NOSTALGIA FOR UNITY

nostalgia for unity

nostalgia for unity

นิทรรศการ nostalgia for unity โดยกรกฤต อรุณานนท์ชัย ว่าด้วยการเล่นแร่แปรสภาพตัวพื้นที่เพื่อเผยให้เห็นเส้นแบ่งอันบอบบางระหว่าง ‘งานศิลปะ’ และ ‘พื้นที่จัดแสดง’


TEXT: KANDECH DEELEE
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here)

ในนิเวศวิทยาของศิลปะ พื้นที่จัดแสดงมักจะดำรงอยู่ในตำแหน่ง ‘ฉากหลัง’ ที่คอยผลักดันส่งเสริมให้งานศิลปะมีโอกาสได้โลดแล่นอยู่ในฉากหน้าอย่างเต็มที่ นั่นจึงนำไปสู่ความนิยมในสุนทรียศาสตร์แบบห้องสีขาว (white cube) ที่จัดการให้พื้นที่จัดแสดงงานลดทอนตนเองเป็นเพียงห้องว่าง เพื่อป้องกันเงื่อนไขเฉพาะจากตัวพื้นที่เข้าไปรบกวนความหมายของตัวชิ้นงาน งานศิลปะและพื้นที่จัดแสดงจึงทิ้งระยะห่างออกจากกัน พื้นที่จัดแสดงจึงกลายเป็นพื้นที่เว้นว่าง (negative space) ที่รอการบรรจุความหมายจากชิ้นงานศิลปะ

Bangkok Kunsthalle

nostalgia for unity นิทรรศการโดย กรกฤต อรุณานนท์ชัย จัดแสดงที่ บางกอก คุนส์ฮาเลอ (Bangkok Kunsthalle) เป็นนิทรรศการที่ว่าด้วยการเล่นแร่แปรสภาพตัวพื้นที่ เพื่อเผยให้เห็นเส้นแบ่งอันบอบบางที่เกี่ยวพันกันอย่างซับซ้อนภายในตัวพื้นที่ ทั้งเส้นแบ่งระหว่างอดีต ปัจจุบัน อนาคต เส้นแบ่งระหว่างงานศิลปะและพื้นที่จัดแสดง ไปจนถึงเส้นแบ่งระหว่างประวัติศาสตร์และศิลปะ

กรกฤตแปรสภาพโถงเก่าให้กลายเป็นพื้นที่ที่ห้วงเวลาในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ได้ล้นทะลักจากเขตแดนเดิมที่เคยขวางกั้นเพื่อมาปรากฏกายร่วมกันในพื้นที่เดียวกัน เขาเปลี่ยนพื้นของโถงทั้งห้องให้กลายเป็นพื้นสีดำของเถ้าถ่านที่มอดไหม้และแตกระแหง แปรสภาพแสงให้ส่องสะท้อนลงมาจนทั่วทั้งห้องเป็นสีน้ำตาลไหม้ ผนวกกับปล่อยให้กลุ่มหมอกควันคละคลุ้งอัดแน่นอยู่ทั่วห้อง ทั้งหมดนี้อ้างอิงไปถึงประวัติศาสตร์ของตัวพื้นที่จัดแสดงที่เคยเป็นอาคารไทยวัฒนาพานิช ซึ่งเคยเกิดเหตุเพลิงไหม้ในปี 2543 จนส่งผลให้กลายเป็นอาคารร้างมานับแต่นั้น

nostalgia for unity

nostalgia for unity

nostalgia for unity

เมื่อกรกฤตนำประวัติศาสตร์มาเคลื่อนซ้อนทับกับศิลปะ เปลวไฟที่เคยโหมไหม้อาคารไทยวัฒนาพานิชจึงไม่ใช่จุดสิ้นสุด น่าสนใจว่ากรกฤตไม่ได้เลือกที่จะหยิบยก ‘เหตุการณ์’ ในอดีตขึ้นมาเพื่อเล่าซ้ำ แต่เขากลับเลือกใช้ประวัติศาสตร์นั้นมาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง ‘สถานการณ์’ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จัดแสดง แม้เพลิงจากอดีตจะมอดดับลงไปแล้ว แต่เขาได้นำไฟแห่งศิลปะมาโหมลงบนอาคารซ้ำอีกครั้งเพื่อฟื้นคืนชีพอาคารร้างให้มีชีวิตใหม่ในฐานะพื้นที่ศิลปะ กรกฤตได้ทำการสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่ความหมายของไฟจากการทำลายให้กลายเป็นการกำเนิด โดยเทียบแทนเข้ากับตำนานการฟื้นคืนชีพของนกฟีนิกซ์ที่เกิดจากเถ้าถ่านที่เคยมอดไหม้ พรมแดนของการตายและการเกิดจึงถูกท้าทายผ่านการละเมิดของศิลปะ ดังจะเห็นได้จากตัวบทข้อความที่ผุดขึ้นจากพื้นที่แตกระแหงรอบตัวห้องที่ว่าด้วยวัฏจักรที่สลับไปมาระหว่างการเกิดและการตาย การเสื่อมสลายและการฟื้นคืนชีพ จากผีสู่มนุษย์ พื้นที่ศิลปะจึงถือกำเนิดขึ้นจากกองเถ้าถ่านของอาคารร้างที่มอดดับ

nostalgia for unity

nostalgia for unity

นอกจากนี้ กรกฤตยังถมเติมระยะห่างระหว่างพื้นที่จัดแสดงและผลงานศิลปะให้กลืนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน ดังจะเห็นได้ว่า nostalgia for unity ไม่ได้แยกตัวผลงานออกเป็นชิ้นๆ ผู้ชมจึงไม่ได้เผชิญหน้ากับงานศิลปะที่ถูกจัดแสดงในพื้นที่ แต่กลายเป็นการเผชิญหน้ากับพื้นที่ที่กลายเป็นงานศิลปะ นิทรรศการนี้จึงเล่นล้ออยู่กับภาวะคู่ตรงข้ามระหว่างการเว้นว่างและการเติมเต็ม การเว้นว่างจึงไม่ใช่การทิ้งระยะออกจากศิลปะ แต่การเว้นว่างกลับเป็นหนึ่งเดียวกับศิลปะ nostalgia for unity จึงเป็นทั้งโถงโล่งแต่กลับแน่นไปในเวลาเดียวกัน โดยเราไม่อาจชี้ชัดหรือแยกขาดได้ว่าส่วนใดอยู่ฉากหน้าและส่วนใดอยู่ฉากหลัง

nostalgia for unity

ยิ่งไปกว่านั้น กรกฤตยังทำให้ไฟที่กำลังลุกไหม้นี้กลายเป็นเปลวเพลิงอันศักดิ์สิทธิ์ เขาจัดวางตัวบทถ้อยคำโดยร้อยเรียงให้เป็นบรรทัดที่วนอยู่รอบขอบของพื้นที่จัดแสดง กลายเป็นวงแหวนเวทย์ที่ประกอบพิธีกรรมอัญเชิญห้วงเวลาอดีต ปัจจุบัน อนาคตให้ลงมาสถิตพร้อมกันในพื้นที่แห่งนี้ ประกอบกับเสียงบทสวดที่สั่นพ้องต้องกันระหว่างจากสวรรค์ โลกมนุษย์ และยมโลก เกิดเป็นอาณาบริเวณจำเพาะที่สลายพรมแดนแต่เก่าก่อนให้มาบรรจบกันอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ด้วยมนตราของศิลปะ ผู้ชมจึงสามารถสัมผัสได้ทั้งส่วนที่เป็นอาคารเก่าที่เคยถูกเผาไหม้ ไปพร้อมๆ กับส่วนที่เป็นศิลปะที่เกิดใหม่จากเปลวไฟของเขา พื้นที่เว้นว่างที่ผู้ชมยืนอยู่กลางวงแหวนของถ้อยคำจึงมอบอำนาจให้ผู้ชมหลุดออกจากกฎเกณฑ์ของเส้นเวลาที่ถูกกำกับจากโลกภายนอก

nostalgia for unity

นอกจากนี้การจัดเรียงถ้อยคำดังกล่าว ยังร้อยเรียงต่อกันเป็นวงวัฏจักรโดยปราศจากการระบุจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด การอ่านตัวบทของผู้ชมจึงเป็นเพียงการอ่านเฉพาะส่วนที่ผุดขึ้นมาเบื้องหน้า และรับรู้แค่ประโยคที่อยู่ด้านหน้าและด้านหลังอย่างจำกัด โดยไม่อาจชี้ชัดได้ว่าเป็นอดีตหรืออนาคตที่ยังวนไปไม่ถึงกันแน่ ทั้งหมดนี้กลายเป็นวัฏจักรอันต่อเนื่องแบบงูกินหาง (ouroboros) ที่การเกิดและการตายกลายเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน กิจของการอ่านที่ถูกท้าทายนี้ สอดประสานกับตัวนิทรรศการที่เล่นอยู่กับความต่อเนื่องของเวลาที่แม้ดูเหมือนจะเป็น ‘เอกเทศ’ ต่อกันแต่ก็กลับเป็น ‘เอกภาพ’ ไปในเวลาเดียวกัน (unity)

nostalgia for unity

nostalgia for unity จึงเป็นการหยิบยื่นห้วงขณะหนึ่งของพื้นที่ที่มีความเกี่ยวพันกันระหว่างภาวะของอดีตเบื้องหลังกับอนาคตเบื้องหน้า กรกฤตแสดงให้เห็นว่า สรรพสิ่งล้วนถือกำเนิดขึ้นบนความตายของอีกสิ่งหนึ่ง และสิ่งเหล่านั้นต่างดำรงอยู่เพื่อที่มอบการกำเนิดใหม่บนความตายของตนวนซ้ำเป็นวัฏจักร การรับรู้ศิลปะและประวัติศาสตร์จึงไม่ได้เป็นเส้นตรงที่แยกขาดจากกันเป็นส่วนๆ แต่เป็นการรับรู้พื้นที่จำเพาะหนึ่งที่มีการเกี่ยวพันกับความเป็นไปได้อีกเป็นอนันต์ไม่รู้จบ สรรพสิ่งจึงล้วนถือกำเนิดจากอดีตเถ้าธุลี เพื่อรอการเป็นเถ้าธุลีอีกทีในอนาคต (ปฐมกาล 3:19)

นิทรรศการ nostalgia for unity จัดแสดงที่ บางกอก คุนส์ฮาเลอ (Bangkok Kunsthalle) ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 31 ตุลาคม 2567

bangkok-kunsthalle.org
facebook.com/BangkokKunsthalle

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *