SHAPE OF THE LIGHT AND BEAUTY OF THE MIST

เอกภาพ ดวงแก้ว จาก EKAR Architects ชวนให้ฉุกคิดว่า นอกเหนือจากอิฐ หิน ดิน ทรายที่จับต้องได้ สิ่งที่นับว่าเป็น ‘ความจริง’ ในสถาปัตยกรรมยังรวมไปถึงความรู้สึกและจินตนาการที่มนุษย์มีต่อสถาปัตยกรรมด้วย

TEXT: EKAPHAP DUANGKAEW
PHOTO COURTESY OF EKAPHAP DUANGKAEW

(For English, press here)

รูปร่างของแสง กับ ความงามที่พร่ามัว

หากสถาปัตยกรรมคือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นบนเส้นรอยต่อระหว่างขอบเขตดินแดนแห่งความจริงและจินตนาการ

ความจริง คือภาพที่เราเห็น
จินตนาการ คือจิตที่เราคิด
ภาพ รับรู้ได้จากการเดินทางของแสง
ความรู้สึก รับรู้ได้จากการเดินทางของจิต

ด้วยสัญชาติญาน ความสุนทรีย์ไม่กี่อย่างของมนุษย์นั้นมี ‘ศิลปะ’ เป็นหนึ่งในนั้น ย้อนกลับไปกว่าร้อยห้าสิบปี  ในช่วงปี 1874 งานศิลปะภาพวาดล้วนเกิดจากการสร้างสุนทรียภาพจากการบันทึกภาพจากของสิ่งที่อยู่ตรงหน้าที่ตาเห็นให้ใกล้เคียงความจริงที่สุด แต่มีศิลปินกลุ่มหนึ่ง ที่ถูกเรียกเชิงเสียดสี ว่ากลุ่ม ‘ลัทธิประทับใจ’ (อิมเพรสชั่นนิสซ์) ได้นำเสนอสิ่งที่แตกต่างออกไป พวกเขาเชื่อว่างานศิลปะควรเป็นพื้นที่ที่อยู่ระหว่างความจริงและจินตนาการ

ภาพ “การทานอาหารเที่ยงบนสนามหญ้า” (“Le déjeuner sur l’herbe”) โดยเอดัวร์ มาแน ในปี ค.ศ. 1863 ถูกคณะกรรมการปฏิเสธผลงาน เพื่อจัดแสดงเพียงเพราะว่ามันแสดงภาพผู้หญิงเปลือยนั่งอยู่ข้าง ๆ ผู้ชายใส่เสื้อผ้าสองคนขณะที่ทั้งสามกำลังไปปิกนิกกัน ตามความเห็นของคณะกรรมการ ภาพเปลือยนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้ในภาพวาดเชิงประวัติศาสตร์และเชิงสัญลักษณ์แต่จะมาแสดงกันผ่านภาพธรรมดาดาด ๆ เช่นนี้ถือว่าต้องห้าม

ภาพวาดเสมือนจริง ถูกปรับเปลี่ยนให้ผสมผสานกับความรู้สึก จิตใจ การพยายามจินตนาการส่วนผสมของแสงที่มีหลากหลายเฉดสี ก่อนจะมากกระทบที่ตาเรา แล้วส่งสัญญาณผ่านเส้นประสาทเข้าไปในสมอง แล้วสื่อสารออกมาเป็นกายภาพผ่านแปรงพู่กันสั้นๆ บนผ้าใบ ด้วยสีหลากหลายสีที่ตามนุษย์ไม่อาจแยกแยะได้  ผสมกันหลายหมื่นจุดจนกลายเป็นภาพวาดเสมือนจริงเพียงหนึ่งของการบันทึกกิจกรรมทั่วๆ ไป แต่กลับเป็นภาพที่เชื้อเชิญให้สมองของผู้ชมได้โลดแล่นไปสร้างจินตภาพของภาพใหม่นั้นได้ด้วยจิตตัวเองอย่างไม่จำกัด เรียกว่าเป็น ศิลปะแห่งความงดงามของประกายแสงและสี

แม้อิฐ หิน ดิน ทราย ที่จับต้องได้ จะถูกสร้างขึ้นเป็นสถาปัตยกรรมเพื่อตอบประโยชน์พื้นฐานการใช้งานและอยู่อาศัยของมนุษย์เป็นหลัก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า สุนทรียภาพ ของการใช้ชีวิตของมนุษย์นั้นนับเป็นสัญชาติญาณพื้นฐานตั้งต้น (Primitive instinct) ของมนุษยชาติที่มีมาเช่นเดียวกัน

หากสถาปัตยกรรม คือการสร้าง ความจริง ที่ก่อร่างสร้างขึ้นมาจากองค์ประกอบของ จินตนาการ และความรู้สึก ซ่อนอยู่ การสร้างความจริง ที่ไม่เปิดโอกาสให้มีที่ว่างให้จินตนาการได้โลดแล่นนั้น จะยังถือว่าเป็นความจริงได้อย่างไร?

Dog / Human by EKAR (2022) แสดงการใช้วัสดุหักเหมุมมองของแสง เพื่อลดทอนความชัดเจนของความจริงด้วยการสร้างความพร่ามัวของภาพที่จะมองเห็นออกไปข้างนอก เพื่อเปิดพื้นที่ว่างให้กับจินตนาการ เพื่อให้ลดความสนใจจากสิ่งรอบๆภายนอกให้ผู้ใช้งานได้อยู่กับช่วงเวลาแห่งปัจจุบัน และหากอยากรื่นรมย์กับสุนทรียภาพที่อยู่ภายนอก เพียงแค่ก้าวเดินออกไปก็จะได้อยู่สิ่งที่อยู่ตรงหน้าจริงๆ

เมื่อเวลาผ่านไป เทคโนโลยีการก่อสร้างได้พัฒนาขึ้น วัสดุประกอบอาคารอย่างเช่น กระจก จึงกลายเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยทำหน้าที่เป็นตัวกลาง เปรียบเสมือนเลนส์ตา ที่ทำหน้าที่ให้แสงผ่านเข้ามาในลูกตา เบี่ยงเบนแสงให้ตกที่บริเวณหลังสุดของลูกตา ทำให้เกิดภาพบนเรตินา (Retina) ที่อยู่ด้านหลังของลูกตา แล้วส่งข้อมูลของวัตถุที่มองเห็นผ่านเส้นประสาท (Optic nerve) ไปสู่สมอง สมองจะทำการแปลข้อมูลเป็นภาพของวัตถุนั้นๆ

EKAR Headquarter by EKAR (2020)

KSG Headquarter by EKAR (2019)

กระจกอาคาร จึงไม่ใช่เป็นเปลือกที่ห่อหุ้มเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้อาคารสวยงามเมื่อมองจากภายนอก แต่หากเป็นสื่อกลางที่แปลงสารเข้ามาให้คนจากภายในได้รับรู้ความจริงในแบบที่ต่างออกไปต่างหาก ดังที่จะได้เห็นจากงานของ EKAR ในช่วงระหว่างปี 2018 – 2022 พยายามศึกษาและทดลองในเรื่องดังกล่าว

ในเมื่อสถาปัตยกรรมถูกรับรู้ได้ผ่านดวงตาและดวงจิต ‘กระจก’ สามารถทั้งสร้างภาพให้ผู้คนได้เห็นภาพที่เหมือนจริงที่ตาเห็น หรือให้วัตถุนั้นๆ หายไป กระเจิงให้เกิดรูปร่างของแสงสีต่างๆ รวมถึงหักเหให้เกิดภาพที่บิดเบี้ยวหรือทำให้ภาพนั้นพร่ามัวได้

Dog / Human by EKAR (2022)

เมื่อสถาปัตยกรรมได้ย้ายขอบเขตมาสู่ดินแดนระหว่างความจริงและจินตนาการได้ เมื่อนั้นความประทับใจที่เคยเป็นเพียงแค่งานศิลปะในยุคสมัยหนึ่ง อาจจะเดินทางเข้าสู่ความจริงของความงามได้ในภาวะนิรันดร์

fb.com/ekar.architects

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *