ART JAKARTA 2022

Photo: Pratchayapol Lertwicha

ไปดูบรรยากาศของงาน ART JAKARTA 2022 ในประเทศอินโดนีเซียที่เนืองแน่นไปด้วยคนมากหน้าหลายตาที่สนใจในศิลปะ และเป็นการส่งสัญญาณว่าตลาดศิลปะกำลังกลับมาครึกครื้นอีกครั้ง

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: PRATCHAYAPOL LERTWICHA EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

ในที่สุดตลาดงานศิลปะในภูมิภาคเอเชียก็กลับมาคึกครื้น หลังเจอโควิดเล่นงานไปเป็นปี 

เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บริษัทประมูลงานศิลปะ Sotheby’s จัดงานประมูลศิลปะแบบ on-ground ในประเทศสิงคโปร์เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี แถมต้นปีหน้า สิงคโปร์ก็จะจัดงานแฟร์ชื่อ Art SG มากระตุ้นความคึกคักให้ตลาดศิลปะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อต้นเดือนกันยายน Frieze นิตยสารศิลปะร่วมสมัยเบอร์เก๋าจากลอนดอนผู้เป็นเจ้าภาพแฟร์ ‘Frieze’ ที่โด่งดังระดับนานาชาติ ก็บุกเอเชียด้วยการจัดงาน Frieze Seoul ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีเป็นครั้งแรก สร้างเสียงฮือฮาให้เหล่านักสะสมศิลปะในภูมิภาคเอเชีย

อินโดนิเซียก็เป็นอีกจุดหมายที่คนรักงานศิลปะจับตา วันที่ 26-28 สิงหาคมที่ผ่านมา อินโดนิเซียได้จัดงาน ‘Art Jakarta 2022’ ขึ้นที่ Jakarta Convention Center โดยงาน Art Jakarta นับว่าเป็น art fair ที่มีชื่องานหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และปีนี้ถือเป็นการจัดงานครั้งที่ 12 แล้ว

Photo courtesy of Art Jakarta

art4d ได้โอกาสมาแจมและสำรวจบรรยากาศงานปีนี้ด้วย สิ่งแรกที่เตะตาเราอย่างจังเมื่อถึงฮอลล์จัดงานก็คือ ป้ายหรือบอร์ดสีชมพูนีออนที่ปรากฎตามที่ต่างๆ รวมไปถึงบัตรเชิญของเราที่เป็นบัตรอะครีลิคใสสีชมพูสะท้อนแสงสุดจี๊ด ซึ่งแสนโดดเด่นเสียจนถ้าเผลอทำหล่นที่มืดก็คงหาได้ไม่ยาก สีชมพูที่เป็นสีประจำงานปีนี้ เปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งการเฉลิมฉลองหลังวิกฤติโรคระบาดคลี่คลาย และเป็นการบอกกลายๆ ว่า Art Jakarta กลับมาแล้ว

Photo: Pratchayapol Lertwicha

ภายในฮอลล์จัดงานเนืองแน่นไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา ถึงแฟร์นี้จะเป็นแฟร์ศิลปะเชิงพาณิชย์ที่เน้นจับคู่นักสะสมศิลปะเข้ากับแกลเลอรีหรือศิลปิน คนที่มาในงานไม่ได้มีแต่ผู้ดีมีเงินอย่างเดียว เพราะเราก็เห็นคนทั่วไปรวมถึงนักศึกษาก็มาเดินดูงานศิลปะและแชะรูปคู่งานกันอย่างสบายอารมณ์ อาจจะพูดได้ว่างานนี้ก็เป็นโอกาสให้คนได้เข้าถึงและซึมซับงานศิลปะเหมือนกัน

Photo: Pratchayapol Lertwicha

พื้นที่ส่วนหลักของงานเป็นถูกแบ่งออกเป็นบูธย่อยๆ แต่ละบูธคือพื้นที่ของแกลเลอรีต่างๆ ที่เข้าร่วมงาน ในปีนี้มีแกลเลอรีเข้าร่วมถึง 62 แห่ง แบ่งเป็นแกลเลอรีจากอินโดนิเซีย 39 แห่งและจากประเทศอื่นๆ ในเอเชีย อย่างเช่น สิงคโปร์ เวียดนาม เกาหลี ญี่ปุ่น รวม 23 แห่ง

แกลเลอรีสัญชาติไทยก็ไม่พลาดตบเท้าเข้าร่วมงานนี้ด้วย 2 แกลเลอรีที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานก็คือ SAC Gallery ซึ่งนำเสนอนิทรรศการงานประติมากรรมอันงดงาม น่ารัก และน่าพิศวงของ วิภู ศรีวิลาส ในชื่อ The Tangible Tales และ Warin Lab Contemporary ที่โชว์ผลงานถักทอชื่อ Weaving the Ocean ของ Ari Bayuaji ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมของท้องทะเล

Photo: Anya Wan

Photo: Anya Wan

Photo: Anya Wan

Photo: Pratchayapol Lertwicha

นอกเหนือไปจากงานที่จัดแสดงตามบูธต่างๆ แล้ว ในฮอลล์ยังมี art installation รวมทั้งการจัดแสดงงานศิลปะที่อยู่ใน collection ของสถาบันหรือบริษัทพันธมิตรสู่สาธารณะด้วย ไฮไลท์ที่น่าสนใจก็อย่างเช่น กลุ่มฟลามิงโก้สีชมพูสามตัวอันสวยงามที่ศิลปินเกาหลีใต้ Sang Soo-Lee เนรมิตขึ้นจากเส้นเหล็กหลอม หรืองาน Fountain ของศิลปิน Marco Cassani ซึ่งเป็นการนำเหรียญที่ผู้คนโยนลงบ่อน้ำตอนขอพรในวัดที่บาหลี มาเรียงต่อกันเป็นแท่งตรงสูงที่ชวนให้เสียวใส้ว่าจะล้มลงมาหรือเปล่า งานนี้ก็ชวนให้เราพินิจพิเคราะห์ถึงคุณค่าอื่นของเหรียญ นอกเหนือจากการเป็นตัวเงิน

Photo: Pratchayapol Lertwicha

 

Photo: Pratchayapol Lertwicha

Photo: Pratchayapol Lertwicha

แม้งาน Art Jakarta จะเจอวิกฤติโควิดจนต้องเลื่อนกำหนดการณ์ไปถึง 3 ปี เราคิดว่าการกลับมาครั้งนี้ก็นับว่าประสบความสำเร็จหากประเมินด้วยจำนวนคนที่มาเดินงานกันอย่างขวักไขว่ เชื่อว่างาน Art Jakarta น่าจะครึกครื้นยิ่งกว่าปีนี้ตามสถานการณ์ของโลกที่เริ่มเยียวยาแผลตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ ขอให้ไม่มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นมาอีกละกัน

artjakarta.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *