ANOTHER SMITH

TasteSpace และ ธ. ไก่ชน หยิบนำไม้ไผ่และรูปแบบสถาปัตยกรรมจีนมาใช้ใน Another Smith เพื่อสะท้อนการสานต่อกิจการของครอบครับครัวและความหลากหลายทางวัฒนธรรมในแม่สอด

TEXT: BHUMIBHAT PROMBOOT
PHOTO: JINNAWAT BORIHANKIJANAN

(For English, press  here)

ไผ่ ถือเป็นวัสดุที่ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการออกแบบอย่างแพร่หลาย ไล่ตั้งแต่งานออกแบบในสเกลเล็กๆ อย่างงานออกแบบผลิตภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ จนไปถึงได้ถูกใช้ในงานออกแบบอาคารขนาดเล็กจนถึงอาคารขนาดกลางได้ ซึ่ง ธ. ไก่ชน ออฟฟิศที่ทำงานออกแบบทั้งงานติดตั้งหรืออาคารไผ่หลายโครงการ ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพการใช้วัสดุอย่างไผ่อย่างเหมาะสม และสลายข้อจำกัดทางคติความเชื่อดั้งเดิมของการนำไผ่มาใช้ เพื่อให้เกิดการใช้ไผ่มากขึ้นโดยการทำความเข้าใจในธรรมชาติของวัสดุไผ่เป็นสำคัญ

ร้านกระเพาะปลาริมเมย คือร้านอาคารที่เปิดมาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี ที่ตั้งอยู่ริมตลาดริมเมย ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก แต่เมื่อถึงเวลาการของผลัดเปลี่ยนรุ่นเพื่อสืบทอดและต่อยอดกิจการของครอบครัว จึงได้มีแนวคิดที่จะทำร้านอาหารแห่งใหม่ที่มีความร่วมสมัยกับปัจจุบันมากขึ้น โดยที่ตั้งร้านแห่งใหม่นี้ จะตั้งอยู่ไม่ไกลโดยจะเยื้องจากร้านกระเพาะปลาริมเมยเดิมไม่กี่ร้อยเมตร โดยร้านแห่งใหม่นี้จะมีชื่อว่า Another Smith ที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อให้พ้องกับนามสกุลของเจ้าของโครงการ ซึ่งร้านแห่งใหม่นี้ ทางเจ้าของโครงการและผู้ออกแบบ ต้องการให้เป็นสถานที่สำหรับต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่มาเยี่ยมเยือนอำเภอแม่สอด โดยแนวคิดหลักของการออกแบบร้านคือ Chinese Courtyard ที่ต้องการแสดงถึงนัยยะของการสืบทอดและต่อยอดกิจการของครอบครัว และได้มีการนำวัสดุอย่างไผ่มาใช้เป็นวัสดุหลักในโครงการ

โดยผู้รับผิดชอบออกแบบโครงการนี้คือ TasteSpace บริษัทออกแบบภายในที่เชี่ยวชาญการออกแบบร้านอาหารและคาเฟ่ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบงานออกแบบและตกแต่งภายในทั้งหมด ร่วมกับ ธ. ไก่ชน บริษัทที่ทำงานไผ่มาอย่างหลากหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ทำหน้าที่ดูแลในส่วนงานสถาปัตยกรรมทั้งหมดและการวางผังโซนต่างๆ ของร้าน โดยตัวร้าน Another Smith นั้น ได้ถูกอ้างอิงมาจากรูปแบบและสัดส่วนในสถาปัตยกรรมจีน ทั้งการวางผังร้านที่มีการวางคอร์ทไว้ตรงกลาง รูปทรงหลังคาทรงโค้งและการวางต่อพาดโครงสร้างแบบจีน ที่เป็นการนำรูปแบบที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์อันเด่นชัดของวัฒนธรรมจีน โดยแวดล้อมไปด้วยความหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่อำเภอแม่สอด ที่ซึ่งเป็นพื้นที่ติดชายแดนประเทศเมียนมา จึงทำให้มีผู้คนจากหลายเชื้อชาติ ทั้งจีน เมียนมา อิสลาม หรือไทใหญ่ เข้ามาปะปนกันทั้งมาอยู่อาศัยหรือทำการค้าการขาย จึงได้มีการผสมผสานพื้นที่การใช้งานและใช้สอย โดยเฉพาะกิจการร้านค้าพลอย ซึ่งก็ถือเป็นกิจการดั้งเดิมที่อยู่คู่กันมากับร้านกระเพาะปลาริมเมยเดิมตั้งแต่ช่วงแรกเริ่ม ซึ่งในร้าน Another Smith แห่งใหม่นี้ ก็จะมีฟังก์ชันของร้านค้าพลอยรวมเข้าไปอยู่ด้วยเช่นกัน

โดยตัวร้าน Another Smith นั้นจะเปิดให้บริการตั้งแต่ช่วงกลางวันไปจนถึงช่วงค่ำ โดยจะแบ่งออกเป็นทั้งโซนคาเฟ่ ร้านอาหาร บาร์ และร้านขาย jewelry ที่เป็นเสมือนเป็นธุรกิจที่ทำควบคู่กันมากับธุรกิจร้านกระเพาะปลาริมเมยมาตั้งแต่ต้น ซึ่งโซนต่างๆ จะถูกหมุนเวียนบริการไปตามแต่ละช่วงเวลาที่ต่างกัน โดยมีจุดเชื่อมระหว่างโซนต่างๆ คือคอร์ทตรงกลาง ที่จะถูกแปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่สำหรับจัดงานกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเย็นไปจนถึงช่วงค่ำได้ การที่สถาปนิกได้วางโซนที่นั่งรับประทานอาหารและโซนฟังก์ชันต่างๆ ล้อมรอบตัวคอร์ทกลางไว้นั้น ได้ส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนกิจกรรมและบรรยากาศภายในร้าน ที่สลับสับเปลี่ยนกันไปตามกาลและเวลาที่เปลี่ยนแปลงในช่วงวัน จากความว่างเปล่าของพื้นที่คอร์ทในตอนกลางวัน ไปสู่พื้นที่นั่งรับประทานอาหารรอบๆ และจากพื้นที่รอบๆ คอร์ท จะเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่พื้นที่คอร์ทตรงกลางในตอนกลางคืน ที่จะกลายเป็นโซนจัดเลี้ยงและสังสรรค์ โดยมีองค์ประกอบหลักเป็นเคาน์เตอร์บาร์ที่อยู่ร่วมกัน

โครงสร้างวัสดุไผ่ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สร้างความสะดุดตาให้กับร้าน Another Smith ซึ่งทางสถาปนิกอย่าง ธ. ไก่ชน ที่ทำงานกับไผ่มาหลายโครงการ ก็ได้พยายามทดลองสังเกต และหาความเหมาะสมในการใช้งานไผ่ให้สอดคล้องไปกับบริบทต่างๆ โดยรอบของร้าน Another Smith อาทิ การใช้แผ่นกระเบื้องแผ่นลอนใสที่มีคุณสมบัติกันรังสีจากดวงอาทิตย์ในการป้องกันสีของไผ่ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากแสงแดด การคัดหาไผ่แต่ละลำให้มีลำต้นที่ตรง ไม่บิดงอ และการป้องกันความชื้นเข้ามาในตัวไผ่ โดยการเทปูนปิดหัวไผ่ เพื่อไม่ให้ความชื้นเข้าสู่ภายในข้อปล้อง ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ไม้ไผ่ถูกขยายความเป็นไปได้ที่มากขึ้น เหนือกว่าข้อจำกัดทางธรรมชาติของการใช้งานไผ่นั้น

สิ่งที่เห็นได้ชัดนอกจากวัสดุไผ่และรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบจีนแล้ว คือสีสันด้านในของร้าน Another Smith ที่มีสีหลักเป็นสีฟ้าเฉดน้ำเงิน โดยเป็นสีที่ใช้ทั้งกระเบื้องรอบตัวตัวเคาน์เตอร์บาร์และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ อย่าง เก้าอี้ โซฟา ซึ่งสีฟ้าเฉดนี้ ทาง TasteSpace ได้นำมาจาก ‘ถ้ำสีฟ้า’ ที่ตั้งอยู่ภายใน สำนักสงฆ์พุทธคยา ตำบลแม่กุ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และผสมรวมเข้ากับองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมต่างๆ ทั้งใช้เป็นสีของตัวประตูเหล็กยึดด้านหน้า หรือเป็นสีฐานของเสาไผ่ที่ตั้งอยู่รายล้อมตัวโครงการ โดยตัดสลับกับสีแดงที่สื่อถึงความเป็นจีน ที่จะคอยแทรกไปตามจุดต่างๆ ในงานตกแต่งภายในของร้าน Another Smith ทำให้เกิดนัยยะร่วมกันของความเป็นแม่สอดและความเป็นจีนขึ้นในโครงการ

ความเหมาะสมและถูกที่ถูกเวลากับบริบทที่ตั้งและบริบทแวดล้อม คือภาพสะท้อนของการใช้ไผ่ ตั้งแต่งานโครงสร้างในส่วนต่างๆ จนถึงองค์ประกอบอาคารอย่างผนังอาคาร ที่ข้อจำกัดของวัสดุได้ถูกทดลอง แก้ไขและปรับปรุงให้ตัววัสดุอย่างไผ่ สามารถถูกนำไปใช้งานได้อย่างหลากหลายและทนทานมากขึ้น ซึ่งตัวไผ่เองก็ถือเป็นวัสดุทางเลือกหนึ่งที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย แม้แต่การนำมาใช้เพื่อสร้างเป็นอาคารที่มั่นคง แข็งแรง รวมถึงมีรูปทรงที่น่าสนใจจากการดัดโค้งขึ้นรูปได้อิสระ ปัจจุบันไม่ได้มีแค่ไผ่เท่านั้นที่เข้ามาเป็นวัสดุทางเลือก แต่ยังรวมไปถึงวัสดุธรรมชาติเช่น ไม้ประเภทต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้มากขึ้น ปัจจัยสำคัญคือการที่ทั้งผู้ออกแบบ ผู้รับเหมา เจ้าของโครงการ ได้เปิดโอกาสใหม่ๆ ให้วัสดุทางเลือกต่างๆ เหล่านี้ได้เข้ามาเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งในโครงการ เพื่อให้เกิดกระบวนการศึกษา ค้นคว้า และลงมือทำ จนเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมาในวงการออกแบบอย่างที่เกิดในโครงการร้านอาหาร Another Smith แห่งนี้

facebook.com/thorkaichon
facebook.com/tastespace.co

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *