เปิดบทสนทนากับออม-สกุลมา เจ้าของ MOA Studio สตูดิโอการออกแบบภายในสไตล์ Maximalist ด้วยการใช้สีสันและวัสดุที่แปลกใหม่ ที่สะท้อนเอกลักษณ์เฉพาะตัว
TEXT: CHIWIN LAOKETKIT
PHOTO: SUKIT SUDNAN EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
MOA Studio สตูดิโอออกแบบภายในที่เปิดใหม่มาได้ไม่นาน แต่กลับมีผลงานโดดเด่นอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น คาเฟ่ ร้านอาหาร บาร์ ที่พักอาศัย หรือแม้แต่อาคารสำนักงาน ซึ่งความโดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของ MOA Studio มาจากวิธีคิดและการทำงานที่แตกต่างไปจากสไตล์การออกแบบตามขนบเดิม ภายใต้การดูแลของออม-สกุลมา สถาปนิกและอินทีเรียดีไซเนอร์ ผู้เลือกที่จะสวนกระแส minimalist design สู่ความ ‘น้อยแต่มาก’ ด้วยความ ‘มากแต่มาก’ อย่าง maximalist design และยังชื่นชอบการนำศาสตร์การออกแบบมาผสมผสานกับความคลาสสิก เติมแต่งด้วยการใช้สีสันที่สะดุดตา จนกลายมาเป็นการออกแบบภายในร่วมสมัย ที่เป็นสไตล์เฉพาะของเธอและ MOA Studio
ในครั้งนี้ art4d ได้มีโอกาสพูดคุยกับออม-สกุลมา ถึงเส้นทางการออกแบบอินทีเรีย มุมมองการทำงาน และวิธีการทำงานในสไตล์ maximalist ท่ามกลางยุคของ minimalist วิธีการทำงานกับสีสันและการเลือกใช้วัสดุจากหลากหลายพื้นที่ รวมทั้งวัสดุท้องถิ่นในไทย รวมไปถึงทิศทางในอนาคตของเธอ ในบรรยากาศสบายที่เต็มไปด้วยมวลของแรงบันดาลใจและความสร้างสรรค์ของ MOA Studio ย่านสาทร

ออม-สกุลมา
art4d: อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้คุณมาสนใจสถาปัตยกรรมและการออกแบบอินทีเรีย
Aom Sakulma: จุดเริ่มต้นมาจากคุณพ่อค่ะ ตัวคุณพ่อของออมเป็นวิศวกร และทุกครั้งที่มีโอกาสคุณพ่อจะชอบเดินทางไปดูวัสดุในต่างประเทศ จำได้ว่าภาพในกล้องของคุณพ่อจะเต็มด้วยรูปวัสดุก่อสร้างหรือเทคนิคก่อสร้าง ที่บางอันเราก็ไม่ค่อยได้เห็นในไทย ก็เลยเป็นสิ่งที่ออมคลุกคลีและซึมซับมาตั้งแต่เด็ก จนรู้สึกว่าสนใจในเรื่องการก่อสร้างและสถาปัตยกรรม แต่พอโตขึ้นก็รู้สึกวิศวกรคงไม่ทางสำหรับเรา ออมเลยเลือกเรียนออกแบบสถาปัตยกรรมที่ INDA จุฬาฯ และส่วนตัวออมที่เป็นคนชอบแฟชั่น เรื่องดีเทลเล็กๆ น้อยๆ ด้วย จึงทำให้เราชอบเรื่องการออกแบบอินทีเรียมากขึ้น หลังเรียนจบก็มีโอกาสได้ไปทำงานออกแบบสถาปัตยกรรมมาบ้าง แต่ก็ยังรู้สึกว่าไม่ใช่ทางที่ชอบที่สุด จนช่วงโควิด 19 ได้ไปลองทำงานด้านออกแบบอินทีเรียมากขึ้น จนในที่สุดก็เจอสิ่งที่เราชอบมากๆ จนกลายเป็น MOA Studio ขึ้นมา
art4d: อยากให้นิยามความเป็น MOA Studio ในสายตาของคุณให้เราฟังหน่อย
AS: MOA (โมอา) ย่อมาจาก ‘Modern of liveable Art’ เพราะตลอดเวลาการทำงาน ออมจะใช้ความเป็นศิลปะมาจุดตั้งต้นของการออกแบบ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะใส่ความทันสมัย ความสนุก สดใส และต้องตอบโจทย์กับการใช้งานจริงด้วย แบบที่คนมองแล้วจะต้องรู้เลยว่านี่มาจาก MOA Studio ด้วยความที่การออกแบบส่วนใหญ่ในบ้านเรามักจะเป็นสไตล์มินิมอล less is more แต่กับ MOA Studio เราเชื่อใน more is more มากและมาก แต่ไม่ใช่ความมากที่ฟุ่มเฟือย เป็นความมากที่ตอบโจทย์ ใช้สอยได้อย่างคุ้มค่า รวมไปถึงยังคงมีสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ ทันสมัย
ก่อนเริ่มออกแบบทุกครั้งเราจะตั้งคอนเซ็ปต์และตามคอนเซ็ปต์นั้นตลอดการออกแบบ เช่น “บ้านที่ให้ความรู้สึกว่าต้องเป็นคนเก๋ๆ เท่านั้นถึงจะอยู่ได้” (หัวเราะ) ทิศทางในการออกแบบออมชอบเอาเรื่องการใช้สีสันมาใช้ประโยชน์ ทั้งโทนสีแดง สีเขียว สีน้ำตาล หรือแม้แต่สีคู่ตรงข้ามกัน มาผสมผสานกันอย่างลงตัว และยังให้ความสำคัญกับเรื่องเนื้อสัมผัส ความหยาบ ความละเอียด หรือแม้แต่ดีเทลการจับคู่องค์ประกอบต่างๆ การผสมผสานเอาความร่วมสมัยและ Mid-Century ให้ออกมาเป็นความคลาสสิกที่มีรายละเอียดบางอย่างเฉพาะตัว

MOA Studio | Photo courtesy of MOA Studio
art4d: ในการเริ่มต้นแต่ละโปรเจกต์ คุณมีวิธีการทำงานกับเจ้าของหรือผู้ใช้งานพื้นที่อย่างไรบ้าง
AS: ออมเริ่มจากการสังเกตก่อนเลยว่าลูกค้าหรือเจ้าของมีคาแร็กเตอร์เป็นอย่างไร กำลังสนใจหรือมองหาอะไรอยู่ และไม่ลืมที่จะคิดต่อไปถึงมุมมองของผู้ใช้งานจริง บวกกับมุมมองของเราที่มีกับพื้นที่นั้น แล้วเอาทั้งหมดมาเป็นวัตถุดิบในการออกแบบ มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นหาทิศทาง โทนสี มู้ดและโทนในการออกแบบเพื่อให้ได้สไตล์ใหม่ๆ ที่ไม่มีใครทำมาก่อน โดยที่ยังมีความเป็นตัวตนของเจ้าของพื้นที่ผสมกับสไตล์ของ MOA Studio อยู่ด้วยกันอย่างลงตัว
ส่วนใหญ่ออมจะเริ่มจากการเสนอไอเดียมุมมองของเราที่มีกับสเปซนั้นๆ เป็นภาพที่เรามีในหัว หรือวิชวลที่เราชอบ อย่างโปรเจกต์ Rimshot ที่สุขุมวิท 24 ต้นทุนเดิมของพื้นที่คือมีเสาอยู่ 4 ต้น และมีท่อน้ำเต็มผนังและเพดานซึ่งเป็นอะไรที่ค่อนข้างท้าทาย ตอนนั้นภาพที่เห็นทำให้เราอยากให้ประโยชน์จากเสาพวกนี้ด้วยการพอกปูนเป็นรูปเห็ดขึ้นไป โดยที่เรายังเก็บท่อน้ำให้ยังคงฟังก์ชันเดิม แต่เพิ่มเติมด้วยดีไซน์ที่เพิ่มความโดดเด่นให้พื้นที่นี้ขึ้นมาค่ะ

Rimshot Sukhumvit

Rimshot Sukhumvit 24
art4d: งานออกแบบอินทีเรียที่ดีในมุมมองของคุณเป็นอย่างไร
AS: ในมุมมองของออมและ MOA Studio เราจะเน้นให้ความสำคัญไปที่ฟังก์ชันการใช้งานเป็นอย่างแรกเลยค่ะ แล้วเรื่องบรรยากาศ เรื่อง aesthetic ตามมา และเพิ่มความแปลกใหม่ด้วยการไม่ติดอยู่กับกรอบเดิมๆ ตัวออมเองชอบที่จะออกเดินทางไปพบเจออะไรใหม่ๆ การได้ค้นหารูปแบบการออกแบบที่ฉีกไปจากเดิม การไปดูงานจากอินทีเรียดีไซเนอร์ระดับท็อป ตามโรงแรม รีสอร์ทในต่างประเทศ ซึ่งเราก็ได้ประสบการณ์จากสิ่งเหล่านี้ทั้งการใช้สีที่สดใส การใช้พื้นที่ การ matching เฟอร์นิเจอร์มาปรับใช้ จากใจลึกๆ ก็อยากให้อุตสาหกรรมการออกแบบอินทีเรียในบ้านเรามีความ ‘ป๊อป’ ขึ้น มีความกล้าเล่นกับความสดใสมากขึ้นน่าจะเป็นอะไรที่สนุกและน่าสนใจขึ้นเยอะเลยค่ะ
art4d: ประสบการณ์ในช่วงที่เป็นสถาปนิก มีความสำคัญกับมุมมองการออกแบบอินทีเรียของคุณไหม
AS: อาจจะเป็นความโชคดีที่ออมเคยผ่านทั้งงานสถาปนิกและนักออกแบบภายใน มันทำให้เราเห็นว่าอะไรควรทำและไม่ควรทำมากขึ้น การเป็นนักออกแบบภายในทำให้เรามองเห็นรายละเอียดเล็กๆ ที่เคยมองข้ามไปตอนที่เป็นสถาปนิก และในขณะเดียวกันเราก็ยังให้ความสำคัญกับการใช้สเปซจากการที่เคยทำสถาปนิกมาก่อนด้วย และอีกสิ่งนึงที่มาจาก feedback ของคนที่เห็นผลงานออมคือมักจะถูกมองผ่านแง่มุมของศิลปะที่แอบซ่อนอยู่ โดยสายตาของคนที่อยู่ในสายงานศิลปะ ซึ่งส่วนตัวออมเลยคิดว่าทั้งหมดนี่น่าจะเป็นผลพลอยได้ที่ดีมากๆ จากการที่เราผ่านประสบการณ์มาทั้งการเป็นสถาปนิกและนักออกแบบภายในค่ะ

residential project
art4d: ถ้าต้องออกแบบอินทีเรียเป็นอาคารสไตล์มินิมอลบ้าง คุณจะมีวิธีในการออกแบบอย่างไร
AS: ออมจะไม่ยอมถูกความมินิมอลกลืนกินไปอย่างแน่นอน (หัวเราะ) แต่ถ้าเป็นความต้องการของลูกค้าจริงๆ ในกรณีนี้เราก็จะเริ่มต้นด้วยการชวนลูกค้ามาคุยกันว่าจะพอมีองค์ประกอบไหนบ้างที่เราจะแทรกความสดใส หรือสีสัน เช่น ลวดลายของหิน การใช้สีจัดๆ เข้ามาตัด แต่ทั้งหมดนี้ก็จะต้องตรงกับจริตของเจ้าของและผู้ใช้งานจริงด้วย เราไม่ได้จะยัดเยียดความเป็นเราให้กับใคร เพียงแต่เป็นการลองเสนอไอเดียและมุมมองที่แตกต่าง เพื่อให้เราได้การออกแบบที่มีไดนามิกมากขึ้น ตรงตามความต้องการและความพึงพอใจของผู้ใช้งาน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงเป็นเอกลักษณ์ของ MOA Studio ด้วย

commercial project
art4d: มีวัสดุชนิดไหน ที่คุณอยากนำมาทดลองหรือเคยนำมาออกแบบอินทีเรียเป็นพิเศษบ้างไหมครับ
AS: จริงๆ ในประเทศไทยยังมีวัสดุท้องถิ่นที่คนยังไม่กล้าเอามาเล่นเยอะเลยค่ะ ตัวออมพยายามลองเอาสิ่งเหล่านั้นมาผสมเข้ากับแฟชั่น เป็นการช่วยยกระดับของใกล้ตัวให้คนสนใจและเห็นคุณค่ามากขึ้น เพราะบางครั้งก็เสียดายที่เห็นวัสดุดีๆ ของบ้านเราที่ส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปต่างประเทศในฐานะของแปลกของคนนอก
ถ้าสังเกตจากผลงานของ MOA Studio แทบทุกโปรเจกต์ที่เราออกแบบจะชอบใช้กระเบื้องดินเผา ซึ่งเป็นกระเบื้องดินเผาจากอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ในการผลิตกระเบื้องสีเคลือบในแต่ละแผ่นก็จะมีความเป็นเอกลักษณ์ในตัวเอง บางแผ่นสีน้ำตาลเข้ม บางแผ่นสีน้ำตาลอ่อน ซึ่งพอเรานำมาจัดวางรวมกันกลายเป็นอะไรที่ลงตัวมากๆ แม้ว่าการสั่งทำจะต้องใช้เวลาผลิตนานเพราะจะมีการทำตามออร์เดอร์เท่านั้น แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่คุ้มค่ามากๆ ค่ะ
art4d: จากการที่คุณชอบเฟ้นหาวัสดุจากหลากหลายพื้นที่ แล้วกับวัสดุท้องถิ่นในประเทศไทย คุณมีวิธีการในการ matching กับการออกแบบอินทีเรียอย่างไร
AS: มีอยู่โปรเจกต์หนึ่งที่เจ้าของบ้านเป็นคู่ LGBTQ+ แล้วทั้งคู่เป็นคนที่มีสไตล์และคอนเซ็ปต์ชัดเจนมาก คือมีความ glamorous ความสวยแบบมีสไตล์ พอออมได้ลงพื้นที่สำรวจและเริ่มดีไซน์ เราเลยรู้สึกว่านอกจากสีทองเราสามารถเพิ่มผิวสัมผัสที่แปลกใหม่เพิ่มขึ้นได้อีก ออมจึงเลือกแผ่นทองเหลืองที่มีการทุบจนเกิดเป็นลายดอกไม้ ภาพที่ได้จึงเป็นลวดลายที่มีมิติ มีผิวสัมผัสที่แปลกใหม่ ซึ่งออมได้ไอเดียมาจากชุมชนคนทำงานทองเหลือง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ออมมองว่าการที่เราจะใช้วัสดุท้องถิ่นให้คุ้มค่าที่สุดคือเราควรที่จะเพิ่มมูลค่าให้สิ่งนั้นไปด้วยในเวลาเดียวกัน สุดท้ายออมก็เอาไอเดียนี้มาปรึกษากับทีม MOA Studio เพื่อต่อยอดก่อนจะนำไปใส่ไว้ในองค์ประกอบบ้านจริงๆ ค่ะ
art4d: คิดว่ามุมมองต่อความงามของคุณมาจากไหน
AS: ครอบครัวค่อนข้างมีอิทธิพลกับชีวิตออมมากพอสมควรเลยค่ะ ตั้งแต่เด็กๆ ออมจะได้ใช้ชีวิต ไปคลุกคลีกับคุณตาและคุณยายที่ท่านชอบสะสมเครื่องแก้ว เครื่องทองเหลือง มีเฟอร์นิเจอร์ที่มีดีเทลแปลกๆ มากมาย อย่างตู้ไม้ก็จะต้องมีดีเทลการเดินเส้นเป็นกลมๆ ซึ่งออมคิดว่าการซึมซับสิ่งเหล่านี้มาแบบไม่รู้ตัวตั้งแต่เด็ก ทำให้เราค่อยๆ มองเห็นและสนใจความพิเศษ ความสวยงามในสิ่งธรรมดารอบตัวมากขึ้นค่ะ

Konger Bar (Sydney, Australia)

Konger Bar (Sydney, Australia)
art4d: มองทิศทางความเป็นไปของ MOA Studio ในอนาคตเป็นอย่างไรบ้าง
AS: สำหรับ MOA Studio ยังมีโปรเจกต์ที่อยากทำก็คือแนวบาร์และร้านอาหาร ที่แค่พูดถึงก็ตื่นเต้นแล้วค่ะ เพราะโดยส่วนตัวออมมองว่างานบาร์และร้านอาหาร เป็นพื้นที่ที่เปิดให้เราสร้างสรรค์ในงานออกแบบได้เกือบทุกมิติ อาจให้ความรู้สึกที่มีทั้งความทันสมัย รวดเร็ว หรือแม้แต่เซ็กซี่ ในขณะเดียวกันเรื่องของการใช้วัสดุ ก็ยังเป็นโจทย์ที่เปิดกว้างให้เราได้เลือกใช้วัสดุที่แปลกใหม่มาลองใช้ในงานได้เช่นกันค่ะ
และนอกจากงานออกแบบในนาม MOA Studio ออมก็กำลังขยายแบรนด์เพิ่ม โดยเราอยากขยายการทำงานจากสตูดิโอ ให้เป็นอุตสาหกรรมการออกแบบที่ครบวงจรและมีความยั่งยืนมากขึ้น ตอนนี้ที่กำลังตั้งใจฟูมฟักมากๆ เลยก็คือแบรนด์ MOJO เป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ที่เน้นความยั่งยืนในทุกกระบวนการผลิต การใช้วัสดุรีไซเคิลให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์น่ารักๆ เช่น บ้านเลขที่ เครื่องครัว หรือเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งก็สามารถมาตอบโจทย์ลูกค้าของ MOA Studio ที่ต้องการสั่งทำองค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ ให้ตรงความต้องการของตัวเองได้ด้วยค่ะ
นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ MEdi เป็นแบรนด์ทำเมลามีนเรซินที่สามารถสั่งตัดประกอบได้เลย ที่สุดท้ายจะออกมาเป็นเฟอร์นิเจอร์ built-in หรือเฟอร์นิเจอร์ ที่ความพิเศษคือเราจะเลือกใช้วัสดุที่คุณภาพดี มีความทนทาน ออกแบบเน้นทั้งดีไซน์และฟังก์ชันการใช้งานและอยู่ในราคาที่สมเหตุสมผล จับต้องได้ ซึ่งลูกค้าจะสั่งทำเฉพาะ หรือจะเลือกจากแบบที่เราทำไว้แล้วก็ได้ค่ะ สุดท้ายแล้วออมอยากให้ทุกแบรนด์ช่วยกันสนับสนุนการทำงานของกันและกัน และออมก็มีความเชื่อเสมอว่าการทำงานของออม ร่วมกับทีม MOA Studio และแบรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งหมดนี้ จะสร้างปรากฏการณ์ที่น่าสนใจให้กับวงการออกแบบอินทีเรียในไทยได้สักวันหนึ่งค่ะ

ออม-สกุลมา