DESPITE FACING HEAVY SARCASM AND MOCKERY, THE NEW REDESIGN OF XIAOMI BY KENYA HARA AIMS TO ACCOMMODATE FLEXIBLE USE IN ITS IMMENSE PRODUCT CATALOG
TEXT: WEE VIRAPORN
PHOTO COURTESY OF XIAOMI EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวการรีแบรนด์ (หรือที่หลายคนเลือกจะมองด้วยมุมมองอันจำกัดว่า “เปลี่ยนโลโก้”) ของ Xiaomi สร้างการถกเถียงและดราม่าได้กว้างขวาง นอกจากจะด้วยเหตุที่ Xiaomi เป็นแบรนด์ใหญ่ที่มีผลิตภัณฑ์หลากหลายราวกับสากกะเบือยันเรือรบซึ่งหน้าตาเรียบง่ายจนบางทีก็คลับคล้ายคลับคลา แต่ราคาถูกกว่ากันหลายเท่า จนสามารถตีตลาดอุปกรณ์เทคโนโลยีรวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศเราได้อย่างทะลุทะลวงแล้ว ยังใช้บริการของนักออกแบบชาวญี่ปุ่นชื่อดังที่ชาวไทยคุ้นเคยในฐานะ “เจ้าพ่อมินิมอล” หรือ “บิดาแห่ง Muji” อย่าง Kenya Hara อีกด้วย แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือเจ้าโลโก้ที่เปลี่ยนใหม่นี้ มันดูเหมือนเดิมเสียเหลือเกิน จนถูกล้อเลียนและประชดประชันกันอย่างหนักหน่วงตามสื่อ
ถ้ามองจากสายตาคนทั่วไป จะเห็นว่าโลโก้ใหม่นี้ก็แค่เปลี่ยนกรอบจากสี่เหลี่ยม ไปเป็นกรอบมนๆ ซึ่งดูเป็นลูกผสมระหว่างสี่เหลี่ยมและวงกลม แต่ในวีดีโอพรีเซนเทชัน ความยาวประมาณ 5 นาที Kenya Hara อธิบายว่าเชฟนี้มาจากคอนเซ็ปต์ “Alive” ซึ่งสะท้อนความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยีที่กำลังผสานเป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้นเรื่อยๆ
แถมยังโชว์สมการที่เมื่อเปลี่ยนตัวแปรแล้วสามารถเสร้างเชพออกมาเป็นสิบๆ อัน ก่อนจะเลือกตัวที่เป็นจุดสมดุลที่สุดระหว่างสี่เหลี่ยมกับวงกลม แล้วยังเอาเคิร์ฟนี้ไปใช้กับ logomark คำว่า mi และ logotype คำว่า “Xiaomi” อีกต่างหาก เรียกว่าพอฟังมาได้ถึงประมาณนาทีที่ 3 เราก็เริ่มจะพยักหน้า ยิ่งพอดูต่อจนจบเราก็เริ่มจะเข้าใจว่าไม่ควรด่วนตัดสินการรีแบรนด์จากโลโก้!
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่แบรนด์แสดงความหมกมุ่นกับการหาจุดลงตัวระหว่างวงกลมกับสี่เหลี่ยม ผลิตภัณฑ์ของ Apple โดยเฉพาะ software และ operating system มีการปรับเปลี่ยน “ความมนของมุมสี่เหลี่ยม” หรือกรอบ “squircle” (square + circle) มาหลายต่อหลายครั้ง ทางฝั่ง Android ก็มี One UI ของ Samsung ที่มีเชพใกล้เคียงกันกับที่ตราสัญลักษณ์ของ Xiaomi เพิ่งเปลี่ยนมาใช้
สิ่งที่ทำให้เราเชื่อว่า “คิดมาแล้ว” ไม่ใช่เพราะนี่เป็นงานของ Kenya Hara ไม่ใช่การโชว์สมการ ไม่ใช่การมีเส้นกริดเยอะๆ หรือเคิร์ฟอ้างอิงสัดส่วนทองใดๆ แต่เป็นการนำเสนอความหลากหลายในการใช้งาน ทั้งชุดสีที่ Hara แจงคร่าวๆ ว่าจะใช้สีรองอย่างไรกับผลิตภัณฑ์ประเภทใด, ตำแหน่งการจัดวางตราสัญลักษณ์บนสื่อต่างๆ ที่ยืดหยุ่น ไม่ถูกยึดคงที่ ณ มุมใดมุมหนึ่ง รวมถึงการเคลื่อนที่ของมัน และภาพเคลื่อนไหวของธรรมชาติคู่กับการเปลี่ยนแปลงสีหน้าของมนุษย์ ทั้งหมดนี้ทำให้เราอยากเห็นภาพสุดท้ายเมื่อการรีแบรนด์นี้ถูกนำไปใช้งานในทุกสื่อ ทุกผลิตภัณฑ์ ที่ Xiaomi นำออกสู่ตลาดๆ เรียบร้อยแล้ว เพราะประเด็นจะอยู่ที่ความ “เป็นกลางพอ” ที่จะใช้กับ “ทุกผลิตภัณฑ์” ที่หลากหลายเหลือเชื่อนี่เอง
ถ้ายอมรับกันก่อนว่าเราอยู่ในโลกที่เทคโนโลยีไม่ต้องแสดงตัวว่า “ไฮเทค” แบบยุค 80-90s แต่ต้องผสานอยู่ในชีวิตประจำวันได้อย่างแนบเนียน ถ้าสังเกตก็รู้ว่ามีอยู่ (แต่ถึงรู้ก็ไม่แคร์) โลโก้ที่ดูถ่อมตนนี้ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า คือแบรนด์ และถ้าแบรนด์ที่ Kenya Hara เคยทำให้เราหลงรักคือ Muji, แบรนด์ที่ทำตัวไม่มีแบรนด์ คำกล่าวที่ว่า “Xiaomi” จะไม่ได้เป็น Apple ของจีน แต่เป็น Muji ของ technology” ก็ดูจะเป็นทิศทางที่เรามองเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ และเชื่อว่ามันจะเป็นจริงได้เสียด้วย