บ้านที่อาศัยความอุดมสมบูรณ์ของป่าจามจุรีและความเป็นมิตรของชุมชนเล็กๆ ใกล้ตีนดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ มาสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การพักผ่อน โดยฝีมือ Sher Maker
TEXT: NATHATAI TANGCHADAKORN
PHOTO: RUNGKIT CHAROENWAT
(For English, press here)
‘บ้านหลังนี้เกิดจากบริบทและคน’ นั่นคือประโยคแสนเรียบง่ายที่เราสรุปได้หลังรับฟังเรื่องราวของบ้าน Jomthong Raintree House ที่ออกแบบโดย Sher Maker หลังนี้ สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่ามันเรียบง่ายอย่างไร เพราะงานสถาปัตยกรรมมากมายล้วนได้รับการเอ่ยอ้างถึงด้วยประโยคนี้กันทั้งนั้น แต่อย่างไรก็ตาม บ้านหลังนี้ก็ไม่ได้เป็นสถาปัตยกรรมพักอาศัยที่จืดชืด การตั้งอยู่บนที่ดินขนาด 7 ไร่ ที่เต็มไปด้วยต้นจามจุรีในอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซ้ำยังมีทำเลอยู่บนตีนดอยอินทนนท์ ก็ทำให้เสน่ห์ของมันไม่ธรรมดาแล้ว
Jomthong Raintree House เกิดจากความต้องการบ้านสำหรับพักผ่อนใกล้ดอยอินทนนท์ เจ้าของบ้านเลือกที่ดินผืนนี้จากความอุดมสมบูรณ์ของป่าจามจุรีที่มีคาแร็กเตอร์ของพุ่มใบเฉพาะตัว และตั้งใจให้เป็น walking track ตามธรรมชาติ การวางตำแหน่งตัวบ้านภายในไซต์จึงไม่ยุ่งยาก คือวางลงตรงขอบที่ดินที่ซึ่งต้นจามจุรีไม่หนาแน่น ในส่วนของการใช้งานอาคารก็มีฟังก์ชันอย่างบ้านทั่วไป ในพื้นที่ 360 ตร.ม. ประกอบด้วยห้องนอน ห้องน้ำ ห้องทำงาน ครัว ห้องรับประทานอาหาร ห้องนั่งเล่น และพื้นที่ซักล้าง แถมมาด้วยอินเนอร์คอร์ทเล็กๆ สำหรับตากผ้า
เนื่องจากบ้านหลังนี้ไม่ได้ถูกใช้งานอย่างต่อเนื่องตลอดปี ในกระบวนการออกแบบจึงมีการใช้ระแนงเข้ามามีบทบาทต่างรั้วบ้าน ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นผนัง ช่องระบายอากาศ รวมถึงเป็นม่านบังตาจากคนภายนอก Sher Maker เลือกใช้ระแนงไม้เปาซึ่งเป็นไม้พื้นถิ่นมาทาน้ำมันขี้โล้ เพื่อถนอมเนื้อไม้ เปลือกอาคารที่ถูกถนอมด้วยกระบวนการนี้ยังมีการเสื่อมถอยได้ตามกาลเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่สถาปนิกตั้งใจเพื่อให้เจ้าของต้องมีปฏิสัมพันธ์กับตัวบ้านอยู่เนืองๆ โดยระแนงไม้ทั้งหลังได้ช่างในพื้นที่มาลงมือกรุหน้างาน ซึ่ง Sher Maker เปรยว่าโชคดีที่ได้พบช่างก่อสร้างในพื้นที่ที่มีฝีมือ ที่ยินดีจะค่อยๆ เรียนรู้และปรับแก้ในหน้างานไปพร้อมกันได้
กล่าวถึงคนที่เป็นผู้ใช้งานและคนที่เป็นผู้สร้างสรรค์กันไปแล้ว มาถึงคนสุดท้ายหรือเพื่อนบ้านรอบๆ ไซต์ซึ่งเป็นหนึ่งในบริบทของที่นี่บ้าง อีกหนึ่งเหตุผลที่ตัวบ้านตั้งอยู่ติดถนนแทนที่จะแฝงกายไปในป่าคือความเป็นมิตรของชุมชน บ้านหลังนี้ต้องการสายตาเพื่อนบ้านในการช่วยกันสอดส่องดูแลจากด้านหน้า ฟังก์ชันแรกสุดที่เราจะได้เจอเมื่อเดินเข้าไปจึงไม่ใช่พื้นที่ผ่อนคลาย แต่เป็นทางเดินที่จะพาอ้อมเข้าด้านในตัวบ้านอีกที
ลึกเข้ามาด้านหลังซึ่งที่ดินลาดลงไปและเป็นทางผ่านของ ‘ลำเหมือง’ หรือธารน้ำธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงสวนลำไยของที่ดินข้างเคียง บ้านถูกออกแบบให้กลายเป็นพื้นที่พักผ่อนที่มีความเป็นส่วนตัว mass ของอาคารที่ลอยขึ้นด้วยลักษณะของภูมิประเทศ ทำให้ได้มุมมองของป่าในระดับทิวไม้เขียวชอุ่ม ไม่ใช่เพียงลำต้นแห้งๆ ลำเหมืองที่เป็นส่วนหนึ่งของไซต์นั้นก็ไม่ได้โดนรบกวนมากนัก โดย Sher Maker เลือกที่จะเสริมความแข็งแกร่งของดินรอบข้างเพื่อรับมือกับน้ำหลากที่มาแล้วก็ไปตามฤดูกาล และแยก mass อาคารเพื่อให้โครงสร้างหยั่งอยู่ในพื้นที่มั่นคงเท่านั้น
Jomthong Raintree House เกิดจากบริบทและคน ตัวสถาปัตยกรรมเองแทบจะไม่มีสิ่งปรุงแต่ง โครงสร้างเป็นเสาคานและหลังคาจั่วเรียบง่ายภายใต้ผิวอาคารที่เป็นเปลือกไม้ ทว่าสร้างผลลัพธ์เป็นสถาปัตยกรรมสำหรับพักอาศัยที่มีเสน่ห์หลังหนึ่ง ทั้งตอบโจทย์เจ้าของบ้าน ทำงานร่วมกับภูมิปัญญาของช่างฝีมือท้องถิ่น และใช้ข้อได้เปรียบของสภาพแวดล้อมให้เป็นประโยชน์ บางทีสำหรับบ้านหลังหนึ่งในป่าจามจุรีที่สวยงาม กระบวนการเหล่านี้ก็เพียงพอแล้ว