ART4D SPEAKS WITH PHOEBE HUI, THE ARTIST IN THIS YEAR AUDEMARS PIGUET CONTEMPORARY ABOUT HER PROJECT, AND AUDREY TEICHMANN, THE PROJECT’S CURATOR SINCE 2012
TEXT: PRATARN TEERATADA
PHOTO COURTESY OF AUDEMARS PIGUET CONTEMPORARY
(For English, press here)
Audemars Piguet แบรนด์นาฬิกาชื่อดังของสวิส มีโครงการสนับสนุนด้านศิลปะและแฟชั่นอยู่เสมอโดยเป็นผู้ร่วมจัดงาน Art Basel มาตั้งแต่ปี 2014 โดยก่อตั้งกองทุนสนับสนุนศิลปะเพื่อสนับสนุนศิลปินทั่วโลกในการผลิตผลงานที่มีความสลับซับซ้อนและมีความหมายต่อวงการศิลปะร่วมสมัยของโลก
ในปีนี้โครงการ Audemars Piguet Contemporary ได้คัดเลือกศิลปินชาวฮ่องกง Phoebe Hui เป็นศิลปินที่ได้รับการสนับสนุนในลำดับที่ 5 โดยร่วมทำงานกับภัณฑารักษ์รับเชิญ Ying Kwok ผู้เคยดูแล Hong Kong Pavilion ในงาน Venice Biennale ครั้งที่ 57 ในปี 2017 เราได้มีโอกาสพูดคุยกับศิลปินถึงผลงาน “The Moon is Leaving Us” ของเธอซึ่งจัดแสดงอยู่ที่ Tai Kwun Centre for Heritage and Arts ฮ่องกง งานชิ้นนี้ของเธอสำรวจความสัมพันธ์ของเรากับดวงจันทร์ที่เคลื่อนตัวหนีห่างโลกไปปีละ 3.28 เซนติเมตร ซึ่งเท่ากับความยาวที่เล็บของเรายาวขึ้นใน 1 ปี และได้พูดคุยกับภัณฑารักษ์ประจำโครงการ Audrey Teichmann ถึงภาพรวมของโปรเจ็คต์ที่จัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2012
art4d: งานของคุณทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่าง วิทยาศาสตร์ ศิลปะ และกวีนิพนธ์ อยากให้ช่วยเล่าถึงกระบวนการในการสร้างผลงานของคุณให้เราเข้าใจ
Phoebe Hui: ฉันพบว่า ศิลปะ วิทยาศาสตร์ และบทกวี ต่างส่งเสริมกันและกันในหลายๆ ทาง กระบวนการสร้างสรรค์งานของฉันเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบเหล่านี้ ฉันชอบที่จะสำรวจตรวจสอบวัตถุรอบรอบตัว เช่น เครื่องกล ดนตรี และสิ่งของรอบตัว องค์ประกอบสามอย่างที่ฉันให้คุณค่าเสมอคือ คอนเซ็ปต์ เทคโนโลยี และความงาม ตัวอย่างเช่น ฉันมีความสนใจเกี่ยวกับวงจรไฟฟ้า ฉันจึงศึกษาองค์ประกอบอิเล็กทรอนิกส์และสายเคเบิลต่างๆ และนำสิ่งเหล่านี้มาสร้างเป็นงานศิลปะ เมื่อรวมองค์ประกอบเหล่านี้เข้าด้วยกันแล้ว ฉันหวังที่จะนำเสนอผลงานออกมาให้ผู้ชมได้ชื่นชมกับความสวยงามของวัตถุดิบที่ฉันใช้ซึ่งแน่นอนว่ามันทำหน้าที่ของมันด้วยในตัว
art4d: คุณมักจะมีการทำงานร่วมกับผู้ชำนาญจากสายงานอื่นเช่น นักวิทยาศาสตร์ อดีตนักบินอวกาศ
PH: ในฐานะที่เป็นศิลปินที่สร้างผลงานบนพื้นฐานของงานวิจัย ฉันพบว่ามีความสำคัญที่จะทำงานร่วมกับผู้ร่วมงานด้านอื่นในการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการ ในกรณีนี้ฉันโชคดีที่มีทีม Audemars Piguet Contemporary คอยช่วยเหลือในการพัฒนาโครงการนี้ ในขณะที่ฉันยังมีอิสระเต็มที่ในการสร้างสรรค์งาน ทีม APC ยังมีส่วนผลักดันให้โครงการนี้มีมิติที่ลึกลงไป เช่นแนะนำให้ฉันได้รู้จักกับนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร รวมทั้งอดีตนักบินอวกาศ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดกับพวกเขา ซึ่งมีคุณค่าในการพัฒนาเนื้อหาของงานมากทีเดียว
art4d: ใครคือผู้ที่มีอิทธิพลต่อคุณมากที่สุด
PH: สำหรับโครงการนี้ คนที่มีอิทธิพลสำคัญต่อฉันคือ Johannes Hevelius นักดาราศาสตร์ชาวโปแลนด์ในศตวรรษที่ 17 เขาคือผู้ปฏิวัติวงการตัวจริง หรือคนที่ร่างแผนที่พร้อมรายละเอียดของดวงจันทร์ขึ้นมาเป็นคนแรก ทุกวันนี้การใช้ภาพอธิบายเรื่องราวที่มีความจริงจังหรือเกี่ยวกับองค์ความรู้ อาจดูเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครก็ใช้กันแต่ในยุคของเขานั้นมันไม่ใช่ แล้วมันทำให้ฉันรู้สึกทึ่งในตัวเขาอย่างยิ่ง ฉันยังได้รับแรงบันดาลใจจาก Su Dongpo และบทกวีของเขา Prelude to Water Melody กวีบทนี้มีตัวเอกจ้องมองไปที่ดวงจันทร์และคิดถึงพี่ชายที่อยู่ห่างไกลออกไปจากเขา ภาพนี้ติดอยู่ในหัวของฉันที่ใช้ชีวิตห่างจากเพื่อนๆ และครอบครัวเป็นเวลาหลายปีตอนที่ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ทำให้ฉันเริ่มสนใจดวงจันทร์และความคิดที่ว่าใครคนหนึ่งสามารถรู้สึกใกล้กับคนที่รักเวลาที่พวกเขาได้เห็นภาพทรงกลมของดวงจันทร์
art4d: คุณมักจะนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมในผลงานของคุณหรือไม่
PH: เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในงานของฉัน เทคโนโลยีทุกวันนี้เป็นเสมือนอากาศที่เราหายใจ และฉันต้องการเรียนรู้ที่จะเข้าใจและใช้งานมันให้ได้ มันเป็นกระบวนการที่น่าสนใจมากที่จะเรียนรู้ว่าเบื้องหลังเทคโนโลยีคืออะไร โดยไม่หวาดกลัวต่อความซับซ้อนของมัน งานของฉันจะเกี่ยวกับการสร้าง หรือรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับจักรวาลขึ้นมาใหม่
art4d: ในโลกของศิลปะร่วมสมัยคุณคิดว่าอะไรคืออนาคต
PH: ฉันศึกษามาทั้งทางด้านที่เป็นสื่อใหม่และแบบจารีต แต่ตอนนี้ฉันกำลังให้ความสนใจเรื่องของเทคโนโลยีสื่อใหม่
art4d: ช่วยเล่าถึงบทบาทของคุณที่ Audemars Piguet ให้เราฟังหน่อย
Audrey Teichmann: ฉันคือ in-house co-curator คนหนึ่ง (ร่วมกับเพื่อนร่วมงานอีกท่าน Denis Pernet) ให้กับ Audemars Piguet Contemporary ซึ่งเป็นโปรแกรมที่คอยให้ทุนสนับสนุนกับศิลปินนานาชาติในการสร้างงานศิลปะร่วมสมัย เราไม่เพียงสนับสนุนด้านการเงินในการผลิตผลงานต่อศิลปินที่ถูกคัดเลือกเท่านั้น แต่ยังให้ความช่วยเหลือทางด้านกระบวนการผลิตและงานวิจัยอื่นๆ ด้วย เรายังอำนวยความสะดวกในการติดต่อผู้เชี่ยวชาญและแหล่งความรู้ความชำนาญด้านอื่นๆ ที่ศิลปินอาจจะต้องการในการผลิตงานตามโครงการให้ลุล่วง เราร่วมทำงานกับศิลปินอย่างใกล้ชิดนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงช่วงแสดงนิทรรศการและยังติดตามสร้างชุมชนศิลปินเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในระยะยาวต่อ เรายังมีโครงการแลกเปลี่ยนกับศิลปินอย่าง Cao Fei, Ryoji Ikeda, Tomás Saraceno, Jana Winderen เป็นต้น
art4d: ช่วยอธิบายนโยบายในการให้ทุนสนับสนุนด้านศิลปะของคุณหน่อย
AT: เราไม่มีนโยบายที่เป็นข้อบังคับในการสนับสนุน สิ่งที่เรามอบให้กับศิลปินที่ได้รับการคัดเลือกคือ “เชื้อไฟ” จากนั้นพวกเขามีอิสระเต็มที่ในการสร้างสรรค์ผลงานที่ต้องการ ชิ้นงานศิลปะเป็นของศิลปิน เช่นเดียวกับกระบวนการผลิตจนถึงขั้นตอนแสดงนิทรรศการ ตลอดจนการต่อยอดในโครงการต่อๆ ไปในอนาคต
art4d: คุณมีแผนการอะไรบ้างในปีนี้
AT: โครงการต่อไปที่พวกเรากำลังตื่นเต้นอยู่คือ RYOJI IKEDA ที่ 180 Studios, 180 The Strand กำลังจะเปิดแสดงในวันที่ 20 พฤษภาคม (ถึง 1 สิงหาคม) ซึ่งเราร่วมทำงานกับ Vinyl Factory ในลอนดอน นิทรรศการประกอบไปด้วย ‘data-verse’ trilogy ซึ่งเป็นงานหลักที่ Audemars Piguet Contemporary ให้การสนับสนุนต่อเนื่องอยู่ นิทรรศการนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นการเปิดตัวครั้งแรกของ data-verse 3 เท่านั้นแต่ยังจะเป็นครั้งแรกที่ภาคสมบูรณ์ของทั้งสามภาคที่จะแสดงร่วมกันนับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการมาในปี 2015 จึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ชมที่จะได้เห็นความต่อเนื่องของงานในพื้นที่เดียวกันแบบชุดใหญ่
art4d: คุณคัดเลือกศิลปินอย่างไร
AT: เรามีการคัดเลือกศิลปินอยู่สองวิธีในโครงการของ Audemars Piguet Contemporary นั่นคือศิลปินได้รับคัดเลือกจากการแนะนำของภัณฑารักษ์รับเชิญ และภายใต้การพิจารณาร่วมกันของภัณฑารักษ์ประจำโครงการทั้งสองคนคือ Denis Pernet และตัวฉันเอง เราจะเชิญศิลปินที่เราสนใจที่จะร่วมงานมาสร้างงานชิ้นใหม่ร่วมกับเรา มันเป็นการทำงานโดยข้อมูลวิจัยและการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันอย่างหนัก เราสนใจสิ่งที่ศิลปินกำลังสร้างสรรค์อยู่ ความหลากหลายในเนื้อหา และสิ่งที่ผลักดันบริบทของศิลปะร่วมสมัยในปัจจุบันให้ก้าวหน้าต่อไป
สามารถเข้าชมนิทรรศการ The Moon is Leaving Us ในแบบ Virtual Tour ได้ที่ https://www.audemarspiguet.com/com/en/news/art/phoebe-hui-the-moon-is-leaving-us.html จนถึงวันที่ 23 พฤษภาคมนี้