยากาศ summer กลาง Kensington Gardens และในดีไซน์เองก็มีการสะท้อนถึงวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของลอนดอนในหลายๆ ช่วงเวลา เช่น สถาปัตยกรรมมัสยิดมุสลิมแห่งแรกของลอนดอน เพลง Black Music เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการกระจายส่วนของพาวิลเลี่ยนไปยังสถานที่ 5 แห่ง ในลอนดอนอีกด้วย

art4d: อยากให้พูดถึงความรู้สึกขณะที่ไปถึงพาวิลเลี่ยน และประสบการณ์ที่ได้เข้าไปใช้งาน

TB: วันที่ไปพาวิลเลี่ยนเป็นเช้าวันแรกที่เปิดให้ public เข้าไปชมตอนสิบโมงเช้า เราสองคนตั้งใจออกจากบ้านและวิ่งออกกำลังกายไปที่พาวิลเลี่ยนตอนเราไปถึง เรากลายเป็นคนแรกที่ได้เข้าไปในอาคารเลย ตัวอาคารถูกออกแบบให้มีสีสันสงบเข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เป็นต้นไม้สีเขียว ตอนแรกคิดว่าวัสดุน่าจะเป็นหิน แต่พอเข้าไปใกล้ๆ ก็จะเห็นว่าเป็นวัสดุที่ทำจากไม้คอร์กและไมโครซีเมนต์ และมีการสร้างที่นั่งในลักษณะต่างๆ กัน เป็นการชนกันของเส้นโค้ง หรือเส้นตรงทำให้เกิดรูปแบบของการใช้งานที่หลากหลายและแปลกตา ตรงกลางเป็น space วงกลมที่มี café ตั้งอยู่ตรงกลางให้คนสามารถมาซื้อกาแฟหรือของว่างไปนั่งรับประทานรอบๆ ได้ เราคิดว่าพาวิลเลี่ยนนี้ เมื่อเทียบกับปีอื่นๆ ที่ผ่านมา นับว่าเป็น space ที่ตอบโจทย์เรื่องการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม มากกว่าเป็น showpiece ของสถาปัตยกรรมอย่างเดียวที่เคยได้เห็นมาในหลายๆ ปี ตอนเดินออกมาก็ได้เจอ Vally ตัวจริง ที่เพิ่งจะเสร็จงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการในคืนก่อนหน้า แอบมาดูงานตัวเองในวันแรกที่เปิดให้ Public ได้เข้ามาใช้ เราได้มีโอกาสคุยกับเธอ ก็พบว่า เธออยากเห็นว่าเวลาคนเดินเข้ามามีปฏิสัมพันธ์จริงๆ กับงานของเธอจะมีความรู้สึกเป็นอย่างไร ซึ่งดูเธอเองก็มีความตื่นเต้นที่จะได้เห็นงานมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนจริงๆ อยู่ประมาณหนึ่งเหมือนกัน

art4d: รู้สึกอย่างไรกับการนำเอาชิ้นส่วนของพาวิลเลี่ยนเข้าไปอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของลอนดอนด้วยซึ่งต่างไปจากปีก่อนๆ

TB: เราว่าเป็นความคิดที่น่าสนใจ ที่จะกระตุ้นให้ชุมชนต่างๆ ได้มีโอกาสเข้าถึงส่วนย่อยต่างๆ ของพาวิลเลี่ยนที่แยกออกมาจัดแสดงในหลายๆ สถานที่ในลอนดอน ต้องบอกว่าสำหรับคนลอนดอนส่วนใหญ่ การเข้ามาในใจกลางลอนดอนเพื่อชม Serpentine Pavilion ที่ตั้งอยู่ใน Kensington Gardens ก็ไม่ใช่สิ่งที่คนทุกคนทำบ่อยๆ หลายๆ คนอาจจะไม่ได้เข้ามาเป็นปีเลยทีเดียวถึงแม้ว่าจะเป็นคนลอนดอน แต่เพราะไม่ได้อาศัยอยู่ในใจกลางเมือง และไม่มีธุระที่ต้องเดินทางเข้ามา ดังนั้นการสร้างความสนใจจากชิ้นส่วนที่แยกออกมาจัดแสดงตามสถานที่ต่างๆ ก็น่าจะเป็นการสร้างความน่าสนใจที่ดีทีเดียว

art4d: คิดว่าเรื่องโรคระบาดส่งผลอะไรต่อเมืองลอนดอนบ้างในแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์

TB: โรคระบาดครั้งนี้ทำให้หลายๆ อย่างในชีวิตเปลี่ยนไป ถ้ามองว่าโลกเราได้อะไรที่เป็นข้อดีจากโรคระบาดครั้งนี้ เราพบว่าผลงานที่ได้จากความคิดสร้างสรรค์หลังจากเกิดโรคระบาดมีการยกระดับขึ้นอย่างมาก โดยทุกๆ คนสามารถใช้เทคโนโลยีที่เป็นการสื่อสารทางไกลมาเชื่อมต่อให้อุปสรรคในเรื่องของระยะทางได้หายไปอย่างมีนัยสำคัญ มีการร่วมมือกันทำงานให้โปรเจ็คต์ต่างๆ สามารถดำเนินการไปได้โดยที่คนที่ร่วมทำงานอยู่กันคนละประเทศ หรือแม้กระทั่งคนละทวีป ดังนั้น การเชื่อมต่อทางความรู้และประสบการณ์ รวมไปถึงการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีก็เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ทำให้งานสร้างสรรค์หลายๆ งานมีโอกาสที่จะพัฒนามากขึ้น เร็วขึ้น และมีมาตรฐานสูงขึ้นไปด้วย ต้องบอกว่าวิกฤตครั้งนี้นำมาทั้งโอกาสและอุปสรรคไปพร้อมๆ กันเลยทีเดียว

art4d: ความคิดของคุณที่มีต่อ Sumayya Vally ในฐานะสถาปนิกที่มีอายุน้อยที่สุดที่เคยได้รับมอบหมายให้ออกแบบ Serpentine Pavilion เป็นอย่างไร

TB: เราคิดว่า Vally เป็นชื่อที่ไม่ใช่ทุกคนจะรู้จักในระดับ world class หลายๆ รายที่ Serpentine เคยเชิญให้มาออกแบบ Summer Pavilion แต่ก็ต้องบอกว่าทำให้คนลอนดอนตื่นเต้นเพราะว่า เป็นสถาปนิกที่มีอายุน้อยที่สุดตั้งแต่มีการเริ่มต้นโครงการนี้มา และยังเป็นผู้หญิงที่มีพื้นเพ มีความแตกต่างจากคนอื่นๆ อีกด้วย 

Serpentine Pavilion 2021 designed by Counterspace, Exterior View © Counterspace Photo: Iwan Baan

serpentinegalleries.org

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *