serviced apartment ในซอยอารีย์สัมพันธ์ โดยทีมสถาปนิก POAR ที่ต้องการจะคลี่คลายปัญหาพื้นฐานของการอยู่อาศัยในอาคารพักอาศัยรวมให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
TEXT: BHUMIBHAT PROMBOOT
PHOTO: KUKKONG THIRATHOMRONGKIAT
(For English, press here)
ในโลกปัจจุบันมักจะมีการพูดถึงปัจจัยที่ 5 ที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในหลากหลายรูปแบบ นอกเหนือจากปัจจัยสี่อันเป็นพื้นฐาน รูปแบบการดำเนินชีวิตแบบใหม่ๆ เหล่านี้ได้ส่งผลถึงการออกแบบในหลากหลาย ศาสตร์ต่างๆ ที่ต้องคำนึงถึงบริบทใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อจะได้นำมาใช้ในการออกแบบทั้งในเชิงผลิตภัณฑ์ บริการต่างๆ รวมไปถึงรูปแบบหรือองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมโดยให้เกิดการทันยุค ทันสมัย ผ่านการวิเคราะห์และตีความจากผู้ออกแบบและผู้ใช้งานเป็นสำคัญ
ความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตในยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วส่งผลให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในอาคารทั้งในเชิงระบบเทคโนโลยีและวัสดุต่างๆ มากมาย แต่โครงการ ลมมา อารีย์ ที่เป็นอาคารประเภท serviced apartment กลับต้องการที่จะแก้ปัญหาพื้นฐานของการอยู่อาศัยในชีวิตประจำวันอย่างเช่น การซักผ้าและการตากผ้า ในอาคารพักอาศัยรวมที่มีพื้นที่จำกัดและมักจะไม่ตอบโจทย์คุณภาพในการอยู่อาศัยและใช้สอยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากการออกแบบหอพักแบบเดิมๆ มักจะเน้นความเรียบและง่าย โดยไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องรูปแบบอาคารเท่าไหร่นัก ลมมา อารีย์ จึงเป็นความท้าทายของทีมสถาปนิก POAR ที่มุ่งเน้นจะคลี่คลายปัญหาของหอพักแบบเดิม เช่นพื้นที่ตากผ้าหรือพื้นที่ระเบียงและรูปด้านหน้าอาคารที่มักจะมีส่วนหนึ่งเป็นส่วนของห้องน้ำอยู่เสมอ ผ่านการทำความเข้าใจและใส่ใจในพื้นที่ส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญ
ลมมา อารีย์ เป็น serviced apartment จำนวน 5 ชั้น 27 ห้อง ตั้งอยู่ในซอย อารีย์สัมพันธ์ ที่พื้นที่ข้างเคียงมีหอพักเดิมของเจ้าของโครงการตั้งอยู่ตรงข้ามกัน ฉะนั้นแนวคิดในการเริ่มโครงการ ลมมา อารีย์ นี้คือความต้องการแก้ไขปัญหาเดิมๆ ของหอพักปัจจุบัน เช่น ความต้องการการรักษาหรือการซ่อมบำรุงที่น้อย ไม่ยุ่งยาก ทั้งงานระบบต่างๆ องค์ประกอบอาคาร วัสดุ รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ติดตั้งภายในที่ต้องการทำความสะอาดได้ง่าย มีอายุใช้งานที่ยืนยาว ทนต่อการใช้งาน ไม่เสื่อมสภาพโดยเร็วและที่สำคัญเลยคือ การจัดการพื้นที่และแก้ไขปัญหาภาพลักษณ์ของหอพักส่วนใหญ่คือ การตากผ้าด้านหน้าระเบียงที่มักสร้างปัญหาในเชิงภาพจำของอาคารหอพักให้เกิดสวยงาม น่ามอง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและสามารถใช้งานพื้นนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
การเลือกใช้วัสดุเช่น คอนกรีตผิวหินขัดและสเตนเลสจึงถูกนำมาใช้เป็นวัสดุหลักของโครงการ โดยคอนกรีตผิวหินขัดถูกใช้เป็นทั้งส่วนพื้น ผนัง ผนังระแนงและเสาเพื่อลดการใช้สีทาหรือการใช้กระเบื้องที่มักจะต้องการซ่อมแซมเมื่อผ่านการใช้งานไประยะนึงหรือพื้นที่บางส่วนก็ปล่อยเป็นคอนกรีตเปลือยๆ ส่วนหนึ่งก็เพื่อต้องการลดการที่ต้องทาสีทับอยู่บ่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไปเช่นกัน
วัสดุอย่างสเตนเลสก็ถูกนำมาใช้ทำเป็นแผงบังตา (façade) หลักของอาคาร แทนที่จะใช้วัสดุอย่างเหล็กหรือไม้ที่ต้องการการบำรุงรักษา โดยแผงบังตาสเตนเลสนี้จะทำการปิดล้อมพื้นที่ที่เป็นส่วนตากผ้าและซักล้างของห้องพักแต่ละห้อง โดยพื้นที่ส่วนนี้ทางผู้ออกแบบได้ใช้รูปสามเหลี่ยมมุมฉากเป็นรูปทรงพื้นฐานยื่นยาวออกมาจากแนวอาคารหลัก โดยการวางสลับด้านกันไปมาระหว่างแต่ละห้องพักเนื่องจากไม่ต้องการให้ส่วนระเบียงที่ยื่นออกมาบังมุมสายตาของกันและกัน โดยทางผู้ออกแบบได้ใช้แท่งสเตนเลสทรงกลมที่มีขนาดหน้าตัดขนาดไม่เท่ากันจำนวน 4 หน้าตัด วางเรียงต่อกันทางตั้ง ปิดล้อมตลอดแนวพื้นที่ โดยมีการเรียงขนาดหน้าตัดสเตนเลสที่ใหญ่ที่สุดจากแนวอาคารภายในไล่ไปจนขนาดหน้าตัดที่เล็กที่สุดวางที่ปลายของมุมพื้นที่ที่ยื่นออกไปซึ่งผู้ออกแบบต้องการให้พื้นที่ส่วนนี้เป็นพื้นที่ที่ไม่ปิดทึบ จนเกินไป จึงได้เลือกใช้สเตนเลสทรงกลมที่ต่างขนาดกันจัดวางอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การยื่นพื้นส่วนนี้ออกไปก็เพื่อใช้เป็นส่วนที่บังแสงแดดจากทางทิศตะวันตกให้กับห้องพักอีกด้วย ส่วนของระเบียงทางผู้ออกแบบยังได้ติดตั้งราวแขวนสเตนเลสวางตัวตามแนวยาวซึ่งยึดกับพื้นคอนกรีตไว้สำหรับตากและจัดเก็บผ้าได้ง่ายหรือเวลาฝนตกก็สามารถรูดเก็บมาไว้ภายในอาคารได้อย่างรวดเร็ว
ส่วนภายในห้องพักยังมีการนำวัสดุสเตนเลสมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ติดตั้งเช่นกัน ทั้งโต๊ะทำงาน แทนที่จะใช้วัสดุที่นิยมใช้กันสำหรับทำโต๊ะทำงานทั่วไปอย่างพวกวัสดุไม้ประสานประเภทต่างๆ ที่ความทนทานในการใช้งานได้ไม่ยาวนาน ยังมีการใช้การหล่อคอนกรีตทำผิวหินขัดตกแต่งในส่วนต่างๆ ของอาคารทั้งบัวพื้น บัวบันได รวมถึงการหล่อคอนกรีตเพื่อทำเป็นส่วนตู้เสื้อผ้าและชั้นวางของต่างๆ ภายในส่วนห้องพัก ทั้งนี้ก็เพื่อลดการใช้เฟอร์นิเจอร์ติดตั้งและลดการบำรุงรักษาให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
‘บ้านในทางตั้ง’ คือวลีช่วงแรกๆ จากทาง POAR เมื่อเริ่มเล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการ ลมมา อารีย์ ที่มองถึงปัญหาพื้นฐานของกิจกรรมและกิจวัตรของการอยู่อาศัยแบบตรงไปตรงมาและมักเป็นส่วนที่ถูกละเลย เพิกเฉยหรือถูกมองข้ามจากการออกแบบพื้นที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะพื้นที่อยู่อาศัยรวมมาโดยตลอดนั่นคือ พื้นที่ระเบียงที่มักเอาไว้ใช้ตากผ้าและใช้งานอเนกประสงค์อย่างอื่น ฉะนั้นในความเป็นบ้านที่ประกอบไปด้วยกิจวัตรและกิจกรรมที่สะท้อนปัจจัยพื้นฐานส่วนตัวของผู้อยู่อาศัยผ่านการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนย้ายไปสู่การอยู่อาศัยแบบรวมมากขึ้น แต่ปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิตยังคงมีอยู่ ทั้ง การกิน นอน รักษา และการดูแลทำความสะอาด ยังคงเป็นกิจวัตรหลักที่ผู้อยู่อาศัยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่การอยู่อาศัยแบบรวมนั้นได้เปิดเผยกิจวัตรต่างๆ ให้เห็นชัดมากขึ้น
ความหลากหลายของการอยู่อาศัยเหล่านี้จึงต้องการการจัดการความเป็นอยู่ผ่านการออกแบบองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่ตอบสนองต่อกิจวัตรหรือกิจกรรมของผู้อยู่อาศัยที่หลากหลาย ลมมา อารีย์ จึงเปรียบเสมือนการหวนกลับไปสู่ปัจจัยพื้นฐานหลักของมนุษย์ อย่างกิจวัตรประจำวันหรือประจำสัปดาห์อย่างการตากผ้า การซักผ้า และทำความสะอาดบนพื้นที่ทดลองของการอยู่อาศัยรวม ซึ่งทาง POAR ต้องการแก้ไขโจทย์ที่เป็นพื้นฐานหนึ่งของการดำเนินชีวิตของทุกคนอย่างการทำความสะอาดเครื่องนุ่งห่มหรือข้าวของเครื่องใช้ภายใต้บริบทพื้นที่ที่จำกัด โดยต้องการประกอบร่างของความเป็นบ้าน การอาศัยอยู่บนพื้นที่ที่ความเป็นส่วนตัวและความเป็นสาธารณะร่วมกันคือ การร่วมกันหาเงื่อนไขทางสถาปัตยกรรมเพื่อตอบโจทย์ความเป็นและอยู่ให้ดีขึ้น