HELVETICA NOW VARIABLE

© 2021 Monotype Imaging Holdings Inc.

MONOTYPE STUDIO CONTINUES THE LEGACY OF THE LEGENDARY HELVETICA WITH THE RECENTLY UNVEILED FONT WITHIN WHICH CONTAINS OVER A MILLION VARIABLES, OR, TO BE MORE SPECIFIC, 1.235 MILLION VARIABLES

TEXT: PIYAPONG BHUMICHITRA
IMAGE AND VIDEO COURTESY OF MONOTYPE STUDIO

(For English, press here

© 2021 Monotype Imaging Holdings Inc.

ปี 2019 หลังจาก Monotype Studio เปิดตัว Helvetica Now ได้ไม่นาน Charles Nix ครีเอทีฟไดเร็คเตอร์ของ Monotype ให้สัมภาษณ์ไว้ในเว็บไซต์ theverge.com ถึงเบื้องหลังการออกแบบ Helvetica Now คำถามหนึ่งที่ William Joel ถามเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ก็คือ เคยนึกถึงการทำ Helvetica ในแบบ variable font บ้างมั้ย?

“แน่นอน นั่นคือสิ่งที่ผมต้องการ” คือคำตอบของ Nix และผ่านไป 2 ปีเศษ (กรกฎาคม 2021) Monotype Studio ก็เปิดตัว Helvetica Now Variable ที่ต่อยอดมาจาก Helvetica Now ในรูปแบบ variable font ที่ในไฟล์ฟอนต์เดียวที่จะมีฟอนต์ให้เลือกเป็นล้านแบบ ใช่ อ่านไม่ผิด ถ้าระบุจำนวนเลยก็ 1.235 ล้านแบบ

© 2021 Monotype Imaging Holdings Inc.

ก่อนจะไปถึง Helvetica Now Variable ขอย้อนกลับไปเล่าถึง Helvetica Now ก่อน ย้อนกลับไปราวปี 2015 ทีมนักออกแบบตัวอักษรของ Monotype ที่ออฟฟิศเยอรมันมีไอเดียว่าจะทำ Helvetica เวอร์ชั่นใหม่กัน พวกเขารีเสิร์ชข้อมูลย้อนกลับไปที่เวอร์ชั่นแรกที่ออกแบบโดย Max Miedinger และ Eduard Hoffmann เมื่อปี 1957 พวกเขาหาข้อมูลย้อนไปตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ ขั้นตอนการผลิตออกมาเป็นตัวตะกั่ว จนถึงการขนส่งตัวอักษรพวกนี้ไปตามประเทศต่างๆ และการนำไปใช้งาน

พวกเขาพบว่าช่วง 30 ปีแรกนั้น Helvetica มีตัวลาตินที่อักษรบางตัวมีให้เลือกมากกว่า 1 แบบ เช่น มีตัว R หางตรง ตัว a แบบที่เหมือนเอาตัว d มาตัดหางออก ตัว U ที่มีแต่โค้งไม่มีขายื่นออกมาที่มุมล่างขวา หรือแม้แต่พวก punctuation (เครื่องหมายวรรคตอนต่างๆ) ก็มีให้เลือกทั้งแบบเหลี่ยมและแบบกลม พอถูกทำให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ตัวอักษรทางเลือกพวกนี้ก็ไม่ได้ถูกทำไว้ นั่นคือสิ่งที่พวกเขาตั้งใจจะนำกลับมา แต่เหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้ทีม Monotype เลือกที่จะหยิบฟอนต์ที่ถูกใช้จนพรุนมาแล้วกับทุก sector อย่าง Helvetica มาปรับแก้ไขในครั้งนั้น ก็คือ Helvetica มีปัญหาในการอ่านเวลาที่แสดงผลบนพื้นที่ขนาดเล็ก ยิ่งถ้าขนาดต่ำกว่า 6 points ลงไปก็ยิ่งทำให้มีปัญหามาก โดยเฉพาะการแสดงผลบนสกรีนในพื้นที่เล็กมาก ๆ อย่าง smart watch หรือ smartphone

© 2021 Monotype Imaging Holdings Inc.

ผลจากการรีเสิร์ชและลงมือทำตั้งแต่ปี 2015 ทำให้แบบตัวอักษรชุดนี้มี 3 รูปแบบที่จับเอาสถานการณ์ในการใช้งานแบบต่างๆ มาเป็นตัวตั้ง Helvetica Now จึงเป็นฟอนต์ที่มีรูปแบบ Micro, Text และ Display สิ่งที่ Charles Nix ภูมิใจมากก็คือ Helvetica Now Micro ที่เขามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาการอ่านให้ไม่มีสะดุดเวลาต้องใช้งานในขนาดเล็กไม่ว่าจะงานพิมพ์หรือบนหน้าจอ ในขนาด 3-4 points หน้าตาตัวอักษรชุด Micro ถูกออกแบบขึ้นมาใหม่เลยหลายตัว อย่างเช่น ตัว f และ t ขนาดความกว้างของตัวอักษรที่ทำให้กว้างขึ้น และระยะห่างระหว่างตัวอักษรก็ถูกทำให้มีสเปซมากกว่าแบบ text และ display โดยทั้ง 3 แบบยังวาดพวกตัวสัญลักษณ์ต่างๆ นอกเหนือจาก punctuation ขึ้นมาใหม่ เช่น สัญลักษณ์สกุลเงิน เครื่องหมาย @ รวมทั้งลูกศรในแบบต่างๆ รวมกันแล้ว Helvetica Now มีอักขระทั้งหมดกว่า 40,000 ตัว

© 2021 Monotype Imaging Holdings Inc.

ฟังดูเหมือนเยอะ แต่จะว่าไปแล้วก็ยังเป็นจำนวนที่เทียบไม่ได้เลยกับจำนวนมากกว่าหนึ่งล้านอักขระของ Helvetica Now Variable ตัว Regualr และกว่า 2 ล้านห้าแสนอักขระถ้าเป็นตัว Italic ซึ่งจำนวนทั้งหมดที่ว่ามานี้รวมอยู่ในไฟล์เดียวเท่านั้น  Helvetica Now Variable เปิดตัวเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2021 วางจำหน่าย 2 สไตล์ก็คือตัว Regular และตัว Italic ทาง Monotype แนะนำไว้ว่าสามารถใช้เป็นชุดต่อขยายจาก Helvetica Now หรือจะนำไปใช้ในแบบที่เอาไป custom เองก็ได้ ทั้งน้ำหนัก (ตั้งแต่ Hairline ถึง Extra Black) และขนาดที่เหมาะกับการอ่าน (ตั้งแต่ 4 points จนถึงขนาดเท่าไหร่ก็ได้) โดยเพิ่มความแคบของตัวอักษรอีก 2 สไตล์ที่นักออกแบบกราฟิกคุ้นเคยเป็นอย่างดี ก็คือตัว Compressed และตัว Condensed

© 2021 Monotype Imaging Holdings Inc.

เรามีโอกาสสนทนากับ ศุภกิจ เฉลิมลาภ ผู้ร่วมก่อตั้ง Katatrad สตูดิโอออกแบบและจำหน่ายตัวอักษรที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของไทย หลังการเปิดตัว Helvetica Now Variable ได้ไม่นาน และนี่คือบางส่วนที่ศุภกิจมีความเห็นต่อฟอนต์ชุดนี้ และช่วยให้เราเข้าใจ variable font มากขึ้น

Suppakit Chalermlarp: เทคโนโลยี variable font ช่วยให้นักออกแบบสร้างสรรค์งานที่ใช้ตัวอักษรสนุกขึ้น เพราะมันเปิดให้เกิดความเป็นไปได้มากมายทั้งบนสิ่งพิมพ์ หรือบนจอแสดงผล โดยเฉพาะปัจจุบันที่การแสดงผลบนอุปกรณ์มีความหลากหลายมาก ความยืดหยุ่นสูงนี้ช่วยในการปรับตัวอักษรตามความเหมาะสมกับขนาดและสัดส่วนของหน้าจอ ตั้งแต่จอขนาดใหญ่ ไปจนถึงขนาดเล็ก ตั้งแต่จอความละเอียดสูง ไปจนถึงจอความละเอียดต่ำ รวมถึงใช้ทรัพยากรน้อยกว่ามาก เมื่อเทียบกับฟอนต์แบบปัจจุบัน” ศุภกิจอธิบายถึงความสำคัญของ variable font ที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงร่วมกันระหว่าง Adobe, Apple, Google และ Microsoft เมื่อปี 2016 พัฒนาเป็นเทคโนโลยีตัวอักษรที่ฟอนต์จะมาในรูปแบบไฟล์เดี่ยวแต่มีทุกขนาดความหนาและความกว้างในแกนที่ตัวอักษรชุดนั้นมี

© 2021 Monotype Imaging Holdings Inc.

art4d: จำนวน 1.235 ล้านรูปแบบตัวอักษรที่ Monotype ใช้โปรโมทจะมีผลอะไรบ้างในการออกแบบฟอนต์ของสตูดิโออื่นในอนาคต เพราะถ้านึกภาพตาม เราซื้อ Helvetica Now Variable ไปใช้ตัวเดียว แทบไม่ต้องซื้อฟอนต์ San Serif ตัวอื่นไปอีกหลายปี

SC: ปกติความหนาของฟอนต์เราจะเซ็ทไว้ที่ 100-900 ซึ่งเราแทน 100 เท่ากับ Thin ถ้า 400 ก็เท่ากับ Regular ถ้า 900 ก็เท่ากับ Black ซึ่งเดิมเราจะปรับขนาดความหนาบางได้ทีละ 100 แต่ variable font จะพิเศษกว่าตรงที่เราไม่จำเป็นต้องขยับทีละ 100 แต่ขยับที่ตัวเลขเท่าไหร่ก็ได้ ก็เลยจะได้จำนวนตามที่ Monotype บอกไว้ว่า 1 ฟอนต์จะมีน้ำหนักที่เกิดขึ้นได้หลากหลายมาก

© 2021 Monotype Imaging Holdings Inc.

art4d: แล้ว variable font ที่มีจำนวนมากขนาดนี้จะมีผลกระทบอะไรกับอุตสาหกรรมโดยรวมของ type foundry (สตูดิโอออกแบบตัวอักษร)

SC: อันนี้เป็นที่ถกถาม-พูดคุยกันในแวดวง type foundry ว่าการมาของเทคโนโลยีนี้ จะทำให้โครงสร้างราคาเดิมเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าถามความคิดเห็นผม สุดท้ายทุกสิ่งมันก็ต้องขยับไป ซึ่งการมาของ variable font ก็เป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่าคงใช้เวลาอีกสักพัก ตลาดจะปรับตัวจนเข้าที่ ส่วนเรื่องการมาของ Helvetica Now Variable จะทำให้ type foundry เจ้าอื่นมีปัญหาหรือไม่นั้น ส่วนตัวผมคิดว่าในระยะยาวไม่น่าจะมีปัญหา เพราะในที่สุดแต่ละค่ายก็จะมีผลิตภัณฑ์ variable font ออกมาเหมือนกัน แต่ในระยะสั้นก็อาจจะมีกระทบบ้าง เนื่องจากการพัฒนาต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก

© 2021 Monotype Imaging Holdings Inc.

art4d: แล้วถ้ากลุ่มคนทำฟอนต์รายเล็กจะเจอผลกระทบอะไรบ้าง 

SC: การมาของ variable font อาจจะมีผลกระทบกับคนออกแบบฟอนต์รายเล็กบ้างในช่วงแรก แต่ไม่ได้เป็นปัญหาที่ถึงกับจะทำให้ต้องล้มหายกันไป เนื่องจากการทำฟอนต์แบบ variable font นั้นอาจต้องใช้เวลามากกว่าการทำฟอนต์แบบเดิมอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น เพราะฉะนั้นถ้ามีทีมที่ใหญ่กว่าก็จะทำงานได้เร็วกว่า ถ้าทีมเล็กก็อาจจะต้องใช้เวลามากกว่าในการทำฟอนต์แต่ละโปรเจ็คต์นั่นเอง

© 2021 Monotype Imaging Holdings Inc.

Monotype เคลมไว้ว่า Helvetica Now Variable จะเปลี่ยนความเข้าใจของผู้คนที่มีต่อคำว่า typeface เสียใหม่ แบบที่ลืมได้เลยว่าก่อนหน้าจะมี Helvetica Now Variable นั้น typeface เป็นยังไง นี่เป็นแค่โฆษณาเกินจริงเป็นเหมือนพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ หรือเป็นความสามารถพิเศษของ copywriter คนที่ลองใช้ฟอนต์ตัวนี้แล้วคงตอบได้ และคนที่ลองใช้ที่เป็นนักออกแบบตัวอักษรคงตอบได้ดีที่สุด

monotype.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *