NFTs ART

NFT (NON-FUNGIBLE TOKEN) HAS BEEN A HYPE AROUND THE ART WORLD. BUT WHAT EXACTLY IS IT?

TEXT: RAWIRUJ SURADIN
PHOTO CREDIT AS NOTED

(For English, press here)

แนวคิดการกระจายอำนาจ (decentralization) กลายเป็นรูปธรรมจากการที่เทคโนโลยีการจัดการข้อมูลดิจิทัลไม่จำเป็นต้องมีศูนย์กลางในการจัดเก็บข้อมูลเหมือนในอดีต เทคโนโลยีนี้อาศัยคอมพิวเตอร์ของผู้ที่อยู่ในเครือข่ายเป็นจุดเชื่อมต่อ (node) สำหรับประมวลผล และกระจายข้อมูล ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งข้อมูล และความปลอดภัยของระบบ ขจัดปัญหาเรื่องเสถียรภาพ และความปลอดภัยของข้อมูลที่จัดเก็บโดยส่วนกลาง อำนาจการตัดสินใจที่ล้นเกินของผู้ควบคุมระบบ หรือปัญหาในเรื่องระดับชั้น และความโปร่งใสในการเข้าถึงข้อมูล

Photo from repository anvaka/snap.topology by Andrei Kashcha in github.com exhibiting internet topology using the data from SNAP by Standford University

รูปธรรมที่เห็นได้ชัดของแนวคิดการกระจายอำนาจอย่างเทคโนโลยี blockchain ที่ใช้ในการจัดการสกุลเงินดิจิทัล ทำให้ธุรกรรมการซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีศูนย์กลางในการจัดการข้อมูล  แต่อาศัยความเป็นเอกฉันท์ (concensus) จากการประมวลผลผ่านผู้ที่มีส่วนร่วมอยู่ในเครือข่าย เพื่อพิสูจน์ และยืนยันผลของแต่ละกิจกรรมที่เกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับเทคโนโลยี blockchain คือ NFT (Non-fungible token) หรือตราสัญลักษณ์ที่ทดแทนกันไม่ได้ ซึ่งเกิดขึ้นจากรหัสเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกันในตราสัญลักษณ์แต่ละอัน มีลักษณะแตกต่างจาก Fungible Token ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีลักษณะเฉพาะ และสามารถถูกทดแทนได้ในการแลกเปลี่ยน เช่น เหรียญห้าบาทที่เราให้เพื่อนยืมไป เราสามารถยอมรับได้เมื่อเพื่อนนำเหรียญห้าบาทที่ไม่ใช่เหรียญเดียวกันมาคืนเรา

NFT ถูกใช้ผูกโยงกับข้อมูลดิจิทัล (jpg, png, gif, mp3, mp4 และอื่นๆ) เพื่อยืนยันการมีอยู่หนึ่งเดียวของไฟล์ข้อมูลนั้น โดยอาศัยรหัสเฉพาะตัวของ NFT เพื่อผูกโยงไฟล์ดิจิทัลผ่านระบบ blockchain ในแง่นี้ NFT อาจดูเหมือนใบรับรองความจริงแท้ของไฟล์ข้อมูลในโลกดิจิทัล แต่ถ้าหากเรามองว่าความหมายของความจริงแท้ และการมีอยู่หนึ่งเดียวผสานเป็นเนื้อเดียวกับสิ่งของกายภาพตั้งแต่ต้น NFT ควรจะถูกมองว่าทำหน้าที่ที่มากไปกว่านั้น เพราะหากไม่มีตราสัญลักษณ์นี้ความจริงแท้ และมีหนึ่งเดียวอาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยในโลกดิจิทัล โลกที่การแก้ไข และการทำซ้ำข้อมูลเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติ

NFTs art เป็นงานศิลปะในรูปแบบไฟล์ดิจิทัลที่ถูกผูกโยงกับ NFT ลักษณะเฉพาะของ NFTs art คือรายละเอียดการซื้อขายงานศิลปะประเภทนี้ (เช่น ผู้ซื้อ ผู้ขาย ราคา) จะถูกบันทึกลงไปในระบบ blockchain ลักษณะพิเศษของระบบกระจายอำนาจในการประมวลข้อมูลนี้ทำให้ข้อมูลการซื้อขายไม่สามารถถูกแก้ไขหรือถูกลบออกจากระบบได้ การซื้อขายงานศิลปะในรูปแบบใหม่นี้ เกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งผลงานศิลปะไม่สามารถถูกจับต้องได้ (intangible) การซื้อขาย และสะสมเกิดขึ้นผ่าน application หรือ web browser บนหน้าจอดิจิทัลเท่านั้น

Beeple, Everydays: The First 500 Days, Photo courtesy of christies.com

หลายคนคงได้ยินข่าวความนิยมในการสะสมงานดิจิทัลที่เป็นกระแสจากข่าวของ Beeple (Mike Winkelmann) ศิลปินดิจิทัลที่ขายงาน digital collage ‘Everydays—The First 5,000 Days’ ผ่านการประมูลที่ Christie’s ด้วยราคาสูงถึง 69.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือกว่า 2,100 ล้านบาท) ความนิยมในงานศิลปะดิจิทัลทำให้เกิดแพลตฟอร์มใหม่ที่เป็นพื้นที่ซื้อ-ขาย และสะสมงานประเภทนี้ เช่น Foundation, Superrare, Nifty Gateway, Rarible, Opensea, Mintable ฯลฯ รูปแบบของ NFTs art ทำให้เราเห็นถึงความเป็นไปได้ในการบริหารจัดการงานศิลปะดิจิทัล ในลักษณะเดียวกับที่สกุลเงินดิจิทัลทำให้เราได้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการจัดการธุรกรรมทางการเงินที่ไม่จำเป็นต้องมีธนาคารเป็นศูนย์กลาง un-bank-ness ของระบบเงินดิจิทัล อาจนำไปสู่ un-gallery-ness หรือ un-musuem-ness ของระบบการแสดงงานศิลปะเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม การซื้อขาย NFTs art ในตอนนี้อาจยังคงมีปัญหาบางประการ เช่นในเรื่องความสัมพันธ์และการต่อรองระหว่างผู้ขาย และแพลตฟอร์มซื้อขาย แม้ว่าแนวคิด และเทคโนโลยีที่สนับสนุนให้ NFTs art เกิดขึ้นมานั้นโดยหลักการแล้ว ควรนำไปสู่การเปิดพื้นที่ให้กับศิลปินได้แสดง และหารายได้จากการขายผลงานออนไลน์ได้อย่างเสรี แต่มีกำแพงในการคัดเลือกที่ยังเป็นอุปสรรค เนื่องจากแพลตฟอร์ม NFTs art บางแห่งยังเปิดรับศิลปินเข้ามาแสดง และขายผลงานผ่านการคัดเลือก และการเชิญ (invite) เท่านั้นอีกปัญหาคือเรื่องค่าธรรมเนียมในการ mint ผลงาน (การติด NFT ให้กับผลงานใหม่ที่เพิ่งลงขาย) และสัดส่วนการคิดค่าธรรมเนียมในการลงขายหรือเปอร์เซ็นต์ที่หักหลังจากขายผลงานที่มากเกินไป

Blockchain meme

ในเรื่องการถูกผลิตซ้ำ ไฟล์งานศิลปะดิจิทัลไม่แตกต่างไปจากไฟล์ดิจิทัลอื่นๆ ในแง่ที่ว่ามันสามารถถูกทำซ้ำได้ ทั้งจากการ copy-paste, save as, screenshot และหากเปรียบเทียบกับการคัดลอกงานศิลปะกายภาพ การประมวลผลของคอมพิวเตอร์ทำให้การคัดลอกไฟล์งานดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบเกิดขึ้นได้ในระดับวินาที การทำซ้ำในแง่การกระจายข้อมูลออกไปในเครือข่ายจึงเป็นเรื่องปกติ ปัญหาของการทำซ้ำใน NFTs art เกิดขึ้นเมื่อมีการคัดลอกตัวงานเพื่อนำไปติด NFT ใหม่ และนำมาขายโดยผู้ละเมิดอ้างว่าเป็นผู้สร้างงานชิ้นนั้นขึ้นมาเอง ปัญหาลักษณะนี้มีอยู่ตลอดในวงการสร้างสรรค์ไม่ว่าจะออนไลน์หรือออฟไลน์ วิธีป้องกันที่มากไปกว่าการรายงาน (report) เพื่อนำผลงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกหลังจากถูกปล่อยออกไปแล้ว น่าจะเกิดขึ้นในเวลาไม่นานต่อจากนี้เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวแพลตฟอร์มเอง

ในเชิงเทคนิค วิธีการจัดการกับตัวไฟล์งานศิลปะดิจิทัลแต่ละชิ้นของแต่ละแพลตฟอร์มเป็นเรื่องที่กำลังเป็นที่สนใจในประเด็นเรื่องการคงอยู่ (persistence) ของข้อมูลงานศิลปะดิจิทัล ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัว NFT ซึ่งเป็นข้อมูลที่อยู่ในระบบ blockchain ซึ่งไม่สามารถถูกลบออกไปได้ แต่ปัญหาอยู่ที่ตัวไฟล์งานเองนั้นไม่ได้อยู่ในระบบ blockchain เช่นเดียวกับ NFT เนื่องจาก NFT และไฟล์ผลงานแยกส่วนกัน โดย NFT ผูกอยู่กับไฟล์ผลงานด้วยการชี้ไปที่ที่อยู่ (address) ของไฟล์ ทำให้หากตัวแพลตฟอร์มยังใช้วิธีการเก็บไฟล์ผลงานในรูปแบบที่มีศูนย์กลางข้อมูล (data center) แบบเดิม  ก็จะเปิดโอกาสให้ตัวไฟล์ผลงานสามารถถูกเปลี่ยนแปลงหรือสูญหายหากเกิดปัญหาขึ้นกับตัวแพลตฟอร์มที่เป็นเจ้าของศูนย์กลางข้อมูลนั้น (ตัวอย่างการชี้ไปที่ที่อยู่ของไฟล์ เช่น ไฟล์งานออกแบบ indesign ที่มีการวางไฟล์ภาพถ่าย (jpg) ไว้ในเลย์เอาท์ ไฟล์ indesign นี้เชื่อมโยงกับภาพถ่ายผ่านการเรียกหาไฟล์ jpg แต่ตัวข้อมูลในไฟล์ jpg ไม่ได้ถูกบันทึกลงไปในไฟล์ indesign ดังนั้นมีโอกาสที่จะสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขไฟล์ jpg ที่อยู่ปลายทาง รวมถึงการลบออก)

An auction in rarible.com

ลักษณะเฉพาะตัวของ NFTs art ทำให้เรากลับมาตั้งคำถามว่าการมีอยู่ของงานศิลปะดิจิทัล และศิลปะที่มีกายภาพแตกต่างกันอย่างไร การสะสมงานศิลปะดิจิทัลต่างจากการสะสมงานศิลปะในรูปแบบอื่น อย่างไร ศิลปะดิจิทัลจะยั่งยืนแค่ไหน เราจะยอมรับการมีอยู่ของงานศิลปะดิจิทัลก็ต่อเมื่อมันถูกผูกไว้กับ NFT เท่านั้นหรือไม่ หรือถ้าเรามองว่าศิลปะเหล่านี้มีตัวตนอยู่ตั้งแต่แรกทำไมเราถึงเพิ่งมาให้คุณค่า และมูลค่ากับมันเมื่อมันถูกผูกไว้กับ NFT หรือสุดท้ายแล้วสิ่งที่เราได้ครอบครองจากการซื้อ NFTs art ก็คือ NFT ที่มีรหัสเฉพาะเพียงแค่นั้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *