MA Architects ออกแบบออฟฟิศของพวกเขาในไซต์แคบลึก โดยลดการแบ่งพื้นที่ด้วยกำแพงเพื่อปล่อยให้แสงและลมธรรมชาติลอดผ่าน และใช้โครงสร้างไม้เพื่อเพิ่มความปลอดโปร่งให้พื้นที่ภายใน
TEXT: KARN PONKIRD
PHOTO: PAUL PHAN
(For English, press here)
ภายใต้ความแออัดหนาแน่นของเมืองและอากาศร้อนชื้นในมหานครโฮจิมินห์ MA Architects เริ่มต้นหมุดหมายใหม่ของสำนักงานสถาปนิก โดยการย้ายสภาพแวดล้อมการทำงาน จากอาคารสำนักงานเช่าตลอด 5 ปีมาสู่บ้านหลังใหม่ของพวกเขา ที่ความท้าทายเริ่มต้นจากขนาดที่ดินที่จำกัดลักษณะแคบลึก หน้ากว้าง 5 เมตร ลึก 20 เมตร อีกทั้งยังถูกขนาบข้างทั้งอาคารพักอาศัยรวมถึงอาคารสำนักงานโดยรอบ
ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างพื้นที่สำนักงานให้เป็นเสมือนพื้นที่ที่รองรับการเติบโตของกลุ่มคนซึ่งมีความฝันคล้ายคลึงกัน ซึ่งนอกจากบริเวณพื้นที่สตูดิโอออกแบบงานสถาปัตยกรรมแล้ว ยังต้องเป็นสถานที่ที่เอื้อให้เกิดการพูดคุย การแลกเปลี่ยน รวมถึงสร้างกิจกรรมผ่อนคลายต่างๆ ระหว่างสมาชิกแต่ละคนอีกด้วย พื้นที่จึงถูกจัดวางให้ลื่นไหล ไม่มีเส้นแบ่งพื้นที่ตายตัว ลดการแบ่งพื้นที่ด้วยกำแพงให้มากที่สุด เปิดช่องเปิดสู่ท้องฟ้า ขยับขยายระนาบเพดานของพื้นที่ให้ปลอดโปร่งทั้งในทางกายภาพและทางการรับรู้
สถาปนิกเลือกใช้วัสดุชนิดที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นเพื่อความรวดเร็วในการก่อสร้าง รวมถึงการซ่อมแซมในอนาคต โดยมีผนังสีเทาสูง 3 ด้านเพื่อห่อหุ้ม space ภายใน ผนังก่ออิฐทั้งหมดเลือกทำพื้นผิวเป็นการฉาบผิวปูนเปลือย โดยคำนึงถึงสภาพอากาศที่ร้อนชื้น ต้องรับมือกับฝนเป็นเวลาหลายเดือนต่อปี โดยผนังด้านหนึ่งยังเป็นการใช้ผนังร่วมกับอาคารเพื่อนบ้าน
ส่วนโครงสร้างภายในอาคาร สถาปนิกเลือกใช้เป็นไม้แทนเหล็ก โดยใช้ทั้งเสาและคานไม้ รวมถึงไม้ในองค์ประกอบอื่นๆ ของอาคารพยายามใช้ไม้รีไซเคิลจากการรื้อถอนอาคารเก่าให้มากที่สุด นอกจากต้นทุนค่าใช้จ่ายทางวัสดุจะลดลงแล้ว การได้ไม้ที่มีร่องรอยการใช้งาน เพื่อให้ได้ระยะความยาว – ความสูงตามที่ต้องการ จำเป็นต้องมีการต่อไม้ – เข้าไม้ จากการเลือกใช้ไม้เก่าซึ่งมีที่มาแตกต่างกัน ก็ทำให้เกิดการประกอบของลวดลายไม้และสีสันที่แตกต่าง เป็นรายละเอียดเล็กๆ ที่ทำให้แต่ละพื้นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะพื้นที่ชั้นสองในลักษณะชั้นลอย ที่ใช้เป็นพื้นที่ประชุมบริษัทรวมถึงการทำมุมสำหรับปลูกต้นไม้และมุมส่วนตัวสำหรับพักผ่อน สามารถปรับเปลี่ยน เพิ่ม – ลดพื้นที่บนโครงสร้างไม้ชั้นลอยได้โดยง่าย
สถาปนิกเลือกที่จะยกหลังคาสูง ทำให้เหลือ space ไว้ให้อากาศได้ถ่ายเท และด้วยรูปทรงของอาคารซึ่งเป็นแนวยาวตลอดพื้นที่ ทำให้ลมสามารถพัดผ่านได้อย่างทั่วถึง ทะลุจากหน้าทางเข้าไปสู่ห้องน้ำด้านหลังได้โดยไม่มีสิ่งกีดขวาง การเจาะช่องเปิดระบายอากาศขนาดใหญ่ใกล้หลังคา ก็ยังช่วยให้อากาศร้อนลอยตัวขึ้นสูงและระบายออกจากอาคารอย่างรวดเร็ว การระบายความร้อนของตัวอาคาร ถูกเสริมด้วยการเลือกใช้วัสดุต่างๆ เพิ่มเติม ตั้งแต่ฉนวนกันความร้อนเพิ่มเติมที่ไม่ใช่วัสดุสังเคราะห์ แต่เป็นทางมะพร้าวแห้งซึ่งนำมาซ้อนกันและปูทับลงไปบนหลังคาเสมือนการหยิบยืมองค์ความรู้จากงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น การเลือกปลูกไม้ยืนต้นภายในอาคารเพื่อช่วยฟอกอากาศ ไปจนถึงการแบ่งพื้นอาคารเป็นวัสดุ 3 ชนิดหลักๆ อย่าง พื้นคอนกรีต พื้นไม้ และพื้นดินอัดเรียบโรยทราย
จากความเชื่อมโยงที่หลังคาด้านหนึ่งของอาคารใช้แผ่นโพลีคาร์บอเนตเพื่อให้แสงผ่าน สร้างแสงสว่างตลอดวันให้ออฟฟิศสำหรับประหยัดพลังงาน แต่ก็ต้องรับมาซึ่งความร้อนที่ผ่านวัสดุลงมาถึงพื้นด้วย สถาปนิกจึงเลือกแบ่งพื้นบางส่วนเป็นพื้นดินอัดและโรยทรายเพื่อปรับระดับ โดยใช้พื้นคอนกรีตเฉพาะโซนทำงานสำนักงานเท่านั้น การลดปริมาณพื้นคอนกรีตย่อมหมายถึงลดพื้นที่ซึ่งจะอมความร้อนลงไป การกักเก็บความร้อนของพื้นดินนั้นต่ำกว่าคอนกรีต อีกทั้งยังคายความร้อนได้รวดเร็วกว่า ประโยชน์อีกอย่างยังเพื่อการดูแลรักษาที่ไม่ต้องมากนัก โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งเป็นทางเดินหลัก ไปจนถึงพื้นที่อเนกประสงค์ ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในตัวอาคาร และปัจจุบันถูกใช้เป็นโซนสำหรับเวิร์คช็อปที่มักมีกิจกรรมหนักๆ
การมีพื้นในโซนเป็นดิน ก็ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องพื้นแตกจากการทำของหล่น หรือการทดลองวัสดุบางชนิดก็ไม่ต้องระวังเรื่องพื้นเลอะอีกต่อไป รวมถึงเมื่อพิจารณาถึงช่องเปิดของอาคารที่มีมาก การโดนฝนสาดหรือมีละอองน้ำเข้ามาจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก การมีพื้นที่ดูดซึมน้ำได้ก็สะดวกกว่า โดยที่ไม่จำเป็นต้องห่วงเรื่องเชื้อราและความชื้นมากนัก ภายใต้สภาวะที่ในเช้าวันถัดไป พื้นทุกส่วนก็จะโดนแดดทำให้แห้งใหม่อีกครั้ง
อาคารสำนักงาน MA Architects Office แล้วเสร็จในปี 2022 ปัจจุบัน MA Architects ได้ทำการย้ายเข้ามาใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ สำนักงานที่ทำงานภายใต้สายลมและแสงแดดแห่งนี้ยังคงขยับขยายการออกแบบที่เรียบง่ายและประหยัดของตนเองออกไปสู่ชุมชนสถาปัตยกรรมเวียดนามอย่างน่าจับตามอง