DIÊN KHANH HOUSE

Diên Khanh House โดย 6717 Studio แสดงให้เห็นถึงวิธีการจัดการกับพื้นที่สีเขียวและแสงธรรมชาติในอาคารแบบ ‘Tube House’ อาคารที่มีพื้นที่จำกัดซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในประเทศเวียดนาม

TEXT: KITA THAPANAPHANNITIKUL
PHOTO: HIROYUKI OKI

(For English, press here

หากพูดถึงสถาปัตยกรรมในประเทศเวียดนาม เรามักจะนึกถึงอาคารตึกแถวเรียงรายริมสองข้างทาง อาคารเหล่านี้มีหน้าตาและสีสันต่างกันไปตามแต่ความสร้างสรรค์ของผู้อยู่อาศัย บ้าน Diên Khanh House โดย 6717 Studio หลังนี้มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน หากแต่อาคารที่หน้าแคบและลึกนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในความแออัดเฉกเช่นเมืองใหญ่อย่างโฮจิมินห์ซิตี้หรือฮานอย หากแต่ตั้งอยู่ท่ามกลางบริบทที่เป็นพื้นที่โล่งประปรายไปด้วยทุ่งหญ้าในจังหวัดคั้ญฮว่า (Khánh Hòa) พื้นที่ชนบทในภาคกลางตอนใต้ของเวียดนาม บ้านหลังนี้นำเสนอภาพของ ‘บ้าน’ ที่ตั้งอยู่ในชนบทผ่านความเป็น tropical architecture ในคราบของรูปลักษณ์อาคารที่แคบและสูงที่เรียกว่า ‘tube house’ ที่เราคุ้นตาจากเมืองใหญ่ของเวียดนาม

Diên Khanh House exterior

Diên Khanh House surroundingลักษณะของบ้าน Diên Khanh House ซ่อนความกำกวมของความเป็นบ้านในชนบทและความเป็นตึกแถวเอาไว้ในเวลาเดียวกัน โดยตัวอาคารที่มีหน้าแคบแต่ลึกลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้านี้ชวนให้เรานึกถึงตึกแถวเมื่อมองผ่านๆ หากแต่องค์ประกอบอื่นอย่างหลังคาสีน้ำตาลที่มีความลาดชัน อันคล้ายคลึงกับหลังคาดินเผาของสถาปัตยกรรมอื่นๆ ในภูมิภาคเขตร้อนชื้น ก็ลดทอนความเป็นกล่องสี่เหลี่ยมของบ้านหลังนี้ลง สถาปนิกยังสร้างบรรยากาศของความเป็นบ้านในชนบทผ่านพื้นที่ลานด้านหน้าและหลังบ้านที่ปูด้วยวัสดุอย่างอิฐเผา ล้อไปกับหลังคาที่มีสีสันใกล้เคียงกัน ถ่ายทอดลักษณะของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นออกมาอย่างเห็นได้ชัด

Diên Khanh House living area

Diên Khanh House living area

บ้านหลังนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการจัดการกับพื้นที่ว่าง ช่องเปิดและรูปทรงของอาคารที่สัมพันธ์กับแสงธรรมชาติ เนื่องด้วยพื้นที่โครงการที่ลักษณะเป็นแนวยาวและมีผนังปิดทึบสองด้าน จึงทำให้ต้องมีการนำแสงจากธรรมชาติเข้ามาในตัวอาคารด้วยวิธีต่างๆ เช่น การยกหลังคาด้านหน้าขึ้นส่วนหนึ่งเพื่อรับแสงอ่อนจากทิศตะวันออก การสร้างช่องแสงเหนือบันไดวนขึ้นชั้นสอง และการสร้างคอร์ทขนาดเล็กในส่วนด้านหลังที่นอกจากจะทำหน้าที่รับแสงแล้ว สวนหย่อมที่เป็นช่องเปิดสูงสองชั้นนี้ยังเป็นพื้นที่สีเขียวและสร้างการไหลเวียนอากาศในอาคารไปพร้อมๆ กัน อีกทั้งเมื่อพิจารณารูปตัดด้านยาวของอาคาร เส้นสายที่โฉบเฉี่ยวที่ก่อให้เกิดรูปด้านอาคารนี้ไม่ได้เกิดขึ้นตามอำเภอใจ หากแต่เกิดจากการเชื่อมต่อกันของหลังคาทั้งสามผืนที่คั่นด้วยช่องเปิดทางตั้ง ลักษณะหลังคาแบบ ‘ซิกแซก’ นี้ช่วยทำให้หลังคายังสามารถลาดชันเพื่อระบายน้ำและมีสเกลไม่ใหญ่เกินไปในภาพรวม

Diên Khanh House window

Diên Khanh House lightwell

เมื่อเข้าสู่อาคารผ่านทางเข้าที่ถูกกดต่ำตามความลาดเอียงของหลังคาก็จะพบกับพื้นที่ double space ที่เป็นพื้นที่รับแขกและห้องนั่งเล่น ที่มีบรรยากาศภายในเป็นสีขาวสะอาดตาที่ตัดกับพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กต่างๆ ที่แทรกอยู่ในตัวบ้าน ทั้งสวนหน้าบ้านที่ไหลเข้าสู่ห้องนั่งเล่น คอร์ทขนาดจิ๋วกลางบ้าน และพื้นที่สีเขียวหลังบ้านก็ชวนให้เรารู้สึกถึงอาคารที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติตามแบบของสถาปัตยกรรมเขตร้อนชื้นที่ซ่อนอยู่ในเส้นสายเฉพาะตัวอาคาร

Diên Khanh House double space

หากย้อนกลับไปถึงต้นตอขององค์ประกอบเหล่านี้ เราจะพบว่าสถาปัตยกรรมแบบ ‘Tube House’ ที่มีลักษณะเป็นอาคารหน้าแคบและสูง (โดยบางครั้งอาจมีความสูงมากกว่า 5 ชั้น) ที่มาจากภาคเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างทำให้เกิดปัญหาประชากรจากชนบทที่ไหลบ่าเพื่อเข้ามาหาโอกาสและความหวังที่มากกว่าในเมืองใหญ่อย่างนครโฮจิมินห์ซิตี้และฮานอย ถนนที่แน่นขนัดไปด้วยรถยนต์และการจราจลที่สุดพัลวันกลายเป็นภาพจำของเวียดนามไปโดยปริยาย พร้อมกันนั้น เมืองที่มีพื้นที่เท่าเดิมจำต้องหาทางเพิ่มพื้นที่ของตนเองด้วยข้อจำกัดที่มี ราวกับต้นไม้ที่ชะเง้อหาแดด สถาปัตยกรรมในเวียดนามแข่งกันทำตัวให้แคบที่สุด และสูงขึ้นไปในอากาศให้ได้มากที่สุด

Diên Khanh House pocket green spaceสิ่งที่ปรากฏในบ้าน Diên Khanh House แห่งนี้ชี้ให้เห็นถึงการปรับตัวของพื้นที่อยู่อาศัยในลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบ ‘Tube House’ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการกับรูปทรงหลังคา พื้นที่สีเขียวขนาดเล็ก และพื้นที่ว่างในอาคาร ซี่งแม้ว่าจังหวัดคั้ญฮว่าแห่งนี้ยังรายล้อมไปด้วยทุ่งหญ้าโล่งไร้อาคารใดๆ จับจองอยู่ แต่บ้านหลังนี้ก็ชี้ให้เห็นถึงการเตรียมรับกับการมาถึงของสถาปัตยกรรมจากเมืองใหญ่และการพัฒนาเมืองที่ขยับขยายออกไปในชนบทของประเทศที่จะมาถึงในเร็ววันอย่างแน่นอน

Diên Khanh House at night

fb.com/6717studio/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *