ZAHA HADID HAS CURATED AND DESIGNED AN EXHIBITION AT GALERIE GMURZYNSKA ZURICH – THE FIRST EXHIBITION THAT DIRECTLY EXPLORES THE CONNECTION BETWEEN HER WORK AND THE RUSSIAN SUPREMATISM ARTISTS OF THE EARLY TWENTIETH CENTURY
TEXT: KARJVIT RIRERMVANICH
PHOTO: MARTIN RUESTCHI
(For English, press here)
ด้วยความชัดเจนของแนวทางในการสร้างผลงานที่แตกต่างและมีอัตลักษณ์ชัดเจนหลายต่อหลายชิ้นทั่วโลก ทำให้ทุกวันนี้ชื่อของ Zaha Hadid ไม่ได้เป็นที่พูดถึงกันอยู่แค่เพียงในแวดวงออกแบบ และผลงานของเธอก็ไม่ได้รับการตีพิมพ์แค่เพียงในนิตยสารสถาปัตยกรรมอีกต่อไป ผลงานภายใต้แบรนด์ของเธอเป็นที่ต้องการอย่างมากในเชิงของการสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และการเป็นข่าวจากการเป็นเจ้าของผลงานที่เธอออกแบบขององค์กร และเมืองต่างๆมากมาย ซึ่งดึงดูดความสนใจได้เป็นอย่างดีอยู่เสมอ และดูเหมือนว่าปัจจุบันนี้ตัวเธอเองได้ก้าวข้ามพ้นข้อสงสัยใดๆ ที่มักมีในผลงานของเธอไปสู่ความเป็นไปได้รูปแบบใหม่ของโลกไปแล้ว และด้วยเหตุผลเหล่านี้ เธอก็ได้ถูกจัดเป็น 1 ใน 25 นักคิดที่มีอิทธิพลกับโลกมากที่สุดในลิสต์รายชื่อ TIME 100 จากนิตยสาร TIME ในปีนี้ เคียงข้างกับ Steve Jobs และลีกวนยู ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นกัน
ความแตกต่างที่ชัดเจนของผลงานของเธอทำให้ในวงสนทนาเกี่ยวกับผลงานของเธอทุกครั้ง มีลักษณะเหมือนกันคือแบ่งเป็นฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายค้านอย่างชัดเจน โดยเหตุผลข้อหลักๆ ที่มักได้ยินเสมอจากผู้ที่ปฏิเสธผลงานของเธอก็คือ การไม่เห็นด้วยกับการปั้นฟอร์มขึ้นมาโดยไม่มีเหตุผลใดๆ รองรับทั้งสิ้นหรือความโฉบเฉี่ยว และความซับซ้อนเกินไปของผลงาน ซึ่งก็แล้วแต่ความเชื่อ และกฎเกณฑ์ที่แต่ละคนยึดถือปฏิบัติกันไป การตัดสินผิดถูกคงเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น
นิทรรศการ Zaha Hadid and Suprematism ซึ่งจัดขึ้นที่ Galerie Gmurzynska กลางเมือง Zurich ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมาน่าจะช่วยให้เราทำความเข้าใจ และเรียนรู้แนวความคิดของเธอก่อนจะตัดสินใจเชื่อหรือไม่เชื่อได้มากขึ้น จากนิทรรศการซึ่งเธอเป็นภัณฑารักษ์ และผู้ออกแบบเองทั้งหมด นิทรรศการนี้พาเราเข้าไปศึกษาอิทธิพลทางแนวความคิดที่สำคัญของเธอด้วยการจัดวางผลงาน model, drawing และ perspective รวมทั้งงาน furniture design ของเธอเปรียบเทียบกับผลงาน abstract art 2 มิติ ของศิลปินกลุ่ม Suprematism นำโดย Kazimir Malevich ซึ่งเป็นกลุ่มศิลปินหัวก้าวหน้าจากรัสเซียในยุค 1920s ที่สร้างความเคลื่อนไหวสำคัญในรูปแบบ abstract art ของวงการศิลปะในสมัยนั้น ซึ่งเป็นอิทธิพลทางแนวความคิดที่สำคัญของเธอมาตั้งแต่งานจบปริญญาโทที่ The Architectural Association (AA) เมื่อปี 1977 ในหัวข้อ Malevich’s Tektonik ซึ่งเธอใช้การจัดองค์ประกอบที่สร้างการมองเห็นแบบ deconstruction ในงาน 2 มิติ ของ Malevich มาเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการออกแบบอาคารโรงแรมในลอนดอน
สิ่งที่เด่นชัดในพื้นที่นิทรรศการก็คือการเปลี่ยนแปลงสเปซทั้งหมดของแกลอรี่ ซึ่งดูเหมือนว่า Zaha จะหยิบยืมองค์ประกอบจากผลงานชื่อดังรูปวงกลมสีดำพื้นหลังสีขาวในชื่อ ‘Black Circle’ ของ Malevich มาเปลี่ยนพื้นที่แกลเลอรี่ทั้งหมดที่เป็นตึกแถวธรรมดาสองห้องให้เป็นพื้นที่ในรูปแบบที่เป็นลายเซ็นต์ของเธอเอง โดยสร้างความเป็น 3 มิติ จากองค์ประกอบ 2 มิติด้วยการระเบิดรูปวงกลมสีดำให้แตกพุ่งกระจายจากด้านหลังของพื้นที่จัดแสดงชั้น 1 ลงบนระนาบพื้น เพดาน และผนังสีขาวซึ่งเป็นที่ติดตั้งผลงานของ Suprematism ซึ่งมีลักษณะเหมือนกันคือประกอบด้วยรูปทรงเรขาคณิตรูปแบบต่างๆ ล่องลอยอย่างไร้กฎเกณฑ์ และมีลักษณะต่อต้านแรงโน้มถ่วงอยู่บนพื้นหลังที่ว่างเปล่า นำเสนอรูปแบบนามธรรม ที่มีการจัดองค์ประกอบเป็นเนื้อหาหลักไม่ต้องการคำอธิบาย และเหตุผลรองรับใดๆ ทั้งสิ้น โดยเธอได้แบ่งหมวดหมู่ในการจัดแสดงเปรียบเทียบผลงานตามลักษณะของการจัดองค์ประกอบศิลป์ที่คล้ายกันออกเป็น 4 หมวดใหญ่ๆ ได้แก่ fragmentation, abstraction, distortion และ floatation ซึ่งถูกจัดแสดงในพื้นที่ต่างๆกันไปในทั้ง 3 ชั้นของแกลเลอรี่ และสิ่งที่รู้สึกได้ชัดเจนคือพลังที่ส่งถึงเราจากความ dynamic ของรูปทรง และที่ว่างจากการจัดองค์ประกอบของผลงานของทั้งสอง โดยเฉพาะผลงานลอยตัวในรูปแบบ sculptural form ของ Zaha ซึ่งทุกชิ้นอยู่ในสเกลที่ดี ไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไปเมื่อเทียบกับห้องจัดแสดง ซึ่งความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้ก็สร้างความประทับใจโดยไม่ต้องการเหตุผลหรือคำอธิบายใดๆ เลยเช่นเดียวกัน
ความเหมือนของผลงานของทั้งสองที่เราเรียนรู้นอกจากในเชิงความเป็นนามธรรม และการเน้นแนวความคิดเริ่มต้นในการจัดองค์ประกอบศิลป์ลงบนที่ว่างซึ่งเป็นใจความของนิทรรศการนี้ก็คือ ความสำเร็จในการก้าวข้ามจากการเป็นเพียงแค่สไตล์ใหม่ๆ ในยุคนั้นๆ ไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของยุคสมัยที่ได้ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ขับเคลื่อนโลกนี้ไปข้างหน้าไม่ให้ย่ำอยู่กับที่ ก็เหมือนกับความสำเร็จของการยึดถือในความน้อย หรือการซื่อสัตย์ต่อโปรแกรมแบบตรงไปตรงมาของผู้นำแนวความคิดท่านอื่นๆ แนวความคิดเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีจุดเริ่มต้นเดียวกันคือ การปฏิเสธกฎเกณฑ์ที่ยึดถือกันมา และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วยกระบวนการใหม่ขึ้นมาทดแทน
Originally published in art4d No.177, December-January 2011
CLICK IMAGE TO VIEW IN FULL SIZE
ไม่เฉพาะกับศิลปะหรือสถาปัตยกรรม จุดเริ่มต้นนี้น่าจะเป็นเหตุผลเดียวกันกับทุกๆการเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้าบนโลกใบนี้ของเรา