กลับมาอีกครั้งกับการประกาศรางวัลของเวทีประกวดระดับนานาชาติอย่าง Golden Pin Design Award 2021 ที่มาในธีม UPLOAD มาติดตามผลงานส่วนหนึ่งที่น่าสนใจในหมวดหมู่ ‘Golden Pin Design Award Best Design’ ที่ได้รับคัดเลือกจากผลงานออกแบบกว่า 8,000 รายการใน 28 ประเทศทั่วโลก
TEXT: RATCHADAPORN HEMJINDA
PHOTO COURTESY OF GOLDEN PIN DESIGN AWARD
(For English, press here)
อีกหนึ่งเวทีประกวดระดับนานาชาติที่นักออกแบบต่างตั้งตารอส่งผลงานเข้าร่วมกันในทุกปีกับ Golden Pin Design Award ซึ่งจัดต่อเนื่องมายาวนานกว่า 40 ปี นำโดย Industrial Development Bureau, Ministry of Economic Affairs ร่วมกับ Taiwan Design Research Institute สนับสนุนและส่งเสริมคนทำงานในแวดวงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในทุกสาขาผู้มีความโดดเด่นทั้งในเชิงผลงานและวิธีการทำงาน ไม่ใช่แค่ในเฉพาะประเทศไต้หวันเท่านั้น แต่ยังขยายไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก
สำหรับ Golden Pin Design Award 2021 ปีนี้มาในธีม UPLOAD โดยมีนักออกแบบเข้าร่วมส่งผลงานกว่า 8,000 รายการจาก 28 ประเทศทั่วโลก ซึ่งผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการมาอย่างเข้มข้นตั้งแต่รอบคัดเลือกรอบแรกในเดือนกรกฎาคม มาจนถึงรอบตัดสิน และในที่สุดก็ได้ประกาศผลรายชื่อผู้ชนะการประกวดจาก ไต้หวัน จีน ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และไทย ไปเป็นที่เรียบร้อยเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยแบ่งออกเป็นผู้ชนะ Golden Pin Design Award Best Design จำนวน 31 รายการ และ Special Annual Award of Golden Pin Design Award 2 รายการ รวมถึง Golden Pin Concept Design Award รางวัลสำหรับผลงานออกแบบเชิงแนวคิดที่ได้ Best Design จำนวน 3 รายการ และ Special Annual Award of Golden Pin Concept Design Award 1 รายการ
31 ผลงานที่สามารถคว้ารางวัล Golden Pin Design Award 2021 ในครั้งนี้ไปได้ แบ่งออกเป็นสาขา Product Design Communication Design และ Integration Design โดยเฉพาะผลงานในสาขาที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมและการออกแบบพื้นที่อย่าง Spatial Design ที่ได้รางวัลทั้งหมด 9 ผลงานจากทีมสถาปนิกไต้หวัน สิงคโปร์ และหนึ่งในนั้นมี 2 ผลงานจากสถาปนิกไทย ได้แก่ผลงาน Ahsa Farmstay โดย Creative Crews ซึ่งเป็นโครงการปรับปรุงบ้านทรงไทยให้กลายเป็นที่พัก โดยการรักษาโครงสร้างเดิมของอาคารและสอดแทรกองค์ประกอบสถาปัตยกรรมร่วมสมัยเข้าไป เพื่อให้เกิดลักษณะการใช้งานที่เหมาะกับวิถีชีวิตปัจจุบันมากขึ้น และ PANNAR Sufficiency Economic and Agriculture Learning Center โดย Vin Varavarn Architects อาคารศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้มีการนำวัสดุและเทคนิคท้องถิ่นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการออกแบบ โดยเฉพาะบริเวณคาไม้ไผ่ขนาดใหญ่ ที่มีฟังก์ชั่นในการลำเลียงน้ำฝนไปยังที่กักเก็บน้ำสำรองสำหรับใช้ในฤดูแล้ง โครงการนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของสถาปัตยกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ผลงานอื่นๆ ที่เราชอบ เช่น Pingtung Public Library โดย MAYU architects (ไต้หวัน) เป็นการปรับปรุงห้องสมุดที่สถาปนิกแทรกพื้นที่เปิดโล่งบริเวณพื้นที่ล็อบบี้ เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ภายในอาคารส่วนต่างๆ และพื้นที่เมืองเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่สำหรับชาวเมือง และ Warehouse No. 20, 21, 22 & 23 Renewal Project: Reappearance of the Historical Workshop โดย Willy Yang Architects & Planners (ไต้หวัน) สถาปนิกเลือกเผยโครงสร้างเดิมของอาคารเพื่อดึงเอาอดีตกลับมาโลดแล่นในปัจจุบันอีกครัง ด้วยการออกแบบไลท์ติ้งและการสอดแทรกโครงสร้างเหล็กที่ช่วยสร้างความคอนทราสท์ในพื้นที่ให้เด่นชัดมากกว่าเดิม
อีกผลงานที่โดดเด่นคือ Cloister House โดย Formwerkz Architects (สิงคโปร์) ซึ่งเป็นงานบ้านพักอาศัย ที่สถาปนิกสร้างสเปซขึ้นมาบน “ระเบียง” เพื่อเป็นพื้นที่เชื่อมต่อไปยังธรรมชาติภายนอก พื้นที่ของบ้านพักแบ่งออกเป็น 9 โซน โดยแต่ละโซนจะมีคอร์ทยาร์ดเป็นของตัวเอง ที่มีการออกแบบแตกต่างกันเพื่อบ่งบอกตัวตนและตอบความต้องการของแต่ละครอบครัว
art4d ขอแสดงความยินดีกับผู้ชนะการประกวด Golden Pin Design Award 2021 ทุกท่านมา ณ ที่นี้