บ้านกลางทุ่งในชนบทของประเทศอินเดียแห่งนี้โดย Craft Narrative ใช้ความคลุมเครือของพื้นที่ภายในและภายนอกในการปล่อยบริบทรอบข้างเข้ามาเติมเต็มการอยู่อาศัยให้สมบูรณ์
TEXT: KITA THAPANAPHANNITIKUL
PHOTO: STUDIO RECALL & STUDIO SOHAIB
(For English, press here)
แน่นอนว่าสถาปัตยกรรมอาจมองเรื่องของผู้อยู่อาศัยในบ้านเป็นสำคัญ แต่ House of Tranquil Rooms ที่ออกแบบโดยสตูดิโอสัญชาติอินเดียอย่าง Craft Narrative ที่มาพร้อมกับความคลุมเครือของพื้นที่ภายในและภายนอกนี้กลับบอกกับเราว่าบางครั้ง ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติ มนุษย์กับต้นไม้ หรือแม้แต่มนุษย์กับสัตว์ก็ต่างเกื้อหนุนกันเพื่อให้ทุกชีวิตเติบโตได้อย่างสมบูรณ์
ณ หมู่บ้านในชนบทของเมืองปุเณ (Pune) รัฐมหาราษฏระ (Maharashtri) ประเทศอินเดีย House of Tranquil Rooms ตั้งอยู่ท่ามกลางบริบทของทุ่งเกษตรกรรมที่เงียบสงบและกว้างใหญ่สุดสายตา บ้านหลังนี้คือที่อยู่อาศัยของสองพี่น้องเกษตรกรที่ต่างมีครอบครัวของตัวเอง และที่สำคัญ บ้านหลังนี้ยังเป็นที่อยู่อาศัยของผู้มาก่อนกาลอย่างต้นมะม่วงต้นหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่มาอย่างยาวนาน การวางผังของบ้านหลังนี้จึงเริ่มต้นอย่างง่ายๆ ตรงกลางคือคอร์ทยาร์ดสี่เหลี่ยมผืนผ้าอันเป็นพื้นที่ของต้นไม้ ล้อมรอบไว้ด้วยพื้นที่ใช้งานทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น ห้องนั่งเล่น ห้องครัว และห้องนอน ต้นมะม่วงที่แตกกิ่งก้านก็สร้างร่มเงาไม่ต่างอะไรจากหลังคา ในที่นี้ ต้นมะม่วงจึงเป็นทั้งสิ่งมีชีวิต สถาปัตยกรรม รวมถึงเป็นศูนย์รวมใจของสมาชิกในครอบครัว
แม้จะดูเหมือนบ้านล้อมคอร์ทต้นไม้ปกติ สิ่งที่แตกต่างของบ้านหลังนี้คือความคลุมเครือของพื้นที่ภายในและภายนอกที่ดูคล้ายจะเป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด ทั้งจากพื้นที่ที่เชื่อมต่อถึงกันหมดจนที่มีขนาดใหญ่จนเหมือนกับทุกที่คือ ‘ทางเดิน’ และ ‘พื้นที่ใช้งาน’ เห็นได้ชัดจากภาพถ่ายที่เจ้าของบ้านนั่งใช้งานพื้นที่ห้องนั่งเล่นในขณะที่เด็กๆ สามารถปั่นจักรยานผ่านหน้าไปมาอย่างดูไม่ตะขิดตะขวงใจ หรือระบบของผนังที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นระนาบที่แบ่งพื้นที่อย่างหลวมๆ มากกว่า ในพื้นที่นั่งเล่นด้านหน้าที่มีลักษณะเป็น double space ผนังคล้ายกับจะมีหน้าที่เพียงแค่ควบคุมสเกลของอาคารให้ไม่ใหญ่เกินไปและเป็นมิตรกับใครก็ตามที่เข้ามา รูปแบบของสเปซที่ตอบรับกับกิจกรรมที่มีความอิสระสูงนี้ตอบรับกับรูปแบบการอยู่อาศัยที่เชื่อมโยงกับชุมชนเกษตรกรรมโดยรอบที่ไปมาหาสู่กันตลอดเวลา บ้างมีคนมาเยี่ยมเยือน บ้างมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตไว้ในบ้าน เพราะฉะนั้นแล้วจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่จะมีวัวเดินไปเดินมาในบ้านหลังนี้อย่างสบายใจ
‘ความเรียบง่าย’ คืออีกหนึ่งใจความของบ้านหลังนี้ ตัวอาคารทั้งภายในและภายนอกจึงมีลักษณะสีขาวเรียบ และมีการสอดแทรกวัสดุไม้แซมตามจุดต่างๆ อาทิ วงกบ บานประตู เฟอร์นิเจอร์ built-in ความเรียบง่ายเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความชอบส่วนตัวของเจ้าของบ้านทั้งสองคน แต่ในมุมหนึ่งสีขาวล้วนของตัวอาคารก็สะท้อนถึงนิยามของ ‘บ้าน’ ที่บางครั้งอาจหมายถึงสถานที่แห่งจิตใจที่ไม่ต้องการเติมแต่งอะไรมากมาย
การใช้งานส่วนอื่นๆ ของตัวบ้านยังเน้นย้ำถึงการเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ ทั้งการเจาะช่องเปิดเล็กใหญ่ในผนังส่วนต่างๆ เพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติ การจัดสรรพื้นที่ดาดฟ้าให้เป็นพื้นที่ใช้งานอิสระที่ล้อมรอบด้วยทิวทัศน์ของพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงการจัดวางผนังของระเบียงให้มีลักษณะเฉียงจากกว้างไปแคบเพื่อเอื้อต่อการถ่ายเทอากาศภายในอาคาร จากหลักการง่ายๆ ในเรื่องของแรงดัน ที่ถ้าหากช่องลมเข้ามีพื้นที่หน้าตัดกว้าง และช่องลมออกมีความแคบก็จะยิ่งทำให้ลมไหลในอาคารได้แรงขึ้น
House of Tranquil Rooms โดยฝีมือของ Craft Narrative แห่งนี้นอกเหนือจะเป็นไอเดียของการทำสถาปัตยกรรมที่เริ่มต้นจากความเรียบง่าย สิ่งสำคัญคือการชวนให้เราคิดถึงสถาปัตยกรรมที่ทำหน้าที่คล้าย platform สำหรับปรากฏการณ์ของความสัมพันธ์ต่างๆ และชูประเด็นของการมองโลกที่ไม่ได้หมุนรอบเพียงแค่มนุษย์ สถาปนิกเลือกยังเลือกบทกวีชิ้นหนึ่งที่ใช้เพื่ออธิบายนิยามบ้านหลังนี้ได้อย่างสมบูรณ์
“There is a tree
My relationship with it is that the same wave of breeze goes past the both of us
-Shanta Shelke-”