FOS LIGHTING DESIGN STUDIO

‘ใบไม้เปลี่ยนสีที่ผ่านฟ้า’ ในเทศกาล Bangkok Design Week 2024 | Photo: Ketsiree Wongwan


art4d คุยกับ FOS Lighting Design Studio สตูดิโอออกแบบแสงรุ่นเก๋าที่มีผลงานโดดเด่นในไทย ถึงความสนุก ความสำคัญ และความท้าทายของอาชีพนักออกแบบแสง

TEXT: NATHATAI TANGCHADAKORN
PHOTO COURTESY OF FOS LIGHTING DESIGN STUDIO EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

แสงเป็นสิ่งหนึ่งที่มักถูกจัดลำดับไว้ท้ายๆ ในกระบวนการทำงานออกแบบ แม้เราจะให้ความสำคัญกับมันในฐานะสิ่งที่ทำให้พื้นที่ ‘ใช้งานได้’ แต่ในแง่ของความสวยงามแล้ว องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมอื่นๆ ก็ดูเหมือนจะมีถูกให้น้ำหนักมากกว่าเสมอสำหรับโครงการที่มีงบประมาณและเวลาอันจำกัด

เราชวน FOS Lighting Design Studio สตูดิโอออกแบบแสงที่มีผลงานโดดเด่นมากมาย อาทิ การออกแบบแสง ‘ประปาแม้นศรี’ ใน BKKDW 2023, Unfolding Hua Lamphong ในเทศกาล Unfolding Bangkok 2023 และงาน 101 ปี พระราชวังพญาไท มาพูดคุยถึงบทบาทการทำงานในฐานะนักออกแบบแสงสว่างที่ฝากผลงานเอาไว้แล้วมากมาย

‘ใบไม้เปลี่ยนสีที่ผ่านฟ้า’ ในเทศกาล Bangkok Design Week 2024 | Photo: Ketsiree Wongwan

แนะนำตัวกันคร่าวๆ FOS Lighting Design Studio เป็นสตูดิโอออกแบบแสงรุ่นบุกเบิกในประเทศไทยที่ก่อตั้งขึ้นหลังช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งโดย ฐะนียา ยุกตะทัต และ ดิวัน ขัตติยากรจรูญ ตอนแรกฐะนียาเป็นนักเรียนสถาปัตย์ที่ต้องการเรียนต่อเพื่อต่อยอดสายอาชีพ และเลือกเรียนปริญญาโท light and lighting ที่ University College London (UCL) และได้เข้าฝึกงานในเวลาต่อมากับ PALICON Pro-Art Lighting ซึ่งในขณะนั้นเป็นหนึ่งในสตูดิโอออกแบบแสงเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย “ก่อนอื่นเราอยากเตือนไว้ก่อนเลยว่า เราหนีจากสถาปัตย์ที่คิดว่ามันเยอะมันหนักมาใช่ไหม ที่จริงหนีมาไม่ได้พ้นเลย” ฐะนียาบอกกับเราอย่างติดตลกแต่ชัดเจน

ฐะนียา ยุกตะทัต | Photo: Ketsiree Wongwan

เริ่มต้นด้วยคำถามเบสิคอย่างจุดเริ่มต้นของสตูดิโอ FOS Lighting Design ว่าอะไรที่ทำให้ฐะนียาตัดสินใจเปิดบริษัทของตัวเองในยุคที่นักออกแบบแสงยังไม่ถือเป็นอาชีพกระแสหลัก รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่มั่นคงดีนักในขณะนั้น

ความหลงใหลในแสงไฟของฐะนียาไม่ได้มีมาตั้งแต่แรก ไม่ใช่ก่อนที่เธอจะเลือกสาขาวิชาที่ต้องการเรียนต่อ หลังเรียนจนจบแล้วก็ยังไม่ใช่ จุดเริ่มต้นของ passion ของเธอนั้น เกิดขึ้นตอนได้เห็นงานจริงขณะทำงานกับ PALICON นั่นเป็นครั้งแรกที่ฐะนียารับรู้ถึงความแตกต่างระหว่างการมี lighting designer และไม่มี

FOS lightingFOS lighting
FOS lighting

ศาลาการเปรียญ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

“ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่เราเห็นภาพชัดเจนว่ามันสวย คือเห็นภาพว่าที่เราเหนื่อยมาทุกอย่างก็เพราะสิ่งนี้ มันสวย สงบ นิ่ง ตอนนั้น ERCO เขาพัฒนาดาร์กไลต์ด้วย ก็จะมองไปแล้วเห็นแต่แสงที่มันสบายตา อะไรที่ต้องการให้เด่นก็เด่น เราจําได้เลยว่าภาพที่ประทับใจที่สุดคือ bathtub ที่มีอัปไลท์อยู่ด้านหลัง จริงๆ มันน้อยมากเลยนะ แต่มันดูน่าลงไปแช่จังเลย ครั้งนั้นเป็นภาพจําภาพแรกที่รู้สึกว่าใช่”

“ก็ทํามาเรื่อยๆ สักพักหนึ่ง เราก็รู้สึกว่ามันมีข้อจํากัดของการสเปคเพราะว่าเราทํากับเขา ERCO มีโปรดักต์ที่ดีมาก แต่ตอนนั้นเราอยากมีอิสระในทางการเลือกใช้ของมากขึ้น ก็เลยออกมาทํางานของตัวเองเป็นฟรีแลนซ์กับน้องอีกคนหนึ่งก็คือดิวัน แล้วก็เลยเปิดมาเป็น FOS lighting design เป็นชื่อที่เพื่อนสมัยเรียนช่วยตั้งให้เพราะ FOS เป็นคำในภาษากรีกแปลว่า ‘แสง’

FOS lightingFOS lighting
FOS lighting

พระพุทธมหามงคลเภสัช

เราถามต่อว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา lighting designer ในสตูดิโอออกแบบแสงรุ่นบุกเบิกแห่งนี้มีผลงานที่ประทับใจชิ้นไหน หรือที่ไหนบ้าง

เธอให้คำตอบว่าผลงานที่สร้างประทับใจหลายๆ งานนั้นเป็นงานในศาสนสถานมากกว่างานเชิงพาณิชย์ เนื่องจากแนวความคิดในการออกแบบ ทั้งแก่นของความเชื่อที่แตกต่างกัน และความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องในโครงการที่ฐะนียายืนยันด้วยตัวเองว่า ตั้งแต่เจ้าของสถานที่ ผู้ที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงผู้รับเหมา ล้วนอยากจะผลักดันให้งานออกมาดีที่สุด ซึ่งเธอรู้สึกว่าทำให้แตกต่างจากงานประเภทอื่นๆ

“มีอีกที่หนึ่งที่เราชอบ เรามีโอกาสได้ทําพิพิธภัณฑศาสตร์แห่งชาติพระนครครั้งหนึ่ง งานนี้ประทับใจตรงที่ได้ใช้ทฤษฎีที่เรียนมาเยอะ วัตถุมีความ sensitive อะไรอย่างนี้ แต่สุดท้ายเราก็ต้องพยายามดึง mood ของของศิลปะวัตถุนั้นๆ ออกมาด้วย ซึ่งก็ท้าทายสนุกดี”

FOS lighting

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

FOS lighting

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

FOS lighting

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

วิชาที่เรียนมาสมัยอยู่ที่ UCL ของฐะนียาเน้นไปที่ทฤษฎีและการค้นคว้า ทว่าก็ต้องอาศัยประสบการณ์ในการทำงานเพื่อทำความเข้าใจเสียก่อนถึงจะเอามาใช้ได้อย่างเหมาะสม งานที่พิพิธภัณฑศาสตร์แห่งชาติพระนครจึงเรียกได้ว่าเป็นงานที่ได้ใช้อาวุธรอบตัว ทั้งความรู้และประสบการณ์

ไม่ใช่แค่งานจำพวกศาสนสถานกับ commercial เท่านั้นที่ต่างกัน การออกแบบแสงให้กับ installation ในศาสนสถานกับพิพิธภัณฑ์เองก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว โดยวัตถุทางศาสนาในพิพิธภัณฑ์จะไม่ถูกยึดติดกับแนวคิดทางศาสนามากเท่าเดิม เพียงแต่ในเชิงกระบวนการออกแบบแล้ว ภาพลักษณ์ของ ‘ความศักดิ์สิทธิ์’ ก็ยังเป็นผลลัพธ์ที่จำเป็น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านพื้นที่อีกด้วย

FOS lighting

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

FOS lighting

แบบร่างของการออกแบบแสงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

งานที่ฐะนียาประทับใจยังไม่หมดง่ายๆ Bangkok Design Week และ Unfolding Bangkok ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ก็เป็น 2 เทศกาลที่เธอสนุกไปกับมันแทบทุกปี สำหรับ Bangkok Design Week 2018 กล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เหล่านักออกแบบแสงชาวไทย รวมถึงตัวเธอเอง ได้ฤกษ์รวมตัวกันเฉพาะกิจภายใต้ชื่อของเพจ Lighting Designers Thailand (LDT) ซึ่งเป็นเพจที่มีอยู่ก่อนแล้วโดยมี เมษ ภู่เจริญ เป็นคนริเริ่ม LDT เข้าร่วม Bangkok Design Week โปรเจ็กต์แรกที่ตลาดน้อย (The Wall 2018) จนมาถึงงานที่โรงหนังสกาลา (The Wall 2019) และคลองผดุงกรุงเกษม (The Wall 2022)

ความประทับใจนี้ต้องเกริ่นย้อนไปนิดหนึ่งว่าสมัยปริญญาโท ฐะนียาทำธีสิสเกี่ยวกับทฤษฎี urban imageability ของ Kevin Lynch ซึ่งเรื่องนี้ก็สืบต่อมายังการทำงานของเธอในฐานะนักออกแบบแสง ที่ใฝ่ฝันอยากทำงานในพื้นที่ทุกประเภทให้ครบ และพื้นที่ของ Bangkok Design Week ก็เข้ามาตอบโจทย์ได้ส่วนหนึ่งพอดี

“ตอนทำ Bangkok Design Week ปี 2019 ที่สกาลา ส่วนตัวชอบงานนี้มาก รู้สึกใช่มากๆ เพราะว่าได้ให้แสงในงานสถาปัตยกรรมทั้ง interior และ exterior ด้วยความรู้สึกว่าอยากให้เขาคึกคักขึ้นมาอีกครั้ง อยากให้คนเห็นคุณค่าของงานสถาปัตยกรรมสกาลาผ่านแสง อยากให้คนเห็นคุณค่าจนไม่อยากรื้ออาคารออกไป แต่ช่วงงานคือเงียบมาก และเราก็เสียดายที่สุดท้ายสกาลาถูกทุบทิ้งไปอยู่ดี ส่วนคลองผดุงกรุงเกษมเป็นงานอีเวนต์ แต่ก็มีส่วน urban lighting in architecture สอดแทรก เราเลยได้ออกแบบแสงที่สอดแทรกเข้าไปในเมือง” เธอเสริม

นอกจากนี้ยังมีอีกงานในนาม LDT ที่เธอประทับใจ คือ Unfolding Hua Lamphong ใน Unfolding Bangkok 2023 งานออกแบบแสงชั่วคราวให้สถานีรถไฟที่เราคุ้นเคยกันดี โปรเจ็กต์นี้หัวลำโพงถูกแบ่งคร่าวๆ เป็นสามโซน คือ ด้านหน้า โถงพักคอย และชานชาลา การออกแบบแสงทุกโซนล้วนคำนึงถึงความเป็นสถาปัตยกรรม ในความหมายของพื้นที่ที่ถูกใช้งาน ไม่ใช่แสงเพื่อจัดแสดงหัวลำโพงในฐานะ installation ชิ้นหนึ่ง

FOS lighting

สถานีหัวลำโพงในเทศกาล Unfolding Bangkok 2023

FOS lightingFOS lightingFOS lightingFOS lighting

“แนวคิดยังเหมือนเดิม ยังต้องมี architectural lighting คือแสงเชิงสถาปัตยกรรม แต่ก็ต้องมีอะไรที่ดึงดูดคนแบบแสงในอีเวนต์มาปะปนอยู่เยอะหน่อย สถาปัตยกรรมมันอยู่ลําพังไม่ได้ ต้องมีผู้คน กิจกรรม และการใช้งาน สุดท้ายพองานเสร็จ ต้องขอขอบคุณคนที่เข้ามาร่วมกิจกรรม ทำให้ได้เห็นศักยภาพของพื้นที่ว่านอกจากจะเป็นชานชาลาเก่าแล้วมันสามารถทําอะไรได้อีก”

FOS lighting

สถานีหัวลำโพงในเทศกาล Unfolding Bangkok 2023

นั่งฟังมาถึงตรงนี้ เราถือโอกาสถามว่าแล้วความยากและความท้าทายในการทำงานออกแบบแสงมีอะไรบ้าง

“โปรเจ็กต์หัวลําโพงนี่ก็ยากนะ หนึ่งคือความใหญ่ ตอนไปเดินก็ใหญ่จนเราท้อ ถ้าจะเอาให้สำเร็จด้วยงบเท่านี้ คนเท่านี้ เวลาเท่านี้ แค่คิดก็เครียดแล้ว” ฐะนียาเปรยด้วยปัญหาสามัญที่คนในหลายๆ สายงานคงเข้าใจเป็นอย่างดี “แล้วก็ยากด้วยเทคโนโลยี lighting มันไม่เหมือนงานของสถาปนิกตรงที่เปลี่ยนไว อุปกรณ์ดวงโคมเปลี่ยนไวมาก คือปีที่แล้วเป็นอย่างนี้ปีนี้เปลี่ยนอีกแล้ว เราก็ต้องตามให้ทัน เป็นความยากของเทคโนโลยีที่เราต้องเรียนรู้ใหม่ตลอด อีเวนต์ส่วนมากจะยากเพราะเงื่อนไขเวลา”

ข้อจำกัดต่างๆ ถูกไล่เรียงออกมาผ่านประสบการณ์การทำงาน รวมทั้งอีกเรื่องเบสิคอย่างการสเปคแบบ

“แสงไม่ใช่สิ่งที่จับต้องได้ ไม่สามารถบรรยายมาเป็นคําพูดได้ว่าเป็นแบบนี้ๆ แล้วทุกคนเข้าใจตรงกัน สมมติเราผ่านพาร์ทการออกแบบไปจนถึงผู้รับเหมาแล้ว เขาเห็นในแบบว่าตัวเลขค่าแสงกี่องศาเคลวิน เขาก็เทียบตามตัวอักษรมาถูกต้องทั้งหมด แต่ด้วยตัวอักษรที่เท่ากันแต่แสงออกมาไม่เหมือนกัน รวมถึงเวลาเราบอกว่าแสงวอร์ม คำว่าวอร์มก็ยังมีช่วงที่ค่อนข้างกว้างว่าวอร์มออกเหลือง ชมพู หรือส้ม เป็นต้น ตรงนี้ก็เหนื่อยหน่อยโดยเฉพาะในงานราชการที่ยึดตามตัวอักษร แต่เราไม่สามารถระบุแสงด้วยคำพูด” ฐะนียาเล่า

FOS lighting

พระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

FOS lighting

พระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

FOS lighting

พระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

ตอนนี้มองว่าบทบาทของ lighting designer ในวงการออกแบบไทยปัจจุบันเป็นอย่างไร? เราโยนคำถามปิดท้ายให้ฐะนียา ในฐานะที่เธอเป็นคนในวงการคนหนึ่งที่เห็นความเปลี่ยนแปลงมาตลอด

“ตอนนี้คนที่ทำอาชีพนี้น่าจะเยอะแล้ว แต่ตอนเราทําหลักสิบเอง ถือว่ามีคนให้ความสําคัญมากขึ้นนะ ก็น่าจะเป็นการสะท้อนว่าอาชีพนี้กำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้น แต่ยังไงก็จะมีเงื่อนไขของมันอยู่ เจ้าของโปรเจ็กต์ที่จะทํา lighting ก็ต้องเห็นความสําคัญของ lighting จริงๆ มีความต้องการอยากให้แสงสวยและมีงบประมาณให้ เพราะเวลา lighting designer เลือกโคมที่มีเงื่อนไขอย่างที่เราบอก ซึ่งไม่ใช่ทุกโครงการที่จะรับได้ น่าประทับใจมากเลยถ้าเจ้าของโครงการเขาเห็นความสําคัญของเรา (นักออกแบบแสง) แล้วเลือกใช้ สุดท้ายมันก็จะไปสู่จุดหมายเดียวกันได้”

FOS lighting

แบบร่างของการออกแบบแสงที่หอประชุม มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

FOS lighting

หอประชุม มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

FOS lighting

หอประชุม มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

“สุดท้ายเราอยากจะชี้ประเด็นว่าที่จริงการมี lighting designer กับไม่มีแตกต่างกันนะ บางคนคิดว่าเท่านี้ก็พอ อาจจะเป็นเหมือนตัวเราเองตอนที่ยังไม่ได้มี passion ในแสง แต่พอได้เห็นแล้วก็จะรู้ถึงความสําคัญของแสงได้เองเลย ซึ่งทุกวันนี้เราคิดว่าเพื่อนร่วมอาชีพทุกคนก็พยายามทําจุดนั้นอยู่เพื่อพิสูจน์ตัวเอง เพราะเราเป็นอาชีพใหม่ ความจริงถึงตอนนี้ก็ไม่ค่อยใหม่แล้ว เพราะเราทํามาจนถึงยี่สิบปีแล้วนะ แต่ก็คงต้องใช้เวลารอดูกันต่อไป”

FOS lighting

หอสมุด มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

หอสมุด มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

ทุกพื้นที่ย่อมต้องการแสงเพื่อให้คนมองเห็นและใช้งานได้จริง แต่นอกเหนือไปจากนั้นอีกขั้นคือความสวยงามที่ออกแบบได้ และอย่างที่ฐะนียาทิ้งท้ายไว้ เราคิดว่าตอนนี้เหล่านักออกแบบแสงทุกคนคงกำลังพยายามออกแบบแสงไฟของตัวเองอย่างเต็มที่ เพื่อให้อาชีพนี้ก้าวออกจากขอบเขตเงามืดเบลอๆ ที่มักถูกมองว่ามีหรือไม่มีก็ได้ผลลัพธ์ที่ไม่แตกต่างกัน

facebook.com/foslightingdesign
instagram.com/designfos

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *