ต้นข้าว ปาณินท์ พาไปรู้จักกับ Arrhov Frick ออฟฟิศสถาปนิกจากสวีเดนที่สลัดวาทกรรมว่าด้วย ‘การสร้างความงาม’ ผ่านการทำงานอย่างตรงไปตรงมาตามตรรกะของโครงสร้างในงานสถาปัตยกรรม
TEXT: TONKAO PANIN
PHOTO: MIKAEL OLSSON
(For English, press here)
ยุฮานี พัลลาสมา (Juhani Pallasma) สถาปนิก นักเขียน และนักทฤษฎีชาวฟินแลนด์ กล่าวไว้ในบทนำของวารสาร 2G ฉบับ อาร์ฮอฟ ฟริค (Arrhov Frick) ว่างานของ อาร์ฮอฟ ฟริค นั้น เป็นตัวแทนของ ตรรกะแห่งโครงสร้างและการก่อสร้าง ที่ถือได้ว่า เป็นการพยายามหันเหทิศทางของการมองงานสถาปัตยกรรมทุกวันนี้ จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติเลยทีเดียว Logic หรือตรรกะที่ตรงไปตรงมาที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในการจัดการกับโปรแกรม โครงสร้าง และการก่อสร้าง ทำให้งานของ อาร์ฮอฟ ฟริค นั้น ไม่มีความเกินเลยหรือส่วนเกินใดๆ ที่นอกเหนือจากที่ความจำเป็นของโปรแกรมและการก่อสร้างเรียกร้องเลย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นความตั้งใจที่จะตั้งคำถาม หรือหันเหทิศทาง ตลอดจนค่านิยมทางสถาปัตยกรรมในยุคนี้ ให้เราหันกลับมาตั้งคำถามกับความจำเป็นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
แต่คำถามคือ เพราะอะไร ประเด็นที่ดูจะง่ายๆ ธรรมดาๆ ที่ดูจะเป็นพื้นฐานของงานสถาปัตยกรรม เช่น ตรรกะของการก่อสร้างและโครงสร้าง ถึงได้กลายเป็นการปฏิวัติ หรือการหันเหทิศทางที่เราเข้าใจงานสถาปัตยกรรมในปัจจุบันไปได้
นั่นก็เป็นเพราะว่า ในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา เรามักมองงานสถาปัตยกรรมผ่านสิ่งอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากเนื้อหาของการก่อสร้าง ภายใต้แรงผลักดันทางสังคมวัฒนธรรม ทำให้สถาปัตยกรรม พร้อมจะทำหน้าที่อื่นๆ อีกมากมาย ที่นอกเหนือจากการเป็นสื่อสำหรับการอยู่อาศัย ซึ่งหน้าที่ ที่เปลี่ยนแปลงไปของงานสถาปัตยกรรมนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนเราแทบไม่รู้ตัว
ในยุคของการนำเสนอ “ภาพ” หรือ “image” และยุคของการสร้างความงาม หรือการทำให้งาม ทุกสิ่งรอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็น บุคลิกภาพของเราเอง พฤติกรรมของเรา การผลิตข้าวของเครื่องใช้ ที่อยู่ สภาพแวดล้อม ได้ค่อยๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ “สร้างความงาม” หรือ aesthetic calculation ซึ่งได้เดินทางไปไกลจนกลายเป็นการบิดเบือนให้งาม หรือ aesthetic manipulation ด้วยแรงผลักดันของการแข่งขัน และการเรียกร้องความสนใจจากผู้บริโภค การทำให้งามเป็นพิเศษ จึงดูเหมือนเป็นการสร้างหรือเพิ่มคุณค่า ให้กับทุกสิ่งรอบตัวเรา
ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด
แต่ประเด็นสำคัญที่เราถูกกระตุ้นให้ฉุกคิดและตั้งคำถามกับสิ่งที่เราสร้างขึ้นรอบๆ ตัว เมื่อเรามองดูงานของ อาร์ฮอฟ ฟริค ก็คือ การดึงดูดความสนใจด้วยการทำให้งาม หรือการสร้าง image นั้น จำเป็นเสมอไปหรือไม่ โดยเฉพาะกับสื่งซึ่งตอบสนองประโยชน์ใช้สอย อย่างงานสถาปัตยกรรม เพราะงานของ อาร์ฮอฟ ฟริค นั้นดูจะไม่มีเนื้อหาอะไรมากไปกว่า การตอบโจทย์การใช้งาน และการก่อสร้างที่ตรงไปตรงมา ลดทอนทุกสิ่งให้น้อยที่สุด จนเหลือแค่โครงร่าง ทั้งโครงร่างเชิงกายภาพ และโครงร่างเชิงอุดมคติของงานสถาปัตยกรรม ที่ทุกคนสามารถ “อ่าน” ออกได้อย่างง่ายดาย
อาร์ฮอฟ ฟริค เป็น ออฟฟิศสถาปนิกจากสวีเดน ที่ก่อตั้งโดย โยฮาน อาร์ฮอฟ (Johan Arrhov) และ เฮนริค ฟริค (Henrik Frick) ในปี 2010 โดยทั้งสองคน เรียนจบจาก KTH Royal Institute of Technology มาด้วยกัน หลังจากเรียนจบ ทั้งสองคนก็ตัดสินใจร่วมกันเปิดออฟฟิศ เริ่มทำงานจากงานบ้านสเกลเล็กๆ ที่ทำให้ทั้งสองคน เริ่มเป็นที่รู้จัก มาจนถึงงานที่หลากหลายทั้งโปรแกรมและสเกล ในทุกวันนี้
แต่ท่ามกลางความพยายามของสถาปนิกในยุโรป ที่จะค้นหาเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการทำงาน รวมทั้งการพยายามค้นหาวิธีการสื่อสาร เล่าเรื่องราวในรูปแบบที่แตกต่าง รวมทั้งแรงผลักดันทางสังคมวัฒนธรรม ผ่านสื่อต่างๆ ทำให้ การสร้างภาษาทางสถาปัตยกรรมที่มุ่งเน้นการสร้างอัตลักษณ์และการสร้างความน่าสนใจ ด้วยการจัดองค์ประกอบของหน้าตาอาคารนั้น กลายเป็นเรื่องสำคัญ งานที่ซื่อและตรงไปตรงมาของ อาร์ฮอฟ ฟริค จึงดูเหมือนเป็นการนำเสนอความบริสุทธิ์ และการปฏิวัติทางความคิดไปโดยปริยาย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีงานสถาปัตยกรรมใดที่ไม่สื่อสารเนื้อหาใดเนื้อหาหนึ่ง งานของ อาร์ฮอฟ ฟริค ก็เป็นการสื่อสารในรูปแบบหนึ่งเช่นกัน
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด น่าจะเป็นแนวทางความคิดเกี่ยวกับ บ้าน ของ อาร์ฮอฟ ฟริค ที่ทุกสิ่งถูกลดทอนลง จนเหลือเพียงการแสดงออกที่น้อยที่สุดของโครงสร้าง รูปทรงเรขาคณิตที่เรียบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และ Pragmatic หรือข้อเท็จจริงทางการใช้สอย ที่ตรงไปตรงมาของสัดส่วน และรายละเอียด แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ละเลยการแสดงออกถึงความงาม แต่เป็นความงามภายใต้ตรรกะทั้งหมดที่กล่าวมา
การออกแบบผังพื้น ภายใต้ประโยชน์ใช้สอยหลากหลายนั้น จึงกลายเป็นเรื่องรอง ที่หลีกทางให้กับ ตรรกะที่ชัดเจนและเรียบร้อยเป็นระเบียบของระบบ หรือ Order และการทำซ้ำหรือเกิดขึ้นซ้ำๆ ของโครงสร้าง
ในยุคสมัยที่ ภาพลักษณ์และการตั้งใจทำให้งามกินใจด้วยวาทกรรมการสื่อสาร เกิดขึ้นกับทุกสิ่งรอบตัว ในยุคที่บุคลิกภาพและการกระทำของทุกสิ่งและทุกเหตุการณ์ ถูกคำนวณหรือบิดเบือนให้งามไว้ล่วงหน้า งานที่ซื่อและตรงไปตรงมาของ อาร์ฮอฟ ฟริค จึงดูเหมือนความบริสุทธิ์ และการปฏิวัติทางความคิดไปโดยปริยาย
งานหลายๆ งานของ อาร์ฮอฟ ฟริค แสดงออกถึงความคิดดังกล่าวได้ชัดเจนมาก เช่น Atelier Lapidus ซึ่งเป็นบ้านพักอาศัยในหน้าร้อนของครอบครัวนักเขียนท่านหนึ่ง ที่มีความคิดเริ่มต้นจากการเป็นโครงสร้างเล็กๆ ผุดขึ้นในป่าละเมาะ พื้นที่ถูกล้อมกรอบด้วยช่องเปิดที่เป็นแถบกว้างตลอดแนวอาคาร และทำหน้าที่เป็นทั้งส่วนปิดกั้นที่เบาบาง และส่วนเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอก ที่ทั้งมีตัวตนและเจือจางในเวลาเดียวกัน ทั้งตัวบ้านและสระว่ายน้ำหลังบ้าน ฝังตัวไปกับผืนดินที่ลาดเอียงของพื้นที่ป่า ทำให้มันดูเป็นผู้มาเยือนที่ถ่อมตน สงบเงียบเรียบร้อย
หรืองานที่มีชื่อเรียกว่า House in Viggsö ซึ่งเป็นบ้านหลังเล็ก บนเกาะเล็กๆ ในน่านน้ำของเมืองสต็อกโฮล์ม ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่เนินเขาหิน เต็มไปด้วยต้นสน ที่ถูดออกแบบใหhมีรูปทรงเป็นบ้านอย่างง่ายที่สุด จัดลำดับการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ตามความต้องการของการใช้สอยในชีวิตประจำวัน ที่ทำงานร่วมกันกับมุมมองออกไปภายนอก วัสดุและการก่อสร้าง เป็นโครงสร้างไม้ธรรมดาๆ ที่มีความเบาบาง สัมผัสและรบกวนพื้นผินด้านล่างให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในขณะที่ในพื้นที่ภายใน เราก็ยังสามารถมองเห็นตรรกะของการก่อสร้างอย่างง่ายๆ เป็นพื้นหลังให้กับทัศนีภาพของภูเขาและผืนน้ำภายนอก
ความซื่อ น้อย เงียบ ไม่ได้ปรากฏอยู่ในการออกแบบอาคารขนาดเล็กเท่านั้น แต่เมื่ออาร์ฮอฟ ฟริค ต้องทำงานกับสเกลอาคารที่ใหญ่ขึ้น และตอบโจทย์การใช้งานสาธารณะที่มีความซับซ้อนขึ้นมาก ตรรกะของการจัดวางพื้นที่ ผังพื้น รูปทรง โครงสร้าง และการทำซ้ำที่อ่านระบบระเบียบออกได้ง่ายๆ ก็ยังปรากฏชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นอาคารพักอาศัยรวม Hammerly Gard ที่ทำให้เรานึกถึงงานของสถาปนิกฝรั่งเศส ลากาตง วาสซาล (Lacaton & Vassal) หรืออาคารสเกลยักษ์แบบ Kraus Complex ที่ประกอบไปด้วยที่พักอาศัย ตลาด ห้างร้าน และสถาบันการศึกษา รวมอยู่ในอาคารเดียวกัน แถมตั้งอยู่บนสถานีรถไฟใต้ดิน ทำให้โครงสร้างของฐานรากที่สามารถหยั่งลึกลงดินได้นั้นมีน้อยมาก
แต่ภายใต้ทิศทางการทำงานของ อาร์ฮอฟ ฟริค ที่ชัดเจน จนบางทีก็แทบไม่เหลือพื้นที่ไว้ให้เราตื่นเต้นมากเท่าบริษัทสถาปนิกอื่นๆในรุ่นเดียวกัน ก็ดูเหมือน อาร์ฮอฟ ฟริค จะไม่ได้เดินอยู่บนเส้นทางของการตั้งคำถามนี้อย่างโดดเดี่ยว เรายังเห็นการตั้งคำถามที่คล้ายคลึงกัน แม้จะแสดงออกต่างกัน จากสถาปนิกยุโรป และอเมริกาใต้ หลายทีม ไม่ว่าจะเป็น Lacaton & Vassal, Beck Perovic, Office KGDVS หรือ Pezo von Ellrichshausen ที่พยายามจะส่งสัญญาณบางอย่างบอกเราว่า บางทีการสื่อสารด้วยวาทกรรม และความงาม ก็อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ชัดเจนที่สุดสำหรับสังคมและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดอีกแล้ว
arrhovfrick.se