ROOF AND ROOM

Roof and Room

เรื่องราวของสถาปัตยกรรมเพื่อการใช้งานและชุมชน กับอาคารเหล็กโดยนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Bangkok Tokyo Architecture และช่างในท้องถิ่น

TEXT: XAROJ PHRAWONG
PHOTO COURTESY OF BANGKOK TOKYO ARCHITECTURE

(For English, press  here)

สถาปัตยกรรมสามารถมองได้หลายแง่มุม บ้างมองผ่านแนวคิดของความงาม บ้างมองผ่านแนวคิดมนุษย์ศาสตร์ แต่ที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือสถาปัตยกรรมเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ดังนั้นการทำความเข้าใจแนวคิด ทฤษฎีต่างๆ ในการศึกษาประเด็นด้านสถาปัตยกรรมจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจผ่านการก่อสร้าง หรืออาจจะมองได้ว่าสถาปัตยกรรมนั้นคือ ‘ศิลปะการก่อสร้าง’

Roof and Room

ในจังหวัดอุดรธานี บนสนามของโรงเรียนบ่อน้อยประชาสรรค์ปรากฏเป็นอาคารเหล็กขนาดเล็ก ดูโปร่งเบา ประกอบกันด้วยเหล็กหลายขนาด ทั้งเหล็กกลมและเหล็กกล่อง ส่วนที่น่าสนใจคือการสร้างสถาปัตยกรรมนี้เกิดจากการขับเคลื่อนการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมที่ผลักดันให้เกิดงานสร้างจริงมากกว่าเป็นโปรเจกต์อยู่แค่ในกระดาษ อาคารนี้เป็นการร่วมมือกันกับ วทันยา จันทร์วิทัน และ Takahiro Kume จากสำนักงานสถาปนิก Bangkok Tokyo Architecture ที่มีบทบาทเป็นอาจารย์ในการจัดทำโครงงานในรายวิชาการออกแบบและก่อสร้างเพื่อชุมชน (Design and Construction Projects for Communities) ปีการศึกษา 2567 ของ นิสิตชั้นปีที่ 3 หลักสูตรนานาชาติ หรือ INDA, the International Program in Design and Architecture คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักศึกษาใช้เวลาลงเรียนวิชานี้ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน เพื่อเรียนรู้การทำโครงงานให้สำเร็จ ซึ่งนิสิตมีส่วนร่วมในการออกแบบสถาปัตยกรรมและขั้นตอนควบคุมก่อสร้างทุกขั้นตอน โดยโครงการนี้เกิดขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนจากหลายฝ่าย จากทั้งภาคบริษัทต่างๆ รวมถึงบุคคลมากมาย

Roof and Room

เริ่มต้นจากการสำรวจว่ามีพื้นที่ไหนบ้างที่ต้องการอาคาร ก่อนให้นักศึกษาลงพื้นที่เพื่อทำการสัมภาษณ์ผู้ใช้งาน และนำเสนอโปรแกรมของอาคารที่ตอบรับต่อการใช้งานจริง ออกมาเป็นอาคารอเนกประสงค์ หนึ่งหลังที่ต้องตอบรับต่อความต้องการที่หลากหลายของคุณครูที่ต้องการพื้นที่เพื่อการจัดกิจกรรมที่แตกต่างกันไป ตัวอาคารถูกออกแบบตามการใช้สอยพร้อมวางผังด้วยวิธีที่เรียบง่ายเพื่อให้หลายพื้นที่สามารถเชื่อมโยงถึงกัน พื้นที่ภายในถูกแบ่งด้วยเส้นสายอิสระที่โค้งไปมาแต่ถูกควบคุมด้วยระบบกริดซ้อนทับกันอยู่ในเนื้อเดียว มีการใช้ผนังหุ้มแผ่นเหล็กฉีกมีคุณสมบัติที่ระบายอากาศได้ดี ทั้งยังมีความเชื่อมโยงกับภายนอกและภายใน รวมถึงสามารถป้องกันทรัพย์สินสูญหายได้เมื่อปิดประตูลง

Roof and Room

รูปทรงของอาคารที่เกิดขึ้นนั้นมีที่มาจากการการทำงานร่วมกันของทั้งนิสิตและอาจารย์ เพื่อหารูปทรงที่สามารถสร้างได้ง่ายจากวัสดุอุตสาหกรรมที่หาได้ในพื้นที่ทั้งยังมีราคาถูก ผลลัพธ์คือรูปทรงหลังคาโค้งที่มีการใช้โครงสร้างหลักเป็นเหล็กกลมขนาดเล็กที่มีการเพิ่มค้ำยันไขว้ (cross bracing) แทนการใช้โครงสร้างแบบเสาคานเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ค้ำยันไขว้เหล่านี้ถูกยึดเสริมระหว่างเสาในหลายส่วนของมุมอาคาร รวมถึงมีการเพิ่มค้ำยันไขว้นี้ระหว่างช่วงเสาใต้อะเสเหล็กกล่องสี่เหลี่ยม เพื่อป้องกันไม่ให้อาคารแกว่ง  ทำให้ในภาพรวมอาคารมีขนาดเบา โปร่ง จากการเลือกใช้วัสดุอันมีที่มาจากประเด็นข้อจำกัดเรื่องเทคนิคการก่อสร้าง และงบประมาณที่จำกัด

Roof and Room

สเปซภายในผนังเหล็กฉีกถูกทำให้มีบรรยากาศที่พิเศษขึ้นด้วยการใช้ฝ้าเพดานเป็นแผ่นหลังคาโปร่งแสงซึ่งมักถูกใช้ในส่วนที่ต้องการแสงธรรมชาติ อาทิ ส่วนซักล้าง แต่สถาปนิกเลือกใช้วัสดุนี้ในส่วนของฝ้าเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่น่าสนใจด้วยวัสดุธรรมดาที่หาได้ทั่วไป อีกทั้งด้วยรูปทรงหลังคาที่โค้งเป็น 3 มิติและมีความลาดเอียงอย่างค่อยเป็นไปค่อยไป วัสดุที่เลือกใช้จึงเป็นหลังคาเหล็กรีดลอนบนโครงสร้างเหล็กโค้ง หลังคาทำหน้าที่คลุมสเปซที่จนเกิดห้องที่สามารถสร้างประโยชน์ใช้สอยสูงสุด บนการใช้วัสดุที่น้อยที่สุด

Roof and Room

ความสัมพันธ์ระหว่างสถาปนิกและช่างก่อสร้างของอาคารก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน การออกแบบที่เกิดขึ้นมีการเลือกใช้วิธีการก่อสร้างที่สามารถทำได้ด้วยฝีมือช่างท้องถิ่น อาทิ การไล่ปูหลังคาเพื่อให้ได้โค้งลาดเอียง รวมถึงการดัดเหล็กจันทันกลมให้โค้งตามรูปทรงที่ต้องการ อาคารที่เกิดขึ้นยังตอบรับกับโจทย์ที่ได้รับมา ทั้งความสะดวกในการบำรุงรักษา การก่อสร้างที่ง่ายและรวดเร็ว และในที่สุดแล้วนั้นการก่อสร้างลุล่วงด้วยการใช้แรงงานเพียงแค่ไม่กี่คนในช่วงเวลาไม่กี่เดือน

Roof and Room

สำหรับแนวทางการออกแบบของงานนี้ สามารถสะท้อนถึงแนวทางการทำงานของ Bangkok Tokyo Architecture ได้ชัดเจน ตามที่สถาปนิกบอกถึงแนวคิดในการทำงานของตัวเองว่า

“เป็นการทำงานที่คำนึงถึงความธรรมดาวัสดุที่ใช้ หาไม่ยาก ประกอบด้วยวิธีการใหม่ เป็นความธรรมดาที่ไม่ธรรมดา ก้ำกึ่งกับสถาปัตยกรรมที่ทำเองได้ ให้เข้าถึงสถาปัตยกรรมในชุมชน”

_
รายชื่อนิสิตและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง: กัลยกฤต การะเกตุ, พลอยนภัส จูสิริวัฒน์, นภัส รุ่งเรืองศิริพันธ์, วิชญ์ ชินประดิษฐสุข, พาขวัญ พันธุ์มงคล, โยษิตา ปานขำ, แพรวา ศิริม่วง, ประสพสุข มั่นคง, รสสุคนธ์ เอี่ยมพรชัย, ณัฐรีย์ เดชาวิจิตร, ธีธัช พานิชภักดี, สุธีรา เหล่ากิตติพนิช, อภิวิชญ์ อภินัยนุรักต์

btarchitecture.jp
facebook.com/bangkoktokyoarchitecture

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *