Herzog & de Meuron และ JUNGLIM architecture สร้างแลนด์มาร์คแห่งใหม่ให้กับย่านซองดัมดง ย่านธุรกิจทางตอนใต้ของกรุงโซล ด้วยอาคารสำนักงานและ art gallery ที่ดูเหมือนเป็นผืนคอนกรีตเรียบเนียนผืนใหญ่
TEXT: KITA THAPANAPHANNITIKUL
PHOTO: IWAN BAAN
(For English, press here)
ต่อเนื่องจากผลงาน MKM Museum Küppersmühle ในประเทศเยอรมนี ผลงานชิ้นใหม่ของ Herzog & de Meuron บนอีกซีกโลกอย่างประเทศเกาหลีนั้นพึ่งเสร็จสิ้นในเวลาไล่เลี่ยกันในเดือนกันยายนที่ผ่านมา อาคาร ‘ST International HQ and SONGEUN Art Space’ นี้เป็นผลงานร่วมกันระหว่าง Herzog & de Meuron และบริษัทสถาปนิกท้องถิ่นอย่าง JUNGLIM architecture ท่ามกลางอาคารสำนักงานและแหล่งช็อปปิ้งที่แน่นขนัดบนริมสองฝั่งถนนในย่านชองดัมดงทางตอนใต้ของกรุงโซล ซึ่งเป็นหนึ่งในย่านที่อสังหาริมทรัพ์มีมูลค่าสูงสุดในกรุงโซล อาคารที่เปรียบเสมือนแลนด์มาร์คแห่งใหม่นี้นำเสนอพื้นที่สาธารณะของโลกศิลปะท่ามกลางย่านธุรกิจที่วุ่นวาย เชื้อเชิญผู้คนทีผ่านไปมาด้วยความโดดเด่นและแปลกตาของรูปทรงในส่วนด้านหน้าอาคารที่ติดกับท้องถนน หากแต่ด้านหลังของอาคาร อาคารหลังนี้กลับเชื้อเชิญผู้คนในชุมชนด้วยความเป็นมิตร
อาคาร ‘ST International HQ and SONGEUN Art Space’ แห่งนี้เป็นอาคารที่ใช้ร่วมกันระหว่างสำนักงานของบริษัทด้านพลังงานอย่าง ST International และพื้นที่สำหรับมูลนิธิศิลปะวัฒนธรรมซองอึน (SongEun Art and Cultural Foundation) อาคารความสูง 11 และชั้นใต้ดินอีก 5 ชั้นนี้มีพื้นที่ใช้งานรวม 8,000 ตารางเมตรบนที่ดินขนาด 300 ตารางวา โดยพื้นที่ทางศิลปะได้รับการจัดสรรให้ใกล้ชิดกับผู้คนอยู่ในส่วนล่างของอาคารตั้งแต่ชั้น B2 ถึงชั้น 4 และให้พื้นที่อาคารสำนักงานอยู่ในชั้น 5 ถึงชั้น 11 รูปทรงของอาคารได้รับการออกแบบเพื่อใช้ประสิทธิภาพของพื้นที่อาคารจากข้อจำกัดทางกฏหมายให้ได้มากที่สุด รูปทรงสามเหลี่ยมที่มีจุดสูงสุดอยู่ที่ 60 เมตรในด้านที่ติดถนนและลาดเฉียงลงไปในด้านหลังนี้ปิดกั้นตัวเองออกจากถนนและทางเท้า ด้วยผนังทึบที่มีช่องเปิดเพียงสองบานที่ด้านหน้า หากแต่ในด้านหลัง อาคารได้รับการออกแบบให้ลาดเฉียงลงเพื่อสอดรับกับอาคาร low-rise ในชุมชนข้างเคียง พร้อมทั้งแสดงท่าทีเปิดโล่งที่แตกต่างจากอีกสามด้านอย่างเห็นได้ชัด ผนังกระจกในด้านนี้ทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างภายในกับภายนอกและสร้างความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ทางศิลปะแห่งนี้กับชุมชน
อาคารหลังนี้ดูจะตัดขาดจากโลกภายนอกด้วยผนังปิดทึบในด้านหน้า แต่เมื่อผู้ใช้งานเข้าสู่พื้นที่โครงการ ลักษณะของพื้นที่ในชั้นหนึ่งนั้นดูเหมือนจะไปในทางตรงกันข้าม พื้นที่ทั้งภายในและภายนอกออกอาคารถูกเชื่อมโยงกันด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งกระจกบนเฟรมที่ถูกออกแบบให้บางที่สุดเพื่อลดการบดบังทัศนวิสัย ระนาบของพื้นและฝ้าที่เชื่อมต่อกันผ่านการใช้วัสดุที่เหมือนกัน ไม่เว้นแม้แต่ขั้นบันไดที่ถูกแบ่งออกโดยกระจกใส ภายในทำหน้าที่เป็นทางสัญจรขึ้นสู่ชั้นสองและภายนอกทำหน้าที่เป็นลานขั้นบันไดอเนกประสงค์ รวมถึงพื้นที่สีเขียวที่แม้ว่าจะถูกล้อมด้วยผนังคอนกรีตทึบในด้านหลัง แต่กลับเปิดโล่งให้สามารถมองเห็นและเข้าถึงได้จากลานโล่งก่อนเข้าอาคารที่เชื่อมต่อกับฟุตบาท ทำให้พื้นที่ตรงนี้ประหนึ่งว่าเป็นทั้งพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ของโครงการไปพร้อมๆ กัน ทำให้ผู้คนภายนอกสามารถเข้ามาใช้งานอาคารได้โดยไม่รู้สึกถูกปิดกั้นและดึงดูดผู้คนให้เข้าสู่พื้นทีี่ของศิลปะอย่างไม่รู้ตัว
เมื่อเข้ามาในอาคาร ภาพที่สะดุดตาคงหนีไม่พ้นช่องเปิดขนาดใหญ่รูปทรงโค้งบริเวณกลางอาคารที่กินความสูงถึงสองชั้น เมื่อชะโงกมองลงไป ช่องเปิดโล่งนี้ทะลุผ่านชั้น B1 ที่เป็นชั้นสำหรับที่จอดรถ และเผยให้เห็นถึงพื้นที่จัดแสดงงานที่อยู่เบื้องล่างในชั้น B2 ทั้งด้วยช่องเปิดนี้ยังทำหน้าที่ทั้งการเป็นพื้นที่อิสระแก่ศิลปินและภัณฑารักษ์รวมถึงรับแสงจากด้านบนให้เข้าสู่พื้นที่จัดแสดงด้านล่าง ทำให้ส่วนของพื้นที่จัดแสดงที่ตรงกับช่องเปิดมีความโดดเด่นกว่าพื้นที่อื่นในชั้นเดียวกัน พร้อมกันกับเสาทั้ง 4 ต้นที่รับโครงสร้างช่องเปิดยังเน้นย้ำถึงพื้นที่ที่แสงตกกระทบ ก่อให้เกิดพื้นที่จัดแสดงงานที่รองรับกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องการความดึงดูดทางสายตา อาทิ การแสดงสด การบรรยาย ทั้งด้วยช่องเปิดนี้ไม่ได้มีรูปทรงที่เกิดขึ้นตามอำเภอใจ หากแต่เกิดขึ้นจากความโค้งของทางลาดเข้าสู่ลานจอดรถที่ล้อมช่องเปิดแห่งนี้อยู่ภายนอก ด้วยความเข้าใจในพื้นที่ที่ทับซ้อนกันในอาคาร Herzog & de Meuron พลิกแพลงที่ว่างของลานจอดรถให้กลายเป็นพื้นที่ที่สามารถใช้จัดแสดงในอาคารและกลายเป็นเอกลักษณ์ของอาคารแห่งนี้ไปพร้อมๆ กัน
แม้ว่าภาพรวมของอาคารจะใช้วัสดุอย่างคอนกรีตที่ดูแข็งและอาจสร้างไม่เป็นมิตร Herzog & de Meuron ได้พลิกภาพของคอนกรีตแบบเดิมๆ และสร้างแนวทางใหม่ของวัสดุผ่านรายละเอียดและเทคนิคการก่อสร้าง ตัวผิวอาคาร ST International HQ and SONGEUN Art Space นั้น เมื่อมองจากระยะไกลจะเห็นเป็นผืนคอนกรีตที่ดูเรียบเนียนเป็นผืนใหญ่ หากแต่เมื่อมองในระยะใกล้ ตัวผิวอาคารนั้นถูกแบ่งออกเป็นช่องขนาด1 x 1 เมตรเท่าๆ กัน ซึ่งภายในพื้นผิวของแต่ละช่องบรรจุอยู่ด้วยลวดลายเส้นคลื่นของแผ่นไม้แบบปรากฏอยู่บนราวกับภาพพิมพ์ อีกทั้งการสลับ pattern ของไม้แบบตามนอนและตามตั้งเป็นตารางยังทำให้ผิวอาคารนี้เป็นเหมือนกับจิ๊กซอว์ที่เราจะเห็นภาพรวมเป็นแผ่นคอนกรีตเต็มผืน แต่เมื่อมองเข้าไปใกล้ๆ เรากลับเห็นความเป็นธรรมชาติและเส้นสายของลายไม้ในแต่ละชิ้นส่วน ภาพลวงตาของผิวอาคารนี้ทำให้เราเห็นถึงการมองทีแปรผันตามระยะ เป็นการล้อไปกับชื่ออาคารอย่าง SONGEUN ที่มีความหมายว่า ‘ต้นสนลี้ลับ (Hidden Pine Tree)’
อาคารนี้ใช้วิธีสื่อสารกับผู้คนในพื้นที่ผ่านการลดระดับอาคารให้สอดคล้องกับทั้งถนนด้านหน้าและชุมชนด้านหลัง การเล่นกับความทึบโปร่งในรูปด้านที่แตกต่างสร้างการรับรู้ของผู้คนที่มองเข้ามาคนละแบบ ดึงดูดผู้คนบนท้องถนนด้วยความแปลกใหม่และดึงดูดผู้คนในชุมชนด้วยความเป็นมิตร อาคารหลังนี้บอกเล่าถึงหน้าที่ของสถาปัตยกรรมที่ไม่เพียงรับใช้ผู้คนในอาคารเท่านั้น แต่มันกลับทำงานในภาคขยายด้วยการสร้างพื้นที่ทางวัฒนธรรมอย่างงานศิลปะให้ปรากฏในย่านธุรกิจ พื้นที่ทางวัฒนธรรมที่แทรกขึ้นมานี้ดักจับผู้คนที่ผ่านไปมา สร้างกิจกรรมใหม่ที่หลายหลายให้เกิดขึ้นในย่านเดิม พร้อมทั้งเปลี่ยนทิศทางของความเป็นย่านชองดัมดงที่เดิมมุ่งไปยังคำว่า ‘ธุรกิจ’ ให้กลายเป็นย่านที่มุ้งเน้นไปที่สิ่งสำคัญที่สุดอย่าง ‘ผู้คน’ อย่างมีนัยสำคัญ